“ไม่ต่างกับพนักงานออฟฟิศนั่งกดคีบอร์ดที่โต๊ะทำงาน มือขวาเฮากำคันเร่ง มือซ้ายกำเบรก แล้วต้องคอยกดฮับงานตลอด มันปวดเมื่อยไปหมด คล้ายออฟฟิศซินโดรม แต่เป็นออฟฟิสซินโดรมกลางแจ้ง”
ข้อความข้างต้นคือความเห็นของไรเดอร์หนุ่มวัย 30 ต้นๆ ชาวเชียงใหม่ ในการประชุม “แผนที่ความเสี่ยงสุขภาพไรเดอร์” ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ 12 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา
นอกจากประเด็นปัญหาอุบัติเหตุไรเดอร์ ซึ่งเป็นที่รับรู้ในสังคมบ้างแล้ว ปัญหาสุขภาพจากการทำงาน เป็นอีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน แต่สังคมยังขาดความรับรู้ต่อเรื่องนี้
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งมีไรเดอร์ชายหญิงรวม 13 คน และคุณสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ จากองค์กรพัฒนาเอกชน Map Foundation เชียงใหม่ เป็นกระบวนกร การประชุมซึ่งมีโจทย์ว่า ในการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ส่งอาหารแต่ละวัน ท่านมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยบนร่างกายอย่างไรบ้าง กรุณาระบุอาการเจ็บป่วย ทั้งที่รู้สึกวิตกกังวลมาก วิตกกังวลปานกลาง และเริ่มวิตกกังวล พร้อมทั้งอธิบายสาเหตุของอาการเจ็บป่วยนั้น
การประชุมซึ่งเปิดโอกาสให้แรงงานส่งอาหาร มีโอกาสบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง ช่วยเปิดประเด็นปัญหาที่ถูกมองข้าม ความเชื่อมโยงและซับซ้อนของปัญหาและเหตุปัจจัยต่างๆ
ไรเดอร์ที่ร่วมประชุมมีจุดร่วมกันคือ ส่วนใหญ่ (ประมาณ 2 ใน 3) ประกอบอาชีพไรเดอร์เป็นอาชีพหลัก หรือที่พวกเขาเรียกว่า “ฟูลไทม์” การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึง 2564 เป็นสาเหตุสำคัญทำให้หลายคนหันเข้าหาอาชีพนี้ กลุ่มคนที่หันมายึดไรเดอร์เป็นอาชีพหลักมีจุดร่วมที่สำคัญคือ ชั่วโมงทำงานสูงกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน คืออยู่ระหว่าง 10-12 ชั่วโมงต่อวัน หรือมากกว่านั้น หลายคนทำงานโดยไม่มีวันหยุด หรือหยุดเพียงเล็กน้อย การทำงานยาวนานเกินมาตรฐานแรงงาน ไม่มีวันหยุด วันลา เป็นปัจจัยหลักของปัญหาสุขภาพ ความวิตกกังวล/ความเสี่ยงด้านสุขภาพของไรเดอร์ในส่วนต่างๆของร่างกาย มีข้อสรุปดังนี้
ศีรษะถึงคอ ดวงตา มีอาการแสบตา เคืองตา ตาแดง ตาต้อ แมลงเข้าตา ใบหู มีอาการเจ็บหู หูอักเสบเพราะหมวกกันน็อคกดทับ แมลงเข้าหู จมูก หายใจเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ (PM 2.5) แสบจมูก เสี่ยงติดโควิด บนศรีษะ ผมร่วง เป็นเชื้อรา เนื่องจากสวมหมวกกันน็อคเป็นเวลานาน มีความเครียด วิตกกังวล ไมเกรน ปวดคอ เพราะรับน้ำหนักจากหมวกกันน็อคทั้งวัน ใบหน้า กร้าน ดำ เป็นสิว หน้าโทรม
การบอกเล่าสาเหตุและสภาพอาการจากปากของไรเดอร์ ทำให้เข้าใจความเชื่อมโยงของเหตุปัจจัย และความเชื่อมโยงของอาหารเจ็บป่วยได้ดีขึ้น เช่น
“เรื่องหมวกกันน็อคสำคัญมาก เราขับรถวันละ 10 กว่าชั่วโมง เวลาที่ใส่หมวกกันน็อคแบบปิดคาง มันน้ำหนักมาก บางคนปวดคอ ไปหาหมอพบว่าหมอนรองกระดูกคออักเสบ บางคนอาการหนักจากคอลามไปที่หลังไหล่ บางคนหันมาใช้แบบเปิดคางน้ำหนักเบาขึ้น แต่แบบนี้ก็มีปัญหาคือลมมันตีเข้าหน้าได้ ขับไปสักหน่อยตาจะเคือง แล้วอักเสบ บางคนใส่แมสหายใจไม่สะดวก จึงเปิดกระบัง เวลาขับลมจะตีกระบัง วิ่งสัก 5 กิโลจะเริ่มออกอาการที่ต้นคอ... แล้วที่ทุกคนที่มีปัญหาเหมือนกันคือ ใบหูอักเสบ เจ็บ เป็นแผล และผิวหนังเป็นผื่นจากการกดทับของการใส่หมวกกันน็อคนานๆ...”
“มีอาการปวดหัวจากพักผ่อนน้อย มีความเครียด จากการทำงาน เช่น รออาหารจากร้านค้านาน มีปัญหารถติด ลูกค้าบ่น ด่า บางทีร้านทำอาหารเสร็จแล้วไปวางไว้ไม่บอกเรา ให้รอนาน บางทีเราสั่งก่อน แต่ได้ทีหลัง” “ตาแห้ง เคืองตา ตามัว ตาลาย มาจากฝุ่น จากอากาศ สาเหตุจากลมตี จากเหงื่อไหลเข้าตา แสงแดด เพ่งโทรศัพท์ การดูจีพีเอส การดูรถข้างหน้าด้วย เราใช้สายตาตลอด บางคนตาแห้ง จนหมอบอกว่าให้หยอดน้ำตาเทียม” “หายใจสูดควันรถ ควันพิษ ทั้งวัน ทำให้เกิดอาการแพ้ มีน้ำมูกไหล โดยเฉพาะช่วงที่มีปัญหาหมอกควัน PM 2.5 บางคนสั่งน้ำมูกออกมาเป็นเลือด แต่ละวันถอดแมสออกมาดำมาก”
ไหล่ ทรวงอก แขน มือ ปวดไหล่เพราะเกร็งระหว่างขับขี่ หรือยกของหนัก โรคกระเพาะอาหาร เพราะกินไม่เป็นเวลา โรคทางเดินหายใจ โรคไต เพราะกินน้ำน้อย ปวดแขน ข้อมือ นิ้ว เพราะขับขี่นานและยกของหนัก หลังมือเกรียมแดด แมลงบินเข้าเสื้อระหว่างขับขี่ เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ
“ไหล่ ปวด เมื่อย เกร็ง บางทีเจอออเดอร์น้ำหนักมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่รับส่งของ บางที่ลูกค้าสั่งน้ำมันพืช น้ำดื่มเป็นแพ็ค น้ำตาลทรายเป็นกระสอบก็มี คือลูกค้าสั่งได้ แอปไม่กำหนดน้ำหนัก บางทีที่ร้านค้ามีโปรโมชั่น ลูกค้าอยากได้โปรเขาก็สั่งมาก ไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการแบกน้ำหนักของไรเดอร์ ทำให้เราต้องแบก น้ำหนักมันลงที่ไหล แล้วเวลาขับรถต้องประคองรถเพราะรถมีน้ำหนักมาก บางที่ของมันมากเราก็ต้องใช้มือประคองของด้วย ใช้แอปด้วย มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้มาก”
“ปวดข้อนิ้ว นิ้วล๊อค จากการบิดคันเร่ง เบรค ครัช และหิ้วของ หลังมือถูกแดดทั้งวันหนังไหม้เกรียม ต้องหาถุงมือใส่ แต่ใส่แล้วบางคนมีอาการตุ่มเหงื่อใสๆ คัน ถ้าเกาจะอักเสบ” “อาการปวดที่ข้อนิ้วที่มือ มาจากการแข่งกันกดรับงานด้วย อย่างแอป..ต้องแข่งกันกดรับงาน อีกอันหนึ่งคือ สายล๊อคที่หมวกกันน็อค กับที่กล่องใส่อาหาร ตรงตัวล๊อก ที่มีสลักเข้าช่อง ถ้ามันเก่า มันต้องใช้แรงนิ้วบีบมาก บ่อยครั้งเข้าทำให้นิ้วอักเสบได้ บางคนเป็นรูมาตอยทำได้ลำบาก”
เอวถึงปลายเท้า ปวดเอว ผู้ชายมักเป็นโรคผิวหนังในร่มผ้า และอัณฑะอักเสบ ผู้หญิงมักเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เพราะเข้าห้องน้ำลำบาก ต้องกลั้นปัสสาวะ ช่วงมีประจำเดือน มีอาการเจ็บ แสบ คัน การดื่มน้ำมากทำให้ต้องเข้าห้องน้ำบ่อย ดื่มน้ำน้อยทำให้เป็นโรคไต และเสี่ยงเป็นลมแดด ปวดขา เข่า ข้อเท้า เพราะนั่งขับรถ เท้าเหม็น เป็นเชื้อรา ช่วงหน้าฝนถ้าเท้ามีแผล ลุยน้ำอาจติดเชื้อ
“ผมเคยอัณฑะบวม เกิดจากกระแทก และเสียดสี สาเหตุเกิดจากกล่องใส่อาหาร ที่มันวางไว้ตรงที่คนซ้อน แล้วมันเบียดมา ทำให้เรานั่งตรง น้ำหนักโน้มมาข้างหน้า แล้วน้ำหนักมันกดลงที่อัณฑะ บางที่เราต้องหนีบขา บางทีเราก็ต้องไสก้นไปด้านหลัง ทำให้เกิดการเสียดสี บวกกับกางเกงในมันอาจจะชื้น เช่น วันที่มีฝนตกตอนเช้า แล้วเราก็อยู่แบบเปียกๆจนแห้ง... เวลาขับขี่จะเลี่ยงถนนที่เป็นหลุม เพราะมันกระเทือนและเจ็บมาก” “มันมาจากเบาะรถด้วย เพราะปกติเบาะมันถูกออกแบบให้นั่งไม่นาน แต่เรานั่งนานเกินวันละ 7 ชั่วโมง มันจะแฟบลง บางคนแก้ปัญหาด้วยการไปให้ช่างทำเบาะให้หนาขึ้น บางคนไปสั่งซื้อ เบาะรองนั่งมอเตอร์ไซค์กลายเป็นสินค้าขายดีในร้านออนไลน์”
“เรื่องเข้าห้องน้ำของผู้หญิง มีปัญหามากกว่าผู้ชาย คือสมมุติว่าร้านค้าไม่มีห้องน้ำให้บริการ เราก็ต้องอั้นไว้ก่อน พออั้นไว้นานๆจะมีปัญหากระเพาะปัสสาวะอักเสบ อีกอันหนึ่งมันจะเกี่ยวกับเป็นโรคลมแดดด้วย เพราะกินน้ำน้อย แต่แดดมันร้อนมาก อาจเป็นลมแดด และอาจเป็นร้อนในได้ด้วย” “บางคนมีปัญหาปวดประจำเดือน บางคนถึงขั้นออกมาขับไม่ได้ก็นอนพัก หรือกินยา อีกอาการคือ เวลาใส่ผ้าอนามัย ปกติก็จะเปลี่ยนทุก 3-4 ชั่วโมง แต่บางทีไม่ได้เปลี่ยน มันอาจมีผลกระทบกับภายใน เช่น มดลูก หรือช่องคลอด”
“ที่หัวเข่า กับหน้าแข็ง เวลาขับรถถ้าเหยียดขาออกไปได้ก็จะไม่ปวดขา แต่ถ้าไม่ได้หรือรถเป็นช่วงแคบ ก็จะปวดขา รถแต่ละรุ่น การนั่งให้ความสบายต่างกัน อาการปวดขาได้ต่างกัน มีรถสองรุ่นที่อันตรายมากสำหรับไรเดอร์ คือรุ่น... กับรุ่น.... สำหรับคนขายาว ไม่ต้องชนกับใคร แต่หัวเข่าก็ชนกับกระจังรถได้ รุ่นของรถต้องเหมาะสมต่อการใช้งานด้วย รถแบบเกียร์ออโต้ กับรถเกียร์ปกติก็มีความคล่องตัวในการขับขี่ต่างกัน”
ด้านหลังของร่างกาย โรคผิวหนัง ตุ่ม คัน ตามร่างกาย ปวดเอว ปวดกระดูกก้นกบ ท้องผูก ริดสีดวงทวาร ปวดเมื่อยร่างกายตั้งแต่คอ ลามไปถึงไหล่ หลัง เอว ก้นกบ ขาด้านหน้า ขาด้านหลัง น่อง เท้า ต้องกินยาแก้ปวด แก้อักเสบ และต้องเพิ่มปริมาณยา
“เมื่อก่อนขับถ่ายปกติ แต่มาทำไรเดอร์ ผมกินน้ำน้อย บางทีรีบๆกินข้าวไม่ได้กินน้ำ แล้วพอเครียด ทำให้มีปัญหาท้องผูก เวลาขับถ่ายรู้สึกเจ็บ ผมไปพบแพทย์เขาเรียกว่า “เอนอลฟิชเชอ” [anal fissure] คือมันไม่ใช้ริดสีดวงทวาร แต่เกิดจากอุจาระแข็งเหนี่ยวหนืด พอเราเบ่งมากๆ มันทำให้ปลาย anal ข้างในเป็นแผล แล้วปากทางมันอยู่ตรงปลายหูรูดของทวารหนัก เมื่อทำงานมีเหงื่อเยอะตรงก้น มันจะทำให้ปลาย anal ที่อักเสบเกิดอาการติดเชื้อ ผสมกับกล่องอาหารเราถ้ามันเปื้อนคราบอาหาร ถ้าวันฝนตกมันจะชะคราบอาหารไหลมาตามเบาะ แล้วเบาะรถบางรุ่นมันน้ำซึมเข้าไปได้ ใต้เบาะจึงเป็นที่สะสมของเชื้อโรคต่างๆ แล้วผมคนตัวใหญ่ เวลาขับขี่รถมันกระแทก เบาะรถเรามันก็แบนเพราะไม่ได้ถูกออกแบบมาให้นั่งนานๆ ทั้งหมดนี้มันสะสมทำให้ปลาย anal ติดเชื้อ หนักๆขึ้นมันก็บวม แล้วมันก็แตก มีเลือดออกมา คล้ายริดสีดวง คือถ้าจะรักษาให้หายขาด หมอว่าต้องผ่าตัดเอาทั้งหัวทั้งรากออก คือต้องผ่าตัดใหญ่”
“พี่เอง [อายุ 59 ปี] มีปัญหามาก คือมันปวดเมื่อยโยงกันหมดตั้งแต่คอ ไหล่ หลัง เอว แขน มือ ก้น ไปถึงขา ที่เอวก็หนัก คือทุกวันนี้ใช้สายรัดเอวเอาไว้ตลอดเวลาทำงาน แล้วพี่ก็กินยาคลายกล้ามเนื้อ กับยาแก้ปวดทุกวัน ถ้าไม่งั้นอีกวันทำงานไม่ได้” “เคยไปปรึกษาหมอๆบอกว่า หากมีอาการและต้องการกินยาก็เริ่มจากพาราก่อน ถ้าอาการไม่ดีค่อยกินยาคลายกล้ามเนื้อ แต่หากยังไม่ดีขึ้นอีกก็อาจกินยาแก้ปวดลดอักเสบ พี่ก็มาถึงขั้นที่ 3 แล้ว หมอแนะนำว่า หากไม่ปรับพฤติกรรมก็จะเป็นๆหายๆอย่างนี้”
การระดมความคิดทำให้เข้าใจความเสี่ยงสุขภาพของไรเดอร์ ซึ่งพบว่าการเจ็บป่วยมีความเชื่อมโยงกันระหว่างอวัยวะภายนอกกับอวัยวะภายใน ระหว่างอวัยวะต่างๆ และระหว่างสุขภาพและสุขภาพจิต (ดูภาพประกอบ)
ด้านเหตุปัจจัยที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพและสุขภาพจิต มีหลายปัจจัย แต่ละปัจจัยมีข้อปลีกย่อย และปัจจัยต่างๆเชื่อมโยงกัน เช่น อุปกรณ์ทำงาน อาทิ หมวกกันน็อค มอเตอร์ไซค์ เบาะรถ โทรศัพท์ กล่องบรรจุอาหาร เสื้อผ้า กฎระเบียบของบริษัท เช่น การไม่จำกัดปริมาณการสั่งสินค้าของลูกค้า การเร่งรัดให้ไรเดอร์ทำงานอย่างเร่งรีบ การลดค่าตอบแทนต่อชิ้นงานจนต้องทำงานยาวนานไม่มีวันหยุด สภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น สภาพถนน สัญญาณจราจร สภาพอากาศ ผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ความหนาแน่นของชุมชน ความแตกต่างของบุคคล เช่น เพศ วัย พฤติกรรมการขับขี่ สภาพความพร้อมของร่างกาย
“เสียง” ของแรงงานที่ทำงานบนท้องถนนวันละกว่า 10 ชั่วโมง ทำให้เห็นความน่าวิตกของสุขภาวะแรงงานกลุ่มนี้ในวันข้างหน้า ชวนให้ตั้งคำถามว่าพวกเขามีหลักประกันความเสี่ยงด้านสุขภาพและอุบัติเหตุอย่างไร และระบบสาธารณสุขของประเทศพร้อมจะรองรับแรงงานกลุ่มนี้ หรือแรงงานกลุ่มอื่นที่อยู่ในสภาพการทำงานคล้ายคลึงกันนี้หรือไม่
ความเชื่อมโยงของเหตุปัจจัยที่นำไปสู่ความป่วยไข้จากการทำงาน ทำให้เห็นว่าการป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพและอุบัติเหตุของไรเดอร์ สามารถทำได้จากหลายช่องทาง นับตั้งแต่การสนับสนุนให้ไรเดอร์มีอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานและเหมาะสมกับการทำงาน การให้ความรู้ การเตรียมความพร้อม และการให้คำปรึกษาการดูแลสุขภาพ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมการจราจรและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญคือ การส่งเสริมให้ไรเดอร์มีเวลาทำงานที่เหมาะสม มีวันหยุดวันลา มีรายได้พอเหมาะ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของบริษัทแพลตฟอร์มโดยตรง
แพลตฟอร์มส่งอาหาร ช่วยส่งเสริมการมีงานทำ กระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ความสะดวกแก่ผู้บริโภค แต่ขณะเดียวกันกำลังผลักแรงงานกลุ่มหนึ่งไปสู่ปากเหวของความเสี่ยง ทำให้ถนนกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงสำหรับไรเดอร์และผู้ใช้รถใช้ถนนโดยรวม และเพิ่มภาระระบบสาธารณสุขของประเทศ ความป่วยไข้ของไรเดอร์ จึงไม่ใช้ชะตากรรมของคนใดคนหนึ่ง แต่คือความเจ็บป่วยของสังคมที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันดูแลแก้ไข
หมายเหตุ
บทความนี้ปรับปรุงจากรายงานการวิจัย อุบัติเหตุและสุขภาพของคนขับรถจักรยานยนต์ส่งอาหารภายใต้การควบคุมของแพลตฟอร์ม (2566) สามารถ download รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้จาก https://shorturl.asia/vIga6
การประชุมแผนที่ความเสี่ยงสุขภาพไรเดอร์ เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการรูปแบบการสร้างอำนาจต่อรองเพื่อสุขภาวะของแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหารและแรงงานในกิจการขนส่ง ดำเนินโครงการโดยนายพฤกษ์ เถาถวิล และนายวรดุลย์ ตุลารักษ์ ภายใต้โครงการพัฒนาความรู้และความเข้มแข็งกลุ่มแรงงานนอกระบบเพื่อสุขภาวะ มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ