อุบัติเหตุจากการขับขี่ของผู้ประกอบอาชีพขับขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหาร ภายใต้สังกัดแอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร หรือ “ไรเดอร์” เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชน หรือไม่ปรากฏเป็นข่าว กล่าวได้ว่า อาชีพไรเดอร์ขยายตัวไปพร้อมกับจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนน
ผู้เขียนให้ความสนใจกับอุบัติเหตุไรเดอร์ ในแง่มุมของสภาพการทำงานที่เชื่อมโยงกับสวัสดิภาพและสิทธิแรงงาน พร้อมกับให้ความสนใจในแง่ที่อุบัติเหตุของไรเดอร์ ส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนโดยรวม
เมื่อค้นหาข้อมูลสถิติอุบัติเหตุจราจรทางถนนพบข้อมูลน่าสนใจคือ ประเทศไทยมีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงติดอันดับโลก ตัวอย่างเช่น ในปี 2564 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกว่า 740,000 ครั้ง โดยเป็นอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์กว่า 400,000 ครั้ง ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรวม 11,310 คน และในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์จำนวน 9,049 คน หรือร้อยละ 80 ของผู้เสียชีวิต[i]
เมื่อพยายามสืบค้นข้อมูลอุบัติเหตุของไรเดอร์เป็นการเฉพาะพบว่า สถิติอุบัติเหตุไม่ได้จำแนกอาชีพของผู้ขับขี่ จึงไม่สามารถระบุได้ว่าอุบัติเหตุไรเดอร์มีจำนวนมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลสะท้อนแนวโน้มอุบัติเหตุไรเดอร์ในระดับหนึ่ง
ข้อมูลจากโรงพยาบาลอุดรธานี รวบรวมจำนวนอุบัติเหตุจราจรย้อนหลัง 3 ปี ของผู้มารับการรักษาพยาบาลพบว่า ใน พ.ศ. 2562 มีผู้บาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 6,432 คน ในจำนวนนี้เป็นไรเดอร์ 44 คน ปี พ.ศ. 2563 มีผู้บาดเจ็บ 6,649 คน เป็นไรเดอร์ 61 คน ปี พ.ศ. 2564 นับจากเดือนมกราคม ถึงเดือนกรกฎาคม (ครึ่งปีกว่า) มีผู้บาดเจ็บ 6,163 คน เป็นไรเดอร์ 110 คน ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุของไรเดอร์เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปี พ.ศ. 2563 และเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปี พ.ศ. 2562[ii]
ข้อมูลตัวอย่างจากโรงพยาบาลอุดรธานี แสดงให้เห็นว่าอาชีพมีความสำคัญกับการเกิดอุบัติเหตุ และสะท้อนกลับในเวลาเดียวกันว่า การเก็บสถิติโดยไม่จำแนกอาชีพทำให้มีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างอาชีพกับการเกิดอุบัติเหตุ ในกรณีของไรเดอร์ การประสบอุบัติเหตุถูกนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของอุบัติเหตุจักรยานยนต์ ทำให้ข้อมูลไม่สะท้อนระดับความรุนแรงของอุบัติเหตุของอาชีพนี้ เมื่อไม่มีข้อมูลระดับความรุนแรงของปัญหา ย่อมทำให้ความสำคัญของปัญหาอุบัติเหตุไรเดอร์ถูกมองข้าม หรือไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
ดังนั้น เพื่อเข้าใจสถานการณ์ความรุนแรงของอุบัติเหตุไรเดอร์ได้ดีขึ้น ผู้เขียนจึงทดลองรวบรวมจำนวนอุบัติเหตุไรเดอร์ โดยอาศัยช่องทางที่อำนวยให้ทำได้ คือใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือประมวลข่าวอุบัติเหตุไรเดอร์และประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปรากฏในสื่อมวลชน และแหล่งสืบค้นอื่นที่เข้าถึงได้ ข้อมูลที่นำเสนอต่อไปนี้เป็นข่าวที่ปรากฏในสื่อมวลชน ที่สะท้อนให้เห็นแนวโน้มและลักษณะบางประการของอุบัติเหตุไรเดอร์
การประมวลข่าวอุบัติเหตุไรเดอร์ในบทความนี้ กำหนดกรอบเวลาสืบค้นย้อนหลัง 10 ปี คือระหว่าง พ.ศ. 2556 – 2565 ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานพอจะมองเห็นแนวโน้มของสถานการณ์ และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงคือ เป็นระยะเวลาใกล้เคียงกับที่แพลตฟอร์มส่งอาหารแห่งแรกเปิดตัวในประเทศไทย คือ foodpanda ซึ่งเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2555 คำสำคัญที่ใช้สืบค้นคือ คำว่า “ไรเดอร์” ซึ่งครอบคลุมไรเดอร์ทุกแพลตฟอร์ม ทั้งที่ทำงานสั่งอาหาร ส่งคน ส่งสินค้า นอกจากคำว่าไรเดอร์ ยังสืบค้นด้วยคำเรียกขานอื่นๆที่สื่อใช้ เช่น “พนักงานส่งอาหารสังกัด(ชื่อแพลตฟอร์ม)” “รถจักรยานยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชั่น” “แกร็บวิน” “แกร็บฟู๊ด”
เมื่อเข้าถึงข่าวที่ปรากฏคำสำคัญดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนจำแนกหมวดข่าวตามเนื้อหาในข่าว หลักเกณฑ์การจำแนกหมวด ยึดถือหัวข้อข่าวที่ปรากฏเป็นหลัก จึงได้จำแนกข่าวออกเป็น 6 หมวด แต่การจำแนกหมวดมีปัญหาอยู่บ้างคือ แต่ละหมวดไม่สามารถแยกกันได้อย่างเด็ดขาด มีบางข่าวที่อยู่มากกว่า 1 หมวด และบางข่าวถูกนับมากกว่า 1 ครั้ง เพราะมีปรากฏในสื่อมากกว่า 1 สื่อ นอกจากรวบรวมข่าวตามหมวดต่างๆ ยังได้รวมหมวด Thesis-Research และ Graph-Table-Report ไว้ด้วย ดังรายชื่อหมวดข่าวและหมวดอื่นๆ ดังนี้
- อุบัติเหตุ
- ความรุนแรง-ปัญหา
- สิทธิ สวัสดิการ การรวมตัว
- สุขภาวะ
- ต่างประเทศ
- อื่นๆ
- Thesis-Research
- Graph-Table-Report
แหล่งสืบค้นข่าว คือเวปไซต์ออนไลน์ของหนังสือพิมพ์ สำนักข่าว หน่วยงานราชการและเอกชน และแหล่งอื่นๆ ทั้งที่ปรากฏในรูปแบบข้อเขียน และวีดีโอ จำนวน 73 แห่ง[iii]
ข้อมูลจากหมวดต่างๆ แสดงให้เห็นสถิติ และลักษณะสำคัญดังนี้
- อุบัติเหตุ
ขอบเขต อุบัติเหตุ หมายถึง อุบัติเหตุตั้งแต่ระดับบาดเจ็บเล็กน้อย จนถึงเสียชีวิต ทั้งอุบัติเหตุต่อไร
เดอร์ หรือ บุคคลอื่น ได้แก่ คู่กรณีอุบัติเหตุหรือผู้ใช้รถใช้ถนน
จำนวนครั้งที่เป็นข่าว
ผู้เขียนต้องการประมวลจำนวนอุบัติเหตุไรเดอร์ที่เป็นข่าว ดังนั้นการประมวลข่าวในหมวดนี้ ได้ตัดกรณีที่เป็นข่าวเหตุการณ์เดียวกันแต่เผยแพร่ในสื่อมวลชนหลายชิ้น ให้เหลือเพียงชิ้นเดียว และตรวจสอบจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุโดยพิจารณาจากข่าวหลายชิ้น ข้อมูลจำนวนอุบัติเหตุต่อไปนี้ มาจากข่าวแต่ละชิ้นที่ไม่ซ้ำกัน จึงมีหน่วยเป็นครั้ง ดังข้อสรุปต่อไปนี้
การเกิดอุบัติเหตุเฉพาะที่ปรากฏเป็นข่าวระหว่างปี พ.ศ. 2556-2565 (10 ปี) คือ 154 ครั้ง เฉลี่ยปีละ 15.4 ครั้ง
2556 เกิดขึ้น 2 ครั้ง, 2557 เกิดขึ้น 3 ครั้ง, 2558 เกิดขึ้น 5 ครั้ง,
2559 เกิดขึ้น 2 ครั้ง, 2560 เกิดขึ้น 2 ครั้ง, 2561 เกิดขึ้น 4 ครั้ง, 2562 เกิดขึ้น 6 ครั้ง,
2563 เกิดขึ้น 18 ครั้ง, 2564 เกิดขึ้น 31 ครั้ง 2565 เกิดขึ้น 81 ครั้ง
(ข้อจำกัดของข้อมูล ปีย้อนหลังมาก มีข่าวอุบัติไรเดอร์น้อยครั้ง สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดเกิดจากสื่อยังไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นไรเดอร์มากนัก และเป็นไปได้ว่า กรณีอุบัติเหตุเล็กน้อยจะไม่เป็นข่าว แต่สื่อมักรายงานข่าวกรณีอุบัติเหตุร้ายแรง โดยเฉพาะอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิต)
ผู้ประสบอุบัติเหตุเป็นไรเดอร์เพศชาย 132 คน เพศหญิง 10 คน รวม 142 คน
อายุเฉลี่ยของไรเดอร์ผู้ประสบอุบัติเหตุ 32 ปี (นับเฉพาะข่าวที่รายงานอายุของผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต)
ไรเดอร์บาดเจ็บ 72 คน เสียชีวิต 70 คน
หากพิจารณาจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเฉพาะใน 3 ปีหลังที่ผ่านมา พบว่าผู้บาดเจ็บเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ปี 2563 บาดเจ็บ 14 คน เสียชีวิต 1 คน
ปี 2564 บาดเจ็บ 9 คน เสียชีวิต 21 คน
ปี 2565 บาดเจ็บ 36 คน เสียชีวิต 28 คน
อุบัติเหตุไรเดอร์ที่กล่าวมานั้น มีผู้ร่วมประสบเหตุบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ไรเดอร์ เป็นเพศชาย 26 คน เพศหญิง 16 คน รวม 42 คน อายุเฉลี่ย 32 ปี (นับเฉพาะข่าวที่รายงานอายุผู้ประสบเหตุ) จำแนกเป็น ผู้บาดเจ็บ 29 คน เสียชีวิต 13 คน
เฉพาะปี 2563 บาดเจ็บ 2 คน เสียชีวิต 0 คน
เฉพาะปี 2564 บาดเจ็บ 6 คน เสียชีวิต 3 คน
เฉพาะปี 2565 บาดเจ็บ 11 คน เสียชีวิต 4 คน
พื้นที่เกิดเหตุสูงสุด 3 อันดับ กรุงเทพฯ 49 ครั้ง (32%) นนทบุรี 28 ครั้ง (18%) สมุทรปราการ 9 ครั้ง (6%)
สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจากการนำเสนอของสื่อมวลชน ส่วนใหญ่แสดงถึงพฤติกรรมการขับขี่ของไรเดอร์ ที่ขาดสมาธิ ความเร่งรีบ ความประมาท ส่วนอุบัติเหตุที่ไรเดอร์เป็นฝ่ายถูกชนมีไม่มากนัก
ตัวอย่างหัวข้อข่าว
สลด! ไรเดอร์ ชนรถดูดฝุ่น กทม. ดับคาที่
หนุ่มไรเดอร์ขี่รถจักรยานยนต์ ชนท้ายรถ 6 ล้อ เสียชีวิตกลางต่างระดับพุทธมณฑล สาย 1
หนุ่มไรเดอร์ขี่จักรยานยนต์เสียหลักหลุดโค้งพุ่งลงบ่อน้ำข้างทางจมน้ำดับ
เบรกกะทันหัน ไรเดอร์พุ่งชนท้ายบาดเจ็บ
ไรเดอร์ขี่ จยย. แซงรถบรรทุกพ่วง ถูกเบียดล้มทับซ้ำเสียชีวิต จ. นนทบุรี
อุทาหรณ์ไรเดอร์ ขี่รถดูแต่ GPS ซวย 2 เด้ง เจ็บตัวพร้อมเสียเงิน !!
หนุ่มไรเดอร์ขี่ จยย. ไปส่งอาหาร ไฟลุกพรึบใต้เบาะ ลามทั้งคัน
สิบล้อทับสาวแกร็บฟู้ดดับสยอง
กระบะฝ่าไฟแดง! ชนหนุ่มนักศึกษา "ดับ" ระหว่างเป็นไรเดอร์ส่งอาหาร หาเงินค่าเทอม
- ความรุนแรง-ปัญหา
ความรุนแรง-ปัญหา คำว่าความรุนแรง เป็นความรุนแรงจากการกระทำ ในลักษณะการทะเลาะวิวาท โดยใช้อาวุธ การชกต่อย หรือการด่าทอ ทั้งที่ไรเดอร์เป็นฝ่ายกระทำ ถูกกระทำ หรือกระทำต่อตัวเอง ส่วนคำว่าปัญหา หมายถึงปัญหาในการประกอบอาชีพ การถูกกลั่นแกล้ง หรือเหตุการณ์ในลักษณะอื่นที่ส่งผลกระทบต่อไรเดอร์ในทางลบ
การเก็บข้อมูลจากข่าวระหว่างปี พ.ศ. 2560 – 2565 พบว่ามีข่าวในหมวดความรุนแรง-ปัญหา 233 ชิ้น ข่าวในกลุ่มที่ปรากฏมากที่สุดคือ ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ
ตัวอย่างหัวข้อข่าว
"หนุ่มแกร็บ" สวมบทบู๊โดดซัดนัว หลังคู่กรณีชัก 'ปืน' ขู่!!
แค่บีบแตรหวิดดับ! ไลน์แมนเผยเจอแท็กซี่หัวร้อนแทงเฉียดหัวใจ ห่วงสองลูกน้อยจะกำพร้า
ไรเดอร์หัวร้อน ขี่ จยย. ชนรถลูกค้า ซ้ำโทรขู่
ไรเดอร์ส่งอาหาร-วัยรุ่นเจ้าถิ่น ปะทะเดือดหน้าห้างฯ
หนุ่มหัวร้อนรัวหมัดใส่ไรเดอร์ขี่รถตัดหน้าทำลูกสาวล้ม
สลด! หนุ่มไรเดอร์เครียดทะเลาะเมีย คิดสั้นโดดสะพานภูมิพล
ข่าวที่มีมากเป็นอันดับต่อมาคือ ข่าวสะท้อนชีวิตและการทำงานของไรเดอร์
ตัวอย่างหัวข้อข่าว
เปิดใจไรเดอร์แม่เลี้ยงเดี่ยว พาลูกใส่ในเสื้อส่งอาหาร ท่ามกลางอากาศหนาว
"หนุ่มแกร็บฟู้ด" โอดขี่รถฝ่าสายฝนไปซื้อพิซซ่า สุดท้ายโดนลูกค้าเบี้ยว
โซเชียลให้กำลังใจ “ลุงแก้ว” ขับแกร็บฟู้ด เล่าด้วยน้ำตาถูกลูกค้ารุมด่า
เปิดใจ ไรเดอร์พ่อลูกอ่อน ประดิษฐ์กล่องใส่ลูกน้อยไปส่งของด้วยกัน
ญาติสะอื้นเก็บอัฐิหนุ่มไรเดอร์ผู้อาภัพ
ล่าแหม่มแสบถุยน้ำลายใส่หน้าแกร็บ หนุ่มจิตตกหวั่นติดโควิด ซ้ำสูญเงินหมื่น
ไรเดอร์ก่อคดีต่างๆ
ตัวอย่างหัวข้อข่าว
ไรเดอร์มือกาว หยิบของแถมติดมือไปด้วย
จับ "ไรเดอร์" ก่อเหตุแอบถ่ายห้องน้ำหญิงปั๊มน้ำมัน อ้างทำมาแล้วหลายครั้ง
ไรเดอร์แสบ กรีดรถยนต์เสียหาย 5 คัน
รวบ "ไรเดอร์"หื่น!! ลักชุดชั้นในสาวไปสูดดม
การคุกคามหรือถูกคุกคามทางเพศ
ตัวอย่างหัวข้อข่าว
หนุ่มแกร็บโผล่ 2 รายซ้อน เจอลูกค้าหนุ่มหื่นขู่ ส่งช้า “ขออมนกเขา” เผยพิกัดเดียวกันในวัด
เตือนภัย! ไรเดอร์เจอลูกค้าช่วยตัวเอง โดนล่อซื้อให้ไปส่งอาหาร โชว์เปลือยสาวลำบนที่นอน
ไรเดอร์หญิง รับถูกคุกรามเพศเพียบ เจอทุกรูปแบบ จี้ออกระบบคุ้มครองสุขภาพ-อุบัติเหตุ
- สุขภาวะ
สุขภาวะครอบคลุม เรื่องสุขภาพ ความเจ็บป่วยระหว่างการทำงาน สุขภาพจิต และรวมถึงอุบัติเหตุด้วย ระหว่างปี พ.ศ. 2561- 2565 มีข่าวในหมวดสุขภาวะ 53 ชิ้น
ตัวอย่างหัวข้อข่าว
สาวไลน์แมนติดโควิด-19 ร้องสื่อเจอรูมเมตฮอสพิเทลทิ้งขยะเต็มห้องซ้ำขู่ฆ่าตัวตาย (clip)
ไรเดอร์อึ้งหนัก! จนท. ปล่อยผู้ป่วยโควิดเดินมารับอาหารเองกับมือ (clip)
กรมอนามัย ย้ำ 9 แนวทางให้ "ไรเดอร์" ปฏิบัติตาม เพื่อลดการแพร่เชื้อโควิด
ไรเดอร์ขี่ จยย. กลับบ้านไปกินข้าว วูบเสียชีวิตคารถก่อนถึง
อุทาหรณ์! ไรเดอร์ฟุบคา จยย. ตะโกนเรียกไม่ตื่น โหมวิ่งงานหนักหลับตอนไหนไม่รู้ตัว
ไรเดอร์อ่วมโรค ! ตั้งเครือข่ายดูแลสุขภาพ
- สิทธิ สวัสดิการ การรวมตัว
สิทธิ สวัสดิการ การรวมตัว ครอบคลุมข่าวการเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการที่พึงมีของไรเดอร์ใน
ประเด็นต่างๆ เช่น ค่าตอบแทน การประกันอุบัติเหตุ การรวมตัวของไรเดอร์เพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่อบริษัท และความคิดเห็นของนักวิชาการ หน่วยงาน ต่อสภาพการทำงานของไรเดอร์ ข่าวที่ปรากฏในระหว่างปี พ.ศ. 2560 – 2565 มีจำนวนมาก คือ 225 ชิ้น
ตัวอย่างหัวข้อข่าว
แรงงานในระบบ 'แพลตฟอร์มส่งอาหาร' ซับซ้อนซ่อนโมเดลให้อยู่นอกกฎหมาย
ไรเดอร์รวมตัว (อีกครั้ง) ขอกฎหมายดูแลชีวิตและสวัสดิภาพ “แรงงานแพลตฟอร์ม”
ไรเดอร์ ‘ไลน์แมน’ เมืองชลฯ เตรียมปิดรับงาน 14 มิ.ย. ประท้วง บ.ขอค่ารอบเริ่มที่ 40
เส้นทางการค้ากำไรของธุรกิจแพลตฟอร์ม กับสิทธิที่หล่นหายของไรเดอร์
โอกาสหรือวิกฤติของแรงงานแพลตฟอร์มกับ ‘ระยะห่าง’ ระหว่างหยาดเหงื่อกับความเป็นธรรม
ความเหลื่อมล้ำในอาชีพไรเดอร์ส่งอาหาร นิวนอร์มอลของความไม่เท่าเทียมในสังคม
- หมวดต่างประเทศ มีข่าวไรเดอร์ในต่างประเทศ ครอบคลุมหลากหลายประเด็นนับตั้งแต่เรื่องอุบัติเหตุ
สภาพการทำงาน การรวมตัวเรียกร้องประเด็นที่ต้องการ ระหว่างปี พ.ศ. 2561- 2565 ปรากฏข่าว 28 ชิ้น ส่วนใหญ่ปรากฏในเวปไซต์ประชาไท ส่าวนหมวด Thesis-Research ในช่วง 5 ปีย้อนหลังมีการวิจัยเกี่ยวกับไรเดอร์ประมาณ 10 ชิ้น
การประมวลข่าวอุบัติเหตุไรเดอร์และประเด็นที่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้ข้อสรุปเบื้องต้น ดังนี้
- อุบัติเหตุไรเดอร์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากพิจารณาเฉพาะช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่
สื่อมวลชนให้ความสำคัญกับข่าวไรเดอร์ เนื่องจากไรเดอร์เป็นที่รู้จักในสังคมมากขึ้น พบว่ามีข่าวปรากฏ 18 ครั้ง 31 ครั้ง และ 81 ครั้ง ตามลำดับ ไรเดอร์บาดเจ็บมากขึ้นจาก 14 คน เป็น 9 คน และ 36 คน ตามลำดับ เสียชีวิต 1 คน เป็น 21 คน และ 28 คนตามลำดับ ในขณะที่บุคคลอื่น (คู่กรณีอุบัติเหตุหรือผู้ใช้รถใช้ถนน) มีแนวโน้มบาดเจ็บ และเสียชีวิตมากขึ้นด้วย ส่วนสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ (ตามที่ระบุในข่าว) ส่วนใหญ่เกิดจากการขับขี่ของไรเดอร์ที่ขาดสมาธิในการขับขี่ เร่งรีบ ประมาท ทำผิดกฎจราจร
2) ไรเดอร์เผชิญกับความรุนแรง-ปัญหาในระหว่างการทำงานอย่างมาก ทั้งในลักษณะที่ไรเดอร์เป็นผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำ ในแง่การเป็นผู้กระทำ ข่าวสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน และการทำงานที่ถูกกดดัน รวมทั้งสะท้อนให้เห็นสุขภาพจิต และสุขภาพที่เปราะบางของไรเดอร์ ในแง่การเป็นผู้ถูกกระทำ ข่าวสะท้อนให้เห็นการทำงานที่มีความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพ และพบว่าไรเดอร์ทั้งหญิงและชายจำนวนหนึ่ง เผชิญกับการคุกคามทางเพศรูปแบบต่างๆ
3) สิทธิ สวัสดิการ และการรวมกลุ่มของไรเดอร์ ปรากฏเป็นข่าวจำนวนมาก ทั้งที่ไรเดอร์เป็นฝ่ายเรียกร้องสิทธิ สวัสดิการ และรวมกลุ่มกระทำการ และการที่หน่วยงาน สถาบัน นักวิชาการ กลุ่มต่างๆแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ สะท้อนให้เห็นความตื่นตัวในการปกป้องสิทธิแรงงาน และการมีความสำคัญ หรือ “ตัวตน” ที่สังคมและผู้กำหนดนโยบายให้ความสำคัญกับแรงงานกลุ่มนี้
การประมวลข่าวอุบัติเหตุไรเดอร์ แสดงให้เห็นว่าอุบัติเหตุ (และประเด็นปัญหาอื่นในการทำงาน) ของ
คนในอาชีพนี้น่าวิตกเพียงใด การจัดทำสถิติอุบัติเหตุจราจรที่ให้ความสำคัญกับอาชีพของผู้ขับขี่ ดังในกรณีนี้คือไรเดอร์ จะทำให้มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเข้าใจสถานการณ์ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา หรือกำหนดนโยบาย ทั้งการป้องกันอุบัติเหตุ และการคุ้มครองแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่ยวดยาน อาชีพไรเดอร์ เป็นเพียงตัวอย่างของงานแพลตฟอร์ม ปัจจุบันมีการจ้างงานในภาคขนส่งอีกหลายชนิดที่เป็นงานแพลตฟอร์ม ซึ่งมีความเสี่ยงไม่แพ้กัน เมื่ออุบัติเหตุจราจรมีความสัมพันธ์กับอาชีพและสภาพการจ้างของอาชีพ น่าจะถึงเวลาที่การเก็บสถิติอุบัติเหตุจราจร ควรให้ความสำคัญกับการจำแนกอาชีพของผู้ประสบเหตุด้วย เพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์อุบัติเหตุภายใต้การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของงานในปัจจุบัน
หมายเหตุ
บทความนี้ปรับปรุงจาก รายงานการวิจัยการเรื่อง อุบัติเหตุและสุขภาพของคนขับรถจักรยานยนต์ส่งอาหาร ภายใต้การควบคุมของแพลตฟอร์ม (2566) โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการรูปแบบการสร้างอำนาจต่อรองเพื่อสุขภาวะของแรงงานนอกระบบกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหารและกลุ่มแรงงานส่งสินค้าในกิจการขนส่ง ดำเนินโครงการโดย นายพฤกษ์ เถาถวิล และนายวรดุลย์ ตุลารักษ์ ภายใต้โครงการพัฒนาความรู้และความเข้มแข็งกลุ่มแรงงานนอกระบบเพื่อสุขภาวะ มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ความเห็นในบทความเป็นของโครงการฯ มูลนิธิฯ และ สสส. ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
[i] สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย. (2565). การศึกษาสถานการณ์ ปัจจัย และผลกระทบด้านความปลอดภัย
อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของผู้ขับรถจักรยานยนต์ส่งอาหาร. (รายงานผลการวิจัย). กรุงเทพฯ: สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน). หน้า 17.; การรวบรวมสถิติอุบัติเหตุจราจรในประเทศไทย จัดทำโดยหลายหน่วยงาน เช่น ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ (ThaiRSC), มูลนิธิไทยโรดส์, ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย, สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร สำนักแผนความปลอดภัย กระทรวงคมนาคม
[ii] เพ็ญนภา พรสุพิกุล, ศุภรดา ยาวงษ์ และวัฒนดนัย ธนัญชัย. (2565). การจัดการความปลอดภัย
ทางถนนในระดับพื้นที่. ใน ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล. (บ.ก.). รายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย 2561- 2564. กรุงเทพฯ: มูลนิธิไทยโรดส์ และศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย. น. 138-151.
[iii] 77kaoded, Amarintv, banmuang, bbc, brandinside.asia, brighttv, ch3plus, ch7,
chiangmainews, chula.ac.th, CU-COLLAR, decode.plus, dindeng.com, fm91bkk, hatyaifocus, hfocus, HomeCableTV, js100, justicechannel.org, kapook, law.tu.ac.th, marketthink, nationtv,
Newscenter, one31, pptvhd36, Rocket Media Lab, sanook, Sarakadee Lite, springnews, thaich8, thailis, thainewsonline, thaipbs, The Matter, The Momentum, the101.world, theactive, theOpener, thestandard, theurbanis, tigernewsreport, tnnthailand, voathai, voicetv
Waymagazine, Workpoint News, workpointTODAY, กรุงเทพธุรกิจ, กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค, กองโรคไม่ติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข, การเงินการธนาคาร, กินอยู่เป็น, คมชัดลึก, ไทยรัฐออนไลน์, บีบีซีไทย, ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 องศา, ผู้จัดการออนไลน์, มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, ข่าวสด, คมชัดลึก, ฐานเศรษฐกิจ, เดลินิวส์, ไทยโพสต์, แนวหน้า, ประชาชาติธุรกิจ, ประชาไท, มติชน, สยามรัฐ, สภาองค์กรของผู้บริโภค, สำนักข่าวอิศรา, อีจัน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ