นักเศรษฐศาสตร์ชี้อดีตเทคโนโลยีไม่สร้างความเท่าเทียม – ปัญญาประดิษฐ์จะซ้ำรอยหรือไม่?

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 ก.ย. 2566 | อ่านแล้ว 16983 ครั้ง

นักเศรษฐศาสตร์ชี้อดีตเทคโนโลยีไม่สร้างความเท่าเทียม – ปัญญาประดิษฐ์จะซ้ำรอยหรือไม่?

นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่าหากปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถูกนำมาใช้ในชีวิตของเรา คนส่วนน้อยจะได้รับผลประโยชน์มากกว่าคนส่วนใหญ่ อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในยุโรปช่วงความก้าวหน้าในยุคกลาง ที่ชนชั้นปกครองดึงความมั่งคั่งออกไป จากผลผลิตของกลุ่มแรงงานชาวนา

VOA รายงานเมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2566 ว่าระหว่างที่โลกกำลังชั่งน้ำหนักเกี่ยวกับประโยชน์และภัยคุกคามจากปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ต่อมวลมนุษยชาติ นักเศรษฐศาสตร์หยิบข้อมูลในอดีตที่บ่งชี้ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีในบางครั้งก็ไม่ได้แก้ปัญหาใหญ่ในสังคม อย่างเรื่องความเท่าเทียมได้อย่างที่คิด

นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่าหากปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถูกนำมาใช้ในชีวิตของเรา คนส่วนน้อยจะได้รับผลประโยชน์มากกว่าคนส่วนใหญ่ อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในยุโรปช่วงความก้าวหน้าในยุคกลาง ที่ชนชั้นปกครองดึงความมั่งคั่งออกไป จากผลผลิตของกลุ่มแรงงานชาวนา

ไซมอน จอห์นสัน อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และการจัดการระดับโลก จากสถาบัน MIT Sloan School of Management กล่าวว่า "AI มีศักยภาพมากมาย แต่อาจจะเป็นไปได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” และเขาชี้ว่า “เรามาถึงตรงทางแยกนั้นแล้ว”

ผู้สนับสนุนเทคโนโลยี AI คาดการณ์ว่าจะเกิดก้าวกระโดดด้านการผลิต ซึ่งจะสร้างความมั่งคั่งและพัฒนามาตรฐานการครองชีพ เมื่อเดือนมิถุนายน บริษัทที่ปรึกษา McKinsey ประเมินว่า AI จะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ราว 14 ล้านล้าน ถึง 22 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าว มีขนาดเทียบเท่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน

กลุ่มที่เชื่อมั่นในศักยภาพของเทคโนโลยีบางคน มองว่าการใช้ AI ควบคู่ไปกับหุ่นยนต์ คือเทคโนโลยีที่จะมาช่วยปลดปล่อยมนุษยชาติจากการทำงานที่ซ้ำซาก และนำพามนุษย์ไปสู่การใช้ชีวิตที่สร้างสรรค์และผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี มีความกังวลมากมายต่อการเข้ามาของ AI ที่อาจกระทบต่อการใช้ชีวิต หรืออาจส่งผลลบต่อธุรกิจบางอุตสาหกรรม อย่างที่เราได้เห็นความเคลื่อนไหวในเดือนกรกฎาคม เหล่านักแสดงฮอลลีวู้ดนัดหยุดงาน อันเนื่องมาจากความกลัว ที่จะถูกแทนที่ด้วย AI

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่มักจะเป็นไปอย่างผันผวน ไม่มีความเสมอภาค และบางครั้งอาจเป็นภัยอย่างชัดเจน

จอห์นสันและ ดารอน อาเซโมกลู นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบัน MIT ได้ตีพิมพ์หนังสือที่เผยแพร่ในปีนี้ รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ย้อนกลับไปนับพันปี นับตั้งแต่ยุคทำไร่นา ไปจนถึงตู้ชำระเงินอัตโนมัติด้วยตนเอง ในมิติการสร้างงานและการกระจายความมั่งคั่ง

เครื่องปั่นด้าย คือกุญแจสำคัญในระบบอัตโนมัติของอุตสาหกรรมสิ่งทอในศตวรรษที่ 18 ตามรายงานผู้เขียนพบว่าเครื่องมือดังกล่าวกลับทำให้เกิดชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้นในสภาวะเลวร้าย ส่วนเครื่องกลปั่นฝ้าย ก่อให้เกิดการขยายระบบทาสในพื้นที่ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ในศตวรรษที่ 19

ส่วนการคืบคลานเข้ามาของอินเทอร์เน็ตนั้นให้ผลที่ซับซ้อน กล่าวคือ สิ่งนี้ได้ช่วยสร้างงานใหม่ขึ้นมาจำนวนมาก แต่ความมั่งคั่งจะตกไปอยู่ในมือของมหาเศรษฐีเพียงไม่กี่คน และตอนนี้การเพิ่มผลผลิตจากอินเทอร์เน็ตที่เคยถูกชื่นชม กำลังชะลอตัวลงในหลายประเทศ

ในเดือนมิถุนายน บันทึกการวิจัยโดยธนาคารฝรั่งเศส Natixis อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นเพราะอินเทอร์เน็ตไม่ได้เข้าถึงอุตสาหกรรมทุกประเภท และงานจำนวนมากที่สร้างขึ้นมาจากสิ่งนี้กลับเป็นงานที่ใช้ทักษะต่ำ

บันทึกการวิจัยนี้ยังกล่าวเตือนด้วยว่า "ข้อสรุป: เราควรระมัดระวัง เมื่อประเมินถึงผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ ต่อการผลิตผลงานของแรงงาน”

ในภาคเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก นำไปสู่การตั้งคำถามถึงผลประโยชน์จากการใช้งาน AI ว่าจะสามารถกระจายผลประโยชน์เหล่านี้ได้อย่างเท่าเทียมหรือไม่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: