Rocket Media Lab: สำรวจข่าวลือข่าวลวงในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล

กองบรรณาธิการ TCIJ 26 ธ.ค. 2566 | อ่านแล้ว 5783 ครั้ง

Rocket Media Lab เก็บข้อมูลข่าวลือ ข่าวลวง ข้อมูลที่ผิดพลาด บิดเบือน ที่มีการรายงานในสื่อสารมวลชนและปรากฏในโซเชียลมีเดีย ในช่วงเวลาหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 จนถึงการจัดตั้งรัฐบาล 22 สิงหาคม 2566 เพื่อนำมาวิเคราะห์ให้เห็นปรากฏการณ์ฝุ่นตลบในการรายงานข่าวของสื่อสารมวลชนที่เต็มไปด้วยข่าวลือข่าวลวงในช่วงก่อนการจัดตั้งรัฐบาล

  • แม้ ‘ข่าวลือ’ จะยังไม่ถูกจัดเป็นข้อมูลผิดพลาด (misinformation) หรือข้อมูลบิดเบือน (disinformation) เนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ความเป็นจริงหรือเท็จได้ ทั้ง ณ เวลานั้น หรือในเวลาต่อมา แต่หลายข่าวลือกลับมีโครงสร้างการสร้างข่าวที่เทียบเคียงได้กับข้อมูลผิดพลาด (misinformation) หรือข้อมูลบิดเบือน (disinformation) จำนวนมาก
  • แม้ข่าวลือจะเป็นเรื่อง ‘เกมการเมือง’ มากที่สุด 21 ชิ้น แต่ในช่วงแรกที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ประเด็นของข่าวลือที่พบมากที่สุดคือ ‘อุดมการณ์ทางการเมือง’ มากถึง 11 ชิ้น ซึ่งเป็นประเด็นที่พรรคก้าวไกลถูกโจมตีเสมอมา
  • ช่วงไทม์ไลน์ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล  ประเด็นที่พรรคเพื่อไทยถูกโจมตีด้วยข่าวลือจะแตกต่างไปจากในช่วงไทม์ไลน์แรกที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ และเป็นเรื่องที่มีเป้าประสงค์เพื่อลดความน่าเชื่อถือของแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งก็คือ เศรษฐา ทวีสิน 
  • การสร้างข่าวลือโดยการปล่อยข่าวนั้นมีมากที่สุด จำนวน 28 ชิ้น โดยมีเป้าประสงค์ในการสร้างความแตกแยกในการจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำมากที่สุด ถึง 10 ชิ้นด้วยกัน และยังพบว่าใน 10 ชิ้นนี้มีเป้าหมายโจมตีเป็นพรรคเพื่อไทยมากที่สุด
  • หัวหน้าข่าวการเมือง นสพ.เดลินิวส์ ชี้ทุกข่าวที่ได้มาเป็นข่าวลือ จนกว่าจะตรวจสอบ และในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ความจริงเปลี่ยนไว แม้จะคอนเฟิร์ม ณ ตอนนี้ แต่พรุ่งนี้หรืออีกหนึ่งชั่วโมงมันอาจจะเปลี่ยน 
  • นักวิชาการวารสารศาสตร์เสนอวิธีรายงานข่าวลือแบบ ‘แซนด์วิช’ เอาสิ่งที่จริงขึ้นก่อน และตัวเท็จมาอยู่ตรงกลาง เสนอว่าข้อเท็จจริงคือแบบนี้ เพื่อให้อัลกอริทึมจับข้อมูลที่จริง มากกว่าตัวเท็จเวลาคนค้นหาข้อมูล 

ผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ปรากฏว่าพรรคก้าวไกลได้จำนวนที่นั่ง สส. มากเป็นอันดับหนึ่ง และก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้พรรคร่วมรัฐบาลชุดแรก 8 พรรค ที่มีก้าวไกลเป็นแกนนำ โดยมีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่ในกระบวนการก้าวขึ้นสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น จำต้องได้เสียงโหวตเกินกว่า 376 เสียง ซึ่งรวมไปถึงเสียงโหวตจาก สว. ทั้ง 250 คนด้วย นำมาสู่บทสรุปที่ได้ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยในช่วงเวลาดังกล่าวเต็มไปด้วยความพลิกผันทางการเมือง และมีข่าวลือ ข่าวลวง ข้อมูลที่ผิดพลาด บิดเบือน เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลและการโหวตประธานสภาและนายกรัฐมนตรี ทั้งทางตรงและทางอ้อม ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนไปจนถึงในโซเชียลมีเดียหลากหลายแพลตฟอร์มเป็นจำนวนมาก

Rocket Media Lab เก็บข้อมูลข่าวลือ ข่าวลวง ข้อมูลที่ผิดพลาด บิดเบือน ที่มีการรายงานในสื่อสารมวลชนและปรากฏในโซเชียลมีเดีย ในช่วงเวลาหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 จนถึงการจัดตั้งรัฐบาล 22 สิงหาคม 2566 เพื่อนำมาวิเคราะห์ให้เห็นปรากฏการณ์ฝุ่นตลบในการรายงานข่าวของสื่อสารมวลชนที่เต็มไปด้วยข่าวลือข่าวลวงในช่วงก่อนการจัดตั้งรัฐบาล 

ข่าวลือข่าวลวงมีมากน้อยแค่ไหน ในช่วงก่อนจัดตั้งรัฐบาล

พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำนิยามคร่าวๆ ของคำว่า “ข่าวลือ” โดยอ้างอิงงานศึกษาเรื่อง The Web of False Information: Rumors, Fake News, Hoaxes, Clickbait, and Various Other Shenanigans ว่าหมายถึง “ข้อมูลที่ข้อเท็จจริงยังคลุมเครืออยู่ หรือยังไม่สามารถยืนยันได้ ยังฟันธงไม่ได้ในขณะนั้นว่าเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ” โดยภายใต้กรอบคำนิยามนี้ Rocket Media Lab ได้เก็บรวบรวมการรายงานข่าวที่ถือว่าเป็นข่าวลือ ข่าวลวง ข้อมูลที่ผิดพลาด บิดเบือน  ที่มีการรายงานในสื่อสารมวลชนและปรากฏในโซเชียลมีเดีย ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมา ตั้งแต่หลังวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566  จนถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่มีการโปรดเกล้าคณะรัฐมนตรี จำนวนทั้งหมด 70 ชิ้น พบว่า เป็นข่าวลือที่มุ่งตรงไปยังองค์กรต่างๆ ซึ่งส่วนมากเป็นพรรคการเมือง โดยแยกได้ดังนี้

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า 2 พรรคการเมืองที่ได้ที่นั่ง สส. มาเป็นอันดับหนึ่งและอันดับสอง และเป็นพันธมิตรในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันในช่วงแรก ต่างเป็นพรรคการเมืองที่มีข่าวลือที่มุ่งตรงไปยังตัวพรรคมากที่สุด โดยพรรคก้าวไกลมีมากถึง 24 ชิ้น พรรคเพื่อไทยมี 23 ชิ้น แต่ถ้านับรวมข่าวลือที่เกี่ยวพัน 2 พรรคการเมืองใน 1 ข่าว ซึ่งมีทั้ง เพื่อไทย/พลังประชารัฐ และ เพื่อไทย/ก้าวไกล ก็จะพบว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่มีข่าวลือเกี่ยวพันกับพรรคมากที่สุดในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมา รองลงมาก็คือพรรคก้าวไกล และพรรครวมไทยสร้างชาติ 

นอกจากนี้ยังพบข่าวลือที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอื่นๆ ที่ไม่ใช่พรรคการเมืองอีกเช่น กกต. อย่างเช่นข่าวลือว่า คะแนนผู้สมัครเขตเลือกตั้งที่ 7 จ.สุราษฎร์ธานี มีจำนวนมากกว่าจำนวนผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือองค์กรเอกชนอย่าง  บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่มีข่าวลือว่า ทรูตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือพิธา ซึ่งต่อมา ทรูปฏิเสธข่าวดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กรณีนี้น่าจะสืบเนื่องจากกรณีที่มีการตัดสัญญาณถ่ายทอดการให้สัมภาษณ์ของพิธาในรายการของ BBC ไม่เพียงแค่นั้นในบางข่าวอาจจะไม่ใช่ข่าวลือของพรรคการเมืองเดี่ยวๆ แต่เป็นกลุ่มพรรคการเมืองที่ถูกนิยามว่า ‘ขั้วอำนาจเก่า’ อันหมายถึงพรรคการเมืองที่เคยเป็นรัฐบาลในสมัยที่ผ่านมา เช่นข่าวขั้วอำนาจเก่าเตรียมจับมือพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล 

ดังนั้น หากมองในแง่ที่ว่าข่าวลือเป็นเหมือนอาวุธทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง อาวุธในครั้งนี้จึงถูกนำมาใช้กับ 2 พรรคการเมืองหลักที่ผลัดกันขึ้นมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ 

ข่าวลือเป็นเรื่องอะไร 

จากนั้นเมื่อนำเอาข่าวลือทั้ง 70 ชิ้น มาวิเคราะห์เนื้อหาและแยกประเภทว่าเนื้อหาของข่าวมุ่งกล่าวหาในประเด็นอะไร สามารถแยกออกได้เป็น 10 ประเด็นดังนี้ 

เกมการเมือง 21 ชิ้น
อุดมการณ์ทางการเมือง 13 ชิ้น 
หักหลัง 10 ชิ้น 
ไม่เหมาะสม 9 ชิ้น 
ความขัดแย้งในพรรค 4 ชิ้น 
ขาดคุณสมบัติ 3 ชิ้น 
ซื้อเสียง 3 ชิ้น 
ไม่โปร่งใส 3 ชิ้น 
ด้อยค่า 2 ชิ้น
ผิดคำพูด 2 ชิ้น 

จากข้อมูล แม้จะเห็นได้ว่าข่าวลือที่มีประเด็นในการกล่าวหาว่าเป็น ‘เกมการเมือง’ มีมากที่สุดถึง 21 ชิ้น แต่เมื่อนำเอาข่าวลือทั้ง 70 ชิ้น มาแยกตามไทม์ไลน์โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงระยะเวลา เพื่อให้เห็นบริบทที่แวดล้อมว่าเหตุใดถึงมีข่าวลือเรื่องนั้นๆ เกิดขึ้น ซึ่งก็คือ 1. ช่วงการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ 2. ช่วงการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำภายใต้ MOU 8 พรรค 3. ช่วงการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ จะทำให้เห็นความน่าสนใจของประเด็นของข่าวลือเพิ่มเติมด้วย

ในช่วงแรกที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ประเด็นของข่าวลือที่พบมากที่สุดกลับไม่ใช่เรื่อง ‘เกมการเมือง’ แต่เป็น ‘อุดมการณ์ทางการเมือง’ มากถึง 11 ชิ้น และใน 11 ชิ้นนี้เป็นข่าวลือที่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกลโดยตรงถึง 9 ชิ้น เช่น เป็นการกล่าวหาถึงจุดยืนของพรรคก้าวไกล ทั้งเรื่องการจะให้สหรัฐฯ มาตั้งฐานทัพ มีการทำประชามติแบ่งแยกดินแดน หรือมีนโยบายขับแรงงานกัมพูชาออกนอกประเทศ ในขณะที่อีก 2 ชิ้นแม้จะไม่ได้มุ่งตรงไปยังพรรคก้าวไกล แต่ก็มีความเกี่ยวเนื่องกัน เช่น ข่าวลือทรูตัดสัญญาณมือถือพิธา หรือข่าวลือ มีชัยให้ สว. ที่โหวตพิธาต้องรักษาชาติก่อนประชาธิปไตย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าข่าวลือในช่วงแรกที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลนั้นมุ่งตรงไปยังประเด็นที่พรรคก้าวไกลถูกโจมตีเสมอมาในเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง 

รองลงมาซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าเพียง 1 ชิ้นก็คือ ‘หักหลัง’ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยโดยตรง 8 ชิ้น เช่น กระแสข่าวดีลลับในการจับขั้วรัฐบาลใหม่โดยไม่มีพรรคก้าวไกล ในขณะที่อีก 2 ชิ้น แม้เนื้อหาไม่ได้พุ่งตรงไปยังพรรคเพื่อไทย แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย เช่น ข่าวพรรคพลังประชารัฐจะยุบเพื่อไปรวมกับพรรคเพื่อไทย เพื่อจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล 

จะเห็นได้ว่าในช่วงแรกนี้ การที่ข่าวลือในประเด็นเรื่อง ‘อุดมการณ์ทางการเมือง’ ซึ่งมุ่งตรงไปยังพรรคก้าวไกลมีมากที่สุดก็เพราะว่ามีเป้าประสงค์เพื่อลดความน่าเชื่อถือของพรรคในการเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล ในขณะเดียวกันข่าวลือในประเด็นเรื่อง ‘หักหลัง’ ที่มีมากเป็นอันดับสองในจำนวนที่ใกล้กัน ซึ่งมุ่งตรงไปยังพรรคเพื่อไทยมากที่สุดโดยมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างความแตกแยกในการจัดตั้งรัฐบาล 

จากนั้นเมื่อมาพิจารณาดูในช่วงไทม์ไลน์ที่สองที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้ MOU 8 พรรค จะพบว่าประเด็นข่าวลือที่มีมากที่สุดก็คือ ‘เกมการเมือง’ มีจำนวน 8 ชิ้น ซึ่งมีเนื้อหามุ่งตรงไปยังพรรคเพื่อไทย ก้าวไกล และประชาธิปัตย์ อย่างละ 2 ชิ้นเท่าๆ กัน

และในช่วงไทม์ไลน์สุดท้าย ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ก็จะพบว่า ประเด็นที่มีมากที่สุดคือ ‘ความไม่เหมาะสม’ มีจำนวน 6 ชิ้น ซึ่งหมายถึงความไม่เหมาะสมในด้านคุณสมบัติ ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่มุ่งตรงไปยังเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ดังเช่นข่าวที่ชูวิทย์ออกมาระบุถึงความไม่ชอบมาพากลในการซื้อขายที่ดินของแสนสิริขณะอยู่ภายใต้การบริหารของเศรษฐา ในขณะที่  ‘เกมการเมือง’  นั้นตามมาอันดับสอง มีจำนวน 5 ชิ้น  ซึ่งเนื้อหามุ่งตรงไปยังพรรคพลังประชารัฐและก้าวไกล ฝ่ายละ 2 ชิ้นเท่ากัน

จะเห็นได้ว่าในช่วงไทม์ไลน์ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล  ประเด็นที่พรรคเพื่อไทยถูกโจมตีด้วยข่าวลือจะแตกต่างไปจากในช่วงไทม์ไลน์แรกที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ และเป็นเรื่องที่มีเป้าประสงค์เพื่อลดความน่าเชื่อถือของแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งก็คือ เศรษฐา ทวีสิน แตกต่างจากไทม์ไลน์แรกที่ข่าวลือโจมตีไปที่อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคก้าวไกลเป็นหลัก

จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ข่าวลือที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสะเปะสะปะ  แต่กลับมีลักษณะเฉพาะเจาะจงเพื่อเป้าประสงค์ที่สอดคล้องกับบริบทของช่วงเวลาทางการเมืองอย่างชัดเจน เช่น ในช่วงเวลาหนึ่ง ที่พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล ก็จะถูกโจมตีด้วยข่าวลือในเรื่องหนึ่งซ้ำๆ ในขณะที่เมื่อพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ประเด็นในการโจมตีจากข่าวลือก็จะเปลี่ยนไปสู่อีกประเด็นที่ส่งผลต่อการเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลแทน

ข่าวลือสร้างขึ้นมาอย่างไร และสร้างผลกระทบอย่างไร

จากนั้นเมื่อนำข่าวลือข่าวลวง ข้อมูลที่ผิดพลาด บิดเบือน ทั้ง 70 ชิ้น มาวิเคราะห์โครงสร้าง ว่าข่าวแต่ละข่าวถูกสร้างด้วยวิธีการอย่างไร โดยแยกเป็นการสร้างข่าวลือจากการตัดต่อ สร้างข่าวลือจากการทำให้เข้าใจผิด สร้างข่าวลือจากการปลอมแปลงข้อมูล  สร้างข่าวลือจากการเชื่อมโยงที่ผิดบริบท และสร้างข่าวลือจากการปล่อยข่าว จะพบว่า 

จากข้อมูลจะเห็นว่า การสร้างข่าวลือโดยการปล่อยข่าวนั้นมีมากที่สุด จำนวน 28 ชิ้น เช่น พรรคประชาธิปัตย์ จะเข้าร่วมรัฐบาล, จะมีการเสนอสุชาติ เป็นประธานสภาฯ นอกจากนี้ยังค้นพบว่า การสร้างข่าวลือโดยการปล่อยข่าว จำนวน 28 ชิ้นนี้ มีเป้าประสงค์ในการสร้างความแตกแยกในการจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำมากที่สุด ถึง 10 ชิ้นด้วยกัน และยังพบว่าใน 10 ชิ้นนี้มีเป้าหมายโจมตีเป็นพรรคเพื่อไทยมากที่สุด

โครงสร้างการสร้างข่าวลือที่มีมากเป็นอันดับสองก็คือ การสร้างข่าวลือจากการทำให้เข้าใจผิด จำนวน 17 ชิ้น โดยมีเป้าประสงค์เพื่อลดความน่าเชื่อถือของพรรคก้าวไกล/สส.ก้าวไกล มากที่สุดถึง 7 ชิ้น  เช่น พรรคก้าวไกลโทรมาขอเสียงสนับสนุนจากพรรคประชาธิปัตย์เพื่อโหวตให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถัดมาเป็นการสร้างข่าวลือจากการทำให้เข้าใจผิด จำนวน 12 ชิ้น โดยมีเป้าประสงค์เพื่อลดความน่าเชื่อถือของพรรคก้าวไกล/สส.ก้าวไกลมากที่สุดถึง 7 ชิ้น เช่น ธนาธรปลุกระดมเยาวชนและกลุ่มชาติพันธุ์ภาคใต้ให้กระด้างกระเดื่องต่อรัฐไทย ถัดมาเป็นการสร้างข่าวลือจากข้อมูลที่ผิดบริบท 12 ชิ้น โดยมีเป้าประสงค์เพื่อลดความน่าเชื่อถือของพรรคก้าวไกลมากที่สุด 4 ชิ้น เช่น กรณีก้าวไกลกลับการทำประชามติแบ่งแยกดินแดน

และสุดท้าย การสร้างข่าวลือจากการตัดต่อ 7 ชิ้น โดยมีเป้าประสงค์เพื่อลดความน่าเชื่อถือของพรรคก้าวไกล/สส.ก้าวไกล มากที่สุดถึง 5 ชิ้น เช่น สส.ก้าวไกลนั่งฉี่ริมถนน และการสร้างข่าวลือจากการปลอมแปลงข้อมูล 6 ชิ้น โดยมีเป้าประสงค์เพื่อลดความน่าเชื่อถือของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยเท่ากัน อย่างละ 2 ชิ้น เช่น ฮุนเซนบอกว่าก้าวไกลมีนโยบายขับแรงงานกัมพูชา และจาตุรนต์จ่อซบก้าวไกล 

นอกจากนี้หากพิจารณาเฉพาะพรรคการเมือง จะพบความน่าสนใจว่า ในบรรดาข่าวลือข่าวลวง ข่าวที่ผิดพลาด บิดเบือนทั้งหมด ข่าวลือที่มุ่งตรงไปยังพรรคเพื่อไทยนั้น มักจะมีโครงสร้างเป็นการปล่อยข่าวมากที่สุด ในขณะที่พรรคก้าวไกลนั้น ข่าวลือมีโครงสร้างที่ชัดเจนทั้งการตัดต่อ และการทำให้เข้าใจผิดมากที่สุด 

และจากข้อมูลทั้งหมดยังทำให้เห็นว่า แม้ ‘ข่าวลือ’ จะยังไม่ถูกจัดเป็นข้อมูลผิดพลาด (misinformation) หรือข้อมูลบิดเบือน (disinformation) เนื่องด้วยอยู่ในสถานะความคลุมเครือ ณ เวลานั้น หรือไม่สามารถพิสูจน์ความเป็นจริงหรือเท็จได้ ทั้ง ณ เวลานั้น หรือในเวลาต่อมา แต่หลายข่าวลือกลับมีโครงสร้างการสร้างข่าวที่เทียบเคียงได้กับข้อมูลผิดพลาด (misinformation) หรือข้อมูลบิดเบือน (disinformation) จำนวนมาก โดยในการศึกษาครั้งนี้พบว่าข่าวลือที่ไม่สามารถจัดประเภทโครงสร้างในแบบทฤษฎีข้อมูลผิดพลาด (misinformation) หรือข้อมูลบิดเบือน (disinformation) แต่ถูกจัดเป็นการปล่อยข่าวมีเพียง 28 ชิ้นเท่านั้น ขณะที่อีก 42 ชิ้น ที่เหลือ มีโครงสร้างการสร้างข่าวลือที่สามารถใช้ทฤษฎีข้อมูลผิดพลาด (misinformation) หรือข้อมูลบิดเบือน (disinformation) ได้ ทั้งการตัดต่อ การทำให้เข้าใจผิด การปลอมแปลงข้อมูล และการเชื่อมโยงที่ผิดบริบท  

ข่าวลือมายังไง มีอายุยาวนานแค่ไหน 

จากข่าวลือข่าวลวงจำนวน 70 ชิ้นในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อนำมาแยกประเภทที่มาของข่าวลือเท่าที่สามารถสืบค้นได้ จะพบว่าสามารถแยกได้เป็น 

  1. สื่ออ้างรายงานข่าว/กระแสข่าว/แหล่งข่าวพรรค/ข่าวลือ 28 ชิ้น 
  2. โซเชียลมีเดียทั้งอินฟลูเอนเซอร์และผู้ใช้ทั่วไป 15 ชิ้น 
  3. นักเคลื่อนไหว/นักวิชาการ 14 ชิ้น
  4. นักการเมือง 7 ชิ้น 
  5. สื่อมวลชน 6 ชิ้น 

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าข่าวลือที่เกิดขึ้นในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนมากมาจากการที่สื่อรายงานโดยอ้างอิงว่าข่าวนั้นได้มาจาก รายงานข่าว/กระแสข่าว/แหล่งข่าวพรรค/ข่าวลือ เช่น ประวิตร วงษ์สุวรรณ บินไปอังกฤษเจรจาดีลลับจับขั้วแข่งก้าวไกล

รองลงมาก็คือ โซเชียลมีเดียทั้งอินฟลูเอนเซอร์และผู้ใช้ทั่วไป 15 ชิ้น เช่น คลิปเสียงคล้ายจาตุรนต์วิจารณ์เพื่อไทย  ซึ่งต่อมาก็ถูกนำมาเสนอผ่านสื่อมวลชนอีกครั้ง ตามมาด้วย นักเคลื่อนไหว/นักวิชาการ 14 ชิ้น เช่น กรณีชูวิทย์กล่าวหาเศรษฐาในขณะบริหารแสนสิริว่าทุจริต นักการเมือง 7 ชิ้น  เช่น หมอพรทิพย์นำเอาข้อเสนอแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 10 ข้อ มาโพสต์ว่าเป็นข้อเสนอก้าวไกล หรือสื่อเอง 6 ชิ้น  เช่น ข่าวว่าจาตุรนต์จ่อซบก้าวไกล

นอกจากนั้นยังพบความน่าสนใจในประเด็นเรื่องอายุของข่าวลือข่าวลวงที่มีอายุสั้นมาก โดยจำนวนวันคำนวณจากวันแรกที่พบการพูดถึงหรือรายงานข่าวนั้นๆ จนถึงวันที่มีผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ออกมาแสดงท่าทีต่อกระแสข่าวนั้น ไม่ว่าจะปฏิเสธหรือยอมรับ ทำให้ข่าวลือข่าวลวงที่ตอนแรกอยู่ในสภาวะคลุมเครือและยังไม่สามารถพิสูจน์ความเป็นจริงหรือเท็จได้จบลงไป ซึ่งจะพบว่า ข่าวลือข่าวลวงที่มีอายุในช่วง 24 ชั่วโมง มีจำนวนสูงถึง 30 ชิ้น เช่น พิธาไม่ได้จบฮาวาร์ด และข่าวลือข่าวลวงที่มีอายุเพียง 1 วัน มีจำนวน 26 ชิ้น  เช่น  ธรรมนัสจะนำ สส. พลังประชารัฐไปโหวตให้เพื่อไทย

การตรวจสอบข่าวลือข่าวลวงโดยองค์กรอื่นๆ

ข่าวลือข่าวลวงช่วงการจัดตั้งรัฐบาล มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหลายแหล่ง ทั้งของภาครัฐเอง เช่น กกต. ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทยซึ่งจะนำเสนอการตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของ กกต. เช่น กรณี กกต. ถูกมองว่า ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ดำเนินคดีอาญาอนาคตใหม่ หรือ สส. พรรคก้าวไกลจะโดนใบแดง 10 คน เนื่องจากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

การตรวจสอบโดย AFP Factcheck ที่หยิบเอาข่าวลือที่แพร่สะบัดในโซเชียลมีเดียมาตรวจสอบ เช่น กรณีพิธาไม่ได้จบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กรณีว่าที่ สส.ก้าวไกลนั่งฉี่ริมถนน กรณีมีคำกล่าวอ้างว่า สะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทยถูกสร้างในสมัยรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ กรณีที่มีการระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานยุทธศาสตร์ชาติ ในปี 2566 -2570 แปลว่ายังมีอำนาจเต็มเหนือรัฐบาล 

ขณะที่ Cofact Thailand องค์กรภาคประชาสังคมที่เปิดแพลตฟอร์มให้ประชาชนร่วมตรวจสอบข่าวปลอมก็มีการตรวจสอบข่าวในช่วงนี้ด้วยเช่นกัน เช่น มีกรณีคลิปเสียงคล้ายจาตุรนต์วิจารณ์พรรคเพื่อไทย หรือกรณีปดิพัทธ์ซึ่งถูกขุดกิจกรรมทางการเมืองในอดีตมาพูดถึงหลังจากถูกเสนอชื่อเขาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรถึง 4 ประเด็นโดย Cofact ได้รวบรวมไว้เป็นกรณีเดียว

ข่าวลือข่าวลวงในสายตาสื่อสารมวลชนและนักวิชาการ 

ทุกข่าวที่ได้มาเป็นข่าวลือ จนกว่าจะตรวจสอบ

จากการสัมภาษณ์ ดวงฤทัย ผ่องใส หัวหน้าข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ถึงประสบการณ์การทำข่าวโดยเฉพาะช่วงหลังเลือกตั้งที่ผ่านมาว่า ระหว่างข่าวลือกับข่าวจริง อะไรมีมากกว่ากัน ดวงฤทัยมองว่า ข่าวที่ได้มาทั้งหมดเป็นข่าวลือ จนกว่าจะมีการตรวจสอบ 

“เวลาเขาส่งอะไรมา มันลือทั้งหมด แล้วก็เราต้องรีเช็คทั้งหมด  ข่าวลือที่ส่งมาวันนี้เราอาจจะยังไม่เล่น เพราะเราไม่รู้ว่ามันจริงหรือไม่จริง แล้วถ้าเกิดว่าอีกสองวันมันไม่เป็นไปตามข่าวลือ เราก็จะมองแล้วว่า คนที่ปล่อยต้องการอะไร ทุกอย่างมันมีเรื่องราว มันเป็นไปตามการต่อรอง ธรรมชาติ แล้วก็ผลประโยชน์” 

หัวหน้าข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เล่าว่า ขั้นตอนการทำงานคือ หนึ่ง ประเมินได้เลยว่าไม่เอาข่าวนี้ สอง สนใจแต่รีเช็ค อาจไม่จำเป็นต้องนำเสนอข่าววันนี้ สาม มันน่าจะเป็นไปได้ แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นความจริง 100% หรือเปล่า อันนี้ประเมินด้วยประสบการณ์ว่า ต้องนำเสนอข่าวไหม

“เวลาได้ข่าวมา ก็จะใช้วิธีให้นักข่าวแต่ละคนโทรหาแกนนำเลย แล้วมาประเมินกันว่าใช่หรือไม่ใช่ บางครั้งในที่สุด ข่าวที่ได้มามันไม่ใช่ มันอาจจะเป็นการมโนของอีกฝั่งหนึ่งที่คิดว่าตัวเองจะไปได้ในเวย์นี้ จึงปล่อยข่าวออกมาแบบนี้ แต่พอไปถามคนที่เกี่ยวข้องว่าเป็นไปได้เหรอ เขาก็ปฏิเสธ มันมีการหลอกกันไปมาเยอะมาก มันต้องทันเกมมาก  เราเองก็ต้องระวัง เพราะเราอยากจะนำเสนอในสิ่งที่คนอ่านไม่ไขว้เขว จะเห็นว่าในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ใครเปิดก่อนคนนั้นพลาดก่อน”

นอกจากนี้ดวงฤทัยยังอธิบายว่า ถ้าเป็นประเด็นใหญ่ๆ ก็จะตรวจสอบอีกครั้ง เช่น ตำแหน่งรัฐมนตรี หรือประธานสภาฯ แต่ในขณะเดียวกันการทำงานข่าวออนไลน์ก็ต้องมีความรวดเร็วด้วย ดังเช่นข่าวลือที่ว่าเพื่อไทยจะยกประธานสภาฯ ให้ก้าวไกล ที่จากการเก็บข้อมูลพบว่าเดลินิวส์เป็นสื่อมวลชนแรกๆ ที่นำเสนอข่าวนี้ในคืนวันที่ 29 มิถุนายน ก่อนที่มาต่อมาในช่วงเช้าวันที่ 30 มิถุนายน ชลน่านจะออกมาปฏิเสธข่าวว่าไม่เป็นความจริง 

“ในหนังสือพิมพ์รอได้ บางเรื่องที่เราเห็นว่ายังไม่ได้ข้อสรุปหรือยังหมิ่นเหม่ เรารอ แต่ว่าบางเรื่องที่มันพอจะเห็นว่ามันเป็นไปได้ เราก็ปล่อย ปล่อยแล้วเราไม่ทิ้ง เราก็กลับมารีเช็คต่อ หากได้ข้อเท็จจริงมาเพิ่มเติมเราก็อัปเดตข่าว เราต้องเข้าใจว่าการแข่งขันมันสูง มีอะไรที่พอจะโยนได้ที่ไม่ได้กระทบต่อสังคม อย่างเช่นข่าวเพื่อไทยจะยกประธานสภาฯ ให้ก้าวไกล เนื่องจากเวลานั้นดึกแล้ว เราจึงตัดสินใจนำเสนอข่าวไป เพราะเป็นออนไลน์ แต่เราก็ตามต่อ เช้าวันต่อมาเมื่อคุณหมอชลน่านปฏิเสธ เราก็รายงานข่าวใหม่” 

ส่วนเรื่องการเลือกนำเสนอกระแสข่าวจากโลกโซเชียล ดวงฤทัยเล่าวิธีการทำงานว่า “ในออนไลน์ ช่วงนั้นมันจะมีเรื่องของโซเชียลฟุ้งๆ ใช่ไหม เราก็เขียนให้ชาวบ้านรับรู้เท่านั้นเอง ว่าโซเชียลว่าอย่างนี้ๆ ในประเด็นที่น่าสนใจ ก็มาสรุปให้รู้ว่าเขามองอย่างนี้ๆ แต่เราไม่ได้บอกว่าแหล่งข่าวว่ามาอย่างนี้นะ จากนั้นเราก็ค่อยมาบอกว่ามันจริงมันเท็จอย่างไร ถ้าเราตามการเมืองในโลกออนไลน์ เราก็ต้องตามด้วยสติ”

นอกจากนี้ ดวงฤทัยชี้ถึงธรรมชาติการนำเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์กับออนไลน์ว่า “มันมีธรรมชาติของการนำเสนอต่างกันอยู่แล้ว หนังสือพิมพ์เราเดินตามกรอบ ออนไลน์เราก็จะเดินตามเวลา และมีการตรวจสอบให้ตามเวลา แล้วเราก็จะมีบทวิเคราะห์ให้ทุกวัน”

ในข่าวลือข่าวลวงในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าหลายข่าวเกิดขึ้นโดยใช้คำว่า สื่ออ้างรายงานข่าว/กระแสข่าว/แหล่งข่าวพรรค โดยไม่มีการอ้างอิงชื่อแหล่งข่าวหรือตัวบุคคลผู้ให้ข่าวระบุชัดเจน หัวหน้าข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ อธิบายส่วนนี้ว่า 

“เวลาเราคุยกับแหล่งข่าว เราจะต้องถามว่าอันนี้ขอโคว้ทได้ไหม หรือไม่ได้ แล้วแต่การตกลงในการคุยกัน แต่เราจะไม่ตีหัวแหล่งข่าว ที่เราไม่มีชื่อใครมาโคว้ทเลย เพราะถ้าโคว้ทไปปุ๊บ ไอ้นี่ก็ตายไง โดนผู้ใหญ่กาหัว ขนาดไม่โคว้ท เขาก็ยังหาอยู่เลยว่าใครให้ข่าว ทุกอย่างมันเป็นความลับ จนบัดนี้บางเรื่องก็เป็นความลับ แม้เราจะได้ชื่อรัฐมนตรีมาแล้ว เราก็พูดไม่ได้ว่าชื่อนี้เป็นมาอย่างไร เขาดูแลกันมาตั้งแต่ไหน มันพูดไม่ได้ 

“การที่เราจะเอาแหล่งข่าวมา เราจะไม่บอกว่าน้อง[ในสนาม]เอาข่าวมาจากไหน แต่น้องจะมีพื้นฐานของการดูว่าแหล่งข่าวคนนี้น่าเชื่อถือไหม คำว่าน่าเชื่อถือ อาจจะเป็น สส.เด็กๆ ก็ได้ แต่เรารู้ว่าคนนี้ไม่โกหก และถ้ามีอะไรที่พอจะเป็น hint ก็จะมากระซิบบอกเรา อีกแบบคือมีระดับที่เป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ในวงใน แต่บางครั้งเราก็จะไม่เอาข่าวจากเขาเพราะเรารู้ว่าเขาพูดเพื่อผลประโยชน์อะไร เราจะกรองว่าต้องเป็นข้อมูลที่ไม่ใช่มาจากผลประโยชน์ แต่มาจากการเจรจาจริง

“หรือหากเป็นประเด็นใหญ่ ก็จะให้อีกฝั่งการเมืองรีเช็คเนื่องจากเป็นการหารือกัน ในกรณีที่มีเวลา บางทีพี่ก็จะช่วยเช็ค ถ้าคอนเฟิร์มก็โอเค แต่ขอวงเล็บว่า คอนเฟิร์ม ณ ตอนนี้ เพราะพรุ่งนี้มันอาจจะเปลี่ยน หรืออีกหนึ่งชั่วโมงมันอาจจะเปลี่ยน เพราะฉะนั้น จริงคือจริงตอนนี้ ถ้ารีเช็คอีกที มันไม่จริงแล้วก็ต้องทิ้ง”

ดวงฤทัยเห็นด้วยกับข้อสังเกตเรื่องอายุความจริงของข่าวนั้นสั้นลงในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า แม้บางครั้งทำข่าวออกไปแล้ว แหล่งข่าวปฏิเสธว่าเรื่องดังกล่าวว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งสื่ออาจถูกมองว่าสร้างความสับสน เธออธิบายว่าอยากให้ติดตามแต่ละข่าวไปจนสุดทาง จะรู้ความจริง

“หลายสิ่งที่เราเขียนไปแล้วก็ถูกแหล่งข่าวปฏิเสธ โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาล เขาปฏิเสธตลอดเวลา แต่มันไม่ใช่หยุดแค่ว่าวันนี้ปฏิเสธ พี่ดูต่อไป สิ่งที่เขาปฏิเสธ มันคือความจริง เขาปฏิเสธความจริง คนอ่านก็ต้องเกาะติดการเมืองไป แล้วที่เราเขียนว่าอันนี้เป็นอย่างนี้แล้วเขาปฏิเสธ ถ้าคนอ่านอ่านไปก็จะรู้ว่านักการเมืองไม่ได้พูดจริงทั้งหมด คือการเมืองมันไม่ได้อ่านแค่วันสองวัน ต้องดูจากวันนี้จนถึงสุดท้าย การอ่านข่าวการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องของนักการเมืองเข้ามาบริหารงบประมาณแผ่นดินจำนวนเท่าไหร่ แล้วดูแลทั้งประเทศ เราก็ต้องติดตามเขาตั้งแต่ก่อนเราจะใช้สิทธิเลือกตั้ง แล้วก็ไปติดตามเขา นั่นจะทำให้เราได้นักการเมืองที่มีคุณภาพ ประชาชนนั่นแหละคือคนตัดสินชีวิตประเทศ อนาคตประเทศ”

เรียกร้องทุกฝ่ายกลับมาที่หลักการ

ขณะที่ พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นต่อประเด็นการรายงานข่าวลือข่าวลวงในสื่อในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมาว่าในเชิงหลักการ เราไม่ควรจะลงข่าวลือ หรือหากอ้างว่า มีความจำเป็นที่ต้องลง ก็ต้องถามว่าแล้วประโยชน์มันไปอยู่ที่ใคร เราควรนำเสนอโดยต้องคำนึงถึงว่าเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ประชาชนรู้เรื่องนี้แล้วเขาจะเอาไปทำไรได้ ดังนั้นถ้าสื่อไม่ได้คำนึงถึงประชาชนว่าจะสับสนจะวุ่นวาย มันผิดหลักการซ้ำสอง ถ้ามองในเรื่องการให้คุณค่าความสำคัญของแหล่งข่าวและสร้างความสัมพันธ์ของแหล่งข่าว เพื่อประโยชน์แล้วเล่นตามวาระที่แหล่งข่าวกำหนด สื่อก็เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายของกลไกที่เอื้อให้แหล่งข่าวได้ประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งก็ผิดหลักการทางวารสารศาสตร์ด้วยเช่นกัน  

อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ มองว่า ถ้าพิจารณาแล้วว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน อาจรอให้มีความชัดเจนก่อน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในภาวะที่สถานการณ์การเมืองพลิกได้ตลอดเวลา เพราะหากนำเสนอไปแล้วอาจสร้างความสับสนให้ประชาชน ขณะที่คนที่ได้ประโยชน์อาจเป็นสื่อที่ได้เอนเกจเมนต์และแหล่งข่าวที่ได้สื่อสาร โดยที่ตัวแหล่งข่าวเองไม่ได้เสียหายอะไร หากมีการปฏิเสธขึ้นมา แต่หากเป็นการตั้งโต๊ะแถลงเอง แหล่งข่าวคนนั้นก็ต้องรับผิดชอบเองเต็มๆ แต่ถ้าใช้พื้นที่ผ่านสื่อ อาจกลายเป็นว่าสื่อเป็นเครื่องมือของเขา ทั้งที่หน้าที่ของสื่อคือตรวจสอบให้ประชาชน

พรรษาสิริชี้ด้วยว่า การอ้างแหล่งข่าวโดยหลักการทำเพื่อปกป้องแหล่งข่าวจากอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ในต่างประเทศยังใช้หลักการนี้อยู่ แต่เมืองไทย เส้นตรงนี้ถูกลดลง พร้อมตั้งคำถามว่า มาตรฐานของการปกปิดชื่อแหล่งข่าวคืออะไร ในมาตรฐานวิชาชีพทั่วไป จะไม่ใช้แหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อ เนื่องจากจะส่งผลต่อสื่อเอง โดยที่ผู้รับสารก็ควรจะรู้ว่า วิธีการนี้ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ผู้รับสารอาจจะสนใจเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่สนับสนุนความคิดความเชื่อของตนเอง จึงไม่ได้พิจารณาว่า ข้อมูลที่ได้รับเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ท่ามกลางข้อมูลที่วิ่งเต็มไปหมด คนอ่านก็ได้แต่ยืนงงๆ เหมือนเดิม แล้วความเกลียดชังกันก็อาจจะเพิ่มขึ้นด้วยและอาจจะยิ่งคุยกันไม่ได้มากขึ้น มากกว่าที่จะมาตกลงเรื่องนี้ควรจะถามต่ออย่างไร หรือมันควรจะเป็นอย่างไรโดยหลักการ

ถ้าถามว่าแล้วเรื่องที่เป็นกระแสหรือมีข่าวลืออยู่ สื่อจะนำเสนอแบบไหนได้บ้าง นักวิชาการด้านวารสารศาสตร์เสนอว่า อาจใช้วิธีรายงานต่อยอด โดยสาระสำคัญอยู่ที่การตรวจสอบข้อมูล โดยอาจจะเกริ่นได้ว่ามีการถกเถียงหรือพูดคุยในสังคมอยู่

“สาระสำคัญของรายงานชิ้นนี้ที่มีการเอาไป verify ว่าจริงไม่จริง ดังนั้น เวลาพาดหัวมันควรเป็นพาดหัวที่ฟันธงว่าเรื่องนี้มันจริงหรือไม่จริง ไม่ใช่พาดหัวว่าลือ แต่คุณต้องบอกว่า สิ่งที่จริงคืออะไร ” 

พรรษาสิริเสนอให้ใช้วิธีการนำเสนอข่าวที่ต้องตรวจสอบว่าเป็นข่าวปลอมหรือไม่ด้วยวิธีที่เรียกว่า ‘แซนด์วิช’ โดยยกตัวอย่างคำพูดของโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจจะเป็นข่าวปลอม “เวลาเราลงออนไลน์แล้วบอกว่าทรัมป์พูดแบบนี้ และกลายเป็นพาดหัวอยู่ใน lead ทำให้ เว็บ search engine ซึ่งจะจับที่พาดหัวกับ lead ดังนั้น แทนที่เรื่องนี้จะทำให้ข้อมูลที่เป็นจริงมันถูกค้นเจอได้มากกว่า มันกลับไปทำให้ข้อมูลเท็จมันถูกผลิตซ้ำมากขึ้น แต่ถ้าเราเอาสิ่งที่จริงขึ้นก่อน และตัวเท็จมาอยู่ตรงกลาง เสนอว่าข้อเท็จจริงคือแบบนี้ อย่างน้อยก็เพื่อให้อัลกอริทึมมันจับข้อมูลที่จริง มากกว่าตัวเท็จเวลาคนค้นหาข้อมูล”

หากถามว่าจะเขียนเรื่องจากกระแสข่าวหรือข่าวลือได้หรือไม่ ตนเองเห็นว่าต้องจัดวางเพื่อไม่เน้นไปที่การเพิ่มยอดการเข้าดู แต่ควรจะต้องเอาข้อมูลที่เป็นความจริง สิ่งที่ตรวจสอบแล้วขึ้นมากกว่า เพื่อให้รู้ว่าสิ่งนี้เป็นข้อเท็จจริง แต่ในเนื้อข่าวสามารถอ้างอิงถึงกระแสข่าวได้

ทางออกของเรื่องนี้ พรรษาสิริเรียกร้องไปที่ผู้เล่นทุกฝ่ายของระบบนิเวศ ตั้งแต่สื่อเองที่ต้องกลับไปยึดมาตรฐานในการทำงาน เพื่อยืนระยะให้ได้อย่างที่ได้เสนอไปแล้วข้างต้น ประชาชนที่ต้องนิ่งมากขึ้น และนักการเมืองที่ต้องสร้างบรรทัดฐานในการสื่อสาร แม้จะยากเนื่องจากโซเชียลมีเดียทำให้รู้สึกว่าต้องตอบสนองอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่า ผู้เล่นสำคัญคือสื่อมวลชนที่มีมาตรฐานทางวิชาชีพระดับหนึ่ง มีหลักการเบื้องต้นว่า สิ่งที่ควร-ไม่ควรทำ เป็นอย่างไร ดังนั้นจึงควรกลับมายึดหลักปฏิบัตินี้

ขณะเดียวกันพรรษาสิริ เสนอให้เรียกร้องกับนักการเมือง เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีของวัฒนธรรมทางการเมือง โดยยกตัวอย่างกรณีช่วงก่อนเลือกตั้ง ที่มีการเสนอให้พรรคการเมืองมีสัตยาบันร่วมกันว่าจะไม่ปล่อยข่าวลวง ข้อมูลเท็จ ทำให้เห็นมีความพยายามสร้างบรรทัดฐานในการสื่อสารด้วย

“หรือถามว่า โฆษกพรรคมีไว้ทำไม มันก็สะท้อนวิธีการสื่อสารของพรรคการเมืองบ้านเราเหมือนกันว่าใช้วิธีกองโจรไปเรื่อยๆ แต่ไม่ได้มีโครงสร้างชัดเจน แล้วทำไมถึงใช้กองโจรได้ เพราะมันมีโซเชียลมีเดีย แล้วคนก็สนใจอยู่ดี และอาจจะได้อิมแพคมากกว่าตั้งโต๊ะแถลงเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนสมัยก่อนที่ต้องง้องอนสื่อมาแถลงทุกวันอาทิตย์ เข้าใจได้ เพียงแต่ว่ามันไม่ได้ช่วยให้วัฒนธรรมการสื่อสารการพูดคุยในช่วงที่เป็นความขัดแย้งแบ่งขั้วมันดีขึ้น”  

เช่นเดียวกับสื่อมวลชน “ตราบใดที่คุณไม่ปฏิรูปตัวเอง ไม่สร้างวัฒนธรรมที่จะทำให้มีความโปร่งใส สื่อสารอย่างตรงไปตรงมาก็จะส่งผลเสียกับตัวคุณเลย”

ดูข้อมูลที่ https://rocketmedialab.co/database-rumor/

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: