รัฐบาลเริ่มต้นโอนเงินไร่ละพันผ่าน ธ.ก.ส. วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 พ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 3229 ครั้ง

รัฐบาลเริ่มต้นโอนเงินไร่ละพันผ่าน ธ.ก.ส. วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท

รัฐบาลเริ่มโอนเงินตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ไปยังชาวนาทั่วประเทศกว่า 4.68 ล้านครัวเรือน วงเงินกว่า 54,000 ล้านบาท ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ โดยแบ่งการโอนเงินเป็น 5 รอบ พร้อมหนุนมาตรการคู่ขนาน โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67

28 พ.ย. 2566 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานในกิจกรรมส่งมอบเงินตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ เป็นวันแรก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้มีรายได้และสภาพคล่องในการใช้จ่าย รวมถึงการพัฒนาคุณภาพผลผลิตข้าวให้สามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น โดยวางแผนการโอนเงินส่งถึงมือเกษตรกร เป็นรายภูมิภาค แบ่งเป็น 5 ครั้ง เป้าหมายเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 4.68 ล้านครัวเรือน วงเงินรวม 54,336 ล้านบาท โดยมีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และนายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าร่วมกิจกรรม

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธ.ก.ส. เปิดเผยว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่เห็นว่า เกษตรกรได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ และทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง จึงให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 และมติคณะกรรมการ ธ.ก.ส. โดยคณะกรรมการธ.ก.ส. ซึ่งมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและประธานมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ให้ ธ.ก.ส. ขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายรัฐบาลผ่านโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 54,336 ล้านบาท ให้แก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปีการผลิต 2566/67

ทั้งนี้ได้จัดทำแผนการโอนเงินส่งถึงมือเกษตรกร เป็นรายภูมิภาค แบ่งเป็น 5 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ 28 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป ดังนี้

ครั้งที่ 1 วันที่ 28 พ.ย. 2566 วงเงิน 7,989 ล้านบาท รวม 6.2 แสนครัวเรือน ในพื้นที่ทั่วประเทศ 77 จังหวัด
ครั้งที่ 2 วันที่ 29 พ.ย. 2566 วงเงิน 8,408 ล้านบาท รวม 7.4 แสนครัวเรือน ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด
ครั้งที่ 3 วันที่ 30 พ.ย. 2566 วงเงิน 9,480 ล้านบาท รวม 8.7 แสนครัวเรือน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด
ครั้งที่ 4 วันที่ 1 ธ.ค. 2566 วงเงิน 9,277 ล้านบาท รวม 7.7 แสนครัวเรือน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด
ครั้งที่ 5 วันที่ 2 ธ.ค. 2566 วงเงิน 9,282 ล้านบาท รวม 8.2 แสนครัวเรือน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด

เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง จะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่านบริการ BAAC Connect ทาง Line: BAAC Family และ https://chongkho.inbaac.com อีกด้วย

นอกจากนี้ ในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว รัฐบาลได้มอบนโยบายในการจัดทำมาตรการคู่ขนาน เพื่อดูแลและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกแบบครบวงจร ได้แก่


1) สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 วงเงินรวม 34,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว โดยไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและราคาตกต่ำ โดยรัฐบาลรับภาระในการชำระดอกเบี้ยแทนเกษตรกร และ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกให้เกษตรกรอีก 1,500 บาทต่อตัน กรณีเกษตรกรเก็บข้าวเอง ได้รับ 1,500 บาทต่อตัน กรณีเกษตรกรฝากข้าวกับสถาบันเกษตรกร เกษตรกรจะได้รับ 500 บาทต่อตัน และสถาบันฯ จะได้รับ 1,000 บาทต่อตัน สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ารายย่อย สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีได้ (เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด)

2) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท โดยสหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิก และเกษตรกรทั่วไป โดยสถาบันฯ ชำระดอกเบี้ยเพียง ร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลรับภาระชำระแทน

เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศหรือ Call Center 02 555 0555 ต่อ 512

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: