สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่าการมีเพศสัมพันธ์ที่เปิดกว้างและเสรี ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวียังเพิ่มสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันนวัตกรรมทางด้านยาและสาธารณสุขก็ได้ปรับตัวให้สอดคล้องเพื่อป้องกันและลดจำนวนผู้ติดเชื้อด้วยเช่นกัน อย่างที่หลายคนเคยได้ยินกันบ้างแล้วกับยาต้านไวรัสเอชไอวีทั้งแบบป้องกันและฉุกเฉิน คืออะไร วันนี้มาทำความรู้จักไปพร้อมกัน
PrEP หรือ Pre-Exposure Prophylaxis (ยาต้านก่อนเสี่ยง) เป็นยาต้านไวรัสสำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวี ใช้สำหรับป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในผู้ที่มีภาวะสุ่มเสี่ยง หรือรับประทานเพื่อลดความเสี่ยงก่อนการติดเชื้อ เช่น ในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่ทราบผลเลือดหรือมีคู่นอนหลายคน , ผู้ที่คู่นอนเป็นผู้ติดเชื้อ HIV , ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น , มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เป็นต้น แต่ไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้
ประสิทธิภาพของยา PrEP จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการรับประทานยา โดยต้องรับประทานยาทุกวัน วันละ 1 เม็ด ให้ตรงเวลา รวมถึงป้องกันการติดเชื้อโดยใช้วิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ การลดจำนวนคู่นอน เป็นต้น หลังจากใช้ยา PrEP ควรตรวจเลือดเพื่อติดตามประสิทธิภาพของยาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีทุก ๆ 3 เดือน สำหรับระยะเวลาการใช้ยาและการหยุดยาขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
PEP หรือ Post exposure prophylaxis (ยาต้านฉุกเฉิน) ใช้รับประทานหลังจากมีความเสี่ยงได้รับเชื้อเอชไอวีให้ไวที่สุดหรือภายใน 72 ชม. เช่น การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน ถูกข่มขืน สัมผัสเลือดหรือได้รับสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อ HIV บุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดอุบัติเหตุ มีดบาด เข็มตำในโรงพยาบาลจากการทำหัตถการให้คนไข้ เป็นต้น แต่หากเกินกว่า 72 ชม. การใช้ยา PEP จะไม่เกิดประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อ จึงไม่จำเป็นต้องรับยา แต่ควรมาตรวจเลือดหลังจากวันที่มีความเสี่ยงอย่างน้อย 14-21 วัน
ยา PEP ต้องรับประทานจนครบ 28 วันตามที่แพทย์กำหนด นอกจากนี้ยังต้องมาตรวจหาเชื้อซ้ำหลังผ่านไป 1 เดือนและ 3 เดือน ระหว่างนี้ผู้กินยาต้องใช้ถุงยางอนามัยในการมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง หากกินไม่ครบประสิทธิภาพการป้องกันจะลดลง และจะต้องมีการตรวจหาเชื้อ HIV ซ้ำหลังรับประทานยาครบ
เชื้อเอชไอวีสามารถป้องกันได้ หากรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับยาได้ที่สถานบริการของรัฐ เอกชน หรือคลินิกเฉพาะทางที่มีแพทย์ประจำ เนื่องจากการใช้ยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และมีเงื่อนไขว่าผู้นั้นจะต้องผ่านการตรวจเลือดแล้วพบว่ามีผล HIV เป็นลบ รวมถึงการตรวจไวรัสตับอักเสบบี และตรวจการทำงานของตับและไตร่วมด้วย เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากยา
ข้อมูลอ้างอิง :
รู้ไว้ ทำความเข้าใจให้ดี PrEP (เพร็ป) และ PEP (เป๊ป) (scimath.org)
รายละเอียดบทความ – Oryor E-School (fda.go.th)
PrEP กับ PEP คืออะไร ทำความเข้าใจก่อนใช้ - โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย (chulalongkornhospital.go.th)
PrEP และ PEP คืออะไร ? แตกต่างกันอย่างไร ? | Love2Test
เพร็พ (PREP) ,เป็ป (PEP) คืออะไร - ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย (คลีนิคนิรนาม) (trcarc.org)
PrEP กับ PEP เหมือนหรือต่างกันอย่างไร - มูลนิธิเพื่อรัก Love Foundation
ก่อนมีเพศสัมพันธ์คืนนี้ รู้จักยา PrEP-PEP กันหรือยัง? – รามา แชนแนล (mahidol.ac.th)
Writer -PeP vs PrEP อย่าสับสน ความแตกต่างระหว่างยาสองประเภทที่คุณควรรู้ (tpa.or.th)
ออกรอบหนัก! กิน PEP บ่อย เปลี่ยน กิน PrEP เลยดีกว่า – Buddy Station (moph.go.th)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ