ตลท. สรุปกลโกงงบ STARK กว่า 2.1 หมื่นลบ. ไม่รวมเบี้ยวหนี้หุ้นกู้ 9.2 พันล้าน

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 มิ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 10373 ครั้ง

ตลท. สรุปกลโกงงบ STARK กว่า 2.1 หมื่นลบ. ไม่รวมเบี้ยวหนี้หุ้นกู้ 9.2 พันล้าน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สรุปมูลค่าความเสียหายที่พบในงบการเงินของ บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) รวมกว่า 2.15 หมื่นล้านบาท นอกเหนือจากการผิดนัดการชำระหนี้หุ้นกู้อีก 9.2 พันล้านบาท ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับผู้ลงทุนในตลาดทุน

27 มิ.ย. 2566 เว็บไซต์การเงินธนาคาร รายงานว่านายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สรุปมูลค่าความเสียหายที่พบในงบการเงินของ บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) รวมกว่า 2.15 หมื่นล้านบาท นอกเหนือจากการผิดนัดการชำระหนี้หุ้นกู้อีก 9.2 พันล้านบาท ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับผู้ลงทุนในตลาดทุน

หลังจากที่ STARK รายงานข้อมูลทางงบการเงินปี 2565 ออกมาในวันที่ 16 มิ.ย. 2566 ซึ่งได้พบว่ามีการปรับปรุงข้อมูลทางบัญชี ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทำให้ STARK เกิดความเสียหายทางบัญชีมูลค่ารวมกว่า 2.15 หมื่นล้านบาท ซึ่ง 5 เรื่อง ได้แก่

1. การสั่งซื้อวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าของ STARK และการสั่งสินค้าจากซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.2565 มีการปรับตัวเลขถึง 1.04 หมื่นล้านบาท

2. การรับรู้รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้าสูงเกินความจริงตั้งแต่ก่อนปี 2564 จนถึงปี 2565 รวมมูลค่า 7.76 พันล้านบาท

3. การจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการขายที่ไม่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่ก่อนปี 2564 จนถึงปี 2565 รวม 670 ล้านบาท

4. การตั้งค่าเผื่อลูกหนี้การค้าเพิ่มขึ้นจากการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้องในปี 2564-65 รวม 794 ล้านบาท

และ 5.การขาดทุนจากสินค้าคงเหลือหายในปี 2565 ที่ 1.79 พันล้านบาท

สำหรับแนวทางปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใน SET และ mai และคณะกรรมการตลาดหลักทรัพยฯ ได้มีมติเห็นชอบแนวทางยกระดับการกำกับดูแล บจ.ให้เข้มข้นมากขึ้นเพื่อเพิ่มคุณภาพบริษัทและการดูแลนักลงทุน และแนวทางปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับ บจ.ใน SET และ mai ตั้งแต่การรับ บจ.ที่มีความเข้มแข็งด้านฐานะการเงินและผลการดำเนินงานมากขึ้น

การ Repositioning SET และ mai ปรับปรุงคุณสมบัติ บจ.ตามเกณฑ์รับหลักทรัพย์ใน SET และ mai ซึ่งจะเพิ่มในส่วนของกำไร เพื่อรองรับบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรที่สูงขึ้น และเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) เพื่อสะท้อนผลการดำเนินงานและฐานะการเงินที่แข็งแรงขึ้น โดยกำหนดทุนชำระแล้ว (Paid-up capital) เริ่มต้นเท่ากัน เพื่อให้ส่วนของทุนมีความสอดคล้องกับลักษณะการประกอบธุรกิจ และบริษัทผู้ระดมทุนสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) และการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชน (Public Offering) สำหรับบริษัทขนาดเล็กให้สูงขึ้น เพื่อดูแลสภาพคล่องในตลาดรอง

การเพิ่มการเตือนผู้ลงทุนด้วยเครื่องหมาย “C” กรณีบริษัทมีฐานะการเงินหรือผลการดำเนินงานที่มีแนวโน้มลดลง เช่น มีรายได้จากการดำเนินงานต่ำหรือขาดทุนต่อเนื่อง ผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงินหรือตราสารหนี้ และผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินในทุกกรณี เนื่องจากบริษัทที่มีปัญหาด้านฐานะการเงินมักตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงสำคัญ เช่น ผู้ถือหุ้นหรือธุรกิจ หรือเป็นเป้าหมายของ Backdoor Listing รวมถึงอาจมีการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผิดไปจากสภาพปกติ

การเพิ่มความเข้มงวดในการเพิกถอน โดยคณะกรรมการจะพิจารณาเพิกถอนบริษัทที่ไม่สามารถแก้ไขเหตุเพิกถอนและกันกลับมาซึ่งขายได้เมื่อครบกำหนดเวลา เพื่อให้มีบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพ อีกทั้งเพิ่มความเข้มข้นในการพิจารณาคุณสมบัติบริษัท Backdoor Listing โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะร่วมพิจารณาคุณสมบัติของบริษัทเช่นเดียวกับ กรณี IPO เพื่อให้บริษัทที่เข้าจดทะเบียนไม่ว่าด้วยช่องทางใดมีคุณภาพใกล้เคียงกัน

หลังจากนี้ตลท.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาได้ความ เห็นชอบ และจะทยอยประกาศใช้เกณฑ์ต่างๆ โดยคำนึงถึงระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป

สำหรับการตรวจสอบการกระทำความผิดของ STARK ที่เกิดขึ้น นายภากร กล่าวยอมรับว่าใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบมากกว่ากรณีของ บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) เนื่องจากกรณีของ STARK มีผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ทำให้ขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลต่างๆทำได้ยากกว่ากรณีของ MORE ที่มีผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบประมาณ 10 ราย แต่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯพร้อมกับหน่วยงานต่างๆพร้อมเดินหน้าในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาแนวทางเยียวผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: