กทม.-​GC สร้างสรรค์เครื่องเล่นอัพไซเคิล เทิร์นสุขให้สัตว์เลี้ยง

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 ต.ค. 2566 | อ่านแล้ว 12723 ครั้ง

กทม.-​GC สร้างสรรค์เครื่องเล่นอัพไซเคิล เทิร์นสุขให้สัตว์เลี้ยง

กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จัดกิจกรรมส่งมอบอุปกรณ์เครื่องเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ม้านั่ง และพื้นทางเดินอัพไซเคิล สำหรับพื้นที่โซนสัตว์เลี้ยง (Pet Zone) ในพื้นที่สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ภายใต้โครงการ “Circular Pet Zone by GC YOUเทิร์น เทิร์นสุขให้เพื่อนสัตว์เลี้ยง” เปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วเทิร์นกลับมาสร้างประโยชน์

เมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. 2566 กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จัดกิจกรรมส่งมอบอุปกรณ์เครื่องเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ม้านั่ง และพื้นทางเดินอัพไซเคิล สำหรับพื้นที่โซนสัตว์เลี้ยง (Pet Zone) ในพื้นที่สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ภายใต้โครงการ “Circular Pet Zone by GC YOUเทิร์น เทิร์นสุขให้เพื่อนสัตว์เลี้ยง” เปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วเทิร์นกลับมาสร้างประโยชน์

GCแจ้งว่าโครงการดังกล่าวช่วยลดปริมาณพลาสติกใช้แล้วไปสู่หลุมฝังกลบกว่า 1,478 กิโลกรัม ลดก๊าซเรือนกระจกกว่า 1,523 กิโลกรัม คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 169 ต้น ต่อยอดสู่การเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้รักสัตว์เลี้ยง ณ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) จตุจักร กรุงเทพฯ

นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยว่า กรุงเทพมหานคร มีวิสัยทัศน์ในการมุ่งเน้นจัดการขยะที่แหล่งกำเนิด โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมตามแนวคิดของเสียเหลือศูนย์ (Zero Waste Management) สร้างความตระหนักรู้ในการลดปริมาณขยะตามหลัก 3R คือ Reduce, Reuse and Recycle และทำให้มูลฝอยเหลือน้อยที่สุดและกำจัดที่เหลือ (Residue) ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะสำเร็จได้ต้องมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วน และรู้สึกยินดีและขอบคุณที่ GC ได้เข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในพันธมิตรเข้ามาสนับสนุนในส่วนของการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี โดยได้มีการเปลี่ยนถังขยะเพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการคัดแยกขยะให้กับผู้มาใช้บริการในสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) และยังได้ส่งมอบเครื่องเล่นและอุปกรณ์อัพไซเคิลสำหรับสัตว์เลี้ยง สร้างประโยชน์จากพลาสติกใช้แล้วที่ยากต่อการนำไปรีไซเคิลอีกด้วย

ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร GC กล่าวว่า GC ดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืน พร้อมสร้างสมดุลใน 3 มิติ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หรือการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงได้พัฒนา GC YOUเทิร์น แพลตฟอร์มการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง สนับสนุนการนำพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนส่งกลับมาเป็นวัตถุดิบและกลับเข้าสู่วงจรการผลิตอีกครั้ง

โดยในปี 2566 GC และกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่สวนรถไฟให้กลายเป็น Circular Park เริ่มต้นจากการสนับสนุนการเปลี่ยนถังขยะเพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการด้านการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีให้กับภาคประชาชน รวมถึงได้บูรณาการความเชี่ยวชาญของ GC และพันธมิตรในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาผลิตอุปกรณ์และเครื่องเล่นอัพไซเคิลจากพลาสติกใช้แล้ว ประกอบด้วย เครื่องเล่นสนามแบบวิ่งข้าม เครื่องเล่นสนามแบบรั้วรอดรู เครื่องเล่นสนามแบบอุโมงค์ลอด ม้านั่ง อิฐบล๊อกปูพื้นทางเดินรูปเท้าสุนัข และอิฐบล๊อกรูปแบบ ซึ่งทั้งหมดนี้ผลิตจากพลาสติกใช้แล้วประเภท พลาสติกยืด และถุงบรรจุภัณฑ์ที่ประกอบด้วยพลาสติกหลายชั้น (Multi-layer) ซึ่งยากต่อการนำไปรีไซเคิลช่วยลดปริมาณพลาสติกใช้แล้วไปสู่หลุมฝังกลบกว่า 1,478 กิโลกรัม ลดก๊าซเรือนกระจกกว่า1,523 กิโลกรัม คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 169 ต้น และขอขอบคุณกรุงเทพมหานครที่ให้เกียรติ GC เข้ามาเป็นส่วนร่วมในโครงการ Circular Pet Zone GC YOUเทิร์น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ท้าทายและใหญ่เกินกว่าที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะจัดการได้เพียงคนเดียวหรือองค์กรเดียว

สำหรับความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร และ GC ในครั้งนี้ เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างการตระหนักรู้เรื่องการคัดแยกพลาสติกใช้แล้วอย่างถูกวิธี และนำกลับมารีไซเคิลและอัพไซเคิล พัฒนาจนเกิดเป็นอุปกรณ์เครื่องเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ม้านั่ง และพื้นทางเดินอัพไซเคิล ที่ผลิตจากพลาสติกใช้แล้วประเภท พลาสติกยืด และถุงบรรจุภัณฑ์ที่ประกอบด้วยพลาสติกหลายชั้น (Multi-layer) ซึ่งยากต่อการนำไปรีไซเคิล ผ่าน GC YOUเทิร์น หรือแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างครบวงจร นับเป็นการส่งต่อแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน Closed loop อย่างเป็นรูปธรรม สร้างประโยชน์ให้พลาสติกใช้แล้วกลับมาเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกให้ “พลาสติกเทิร์นเมือง” กลับมาสร้างประโยชน์และความสุขให้กับประชาชนและสัตว์เลี้ยงที่มาใช้บริการที่สวนรถไฟแห่งนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: