สงครามยูเครนดันเข็ม ‘นาฬิกาวันสิ้นโลก’ ขยับมาที่ 90 วินาทีก่อนเที่ยงคืน

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 ม.ค. 2566 | อ่านแล้ว 7869 ครั้ง

สงครามยูเครนดันเข็ม ‘นาฬิกาวันสิ้นโลก’ ขยับมาที่ 90 วินาทีก่อนเที่ยงคืน

“นาฬิกาวันสิ้นโลก” (Doomsday Clock) ที่หากเดินถึงเวลาเที่ยงคืน ซึ่งเวลาดังกล่าวเป็นการเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ถึงจุดสิ้นสุดของมนุษยชาติ ขยับเข็มนาฬิกาในปี 2023 ลดลงไป 10 วินาที เหลือเพียง 90 วินาทีก่อนถึงเที่ยงคืน สะท้อนถึงสถานการณ์โลกที่สุ่มเสี่ยงจากการที่รัสเซียส่งทหารรุกรานยูเครน ได้สร้างความหวาดกลัวถึงสงครามนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้น

VOA รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค. 2566 ว่าภัยคุกคามจากสงครามนิวเคลียร์ ผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนผิดธรรมชาติ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ตอนนี้โลกเหลือเวลาเพียง 90 วินาทีที่เข็มบนหน้าปัดของ “นาฬิกาวันสิ้นโลก” หรือ Doomsday Clock จะเดินถึงเวลาเที่ยงคืน ซึ่งเวลาดังกล่าวเป็นการเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ถึงจุดสิ้นสุดของมนุษยชาติ

“นาฬิกาวันสิ้นโลก” ที่จัดทำขึ้นโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Bulletin of the Atomic Scientists ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดทำนาฬิกาวันสิ้นโลก ขยับเข็มนาฬิกาในปี 2023 ลดลงไป 10 วินาที เหลือเพียง 90 วินาทีก่อนถึงเที่ยงคืน ซึ่งถือเป็นเวลาที่สั้นที่สุดในรอบ 3 ปี โดยตั้งแต่ปี 2020 เข็มนาฬิกายังอยู่ที่ 100 วินาทีก่อนเที่ยงคืน

โดยเวลาที่ลดลงไปนั้น สะท้อนถึงสถานการณ์โลกที่สุ่มเสี่ยงจากการที่รัสเซียส่งทหารรุกรานยูเครน ได้สร้างความหวาดกลัวถึงสงครามนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้น

เรเชล บรอนสัน ประธานคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์และความมั่นคงของ Bulletin of the Atomic Scientists กล่าวในวันอังคารว่า “ภัยคุกคามเรื่องการใช้อาวุธนิวเคลียร์จากรัสเซียที่ปกคลุมโลกตอนนี้ เป็นเครื่องเตือนถึงการยกระดับความขัดแย้งทั้งอย่างไม่ตั้งใจ อย่างตั้งใจ หรือการคำนวณผิดพลาดที่เป็นความเสี่ยงอันร้ายแรง ความเป็นไปได้ที่ว่าความขัดแย้งอาจยากเกินการควบคุมยังอยู่ในระดับสูง”

ทั้งนี้ นาฬิกาวันสิ้นโลกถูกเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 1947 โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ ซึ่งรวมถึงอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งตั้งเข็มนาฬิกาที่อยู่ที่เวลาเจ็ดนาทีก่อนเที่ยงคืน เพื่อเตือนถึงความเสี่ยงที่มนุษยชาติอาจถูกทำลายจากสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น ขณะที่ การปรับเข็มนาฬิกาวันสิ้นโลกในแต่ละปี จะขึ้นอยู่กับข้อมูลปัจจัยความเสี่ยงต่อโลกและมวลมนุษยชาติ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: