จับตา: ไอ…ใช้ยาอะไรดี

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 ต.ค. 2566 | อ่านแล้ว 11621 ครั้ง


สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า สาเหตุของอาการไอทราบได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และวินิจฉัยโดยแพทย์ ซึ่งหากตรวจแล้วพบว่ามีอาการไอ สามารถรักษาเบื้องต้นโดยการใช้ยาเพื่อบรรเทาได้ ดังนี้

1.ยาที่ช่วยลดการเกิดน้ำมูกไหลลงคอซึ่งหากน้ำมูกไหลลงคอจะกลายเป็นสเลดหรือเสมหะในคอ ยากลุ่มนี้ เช่น Chlorpheniramine, Cetirizine หรือ Loratadine เป็นต้น ยาแก้แพ้กลุ่มนี้ทำให้ง่วงซึม หากไม่สามารถทนผลข้างเคียงได้อาจใช้ยาในรูปแบบพ่นจมูก เช่น Fluticasone Propionate หรือ Ipratropium Bromide

2. กลุ่มยาที่ช่วยต้านการอักเสบบริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจจะช่วยลดการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นของเยื่อบุทางเดินหายใจให้ช้าลง ได้แก่Corticosteroids ชนิดสูดพ่น ส่วนชนิดรับประทาน เช่น Prednisolone

3.กลุ่มยาที่ช่วยบรรเทาอาการไอ
3.1 กรณีไอแห้ง ใช้ยาลดหรือระงับการไอ เช่น Dextromethorphan, Codeine เป็นต้น
3.2 กรณีไอมีเสมหะ
- ยาขับเสมหะ ทำให้เสมหะที่เดิมมีความเหนียวข้น ถูกทำให้มีความหนืดลดลง และสามารถไอเอาเสมหะออกได้ง่ายขึ้น เช่น Guaifenesin, Terpin Hydrate, Ammonium Chloride เป็นต้น
- ยาละลายเสมหะ จะไปทำลายโครงสร้างของเสมหะในส่วนที่ทำให้เสมหะเหนียว ทำให้ความข้นหนืดของเสมหะลดลง และสามารถไอเอาเสมหะออกได้ง่ายขึ้น เช่น Acetylcysteine, Carbocisteine, Bromhexine เป็นต้น 

ยาบรรเทาอาการไอทั้ง 3 กลุ่ม ไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนด้านความปลอดภัยของการใช้ยาในเด็กเล็กที่เพียงพอ

การรักษาอาการไอที่ดีที่สุด คือ การรักษาที่ต้นเหตุ รวมถึงหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นอาการ ควบคู่กับการดูแลตัวเองในเบื้องต้น เช่น จิบน้ำอุ่น กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง ทั้งนี้หากรับประทานยาแก้ไอไปแล้ว 2 สัปดาห์ แต่ไม่บรรเทาลง มีอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาความผิดปกติอื่นที่อาจมีร่วมด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: