แอมเนสตี้เรียกร้องรัฐบาลไทยแก้ 7 ปัญหาสิทธิฯ

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 มี.ค. 2566 | อ่านแล้ว 1169 ครั้ง

แอมเนสตี้เรียกร้องรัฐบาลไทยแก้ 7 ปัญหาสิทธิฯ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2565/66 ชี้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกน่ากังวล-ยื่นแอมเนสตี้ 7 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย

28 มี.ค. 2566 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2565/66 ที่เชื่อมโยงให้เห็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตลอดปี 2565 ใน 156 ประเทศ และยังเรียกร้องให้มีการดำเนินการ นำเสนอขั้นตอนที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้และพัฒนาชีวิตของผู้คนทั่วโลก ซึ่งมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้นำรัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย ผู้สนับสนุน นักกิจกรรม และผู้ที่มีความสนใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนด้วย

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกน่ากังวล-ยื่นแอมเนสตี้ 7 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย

นางสาวฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่ารายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2565/66 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เน้นย้ำถึงภาวะสองมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก และความล้มเหลวของประชาคมโลกที่จะรวมตัวสนับสนุนการนำหลักสิทธิมนุษยชนและคุณค่าอันเป็นสากลมาใช้อย่างต่อเนื่อง ท่าทีแข็งกร้าวของชาติตะวันตกต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นภาพที่ตรงข้ามอย่างชัดเจนกับพันธมิตรบางประเทศ อาทิ ในอิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์ ซึ่งไม่ได้มีปฏิบัติการอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขการละเมิดที่ร้ายแรงเลย

นอกจากนั้นยังมีการคุกคามต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงในการชุมนุมประท้วง ในขณะที่รัฐไม่สามารถให้ความคุ้มครองและเคารพสิทธิในประเทศตนเองได้ และในโอกาสครบรอบ 75 ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยืนยันว่า ต้องมีการจัดตั้งระบบสากลตามหลักนิติธรรมที่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน และต้องถูกนำมาใช้กับทุกคน และในทุกที่

“วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจส่งผลให้ราคาอาหารและเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่มแรงกดดันต่อบริการสุขภาพและบริการทางสังคมอื่นๆ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ บุคคลชายขอบ ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้หญิง เด็กผู้หญิง และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญกับความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติบนฐานเพศสภาวะ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลล้มเหลวในการสนับสนุนประชาชนเนื่องจากสถานะของพวกเขาย่ำแย่ลง”

“สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบ ส่วนหนึ่งเกิดจากการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และการใช้อาวุธและกำลังทางการทหาร ซึ่งตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐหรือบริษัทต่างๆ มีผลอย่างมากต่อการละเมิด รวมถึงผลกระทบต่ออัลกอริทึมของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่กระทบต่อการสร้างความเกลียดชังทางเชื้อชาติ” ฐิติรัตน์กล่าว

ด้าน นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า สำหรับประเทศไทยมีหลายประเด็นที่น่าห่วงใย เช่น สิทธิในเสรีภาพการชุมนุม สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก สิทธิในเสรีภาพการสมาคม การบังคับบุคคลให้สูญหาย การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย สิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิของผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัยและผู้อพยพ และการเลือกปฏิบัติ

“สิทธิในเสรีภาพด้านการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบถูกโจมตีอีกครั้ง กฎหมายใหม่เพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย และการบังคับบุคคลให้สูญหายยังไม่พอที่จะคุ้มครองบุคคลจากอาชญากรรมเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ลี้ภัยที่หลบหนีมาจากเมียนมายังคงถูกจับกุม ควบคุมตัว และถูกรีดไถโดยเจ้าหน้าที่ไทยบริเวณพรมแดนประเทศไทย-เมียนมา ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังตกเป็นเป้าหมายของการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอในวงกว้างและถูกเลือกปฏิบัติ”

โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ส่งข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยจำนวน 7 ข้อ คือ 1.สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ขอให้ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อผู้ที่ชุมนุมโดยสงบ ให้สอบสวนเจ้าหน้าที่ที่กระทำมิชอบด้วยกฎหมายในการสลายการชุมนุม และขอให้จัดอบรมแก่เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการการชุมนุม ให้มีการกำกับการใช้กระสุนยาง โดยห้ามใช้แบบเหมารวมและต้องเป็นเครื่องมือสุดท้ายเท่านั้น ให้มีการเยียวยาผู้ชุมนุมที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการใช้กำลังโดยมิชอบ และจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อการชุมนุมโดยสงบ 2. สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่ใช้ปราบปรามผู้ใช้เสรีภาพการแสดงออก ให้ยกเลิกการดำเนินคดีอาญาต่างๆ งดเว้นการกำหนดโทษทางอาญาและการห้ามแบบเหมารวมต่อการเผยแพร่ข้อมูล และให้ดำเนินการสอบสวนการใช้สปายแวร์เพกาซัส

3. สิทธิในเสรีภาพการสมาคม ให้ประกันสิทธิการจัดตั้งและรวมตัวเป็นสมาคมว่าจะไม่ถูกควบคุมและจำกัด รวมถึงให้ถอนร่างพ.ร.บ.เอ็นจีโอ 4. เรื่องการทรมานและบังคับสูญหาย ขอให้ทบทวน มติ ครม. ที่ให้เลื่อนใช้มาตรา 22-25 ใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับสูญหาย ให้ดำเนินการสอบสวนโดยพลันอย่างอิสระและรอบด้านเมื่อมีข้อกล่าวหาเรื่องการทรมานและบังคับสูญหาย และให้สัตยาบันทันทีต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานและอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการบังคับสูญหาย 5. สิทธิของผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัยและผู้อพยพ ให้ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศและประกันให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงขั้นตอนการลี้ภัย ไม่ให้ถูกส่งกลับ และให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว 6. สิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ให้นำตัวผู้สังหาร พอละจี รักจงเจริญ มาลงโทษ และประกันสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อนักปกป้องสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง 7. การเลือกปฏิบัติ ให้ยุติการเก็บดีเอ็นเอในวงกว้างและเลือกปฏิบัติ เทคโนโลยีจดจำใบหน้าที่เลือกปฏิบัติ และบังคับลงทะเบียนซิมการ์ดเพื่อการสอดแนมข้อมูล โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้

“เรารายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเพื่อการรับรู้ร่วมกัน เพื่อจะมีพื้นที่พูดคุยปรึกษาว่าเราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องสิทธิมนุษยชนร่วมกันอย่างไรได้บ้าง” ปิยนุชกล่าว

ในช่วงท้ายแอมเนสตี้ ประเทศไทยได้มอบรายงานฉบับดังกล่าวพร้อมยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย โดยมี นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยรับมอบรายงานฉบับและข้อเรียกร้องจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

เลือกตั้งจะมีความหมาย หาก ส.ว. เคารพเจตนารมณ์ประชาชน

จากนั้นเป็นการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เลือกตั้ง 66: อนาคตประเทศไทยและก้าวต่อไปของสิทธิมนุษยชน” โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเห็นว่าจากรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีปัญหาน่ากังวลใจมากมาย แต่การจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มต้นจากเรื่องสำคัญ ปัญหาใหญ่สุดของประเทศไทยขณะนี้คือเรื่องกระบวนการยุติธรรม

“รัฐธรรมนูญไทยยึดหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ แต่ในทางปฏิบัติเราใช้หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด เช่นที่ตาม ป.วิอาญา การให้ประกันตัวผู้ต้องหาใช้คำว่า “ปล่อยชั่วคราว” ไม่ใช่ “ขังชั่วคราว” ซึ่งขัดกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ เป็นเพราะหลักนี้เริ่มเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2492 และในทุกรัฐธรรมนูญหลังจากนั้น แต่ก็ไม่เคยมีการแก้ ป.วิอาญา ซึ่งสร้างวิธีคิดที่จะทำให้ผู้พิพากษามีแนวโน้มไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหา ตัวอย่างกรณีที่ศาลบอกว่าไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพราะคดีมีอัตราโทษสูงนั้น ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะไม่ปล่อยชั่วคราวตามที่กฎหมายระบุ

“นอกจากนี้คือเรื่องความไม่เป็นอิสระของศาล ในทางปฏิบัติหลายกรณีเชื่อได้ว่ามีการแทรกแซงโดยผู้บริหารศาล จนเกิดกรณีการฆ่าตัวตายของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ และเร็วๆ นี้ ส.ส.รังสิมันต์ โรม ออกมาพูดถึงกรณี ส.ว. คนหนึ่ง ซึ่งมีการออกหมายจับโดยตำรวจ แต่วันเดียวกันนั้นผู้บริหารศาลอาญาเรียกตำรวจและผู้อนุมัติหมายจับมาบอกว่า ส.ว. เป็นบุคคลสำคัญจะออกหมายจับเช่นนี้ไม่ได้ ซึ่งกรณีนี้กระทบเรื่องความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ”

ปริญญา ยังกล่าวถึงการสลายการชุมนุมที่มีการใช้กระสุนยางโดยผิดหลักการ และไม่ทำตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ต้องใช้อำนาจศาลในการอนุมัติการสลายการชุมนุม โดยเฉพาะช่วงปลายปีที่แล้ว หลังการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตำรวจก็ยังสลายการชุมนุมโดยไม่ขออำนาจศาล ซึ่งผิดกฎหมาย

“เรื่องการบังคับสูญหาย มีการออก พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย แต่มีการใช้ พ.ร.ก. ให้เลื่อนการบังคับใช้เรื่องการติดกล้องของตำรวจไปเป็น 1 ต.ค. 2566 ด้วยเหตุผลว่าจัดซื้อกล้องไม่ทัน ซึ่งมีการส่งเรื่องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่เหตุผลจริงที่มีการเลื่อนการบังคับใช้ เพราะ ผบ.ตร. จะเกษียณวันที่ 30 ก.ย. และหากมีการเลือกตั้งเสร็จแล้ว สภาใหม่จะต้องกลับมาพิจารณาเรื่อง พ.ร.ก. ฉบับนี้อีก

“ถามว่าการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ผมเห็นว่ายังมีปัญหาอยู่ เพราะมีเสียง ส.ว. มากำหนดนายกฯ และไทยยังมีปัญหาเรื่อง ส.ส.งูเห่า เพราะการเลือกตั้ง 2562 พรรคพลังประชารัฐไม่ใช่พรรคที่ได้เสียงส่วนใหญ่แล้วพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ได้อย่างไร ปัญหาเรื่องการใช้เงินทางการเมืองจึงหนักกว่าช่วงก่อนการรัฐประหาร ภาพที่เกิดเมื่อ 4 ปีที่แล้วก็จะยังเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้อีก ทางออกคือ ส.ว. ต้องโหวตตามเจตนารมณ์ของประชาชน” ปริญญากล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: