สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่าอาจไม่ใช่ปัญหาสุขภาพร้ายแรง แต่ก็สร้างความกังวลใจไม่น้อยสำหรับปัญหาใต้ตาคล้ำ ที่พบได้เกือบจะทุกเพศทุกวัย ยิ่งในสถานการณ์ที่หลาย ๆ คนอาจต้อง Work from home หรือปรับรูปแบบการส่งต่องานผ่านหน้าจออุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ แล้วนั้น สุขภาพผิวบริเวณดวงตาคงแย่กันเลยทีเดียว แต่สาเหตุที่ทำให้ตาคล้ำมีเพียงเท่านี้ หรือจะมีปัจจัยใดเกี่ยวข้องอีกบ้างนะ และหากเป็นแล้วเราจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไรดี วันนี้ไม่ต้องเสียความมั่นใจและหลบซ่อนอีกต่อไป เรามีสาระดี ๆ มาฝาก ไปติดตามกันเลย
“รอบตาคล้ำ” เป็นอาการแสดงที่พบได้จากตาทั้ง 2 ข้าง และมักเป็นที่เปลือกตาล่าง หากเป็นมากอาจพบที่เปลือกตาบน คิ้ว ซึ่งลามไปยังโหนกแก้ม ขมับ หรือโคนจมูกได้ โดยมักพบได้เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงาน อาการคล้ำรอบดวงตามีหลายชนิด แบ่งตามสาเหตุของการเกิดได้ดังนี้
1. ตาคล้ำจากพันธุกรรม โดยจะพบได้ตามรูปโค้งของกระบอกตาตั้งแต่หนังตาล่างโค้งไปจนถึงหนังตาบน สังเกตได้จากการพบอาการคล้ำลักษณะเดียวกันกับสมาชิกในครอบครัว
2. ตาคล้ำภายหลังจากการอักเสบรอบดวงตาเรื้อรัง มักพบได้ในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ เช่น ภูมิแพ้ผิวหนัง
แพ้อากาศ หอบหืด จะมีอาการคันที่ตาและมีผื่นรอบดวงตาร่วมด้วย ผิวหนังมีลักษณะเป็นขุย หนาตัวขึ้น หรือ
เห็นร่องผิวหนังชัดขึ้น
3. ตาคล้ำจากการมีเส้นเลือดฝอยขยายตัว มักพบสีอมม่วงร่วมด้วย ซึ่งพบได้บ่อยบริเวณหนังตาล่างด้านใน นอกจากนี้ผู้ที่มีผิวหนังใต้ตาบาง รวมถึงอายุที่มากขึ้นทำให้ไขมันใต้ผิวหนังน้อย จะยิ่งทำให้เห็นเส้นเลือดได้ชัดเจน
4. ตาคล้ำในผู้ที่มีถุงใต้ตาหรือมีร่องน้ำตาชัด เป็นการคล้ำจากการที่มีเงาของแสงตกกระทบผิวหนังที่ทำมุม หากมีไฟส่องโดยตรงจะพบว่าอาการคล้ำจะดูจางหายไป
5. คล้ำจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น
5.1 ผิวหนังแห้ง การมีรอยย่นใต้ตา ขยี้ตาบ่อย การใช้เครื่องสำอางรอบดวงตาบางชนิด
5.2 ความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ช่วงที่มีประจำเดือน หรือช่วงตั้งครรภ์
5.3 ขาดสารอาหารบางชนิด
5.4 เจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โลหิตจาง ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
5.5 จากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ สูบบุหรี่
แนวทางการรักษา
1. การใช้ยาทากลุ่ม Eyecream ซึ่งมีส่วนประกอบของ Vitamin A, Vitamin E, Vitamin C หรือ สารกลุ่ม Whitening ซึ่งวิธีนี้อาจช่วยทำให้รอยคล้ำดีขึ้นได้บ้าง แต่ควรระวังเนื่องจากครีมหลายชนิดค่อนข้างเหนียวเหนอะหนะ อาจไหลเข้าสู่ดวงตาทำให้มีอาการ ปวด แสบ น้ำตาไหลได้
2. การใช้ Laser ซึ่งมี 2 ประเภท คือ Laser ซึ่งช่วยให้ปริมาณเม็ดสีเมลานินที่เข้มให้ลดลง และ
อีกประเภทคือ Laser ลดการขยายตัวของเส้นเลือด การเลือกใช้ Laser ประเภทใดนั้นขึ้นอยู่กับการประเมินสาเหตุ
การเกิดรอยดำโดยแพทย์
3. ฉีดสารเติมเต็ม (Filler) สำหรับรอยคล้ำใต้ตาซึ่งเกิดจากการมีร่องลึกใต้ตา
สำคัญที่สุดคือ การหันมาใส่ใจตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดปัญหารอบดวงตาแต่เนิ่น ๆ ได้แก่ การพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเครียดกับร่างกาย ไม่ขยี้ตาบ่อย ๆ งดการรบกวนผิวหนังใต้ตา หลีกเลี่ยงแสงแดดและสารสัมผัสที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้รอบดวงตา ที่ขาดไม่ได้คือ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือเครื่องสำอางที่เหมาะสม ผ่านการจดแจ้งจาก อย. ทั้งนี้การดูแลรักษารอยดำคล้ำใต้ดวงตานั้น ควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ข้อมูลอ้างอิง
https://med.mahidol.ac.th/rama_hospital/th/services/knowledge/04222020-0435
https://www.chaophya.com/2019/09/darkundereyecircles/
https://www.vejthani.com/th/2014/05/%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%95%E0%B8%B2/
https://anti-aging.mfu.ac.th/admin/uploadCMS/research/PJWed124902.pdf
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ