สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) แนะเพิ่มการใช้ ‘ยาสมุนไพร’ ในร้านยาระบบบัตรทอง สร้างสุขภาพดี-ติดปีกเศรษฐกิจไทย บนความมั่นใจ ‘บัญชียาหลักฯ’-ลดการนำเข้ายาต่างประเทศ
เมื่อช่วงเดือน ก.พ. 2566 หน่วยงานสื่อสารสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) รายงานว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด พบว่า ‘ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย’ ได้รับความนิยมและเติบโตขึ้นเป็นเท่าตัว ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทย มีอัตราเติบโตมากกว่า 100% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ยังไม่มีการระบาด
สอดคล้องกับผลสำรวจจาก Euromonitor International 2021 ที่ช่วยฉายภาพให้ชัดเจนขึ้น โดยพบว่า มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพร ในปี 2564 สูงถึง 45,646 ล้านบาท และคาดว่าหลังจากนี้จะเติบโตขึ้นอีก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ภายในปี 2569 ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรจะโตถึง 5.95 หมื่นล้านบาท หรือเฉียดๆ 6 หมื่นล้านบาท1
แน่นอนว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ครอบคลุมรวมถึง “ยาจากสมุนไพร” (ยาตามองค์ความรู้ดั้งเดิม, ยาพัฒนาจากสมุนไพร) ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย ทั้งในเชิงการสร้างเศรษฐกิจ และการดูแลรักษาสุขภาพ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสมุนไพรเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ เป็นภูมิปัญญา เป็นฐานทุนเดิมที่เข้มแข็ง เมื่อได้รับการต่อยอด พัฒนา ยกระดับ ท้ายที่สุดแล้วผลประโยชน์ก็จะหมุนเวียนและกระจายไปตามภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในประเทศ ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูก ภาคธุรกิจผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรม และย้อนกลับคืนมาสู่รัฐในรูปแบบภาษีด้วย
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกร ปี 2565 ระบุว่า ทุกวันนี้ตลาดยามีมูลค่าราว 2.3 แสนล้านบาท และมีอัตราการเติบโตราว
3-5% นั่นหมายความว่า หากประเทศไทยใช้ยาสมุนไพรทดแทนการนำเข้ายาเคมีจากต่างประเทศสัก 10% ก็จะช่วยไม่ให้เงินต้องไหลออกไปนอกประเทศไม่ต่ำกว่า 1-2 หมื่นล้านบาท2
สำหรับการส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาสมุนไพร แนวทางหนึ่งคือการผลักดันให้เกิดการจ่ายยาผ่านระบบหลักประกันสุขภาพ ได้แก่ ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการข้าราชการ และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อันเป็นระบบที่ใหญ่ที่สุด มีผู้ใช้สิทธิราว 48 ล้านคน จึงอาจพูดได้ว่า “ระบบบัตรทอง” ถือเป็นยุทธศาสตร์ในการผลักดันให้เกิดการใช้ยาสมุนไพร
เหตุใดสัดส่วนการใช้ยาสมุนไพรในระบบหลักประกันสุขภาพฯ จึงไม่โต
ที่น่าสนใจก็คือ ในภาพกว้างของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้ง 3 ระบบ พบว่าสัดส่วนการใช้ยาจากบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร คิดเป็นเพียง 1% เมื่อเทียบกับยาแผนปัจจุบันในบัญชียาหลักแห่งชาติ
คำถามคือในขณะที่ตลาดและความนิยมของสมุนไพรมีมากขึ้น เหตุใดสัดส่วนการใช้ยาสมุนไพรในระบบหลักประกันสุขภาพฯ จึงไม่โตตาม
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ที่ปรึกษาคณะกรรมการกำกับทิศแผนงานวิจัยพัฒนาระบบยา สวรส. เสนอว่า หาก สปสช. สามารถผลักดันให้เกิดการใช้ยาสมุนไพรใน “โครงการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ รับยาฟรีที่ร้านยา” ซึ่งมีกว่า 500 แห่งทั่วประเทศได้ ก็จะเป็นการสนับสนุนการใช้สมุนไพรในระบบหลักประกันฯ ให้มากขึ้น โดยอาจจัดคู่มือการใช้ยาไว้ให้กับเภสัชกร เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการจ่ายยามากขึ้น รวมถึงยังส่งผลดีต่อการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิด้วย นอกจากนั้น ใน 16 กลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ด้วยยาสมุนไพรในบัญชียาหลักฯ ซึ่งก็เป็นยาที่ร้านยาจำหน่ายอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ยังมียาที่ควรสนับสนุนให้จ่ายในโครงการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ ได้แก่ ยาที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน หรือยาอื่นๆ ที่มีส่วนประกอบของสารสกัดสมุนไพร
ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักฯ : · เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด : ยาหอมทิพโอสถ, ยาหอมเทพจิต, ยาหอมนวโกฐ, ยาหอมอินทรจักร, ยาขิง · ปวดข้อ : ครีม/เจลพริก, ยาสารสกัดขมิ้นชัน · เจ็บกล้ามเนื้อ : ครีมไพล, ยาพ่นผิวหนังกระดูกไก่ดำ, ยาสารสกัดเถาวัลย์เปรียง, ยาสหัสธารา · ไข้ เจ็บคอ : ยาฟ้าทะลายโจร · ไอ : ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม, ยาประสะมะแว้ง · ปวดท้องประจำเดือน : ยาประสะไพล · ท้องผูก : ยาชงชุมเห็ดเทศ · ท้องเสีย : ยาฟ้าทะลายโจร, ยาเหลืองปิดสมุทร · ปัสสาวะขัด : ยาหญ้าหนวดแมว · อาการทางผิวหนัง : ทิงเจอร์พลู, ทิงเจอร์ทองพันชั่ง, โลชั่น/ขี้ผึ้งพญายอ · บาดแผล : ยาทาเปลือกมังคุด, ยาทาบัวบก · ท้องอืด ท้องเฟ้อ : ยาขมิ้นชัน, ยาขิง, ยาธาตุบรรจบ · ริดสีดวงทวาร : ยาผสมเพชรสังฆาต · เริม งูสวัด แผลร้อนในในปาก : ครีม/เจลพญายอ
|
|
ยาสามัญประจำบ้าน : ยามะขามแขก, ยาธาตุน้ำแดง, ยาแก้ไอน้ำดำ |
ยาอื่นๆ ที่มีส่วนประกอบของสารสกัดสมุนไพร : ยาธาตุน้ำขาว และ มิกซเจอร์ คาร์มิเนตีฟ
|
หวังสร้างความมั่นใจบุคลากรการแพทย์
รศ.ดร.จิราพร ยืนยันว่า รายการยาที่บรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ-บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร เป็นยาที่ผ่านการกลั่นกรองอย่างเข้มงวด โดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนปัจจุบัน และเภสัชกรรม ทำหน้าที่ประเมินอย่างรอบด้าน เพื่อให้ได้รายการยาที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ตลอดจนความปลอดภัย จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุป ทางคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักฯ ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ต้องพิจารณาเห็นชอบและประกาศใช้ต่อไป ประชาชนและบุคลากรสุขภาพจึงเชื่อมั่นและมั่นใจได้อย่างแน่นอน
รศ.ดร.ชาลี ทองเรือง ประธานวิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพร ภายใต้สภาเภสัชกรรม, อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และเครือข่ายวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) อธิบายว่า ปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่าระบบบริการจะมีการใช้ยาสมุนไพรมากน้อยเพียงใดคือ ‘บุคลากรทางการแพทย์’ ซึ่งส่วนหนึ่ง ‘ไม่ค่อยมีความมั่นใจ’ ในคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของยาสมุนไพร ตรงนี้จึงทำให้กลายเป็นคอขวด กล่าวคือแม้จะมีช่องทางและสิทธิที่เอื้อต่อการสั่งจ่ายยาสมุนไพร แต่บุคลากรไม่เลือกที่จะสั่งจ่าย ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่น สิ่งที่ควรดำเนินการคือการนำหลักฐานการศึกษาวิจัยยาสมุนไพรในบัญชียาหลักฯ มาสื่อสาร เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพให้กับผู้ให้บริการทางการแพทย์ในการเลือกใช้ยาสมุนไพร คู่ขนานไปกับการสร้างเงื่อนไข และนโยบายที่ชัดเจนในการจูงใจให้แพทย์ และเภสัชกรสั่งจ่ายยาสมุนไพรมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการยืนยันถึงประสิทธิภาพไปด้วยในตัว
โดยทางวิทยาลัยฯ กำลังจะมีโครงการฝึกอบรมให้ความรู้การใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ให้กับแพทย์ ตลอดจนเภสัชกรทั้งในสถานพยาบาลและร้านยา รวมทั้งการจัดทำข้อมูลยาสมุนไพรให้บุคลากรการแพทย์และประชาชน สามารถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลได้สะดวกมากขึ้น
ผลักดันให้เกิดการเบิกจ่ายยาสมุนไพรในระบบบัตรทองมากขึ้น ประชาชนก็จะเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น
จะเห็นได้ว่า หากมีการผลักดันให้เกิดการเบิกจ่ายยาสมุนไพรในระบบบัตรทองมากขึ้น ประชาชนก็จะเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น นำไปสู่สัดส่วนการใช้ยาสมุนไพรของประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยปัจจุบันยาสมุนไพรที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักฯ มีทั้งหมด 94 รายการ ส่วนใหญ่เป็นยารักษาโรคทั่วไป เช่น ปวดหัว ลดไข้ ฯลฯ ซึ่งสามารถตอบสนองอาการของผู้ป่วยเกือบ 80% ที่เข้ามารับบริการ นั่นหมายความว่า สามารถทดแทนยาปัจจุบันและลดปริมาณการนำเข้ายาได้จริง
ดร.ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า ระบบบัตรทองเป็นระบบที่มีความก้าวหน้าและมีนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยสนับสนุนระบบบริการเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือโครงการ “รับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน” ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้รับบริการ และลดความแออัดในสถานพยาบาลได้จริง ดังนั้นหากหน่วยบริการสั่งยาสมุนไพรในบัญชียาหลักฯ ให้แก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองมากขึ้น ในอนาคตอันใกล้เราก็จะได้เห็นภาพของผู้ใช้สิทธิบัตรทองไปรับยาสมุนไพรฟรีที่ร้านยาในชุมชนได้
ดร.ภญ.นพคุณ กล่าวต่อไปว่า การรับยาที่ร้านยาถือเป็นการจัดการให้เกิดระบบที่มีการใช้ทั้งทรัพยากรและบุคลากรในระบบสุขภาพอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ เพราะเภสัชกรไม่ใช่เป็นแค่เพียงคนขายยาเท่านั้น แต่เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านยาที่สามารถให้คำแนะนำ เพื่อให้เกิดการรักษาและดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง
“สอดคล้องกับงานวิจัยของ สวรส. ที่มีข้อเสนอว่า ร้านยาชุมชนควรขยายบริการโดยทำหน้าที่เป็นหน่วยคัดกรองและให้คำปรึกษา โดยบริการที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ คือ การคัดกรองโรคเบื้องต้น เช่น ปวดหัว ตัวร้อน โรคผิวหนัง NCDs ฯลฯ ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถใช้ยาสมุนไพรในการรักษาได้ ภายใต้การดูแลและติดตามอาการจากเภสัชกรที่ร้านยา”
ดร.ภญ.นพคุณ ระบุ
ข้อมูลอ้างอิง :
1ผลสำรวจจาก Euromonitor International 2021 : https://ditp.go.th/contents_attach/777079/777079.pdf
2ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกร ปี 2565 : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Drug-FB-04-02-22.aspx
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ