โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ชื่นชมความสำเร็จการซื้อขายคาร์บอนเครดิตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นครั้งแรกในประเทศ นำร่อง 4 จังหวัด สามารถแปลงเป็นเงินทุนกลับคืนสู่หมู่บ้าน/ชุมชนได้ในราคา 260 บาทต่อตัน ในเฟสแรก พร้อมเตรียมขยายแนวทางสู่ 22 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้สามารถจัดเก็บปริมาณคาร์บอนเครดิตรวม 26 จังหวัด ที่จัดเก็บได้มากกว่า 2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ช่วยส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับครัวเรือน นำรายได้หมุนเวียนกลับสู่ชุมชน
30 มิ.ย. 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันผลักดันการซื้อขายคาร์บอนเครดิตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 จังหวัดนำร่อง เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ผ่านการคัดแยกขยะและจัดทำถังขยะเปียก ลดโลกร้อน สร้างทุนหมุนเวียนกลับคืนสู่ชุมชน สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy: BCG) ของรัฐบาล ในการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เน้นการแปลงของเสียให้เป็นแหล่งรายได้ ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับภาคี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ประกาศความสำเร็จการจัดการขยะอาหารจากครัวเรือน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบรรลุเป้าหมายประเทศไทยที่ยั่งยืน โดยกระทรวงมหาดไทยดำเนินโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน สมุทรสงคราม เลย และอำนาจเจริญ โดยองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้รับรองคิดเป็นค่าคาร์บอนเครดิตร่วมกับหน่วยงานภายนอก สามารถแปลงเป็นเงินทุนกลับคืนสู่หมู่บ้าน/ชุมชนได้ในราคา 260 บาทต่อตัน ในเฟสแรก พร้อมเตรียมขยายแนวทางสู่ 22 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้สามารถจัดเก็บปริมาณคาร์บอนเครดิตรวม 26 จังหวัด ที่จัดเก็บได้มากกว่า 2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ช่วยส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับครัวเรือน นำรายได้หมุนเวียนกลับสู่ชุมชน
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เน้นย้ำความร่วมมือ การจัดการร่วมกัน ของทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพราะผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมส่งถึงทุกคน ที่อาศัยอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ โดยภาครัฐถือเป็นส่วนกลางในฐานะผู้นำในการขับเคลื่อนนโยบาย ขณะที่ปัจจัยส่งเสริมความสำเร็จต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมถึงภาคประชาสังคม โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตนี้ จะสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี และเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อน นำประเทศมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” นายอนุชาฯ กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ