‘อินฟลูเอนเซอร์’ เริ่มขยายบทบาทรายงานข่าวแทนสื่อมืออาชีพ

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 มิ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 1632 ครั้ง

‘อินฟลูเอนเซอร์’ เริ่มขยายบทบาทรายงานข่าวแทนสื่อมืออาชีพ

รายงานการศึกษาฉบับล่าสุดจากสถาบันรอยเตอร์ระบุว่า ในเวลานี้ บรรดาอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามมากมายทางแพลตฟอร์มติ๊กตอก (TikTok) และผู้มีชื่อเสียงอื่น ๆ กำลังมีบทบาทในฐานะแหล่งข่าวมากกว่าผู้สื่อข่าวมืออาชีพในสายตาคนรุ่นใหม่ในสัดส่วนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว

เมื่อช่วงเดือน มิ.ย. 2566 VOA รายงานว่ารายงานการศึกษาฉบับล่าสุดจากสถาบันรอยเตอร์ระบุว่า ในเวลานี้ บรรดาอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามมากมายทางแพลตฟอร์มติ๊กตอก (TikTok) และผู้มีชื่อเสียงอื่น ๆ กำลังมีบทบาทในฐานะแหล่งข่าวมากกว่าผู้สื่อข่าวมืออาชีพในสายตาคนรุ่นใหม่ในสัดส่วนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว

รายงานชิ้นนี้พบว่า ราว 55% ของผู้ใช้งานติ๊กตอกและแอปพลิเคชั่นสแนปแชต (Snapchat) และประมาณ 52% ของผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่นอินสตาแกรม (Instagram) ได้รับข่าวสารจาก “บุคคล” (personalities) ซึ่งมีความหมายที่อ้างถึงผู้มีอิทธิพลกับคนหมู่มากในโลกสื่อสังคมออนไลน์ โดยสัดส่วนดังกล่าวสูงกว่าจำนวนผู้ที่รับข่าวจากสื่อหลัก ๆ หรือสื่อมวลชนทั้งหลายที่อยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกันซึ่งอยู่ที่ประมาณ 33-42% อย่างเห็นได้ชัด

ปัจจุบัน แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้คือ พื้นที่โปรดของคนรุ่นใหม่ทั่วโลก

ตัวเลขที่รายฉบับนี้สรุปออกมาได้มาจากการสัมภาษณ์คนจำนวน 94,000 คนใน 46 ประเทศ โดย Reuters Institute for the Study of Journalism ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ของอังกฤษ

ความเห็นในรายงานดังกล่าวระบุว่า “ขณะที่ สื่อมวลชนของสื่อหลัก ๆ มักเป็นผู้เปิดบทสนทนาเกี่ยวกับข่าวต่าง ๆ ผ่านทวิตเตอร์ (Twitter) และเฟซบุ๊ก (Facebook) พวกเขามักประสบปัญหาดึงความสนใจจากผู้ใช้งานเครือข่ายใหม่ ๆ เช่น อินสตาแกรม สแนปแช็ต และติ๊กตอก”

นิค นิวแมน ผู้นำการทำรายงานนี้ยกตัวอย่าง แมตต์ เวลแลนด์ ผู้ใช้งานติ๊กตอกในอังกฤษที่หยิบยกประเด็นข่าวสารที่เป็นที่สนใจของคนทั่วไปและประเด็นชีวิตประจำวันมาพูดคุยกับผู้ติดตามติ๊กตอกของเขาจำนวน 2.8 ล้านคน ในฐานะคนที่มีอิทธิพลในฐานะแหล่งข่าวสำหรับคนรุ่นใหม่

นิวแมน บอกกับ เอเอฟพี ว่า แหล่งข่าวอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลก็มี อาทิ นักฟุตบอลชื่อดังที่หยิบยกเรื่องน่าสนใจขึ้นมาพูดคุย เช่น มาร์คัส แรชฟอร์ด ที่เปิดตัวแผนรณรงค์ปี 2020 เพื่อจัดหาอาหารกลางวันฟรี ๆ ให้กับนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน เป็นต้น

เขากล่าวเสริมว่า สำหรับคนรุ่นใหม่แล้ว คำว่า “ข่าว” ไม่ใช่เรื่องของประเด็นการเมืองหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ “เป็นอะไรใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กีฬา บันเทิง เรื่องซุบซิบกอสซิปดารา ข่าวน่าสนใจในปัจจุบัน วัฒนธรรม ศิลปะ หรือเทคโนโลยี”

อย่างไรก็ดี รายงานนี้พบว่า เฟซบุ๊กยังคงเป็นแหล่งข่าวอันดับหนึ่งในวงการสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลก แม้อิทธิพลของแพลตฟอร์มนี้จะอ่อนตัวลงเรื่อย ๆ ก็ตาม โดยมีผู้ให้สัมภาษณ์ 28% ที่บอกว่า รับข่าวจากช่องทางนี้ในปัจจุบัน เทียบกับสัดส่วน 42% ในปี ค.ศ. 2016

เรื่องนี้อาจเป็นการสะท้อนภาพความจริงที่ว่า เฟซบุ๊กเองกำลังค่อย ๆ ถอยห่างจากบริการแบ่งปัน (sharing) ข่าวสำหรับกลุ่มเพื่อนและครอบครัวไปเน้นด้านอื่น และเพราะคนรุ่นใหม่นั้นชื่นชอบแอปวิดีโอ เช่น ติ๊กตอก และยูทิวบ์ (YouTube) มากกว่า

รายงานล่าสุดระบุว่า สัดส่วนผู้ใช้งานติ๊กตอกที่มีอายุ 18-24 ปีนั้นอยู่ที่ระดับ 44% โดยประมาณ 20% บอกว่า ได้รับข่าวสารจากแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มจากปีที่แล้ว 5%

สำหรับสื่อดั้งเดิมนั้น ความท้าทายที่หนักหน่วงที่สุดคือ การที่ตัวเลขผู้รับข่าวโดยตรงจากเว็บไซต์ของตนลดลงเหลือเพียง 22% เทียบกับ 32% ในการสำรวจเมื่อปี ค.ศ. 2018

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: