ปาตานีโฟเบีย (Pataniphobia): ความท้าทายสื่อไทยในกระแสการปั่น “การแบ่งแยกดินแดน”

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) | Shukur2003@yahoo.co.uk 29 มิ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 5140 ครั้ง


เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ที่ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยภายในงานได้มีการจัดกิจกรรมจัดทำประชามติจำลองสำรวจความคิดเห็นว่าเห็นด้วยกับ”สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง” หรือไม่ที่จะให้ชาวปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมายและเสวนาทางวิชาการโดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.มารค ตามไท อาจารย์สาขาการสร้างสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพเชียงใหม่ กล่าวปาฐากถาพิเศษในหัวข้อ “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี” และวงสนทนาในห้วข้อดังกล่าวโดยมีสมาชิกพรรคเป็นธรรม(ไม่ได้มาในนามพรรค) พรรคประชาชาติ และองค์กร The Patani เข้าร่วมเป็นวิทยากร

หลังข่าวนี้ถูกเผยแผ่สู่สื่อไทยพบว่ายิ่งเพิ่มความขัดแย้งหากนำเสนอข่าวอย่างไม่รอบด้าน ยิ่งในภาวะความขัดแย้งการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จนท้ายสุดนำไปผูกโยงกับการเมืองส่วนกลางจนได้ มีวาทกรรมมากมายสร้างความเกลียดชังมันจึงเป็นความท้าทายสื่อไทยที่ควรเป็นสื่อเพื่อสันติภาพ (Peace Journalism)

ข่าวนี้สร้างความกังวลซึ่ง รศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เรียกว่า "ปาตานีโฟเบีย" (Pataniphobia)

ปาตานีโฟเบีย (Pataniphobia)

สำหรับปาตานีโฟเบีย (Pataniphobia) ความหวาดกลัวปาตานี เป็นสภาวะของอาการหวาดกลัวหรือหวั่นวิตกกังวลมากจนเกินไปต่อความเป็นปาตานีในด้านต่าง ๆ (ไม่ว่าจะเป็นด้านอุดมการณ์ทางการเมือง ด้านสังคมเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและอื่นๆ) ซี่งสภาวะดังกล่าวเป็นผลที่นำไปสู่การสร้างภาพให้ชาวปาตานีเป็นภัยคุกคามต่อรัฐ ส่วนใหญ่อาการเช่นนี้มักพบได้กับบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ผู้ที่ไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ลึกซึ้งในองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับปาตานี เกิดมายาคติของการแบ่งแยกหรือความเป็นอื่น เช่นเดียวกันกับปรากฎการณ์อิสลาโมโฟเปียที่ทำให้เกิดความเกียดชังชาวมุสลิมไปทั่วโลกหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่จริงแล้วความหวาดกลัวปาตานีนั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่สภาวะความหวาดกลัวเช่นนี้เกิดขึ้นมาพร้อมกับเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา สังคมไทยเกิดสภาวะปาตานีโฟเบียขึ้นมาอีกครั้งเมื่อกลุ่มนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จัดกิจกรรมงานเปิดตัวองค์กรของพวกเราในนาม “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” หรือที่ใช้ชื่อในภาษามลายูกลุ่มว่า Pelajar Bangsa เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ที่ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยภายในงานได้มีการจัดกิจกรรมจัดทำประชามติจำลองสำรวจความคิดเห็นว่าเห็นด้วยกับ”สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง” หรือไหมที่จะให้ชาวปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย จนนำพาให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นข่าวอยู่ในปัจจุบันว่าจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน? อาการหวั่นวิตกนี้จึงเป็นอาการโรคหวาดกลัวปาตานี หรือปาตานีโฟเปีย (Pataniphobia) ในที่สุด ซึ่งคำว่า โฟเบีย (Phobia) ตามที่ระบุเอาไว้ในพจนานุกรมฉบับ Merriam-Webster Dictionary ได้ให้คำอธิบายความหมายเอาไว้ว่าคือความไม่ชอบหรือความกลัวจนเกินจริง ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นความหวาดกลัวอย่างไม่สมเหตุสมผลต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นการเฉพาะ โฟเปียจึงถือได้ว่าเป็นความกลัวที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพของสังคมด้วยเหมือนกัน

ผศ.ดร.อับดุลรอนิง ยังกังวลว่า หากมีการเลือกใช้กฎหมายหนักกับผู้ที่เกี่ยวข้อง อาจกระทบกับการพูดคุยสันติสุขกับบีอาร์เอ็น หนึ่งใน 3 หัวข้อของการหารือ ระหว่างการทำแผนปฎิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP. ประเด็นการปรึกษาหารือกับประชาชนเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง ก็เป็นหนึ่งในหัวข้อ ที่ถูกบรรจุไว้ แต่หากหน่วยงานในพื้นที่ปฎิบัติแตกต่างออกไป ก็กลัวว่า จะเกิดอาการช๊อก หรือ เกิดภาวะการถอยหลังกระบวนการนี้อีกครั้ง

“เรื่องนี้จะจบได้สวย หากทุกฝ่ายเปิดใจจับเขาคุยกัน แบบบริสุทธิ์ใจ เพราะหากไม่สามารถให้คนที่คิดต่างมีความรู้สึกได้ว่า ตัวเขาเองอยู่ร่วมกันในประเทศชาติ พวกเค้าเหล่านั้นอาจจะคิดว่า อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ อยู่ไปก็ไม่มีความเป็นธรรม อยู่ก็ไม่มีสิทธิ จะอยู่ไปทำไม ขอแบ่งไปเลยดีกว่า ”

ผศ.ดร.อับดุลรอนิง ยังแนะว่า หน่วยงานด้านความมั่นคง ก็ต้องแสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้อง หรือได้รับไฟเขียวจากการเมือง และควรเปิดโอกาส ให้ว่าที่ ส.ส.ที่ร่วมเวที ที่เชื่อว่า ทุกคนก็ได้รับเชิญเหมือนปกติ ซึ่งเมื่อมีกิจกรรมของนักศึกษาเชิญมาร่วมบรรยายก็ตอบรับ แต่เหนือสิ่งอื่นใด โดยอาจไม่ทราบถึงกิจกรรมนี้ แต่ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง หน่วยงานด้านความมั่นคง นักศึกษา หรือคนทั่วไปก็ต้งมีสิทธิชอบธรรมที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่อง (อ้างจาก Thaipbs)

ความท้าทายสื่อไทยในกระแสการปั่น “การแบ่งแยกดินแดน”

รศ.ดร.มารค ตามไท อาจาย์ประจำสาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้ปาถกฎาพิเศษ ที่เข้าร่วมงานในวันนั้นผ่านทางออนไลน์ “ชี้อย่าใช้อารมณ์ แต่ทำความเข้าใจให้รอบด้านต่อแนวคิดการกำหนดอนาคตตัวเอง

โดยระบุว่า ไม่ได้รู้จักกลุ่มนักศึกษาเป็นการส่วนตัว แต่สนับสนุนกิจกรรม หรือการแสดงออกของนักศึกษาอยู่แล้ว อีกทั้งเป็นผู้ที่ทำงานวิจัย และศึกษา เรื่องของการกำหนดอนาคตตัวเองมานาน จึงเข้าร่วมและรู้สึกแปลกใจ ที่เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ เพราะหากย้อนมองประวัติศาสตร์ เรื่องการกำหนดอนาคตัวเอง เป็นเรื่องเก่าแก่นับร้อยปี เป็นสิทธิ เป็นหลักการ และเป็นที่ยอมรับของสังคมที่เข้าใจประชาธิปไตย ซึ่งการกำหนดอนาคตตัวเองมันมีหลายระดับ ตั้งแต่ ระดับชีวิตตัวเอง ครอบครัวหรือ ชุมชน หรือจะให้เข้าใจง่ายๆ คือ การกำหนดอนาคตตัวเอง ทั้งภายในหรือ ภายนอก ภายนอกก็คือ การกระจายอำนาจ ทั่วโลกก็เป็นแบบนี้

“ถ้าวันหนึ่งคนที่อยู่ในสังคมบอกว่า ไม่อยากอยู่ด้วยแล้ว ไม่มีความสุขที่จะอยู่กับรัฐเพราะความฝันเราต่างกัน เราก็ไปใช่วิธีรับฟังความคิดเห็นร่วมกัน ในการการกำหนดชะตากรรมตัวเองแบบภายนอก แต่เรื่องนี้กลับถูกไปโยงกับเรื่องเอกราช ซึ่งไม่ใช่คำตอบทั้งหมด”

รศ.ดร.มารค ยังตั้งข้อสังเกต ถึงรายละเอียดในบัตรการลงประชามติ ซึ่งพบว่าไม่ใช่ประชามติให้เลือกเอกราชหรือไม่ แต่ในบัตรชี้ชัดว่า เห็นด้วยหรือไม่ หากจะมีการทำประชามติเรื่องเอกราช อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และท้ายสุดแล้ว การเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ไม่ได้ส่งผลอะไร

“จริงๆ วิธีที่นักศึกษาใช้ อาจเป็นความพยายามที่จะใช้สันติวิธีแก้ปัญหา และกลุ่มนี้ก็คงอยากรู้ว่าคนปัตตานีไม่ว่าจะเป็นใครเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งการทำประชามติเพื่อเป็นเอกราชของจริง มันคนละเรื่องกันเลย บางคนอาจจะแย้งว่า เรื่องนี้มันผิดกฎหมายรัฐธรรมนูธมาตรา อยากบอกว่า มันไม่ไกลถึงขนาดนั้น และระบอบประชาธิปไตย คือ ทุกคนมีสิทธิ์แสดงความเห็นว่าไม่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ต้องถกเถียงกันด้วยเหตุและผล และเรื่องนี้ก็ไม่ควรเอาอารมณ์มาชี้นำ”

เห็นว่า ควรสนับสนุนเยาวชนนักศึกษาในทุกเรื่องไม่ใช่เฉพาะเรื่องภาคใต้ เพื่อให้เยาวชน ได้มีส่วนในการช่วยกันคิดแก้ปัญหาบ้านเมือง ใช้ปัญญา และพื้นฐานที่ต่างกันมาช่วยกัน ไม่ควรทำให้พวกเขาหดหู่ไม่อยากมีส่วนช่วยบ้านเมืองนี้ ซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศเลย นอกจากนี้ท่านยังเสนอแนะให้ สื่อต้องทำการบ้าน มิฉะนั้นจะยิ่งเพิ่มความขัดแย้ง

(ชมย้อนหลังทัศนะท่านใน https://fb.watch/lc_BcfL_u5/?mibextid=cr9u03) อันเป็นความท้าทายสื่อไทย

เพราะสื่อมิได้มีบทบาทเพียงแค่การรายงานความเป็นไปในสังคมเท่านั้น หากสื่อยังกลไกสําคัญในการจัดการและคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมได้ อย่างไรก็ตาม บทบาทดังกล่าวไม่อาจขับเคลื่อนไปได้โดยลําพัง หากต้องอาศัยการสนับสนุนจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ในการเกื้อหนุนให้สื่อก้าวเข้ามาทําหน้าที่ได้โดยสมบูรณ์

นวลน้อย ธรรมเสถียรผู้สื่อข่าวอิสระที่สนใจปัญหาสิทธิมนุษยชน สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องราวของความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพ โพสต์Facebook ให้ทัศนะต่อเรื่องนี้ว่า

“เราว่าสังคมไทยไม่น่าจะตื่นตูมกับเรื่องการจำลองการทำประชามติของ นศ.ที่จชต.

การพูดเรื่องนี้อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา จากกลุ่มคนในพื้นที่ที่เขาไม่ได้มีอำนาจต่อรองอะไรมากมายนอกจากเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มันไม่ใช่เรื่องเป็นภัยขนาดนั้น และอย่าเอาเรื่องนี้ไปบวกรวมกับเรื่องความไม่พอใจพรรคก้าวไกลเลย มันคนละเรื่องกัน เราไม่ได้ฟังงานนี้ด้วยตัวเอง แต่คนที่เขาร่วมในงานยืนยันว่า มันเป็นการตั้งคำถามว่า คุณเห็นด้วยหรือไม่ว่าควรจะมีการทำประชามติเรื่องเอกราชในอนาคต เขาไม่ได้ถามว่า คุณเห็นด้วยหรือไม่ว่าควรจะแยกตัว ถ้าคำถามมีแค่นี้แต่เราตื่นตูมกันมากมาย นั่นมันอาจแปลได้ว่า หนึ่ง เรากลัวแม้กระทั่งกับการตั้งคำถามว่าควรถามหรือไม่ แปลว่าฐานความคิดเรื่องการให้เสรีภาพในทางความคิดของเราแทบไม่มี หรือ สองมีการตีเรื่องนี้ให้ใหญ่เกินจริงเพื่อผลอะไรสักอย่าง

แต่ถึงแม้เขาจะถามแค่อย่างที่ว่า มันก็เสี่ยงมากแล้วในบริบทสังคมแบบไทยที่เป็นอยู่ ดังนั้นถ้ามองจากอีกมุมหนึ่ง การมีคำถามและการแสดงออกเช่นนี้คือการเอาตัวเข้าแลกท่ามกลางความสุ่มเสี่ยง ประสบการณ์การเคลื่อนไหวในทางการเมืองในพื้นที่ที่มันเจอตอตลอดเวลาอาจจะทำให้พวกเขาพอคาดเดาได้ว่าการเคลื่อนไหวเช่นนี้มันถูกจับตา ถูกคาดคั้น ถูกตำหนิ และอาจถูกเอาผิด แต่การที่กล้าออกมาถามเช่นนี้ เราว่าพวกเขาที่เป็นเยาวชนฝากชีวิตและอนาคตไว้กับความใจกว้างของสังคมไทยอย่างมากและอย่างที่คิดไม่ถึง สังคมไทยก็ควรจะตอบสนองด้วยความเป็นผู้ใหญ่และเปิดใจรับฟังสิ่งเหล่านี้ เพื่อที่ว่า ที่เคยบอกว่าไม่เข้าใจก็จะได้เริ่มเข้าใจกันเสียที

คนไทยน่าจะต้องรับความจริงได้ หากว่าจะมีคนบอกตรงไปตรงมาว่าไม่พอใจสายสัมพันธ์ทางการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน แทนที่จะโกรธ เราคิดว่าควรจะหาเป้าหรือพิกัดความโกรธให้ถูกจุด ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหนกันแน่ และทางออกสำหรับเรื่องนี้ไม่ใช่การจับคนเข้าคุกดำเนินคดี ยิ่งไม่ใช่การปิดปาก ทางออกคือต้องรับฟัง พูดคุย นี่เป็นโอกาสอันดีในอันที่จะมีบทสนทนาด้วยซ้ำไป แล้วก็สนทนากันให้กว้างขวาง อย่าไปดันคนที่มีความฝันแบบนี้ให้เขาจนมุมไม่มีที่ทาง

ไทยเพิ่งมีการเลือกตั้ง ผ่านบรรยากาศของการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ บรรยากาศเช่นนี้มันทำให้คนรู้สึกเป็นบวกและมีความกล้าในการนำเสนอความคิด เราควรจะรักษาสภาพบรรยากาศเช่นนี้ไว้ไม่ใช่หรือ หรือเราจะพากันกลับไปหาบรรยากาศคลุมเครือพูดอะไรไม่ได้”

สำหรับผู้เขียนแล้วและวันนี้เริ่มมีอาจารย์และเพื่อนสื่อหลายท่านเช่นไทยพีบีเอสและThe Reporter ทำงานสัมภาษณ์อีกมุม สมกับเป็นสื่อเพื่อสันติภาพ จากจากสื่อ อนุรักษ์นิยมที่แพ้เลือกตั้งที่พร้อมนำกระแสนี้ไปเล่นจนเลยเถิด เพื่อสะกัดการตั้งรัฐบาล?

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: