แพทย์เตือน ‘โรคโปลิโอ’ อาจกลับมาระบาดอีกครั้ง ย้ำพาบุตรหลานรับวัคซีนป้องกัน

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 ธ.ค. 2566 | อ่านแล้ว 3129 ครั้ง

แพทย์เตือน ‘โรคโปลิโอ’ อาจกลับมาระบาดอีกครั้ง ย้ำพาบุตรหลานรับวัคซีนป้องกัน

แพทย์เตือน ‘โรคโปลิโอ’ อาจกลับมาระบาดอีกครั้ง ไม่มียารักษา เสี่ยงอัมพาตแขนขาลีบตลอดชีวิต ย้ำผู้ปกครองควรพาบุตรหลานเข้ารับ ‘วัคซีนป้องกันโปลิโอ’ เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

ปัจจุบัน สถานการณ์การระบาดของโรคโปลิโอเริ่มกลับมาระบาดอีกครั้งในหลายประเทศ จากอดีตที่เคยกวาดล้างได้สำเร็จกว่า 99% มาแล้ว ล่าสุดข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2564 - 2565 มีรายงานว่าพบการระบาดของไวรัสโปลิโอสายพันธุ์ WPV1 ในทวีปแอฟริกา อัฟกานิสถาน และปากีสถาน ขณะที่ปี 2565 มีรายงานพบการแพร่ระบาดของไวรัสโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์ชนิดที่ 2 (cVDPV2) ในประเทศอินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา และอิสราเอล ผู้ติดเชื้อไวรัสโปลิโอทำให้เกิดการอักเสบของไขสันหลัง และเกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อแขนขาซึ่งพบในหลายประเทศหลังจากที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคโปลิโอมาเป็นระยะเวลานานหลายปี จึงเป็นเหตุให้หน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยเกิดความกังวลว่าอาจเกิดการระบาดของโรคนี้มายังประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมถึงประเทศไทย

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ และกรรมการสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลในงานวันแห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก 2566 (หรือ World Immunization Day 2023) ว่า ‘โรคโปลิโอ’ หรือที่เรียกว่า ‘โรคอัมพาตแขนขาลีบ’ เกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอ (Poliovirus) เข้าไปทำลายระบบประสาทส่งผลให้เกิดภาวะอัมพาต พิการ หายใจลำบาก และอาจเสียชีวิตในที่สุด โดยอาการของผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอจะแตกต่างกันมาก ซึ่งกว่าร้อยละ 95 จะไม่มีอาการแสดงใดๆ ร้อยละ 1-2 จะแสดงอาการเพียงเล็กน้อยหรือมีอาการคล้ายโรคหวัด ขณะที่ร้อยละ 1-2 จะมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ปวดบริเวณต้นคอ คอแข็ง อ่อนเพลีย มึนงง แต่ยังสามารถหายเป็นปกติได้ (โชคดี) ขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มสุดท้ายจะมีความรุนแรงมากที่สุด พบได้น้อยประมาณ 1 ใน 500 – 1,000 ราย ที่ติดเชื้อไวรัสโปลิโอ โดยจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดภาวะอัมพาตเฉียบพลัน และถาวร ไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ (โชคร้าย)

โรคโปลิโอ มักพบได้ในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และพบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเชื้อสามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ง่ายหากผู้ที่ได้รับเชื้อยังไม่มีภูมิคุ้มกัน โดยติดต่อได้จากการกลืนกินหรือสูดเอาเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเชื้อจะออกมากับสารคัดหลั่งบริเวณลำคอในขณะที่ผู้ป่วยไอหรือจาม หรือออกมากับอุจจาระแล้วเข้าสู่ร่างกายผู้อื่นทางปาก แล้วแพร่สู่ผู้อื่นผ่านการกลืนเชื้อที่ติดอยู่ที่คอจากลมหายใจหรือจากการกลืนเข้าไปพร้อมกับน้ำ หรืออาหารที่มีเชื้อไวรัสโปลิโอปนเปื้อนอยู่

หลังจากที่เชื้อไวรัสโปลิโอเข้าสู่ร่างกายของผู้ที่ไม่มีภูมิต้านทาน เชื้อไวรัสจะเข้าไปเพิ่มจำนวนในบริเวณคอหอยและลำไส้ และอีก 2-3 วัน เชื้อก็จะกระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอที่ทอนซิลและที่ลำไส้ และเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้ ซึ่งส่วนน้อยที่เชื้อไวรัสจะผ่านจากกระแสเลือดเข้าสู่ไขสันหลังและสมองโดยตรง หรือบางส่วนอาจผ่านไปไขสันหลังโดยทางเส้นประสาท และหากเชื้อไวรัสเข้าไปยังไขสันหลังแล้ว เชื้อก็จะเข้าไปทำลายเซลล์ประสาทสั่งการ (Motor neuron) ที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อต่างๆ ทั้งกล้ามเนื้อเรียบ (เป็นกล้ามเนื้อของอวัยวะภายในที่ทำงานได้เองโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของสมอง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อของลำไส้) และกล้ามเนื้อลาย (กล้ามเนื้อแขน ขา) ทำให้กล้ามเนื้อเหล่านี้เกิดอาการอ่อนแรงหรือเกิดอัมพาตในที่สุด

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวเน้นย้ำว่า โรคโปลิโอ เป็นโรคที่ไม่มียารักษา แต่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นวัคซีนพื้นฐานและวัคซีนจำเป็นที่เด็กทุกคนควรได้รับ ซึ่งผู้ปกครองควรใส่ใจพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนโปลิโอตามโปรแกรมที่กำหนด โดยวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ มี 2 ชนิด คือ ชนิดรับประทาน (Oral Polio Vaccine: OPV) ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อเป็น และชนิดฉีด (Inactivated Poliomyelitis Vaccine: IPV) ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตาย กระทรวงสาธารณสุขได้มอบนโยบายและชี้แจงโครงการความร่วมมือขับเคลื่อนการกวาดล้างโรคโปลิโอตามพันธสัญญานานาชาติ ด้วยการนำร่องให้วัคซีนโปลิโอ สูตร 2 IPV + 3 OPV ให้กับ สสจ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยล่าสุด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายและชี้แจงโครงการความร่วมมือขับเคลื่อนการกวาดล้างโรคโปลิโอตามพันธสัญญานานาชาติ ด้วยการนำร่องให้วัคซีนโปลิโอ สูตร 2 IPV + 3 OPV ให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ดังนี้

1. แนะนำให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด (IPV) จำนวน 2 เข็ม เมื่อเด็กอายุ 2 เดือน และ 4 เดือน

2.ให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน หรือชนิดหยอด (OPV) จำนวน 3 ครั้ง เมื่ออายุ 6 เดือน, 18 เดือน และ 4 ปี

เนื่องด้วย วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอทั้ง 2 ชนิด สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ดี และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโปลิโอสูง โดยวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน เป็นวัคซีนเชื้อเป็น ประกอบด้วยสายพันธุ์ 1 และ 3 เป็นการเลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะที่บริเวณเยื่อบุลำคอและลำไส้อย่างรวดเร็วและอยู่ได้นาน ขณะที่วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด เป็นวัคซีนเชื้อตาย ไม่สามารถสร้างภูมิได้ทันทีหลังฉีด แต่สามารถครอบคลุมครบทุกสายพันธุ์ 1, 2, 3 โดยเฉพาะสายพันธุ์ CvdPV2 ซึ่งยังปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง วัคซีนชนิดฉีดยังไม่ก่อให้เกิด VAPP (Vaccine – associated paralytic polio) หรือภาวะอ่อนแรงที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอจากวัคซีนชนิดรับประทาน ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้น้อย แต่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กในระยะยาว โดยมีอัตราการเกิด 1 ต่อ 900,000 ราย ที่ได้รับวัคซีน OPV ครั้งแรก และลดลงถึง 25 เท่า ในการได้รับวัคซีน OPV ครั้งต่อไป ซึ่งภาวะอ่อนแรงดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นในผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด โดยคาดการณ์ว่าในอนาคตอีก 10 – 15 ปีข้างหน้า อาจจะมีการยกเลิกการใช้วัคซีนปัองกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน แต่อาจนำชนิดกินมาใช้ฉีดปูพรมในกรณีที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโปลิโอ

ถึงแม้ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีผู้ป่วยโรคโปลิโอเป็นเวลานาน แต่เชื้อโปลิโอสายพันธุ์ cVDPV2 ยังคงปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมของประเทศเพื่อนบ้านของไทย ดังนั้นจึงควรมีความระมัดระวังไม่ให้สัมผัสเชื้อโปลิโอ โดยการรักษาสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด โดยแนะนำให้เด็กไทยทุกคนต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอตามตารางการให้วัคซีนโปรแกรมที่กำหนดไว้ตามสูตร 2 IPV + 3 OPV ทั่วประเทศ รวมถึงผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนชนิดฉีด หรือยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ cVDPV2 เพราะหากความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว อาจทำให้โรคหวนกลับมาระบาดได้อีกครั้ง

สามารถติดตามข่าวสารเรื่องวัคซีน ได้ที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ หรือติดตามเพจ https://www.facebook.com/nvikm/

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: