'วันผู้สูญหายสากล' ญาติผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ทวงถามความจริงและความยุติธรรม

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 ส.ค. 2566 | อ่านแล้ว 34121 ครั้ง


เนื่องใน 'วันผู้สูญหายสากล' ที่ตรงกับวันที่ 30 ส.ค. ของทุกปี ญาติผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ทวงถามความจริงและความยุติธรรม ตาม พ.ร.บ.ทรมาน - อุ้มหาย หวังทราบชะตากรรม ทำให้ทุกคน ‘กลับคืนสู่สภาพเดิม’ คือ การเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิผล

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2566 ที่คินใจ คอนเทม โพรารี (Kinjai Contemporary) กลุ่มญาติผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทย ร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จัดเสวนา ‘เมื่อแตกสลาย จะกลับสู่สภาพเดิมได้หรือ’ พร้อมเปิดตัวนิทรรศการ ‘กลับสู่วันวาน…กลับมากินข้าวด้วยกันนะ’ เนื่องในวันที่ระลึกถึงเหยื่อของการถูกบังคับสูญหายสากล (International Day of the Victims of Enforced Disappearances) ที่ตรงกับวันที่ 30 ส.ค. ของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่ทั่วโลกร่วมกันรำลึกถึงเหยื่อและครอบครัวของผู้ถูกบังคับสูญหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ภาวะสงคราม การปราบปรามจากรัฐ หรือการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

สำหรับกิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สู่การป้องกัน การตรวจสอบ ปราบปราม และเยียวยาวครอบครัวผู้สูญหาย หลังมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา

อังคณา นีละไพจิตร ตัวแทนกลุ่มญาติผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทย และในฐานะสมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ (Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances – WGEID) ผู้แทนจากภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเปิดเผยว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งคณะทำงานฯ ในปี 2523 คณะทำงานได้ส่งกรณีผู้ถูกบังคับสูญหายทั้งสิ้น 59,600 กรณีไปยัง 112 ประเทศ ซึ่งจำนวนผู้ถูกบังคับสูญหายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเชิงรุกและยังไม่ได้รับการชี้แจงหรือยุติอยู่ที่ 46,751 กรณี จาก 97 ประเทศ โดยในช่วงระยะเวลารายงานมีกรณีการบังคับสูญหาย 104 กรณีที่คณะทำงานสามารถคลี่คลายได้ อย่างไรก็ดีคณะทำงานฯ เชื่อว่าข้อมูลที่ได้รับนั้นเป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ที่ผ่านมาคณะทำงานกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับกรณีความพยายามกดดัน การคุกคามหรือการข่มขู่ครอบครัว หรือต่อองค์กรที่ทำงานในนามของพวกเขา หรือพยายามให้พวกเขารวมถึงญาติถอนเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้หายสาบสูญ

สำหรับประเทศไทย รายงานประจำปี 2565 ของคณะทำงานระบุจำนวนผู้ถูกบังคับสูญหายทั้งสิ้น 76 กรณีซึ่งสูงเป็นลำดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน ต่อจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

รายงานของภาคประชาสังคมระบุว่า มีการบังคับสูญหายของประชาชนระหว่างช่วงการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย การบังคับบุคคลให้สูญหายช่วงสงครามยาเสพติด การปราบปรามการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การบังคับสูญหายนักปกป้องสิทธิ กรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง เช่นเหตุการณ์เดือน พ.ค. 2535 รวมถึงการบังคับสูญหายของผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน

“ในฐานะครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย ดิฉันพบว่า มีปัญหาและอุปสรรคมากมายในการเข้าถึงความยุติธรรมและความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของเหยื่อ แม้ในบางกรณีรัฐมีความพยายามให้การเยียวยาด้วยการชดเชยด้วยตัวเงิน แต่การเยียวยาที่มีประสิทธิภาพต้องเป็นการเยียวยาแบบองค์รวม ทั้งการเยียวยาด้านจิตใจ การพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่สำคัญอย่างยิ่งคือการเยียวยาด้วยความยุติธรรม โดยการเปิดเผยความจริง นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ การฟื้นคืนความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงการช่วยเหลือครอบครัวเหยื่อให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อีกครั้ง”

“มีผู้ถูกบังคับสูญหายหลายคนที่หายไปช่วงรัฐบาลเพื่อไทยที่มีทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี วันนี้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ก็หวังว่ารัฐบาลจะมีความจริงใจในการเปิดเผยความจริง สืบสวนสอบสวนจนกว่าจะทราบชะตากรรมของผู้สูญหายทุกคน และรู้ตัวผู้กระทำผิดตามที่รับประกันไว้ใน พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 อย่างน้อยที่สุดสำหรับครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย ทุกคนอยากรู้ว่าคนในครอบครัวยังมีชีวิตหรือไม่ ถ้ามีชีวิตอยู่เขาอยู่ที่ไหน หรือว่าถ้าเสียชีวิตไปแล้ว อย่างน้อยคืนศพให้พวกเขาก็ยังดี”

“รัฐต้องยอมรับความจริงว่าการการชดใช้ด้วยเงินอย่างเดียวไม่อาจคืนศักดิ์ศรี และลบเลือนความทรงจำที่โหดร้ายทรมานของเหยื่อได้ การเยียวยาที่ไม่ได้มาตรฐานเช่นที่กระทำอยู่ ทำให้การเปลี่ยนผ่านของเหยื่อและครอบครัวเกิดความชะงักงัน การไม่รู้ความจริงทำให้พวกเขาถูกพันธนาการด้วยความเจ็บปวด และไม่สามารถเชื่อมโยงตัวเองกับสังคม”

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดอีกอย่างหนึ่งในสังคมนี้ คือเจ้าหน้าที่รัฐ ‘บังคับบุคคลให้สูญหาย’ ประเด็นนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบกับคนในครอบครัวผู้สูญหายเพียงอย่างเดียว แต่ส่งผลกระทบไปถึงภาพใหญ่ระดับประเทศคือการทำให้ผู้คนอยู่ในความหวาดกลัว และระแวงจากภัยคุกคามที่เกิดจากอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ

ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ไม่ได้ขับเคลื่อนเรื่องการป้องกันการทรมานและถูกบังคับให้สูญหายในประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่ได้ร่วมขับเคลื่อนป้องกันให้เรื่องนี้ไม่เกิดขึ้นในระดับโลก พบว่าประเทศที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง หรือมีแรงปะทะเรื่องขั้วอำนาจจะเกิดการบังคับให้สูญหายจำนวนมาก และอีกกลุ่มคนในสังคมที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษคือ ‘กลุ่มคนเปราะบาง’ ที่ปัจจุบันพบว่ามักถูกทรมาน ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็น

มนุษย์อย่างไร้มนุษยธรรม และบางคนถูกอุ้มหายไปโดยไม่ทราบชะตากรรม ซึ่งประเด็นนี้เป็นอีกข้อท้าทายที่จะต้องทำร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อช่วยกันป้องกัน ปราบปรามไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก

“เนื่องในวันผู้สูญหายสากล แอมเนสตี้ขอขอบคุณกลุ่มญาติผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทยทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมกับเราในครั้งนี้ เรื่องราวของอาหารทุกเมนูที่จัดอยู่ในนิทรรศการได้เล่าเรื่องราวความรัก ความคิดถึง ความหวัง ความเจ็บปวดของครอบครัวผู้สูญหายได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งเรายืนยันว่าจะเป็นขบวนการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชน ปกป้องไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิด้วยการถูกทรมานหรืออุ้มหาย ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศต่อไป เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าวันหนึ่งจะไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้ 100% แม้จะเป็นความหวังที่อาจจะต้องใช้เวลานาน แต่เราจะทำมันต่อไป และขอเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายให้ พ.ร.บ. นี้ไม่มีช่องโหว่ และช่วยครอบครัวผู้สูญหายได้จริงต่อไป”

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พูดถึงความก้าวหน้าของการผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ว่า ปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ตื่นตัวในการใช้มาตรการป้องกันมากขึ้น เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็มีกฎระเบียบก่อนหน้า พ.ร.บ.นี้ ให้ตำรวจทุกคนต้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวและเสียงขณะจับกุมด้วยกล้อง Body Camera หรือ กล้องสังเกตุการณ์ ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นทุกอำเภอ สำนักงานอัยการจังหวัดทุกจังหวัด ได้ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและรับแจ้งการจับกุม 24 ชั่วโมง มองว่าเป็นเรื่องที่ดีหากหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐตระหนักถึงเรื่องนี้ในวงกว้างและเป็นหูเป็นตาให้ชาวบ้านได้จริง จะไม่มีใครที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมแล้วหายไปเลยจากกระบวนการยุติธรรมและหายไปอย่างไม่ทราบชะตากรรมจากครอบครัวและคนที่เขารัก

ถึงแม้สถานการณ์จะดีขึ้นแต่ก็ยังพบว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนมีพฤติกรรมผิดวินัย ออกนอกลู่นอกทางขณะปฎิบัติหน้าที่ และหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบเมื่อเกิดคดีทรมาน-อุ้มหายขึ้นมา ตรงนี้จึงอยากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างชอบธรรม รวมถึงประชาชนสามารถเป็นอีกกระบอกเสียงที่สามารถร้องเรียนและช่วยยับยั้งป้องกันเหตุร้ายนี้ได้ โดยได้รับการคุ้มครอง ไม่ถูกฟ้องกลับ เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของทุกคนในสังคม

“ปัจจุบันกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน และมีองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทยและต่างประเทศมาให้ความรู้เรื่องนี้อย่างกว้างขวางมากขึ้น แต่ยังมองว่าสังคมไทยต้องเรียนรู้พัฒนาให้ทันโลกมากขึ้น เพราะคดีทรมาน-อุ้มหาย เป็นอาชญากรรมที่มีลักษณะพิเศษ เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องมีวิธีการทำงานที่ละเอียด มีองค์ความรู้ทั้งกฎหมาย นิติเวช และจิตวิทยามาเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องการสอบสวน การพิจารณาคดี และการเยียวยาให้ครอบคลุมต่อผู้เสียหายโดยเฉพาะญาติของผู้เสียหายอย่างได้ผล”

เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยืนยันว่า หน่วยงานจะเคียงข้างบุคคลและครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหายในการตามหาความจริงเพื่อให้ทราบถึงที่อยู่และชะตากรรมของบุคคลเหล่านั้นให้หมดข้อสงสัย และจะสนับสนุนให้ทุกคนได้รับการเยียวยาจากภาครัฐให้ถึงที่สุด หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. 2565 เมื่อเดือน ก.พ. 2566 รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีกฎหมายนี้บังคับใช้ในประเทศไทย และหวังว่ากฎหมายนี้จะอำนวยให้ความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์และบุคคลผู้ถูกบังคับให้สูญหายปรากฏออกมา

“การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นสิ่งที่เราจะยอมรับให้เกิดขึ้นไม่ได้ในสังคมไทย สิ่งนี้ละเมิดอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและการจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของบุคคลผู้สูญหายและผู้คนรอบข้าง การละเมิดอย่างถาวรนี้จะยังคงอยู่ ตราบใดที่รัฐยังค้นหาบุคคลเหล่านี้ไม่พบ รัฐไทยต้องจริงใจ จริงจัง และทันท่วงทีต่อเหตุการณ์บังคับบุคคลให้สูญหายของบุคคลที่เกิดขึ้นตลอดมาให้สมกับการประกาศใช้กฎหมายใหม่”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: