สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เผยเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดจากการถูกบูลลี่ (Bully) ในหลายรูปแบบและรุนแรงเพิ่มขึ้น ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการบูลลี่กันเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโรงเรียนมากที่สุด พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกต สอดส่องดูแลบุตรหลาน ระมัดระวังไม่ให้บุตรหลานเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่กระทบไปทั้งร่างกายและจิตใจ - พม. จับมือเพจ Because We Care ผนึกกำลังสถานศึกษา เปิดกิจกรรมโครงการ “รัก…ในวัยเรียน” รณรงค์ยุติความรุนแรงทุกมิติ ไม่บูลลี่
เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค. 2566 กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เผยว่าปัจจุบันมีเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดจากการถูกบูลลี่ในหลายรูปแบบและรุนแรงเพิ่มขึ้น ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการบูลลี่กันเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีการศึกษาพบว่าการบูลลี่มักเกิดขึ้นในโรงเรียนมากที่สุด พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกต สอดส่องดูแลบุตรหลาน สอบถามกิจกรรมในโรงเรียนสม่ำเสมอ พูดคุยสิ่งที่เจอในแต่ละวัน เพื่อแลกเปลี่ยนและระมัดระวังไม่ให้บุตรหลานเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่กระทบไปทั้งร่างกายและจิตใจ
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การบูลลี่เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากความตั้งใจทำให้ผู้อื่นรู้สึกอับอาย รู้สึกเป็นทุกข์ โดยที่ผู้กระทำนั้นรู้สึกสนุก สะใจ และพฤติกรรมนี้มักมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำๆ การบูลลี่มี 4 ประเภท คือ การบูลลี่ทางกาย การบูลลี่ทางคำพูด การบูลลี่ทางสังคม การบูลลี่ทางไซเบอร์ ซึ่งการบูลลี่เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบกับทุกช่วงวัย โดยเฉพาะวัยเด็กเป็นวัยต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก การบูลลี่แม้ดูเหมือนเป็นปัญหาเล็กๆ แต่อาจจะสร้างบาดแผลในใจจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ เนื่องจากมีความต้านทานทางใจไม่เหมือนกัน และบางครั้งอาจส่งผลกระทบให้เด็กมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ไม่อยากไปโรงเรียน รู้สึกไม่มีความสุข พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตบุตรหลาน พูดคุยแลกเปลี่ยนเป็นประจำ เพื่อบุตรหลานจะได้รู้สึกปลอดภัย หากบุตรหลานมีพฤติกรรมการถูกบูลลี่ พ่อแม่หรือผู้ปกครองสามารถช่วยหยุดพฤติกรรมเหล่านี้และลดการเกิดความรุนแรงหรือปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของเด็กได้
วิธีการสังเกตเมื่อลูกถูกบูลลี่
นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า การบูลลี่สามารถเกิดขึ้นกับทุกช่วงวัย โดยเด็กเล็กมักจะเป็นการบูลลี่ทางร่างกาย มีตั้งแต่เบาไปถึงหนัก เช่น การรังแก การทำร้ายร่างกาย วัยปฐมจะเป็นการบูลลี่ทางวาจา เช่น การล้อชื่อพ่อชื่อแม่ ล้อปมด้อย รูปร่างหน้าตา วัยรุ่นจะเป็นวัยที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์เป็นของตนเอง จึงมักเกิดการบูลลี่ได้ง่าย การบูลลี่วัยนี้เป็นการบูลลี่เรื่องบุคลิกท่าทาง ฐานะ ค่านิยม สิ่งของเครื่องใช้ รวมไปถึงการบูลลี่ทางสังคม เช่น การไม่ยอมรับเพื่อนเข้ากลุ่ม หรือปล่อยข่าวลือให้ผู้อื่นรู้สึกอับอาย การบูลลี่ทางไซเบอร์ในกลุ่มวัยรุ่น เช่น การลงข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง การลงรูปถ่ายหรือวีดีโอที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงการคอมเม้นหยาบคาย พ่อแม่หรือผู้ปกครองจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเป็นวัยที่สามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้เต็มที่ อาจทำให้บุคคลอื่นเสียหาย และเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้
วิธีการสังเกตเมื่อลูกถูกบูลลี่ พ่อแม่หรือผู้ปกครองสามารถสังเกตจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากการพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนเรื่องราว การใช้เวลาร่วมกัน เมื่อเด็กถูกบูลลี่มักจะไม่กล้าเล่า กังวล โดนข่มขู่ การใช้คำถามปลายเปิด ไม่ชี้นำ ก็จะสามารถช่วยให้เด็กรู้สึกปลอดภัย มั่นใจในการเล่า โดยที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองคอยรับฟัง สอบถามความรู้สึกว่าลูกรู้สึกอย่างไร และ ชื่นชมบุตรหลานมีความกล้าในการเล่าเรื่องยากๆให้ฟัง วิธีการรับมือเมื่อลูกถูกบูลลี่ เด็กเล็ก แนะให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองฝึกบุตรหลานจากหนังสือนิทาน ฝึกวิธีการพูดบอกเพื่อน เพราะบางครั้งเพื่อนไม่ได้ตั้งใจ หากยังถูกบูลลี่อีกควรฝึกให้เด็กขอความช่วยเหลือจากคุณครู ผู้ปกครอง และหลีกเลี่ยงในการพบเจอ มองหาเพื่อนกลุ่มใหม่ รวมถึงฝึกให้เด็กช่วยเหลือตัวเองซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถปกป้องตัวเองได้ เด็กโต หมั่นพูดคุยบ่อยๆ คอยช่วยเหลือ เมื่อเด็กต้องการความช่วยเหลือ หากเด็กไม่สามารถแก้ปัญหาได้ พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องหมั่นพูดคุย สอบถาม และหาวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน หากพบว่าลูกมีสภาวะจิตใจไม่ดีหรือเคยถูก บูลลี่ สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ การบูลลี่นั้นเกิดขึ้นอยู่รอบตัวของเราทุกคน พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องหมั่นระมัดระวัง หากบุตรหลานถูกบูลลี่ พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องหาวิธีป้องกันร่วมกันกับทางโรงเรียนและนักจิตวิทยา เพื่อที่จะแก้ปัญหาไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น แนะปรึกษาปัญหากับสายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร 1323
พม. จับมือเพจ Because We Care ผนึกกำลังสถานศึกษา เปิดกิจกรรมโครงการ “รัก…ในวัยเรียน” รณรงค์ยุติความรุนแรงทุกมิติ ไม่บูลลี่
ช่วงปลายเดือน พ.ค. 2566 นายธนสุนทร สว่างสาลี รองปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมโครงการ “รัก…ในวัยเรียน” จัดโดย เพจ Because We Care ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง พม. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสร้างความตระหนักถึงการยุติการกระทำความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมถึงการบูลลี่ (Bully) ให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชน อันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นสร้างการมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบต่อการสร้างสรรค์สังคมน่าอยู่และมีความสุขสำหรับทุกคน โดยมี พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล ศรีสง่า พยาบาล (สบ 5) โรงพยาบาลตำรวจ ในฐานะที่ปรึกษาปลัด พม. กล่าวแนะนำกิจกรรมโครงการ “รัก…ในวัยเรียน” โดยมี นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ว่าที่ร้อยตรี สุริยัน จันทรา ผู้อำนวยการโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (ทวีวัฒนา) ในพระราชูปถัมภ์ฯ คุณชลทิชา สัตยมานะ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) และศูนย์เยี่ยมบ้านโรงพยาบาลตำรวจ เข้าร่วม ทั้งนี้ มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ โดยสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ได้แก่ กิจกรรม “เสริมสร้างความรู้ด้านกฎหมาย (Cyber Bullying)” กิจกรรม “เพศกับวัยรุ่น” กิจกรรมร้องเพลง “อยากจะฟัง” และกิจกรรมสันทนาการสานสัมพันธ์ อีกทั้งการจัดนิทรรศการโครงการ “รัก…ในวัยเรียน” การเฝ้าระวังปัญหาสังคม และการแจ้งเหตุให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมทุกรูปแบบ โดยศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวง พม. ณ โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (ทวีวัฒนา) ในพระราชูปถัมภ์ฯ กรุงเทพฯ
นายธนสุนทร กล่าวว่า สืบเนื่องจากกระแสสังคมไทยในปัจจุบัน มีการเกิดเหตุการกระทำความรุนแรง ซึ่งเป็นการทำร้ายทั้งทางร่างกายและทางจิตใจต่อผู้อื่น โดยผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน อันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ รวมถึงกลุ่มสตรีและผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ซึ่งการกระทำความรุนแรงต่อผู้อื่นทั้งที่เป็นการจงใจใช้กำลังหรืออำนาจทางกาย ข่มขู่ คุกคาม ทำร้ายผู้อื่น ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตเท่านั้น ในขณะที่การใช้คำพูดที่เป็นการล้อเลียน ดูหมิ่น และเหยียดหยามผู้อื่น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งการกระทำที่ทำร้ายสภาพจิตใจของผู้อื่น หรือที่เรียกว่า “การบูลลี่ (Bully)” ทั้งนี้ เพจ Because We Care ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งมีความมุ่งมั่นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยุติและรณรงค์ในการลดปัญหาความรุนแรงในทุกรูปแบบต่อเด็กและเยาวชน รวมถึงกลุ่มสตรีและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม
นายธนสุนทร กล่าวเพิ่มเติมว่า เราในฐานะอนาคตของชาติ ต้องรวมพลังกันยุติการกระทำความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมทั้งการบูลลี่ (Bully) โดยลำดับแรก เราควรต้องเริ่มต้นจากตัวเราก่อน ต้องรู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่นและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น เพราะทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่มีใครเข้มแข็งหรืออ่อนแอกว่าใคร และความรักไม่จำเป็นต้องทำร้ายผู้อื่น เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรง เด็กและเยาวชนอยู่ในสภาวะความเสี่ยงที่จะถูกกระทำความรุนแรง เราไม่ควรเพิกเฉย หรือมองว่าเป็นเรื่องของคนอื่น ควรเข้าไปช่วยเหลือหรือแจ้งตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที โดยเฉพาะ 1) ศูนย์ช่วยเหลือสังคม โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (ทวีวัฒนา) ในพระราชูปถัมภ์ฯ 2) สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง และ 3) ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม “ESS Help Me” ปักหมุด หยุดเหตุ ใน LINE OA บนมือถือ
พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า เพจ Because We Care ได้ตระหนักถึงปัญหาการกระทำความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมถึงการบูลลี่ (Bully) ที่ส่งผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน จากการนำเสนอข่าวผ่านสื่อต่างๆ โดยกลุ่มเด็กและเยาวชน นับเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม รวมทั้งประชาชน ทั้งนี้ จึงมีการประสานความร่วมมือเป็น “พลังทางสังคม” ด้วยการดำเนินโครงการ “รัก…ในวัยเรียน” เพื่อปลูกจิตสำนึกและลดการกระทำความรุนแรงทุกมิติในวัยเรียน และเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและการรับรู้ในการป้องกันและยุติการกระทำความรุนแรงอย่างเข้มแข็งต่อกลุ่มเด็กและเยาวชน
ที่มา
หมอเด็กแนะ ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานใกล้ชิดเมื่อลูกถูกบูลลี่ (กรมการแพทย์, 25 พ.ค. 2566)
พม. จับมือเพจ Because We Care ผนึกกำลังสถานศึกษา เปิดกิจกรรมโครงการ “รัก…ในวัยเรียน” รณรงค์ยุติความรุนแรงทุกมิติ ไม่บูลลี่ (สำนักข่าวไทย, 26 พ.ค. 2566)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ