อินเดียระงับส่งออกข้าว เสี่ยงกระทบความมั่นคงด้านอาหารในเอเชียอาคเนย์

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 ก.ย. 2566 | อ่านแล้ว 2757 ครั้ง


รายงานพิเศษจากสื่อเบนาร์นิวส์ เผยวิกฤตเอลนีโญทำอินเดียระงับส่งออกข้าว เสี่ยงกระทบความมั่นคงด้านอาหารในเอเชียอาคเนย์

เบนาร์นิวส์ รายงานเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2566 ว่า“ข้าว” นับเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตที่สำคัญในภูมิภาคนี้ คำว่า “กิน” ในภาษาของกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ มักมีความหมายว่า “กินข้าว”

ข้าวเป็นธัญพืชที่ให้พลังงานและสารอาหารที่สำคัญสำหรับผู้คนที่นี่ โดยข้าวเป็นอาหารหลักถึง 50-70 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณแคลอรีที่บริโภค นอกจากนี้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตข้าวทั่วโลก

แต่ข้าวกำลังกลายเป็นอาหารที่ผู้คนหลายสิบล้านในเอเชียอาคเนย์เข้าไม่ถึง เพราะราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปลายปี 2565 จากการที่อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกมีมาตรการห้ามส่งออกข้าว และปรากฏการณ์ทางสภาพอากาศ “เอลนีโญ” ที่ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง

โจเซฟ เกลาเบอร์ นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศในกรุงวอชิงตัน ระบุว่า หากราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจกลายเป็นวิกฤตการณ์ที่แท้จริงได้

“สำหรับประเทศที่ข้าวเป็นอาหารหลักและให้พลังงานแก่ประชากรจำนวนมาก เช่น ประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากราคาข้าวเพิ่มขึ้นสองหรือสามเท่า จะเป็นวิกฤตการณ์ความมั่นคงด้านอาหารที่แท้จริง” เกลาเบอร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

การที่อินเดียห้ามส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมก่อนหน้า ทำให้ในช่วงหนึ่งของเดือนสิงหาคม ราคาข้าวขาวหัก 5 เปอร์เซ็นต์ของไทย ซึ่งเป็นข้าวเกณฑ์มาตรฐานของเอเชีย พุ่งสูงขึ้นไปถึงระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี ที่มากกว่า 650 ดอลลาร์ (ราว 23,500 บาท) ต่อตัน หรือสูงขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ จาก 400 ดอลลาร์ (ราว 14,500 บาท) ในปลายเดือน พ.ย.

แม้ว่าราคาข้าวจะลดลงเล็กน้อยนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม แต่นักวิเคราะห์ชาวอเมริกันกล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ในระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ราคาข้าวจะพุ่งขึ้นไปถึงอย่างน้อย 700-750 ดอลลาร์ต่อตัน (ราว 25,500 ถึง 27,400 บาท) และหากมีปัจจัยกดดันเพิ่มเติม ราคาข้าวอาจสูงถึง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ราว 36,500 บาท)

ในขณะเดียวกัน ผู้คนต่างเห็นว่าผลกระทบเต็มรูปแบบของเอลนีโญ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางสภาพอากาศที่มีสภาพอากาศรุนแรง จะไม่ปรากฏจนกว่าจะถึงปลายปีนี้ หรือต้นปี 2567

"แม้ว่าผลผลิตจะลดลงเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์ ก็จะทำให้ราคาเพิ่มขึ้น เพราะเรากำลังพูดถึงปริมาณที่มหาศาล" เกลาเบอร์ กล่าวเพิ่มเติม

แมรี่ แองจี้ ทาลิก ชาวฟิลิปปินส์วัย 29 ปี เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวในกรุงมะนิลา ซึ่งทำงานเป็นแม่บ้านและอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดกับญาติ 10 คน ต้องลดการรับประทานอาหารของครอบครัวให้เหลือวันละมื้อเท่านั้น

"ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นมากจนเราแทบจะซื้อไม่ไหวแล้ว เมื่อก่อนเราเคยกินข้าวสามมื้อต่อวัน แต่ตอนนี้เรากินเพียงวันละครั้งเท่านั้น บางครั้งก่อนเที่ยงหรือหลังเที่ยงเล็กน้อย” เธอกล่าวกับเบนาร์นิวส์

มาตรการระงับส่งออกข้าวของอินเดีย คือต้นตอปัญหา

ราคาข้าวในฟิลิปปินส์พุ่งสูงขึ้น 8.7 เปอร์เซ็นต์ ในเดือน ส.ค. จาก 4.2 เปอร์เซ็นต์ ในเดือน ก.ค. และเพื่อรับมือกับการพุ่งสูงขึ้นของราคาข้าว ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์คอส จูเนียร์ ได้ประกาศตรึงราคาข้าวปกติและข้าวขัดสีที่ 41 เปโซ และ 45 เปโซ (26 และ 29 บาท) ต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.

แม้จะดูเหมือนว่าฟิลิปปินส์จะไม่ได้รับผลกระทบจากการห้ามส่งออกข้าวของอินเดีย เนื่องจากนำเข้าข้าวส่วนใหญ่จากเวียดนาม ซึ่งในปี 2565-2566 เวียดนามเป็นแหล่งที่มาของการนำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์ถึง 90 เปอร์เซ็นต์

แต่จากมาตรการของอินเดีย ผู้ส่งออกข้าวทั่วโลกได้หันไปซื้อข้าวจากประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดสองประเทศถัดไป นั่นคือไทยและเวียดนาม ทำให้ราคาส่งออกข้าวของสองประเทศนี้พุ่งสูงขึ้นถึงระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 ตามที่กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ระบุในรายงาน “ธัญพืช : ตลาดโลกและการค้า” ฉบับเดือนกันยายน

ราคาข้าวที่ส่งออกจากไทยและเวียดนามพุ่งสูงขึ้นถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่การห้ามส่งออกข้าวของอินเดีย ตามรายงานของรอยเตอร์ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.

และเมื่อเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังจะเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลผลิตข้าวในภูมิภาคอาจลดลงต่อไป ซึ่งอาจทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นยิ่งไปอีก

ปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่แห้งแล้งกว่าปกติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ได้เกิดขึ้นพร้อมกันหรือก่อนช่วงเวลาที่ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นโดยตรง ตามความคิดเห็นของ BMI บริษัทในเครือ Fitch Solutions ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยที่วิเคราะห์เศรษฐกิจครอบคลุม 29 อุตสาหกรรมทั่วโลก

อุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์ได้ส่งผลกระทบต่อพืชผลภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ราคาข้าวได้พุ่งสูงขึ้นแม้ในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ โดยราคาข้าวในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 14.5 ถึง 16 บาทต่อกิโลกรัม จาก 13 ถึง 14.5 บาทในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ในประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ เช่น เวียดนามและไทย ผลผลิตข้าวที่ลดลงส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ไพรัช ปุริทัง ชาวนาในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นเจ้าของนาข้าว 10 ไร่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่าเขาไม่แน่ใจว่าจะคุ้มทุนในปีนี้หรือไม่

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เราไม่สามารถคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนและควบคุมต้นทุนได้ ปีนี้ผมต้องลงเมล็ดข้าวสองครั้งเพราะภัยแล้ง” ไพรัช ระบุ

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบเต็มรูปแบบของปรากฏการณ์เอลนีโญยังไม่เกิดขึ้น

เอลิซา ลูเธอร์ และ พอล เทง จากโครงการความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุในบทความของสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค ในสิงคโปร์ ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญอาจ “รุนแรงมาก” ในช่วงปลายปีนี้

"ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากช่วงเวลาที่แห้งแล้ง ภัยแล้งและคลื่นความร้อนอาจกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปรากฏการณ์เอลนีโญ" ส่วนหนึ่งใน บทความ ระบุ 

ในบทความระบุด้วยว่า เขตปลูกข้าวสำคัญทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากฤดูเพาะปลูกข้าวในฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ

“ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าผลผลิตข้าว โดยเฉพาะผลผลิตข้าวในฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ จะลดลงอันเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ” ส่วนหนึ่งจากบทความ

ชาวนาปลูกข้าวในเวลาพระอาทิตย์ตกดิน เช่นเดียวกับชาวนาอีกนับไม่ถ้วนในภาคเหนือและภาคกลางของเวียดนาม ปลูกข้าวขณะยังมืด ในช่วงฤดูร้อนที่อากาศร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ฮานอย วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 (เอเอฟพี)

ภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญคาดว่าจะทำให้ผลผลิตข้าวในประเทศไทยลดลง 5.6 ถึง 6 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว ตามข้อมูลของกรมการข้าวและศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งการลดลงดังกล่าวจะส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลงเหลือ 25.1 ล้านถึง 25.6 ล้านตัน

รายงานกสิกรไทยยังระบุอีกว่า ผลผลิตอาจลดลงมากขึ้นอีก ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปรากฏการณ์เอลนีโญ

หกสัปดาห์ข้างหน้า ‘สำคัญอย่างยิ่ง’

ปีเตอร์ ทิมเมอร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ปรึกษาด้านนโยบายอาหารและการพัฒนาการเกษตร โดยมีสาขาเชี่ยวชาญในการปรับราคาข้าว เขาได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ตั้งแต่ยุค 1970 แล้ว (ราวปี 2513 เป็นต้นมา)

ทิมเมอร์กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า สถานการณ์ข้าวอาจจะชัดเจนขึ้นเล็กน้อยหลังจากผ่านไป 6 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่เขาระบุว่าสำคัญอย่างมาก

“ถึงตอนนั้น เราจะได้รู้ว่าอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์กำลังเผชิญกับวิกฤตราคาข้าวอย่างไร และเราจะได้ทราบเช่นกันว่าผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญจะยืดเยื้อหรือไม่ ซึ่งอาจนำไปสู่การขาดแคลนข้าวที่ยาวนานและรุนแรงขึ้น" ทิมเมอร์ ระบุ

เกลาเบอร์ จากสถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศ ระบุเช่นกันว่า หกสัปดาห์ข้างหน้าจะช่วยบ่งชี้ถึงสิ่งที่ผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ เช่น ไทยและเวียดนาม กำลังวางแผนไว้ด้วยเช่นกัน

"ในช่วงหกสัปดาห์ข้างหน้า เราจะได้เห็นว่าสถานการณ์จะดีหรือไม่ เช่น เอลนีโญที่ไม่รุนแรง ฤดูมรสุมปกติ หรือฤดูมรสุมที่สิ้นสุดเร็วกว่ากำหนด สิ่งที่หวังว่าจะไม่เกิดขึ้นคือการดำเนินการเพิ่มเติมที่คล้ายกับอินเดีย จากประเทศไทยและเวียดนาม เพราะแบบนั้นอาจทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นมาก” เกลาเบอร์ ระบุ

ประเทศอย่างอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศเพื่อนบ้าน มาเลเซีย ซึ่งผลิตข้าว แต่ก็ต้องนำเข้าเพราะไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ได้รับผลกระทบจากทั้งการขาดแคลนผลผลิตอันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และการห้ามส่งออกของอินเดีย

ในเดือน ก.ย. ราคาข้าวในอินโดนีเซียสูงขึ้น 16 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2565

อันนาห์ วัย 38 ปี แม่บ้านในเมืองซูคาบูมี ชวาตะวันตก ได้ลดปริมาณโปรตีนสำหรับครอบครัวใหญ่ของเธอที่มี 6 คนลง เนื่องจากสามีของเธอซึ่งเป็นแรงงานชั่วคราวที่ติดตั้งหลังคาเหล็กน้ำหนักเบา ไม่ได้มีงานทำตลอดเวลา

“เราไม่สามารถทดแทนข้าวด้วยอาหารอื่น ๆ ได้ เพราะข้าวเป็นอาหารหลักของเรา และเราก็ไม่สามารถลดการบริโภคได้ด้วยเช่นกัน” อันนาห์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ในมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งผลิตข้าวในประเทศได้ 70 เปอร์เซ็นต์ ของอุปทานข้าวในหนึ่งปี ผู้คนกำลังประสบปัญหาในการหาข้าวในท้องถิ่น

อิสมาอิล ซัลเลห์ ประธานองค์การพัฒนาการเกษตร (MADA) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลมาเลเซียที่ดูแลการเพาะปลูกทั่วประเทศ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การผลิตข้าวในท้องถิ่นไม่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์อากาศที่รุนแรง

ถึงกระนั้น ข้าวท้องถิ่นก็ไม่สามารถหาซื้อได้ตามชั้นวางของในซูเปอร์มาร์เก็ต

โมฮัมหมัด ซาบู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและความมั่นคงทางอาหารมาเลเซีย ยอมรับว่ามีข้าวท้องถิ่นขาดแคลน แต่โทษว่าเป็นเพราะการกักตุนสินค้าของผู้บริโภคที่เห็นว่าราคาข้าวนำเข้าเพิ่มขึ้น 36 เปอร์เซ็นต์

"การขาดแคลนของข้าวเจ้าท้องถิ่นในตลาดทั่วประเทศเกิดขึ้นเนื่องจากการความตื่นตระหนกจากการที่ผู้บริโภคหันมาซื้อข้าวเจ้าท้องถิ่นหลังจากที่ราคาข้าวนำเข้าพุ่งสูงขึ้น" ซาบู กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ในทางกลับกัน ชาฮาร์ดี อับดุลเลาะห์ ชาวนาในรัฐปะลิสของมาเลเซีย กล่าวว่าสภาวะเอลนีโญส่งผลต่อการเก็บเกี่ยวของเขา

“ตอนนี้ก็เดือนกันยายนแล้ว แต่ผมยังเก็บเกี่ยวข้าวไม่ได้ ซึ่งปกติจะเก็บเกี่ยวในเดือนสิงหาคม เราล่าช้าไปสองเดือนเนื่องจากฤดูแล้งที่ยาวนาน ซึ่งกินเวลาจนถึงเดือนมิถุนายน” ชาฮาร์ดี กล่าวกับเบนาร์นิวส์

"ปกติแล้วผมสามารถผลิตข้าวได้สองตันในทุกฤดูเก็บเกี่ยว และมีรายได้ประมาณ 2,500 ริงกิต (ราว 19,500 บาท) อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้ผมไม่แน่ใจมากนัก มันอาจจะน้อยกว่าที่เคยเป็นมา" ชาฮาร์ดี ระบุ

ข้าวคือ 'อาหารของคนจน'

ก่อนการระบาดของโควิด-19 ในปี 2561 มีประชาชนมากกว่า 73 ล้านคน หรือ 11 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรเกือบ 654 ล้านคนในประเทศสมาชิกอาเซียน อาศัยอยู่ในความยากจนข้นแค้น ตามรายงานขององค์การอ็อกแฟม ซึ่งเป็นกลุ่มบรรเทาความยากจนระหว่างประเทศ

ตัวเลข 73 ล้านคนดังกล่าวไม่รวมถึงผู้คนที่อาจอยู่เหนือเส้นความยากจน แต่ยังเปราะบางทางเศรษฐกิจ เนื่องจากธนาคารโลกนิยามผู้ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนว่า เป็นผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยรายได้น้อยกว่า 2.15 ดอลลาร์ต่อคนต่อวัน (ราว 75 บาท) และมีผู้คนที่เข้าร่วมกลุ่มนี้หลายล้านคนในระหว่างและหลังการระบาดใหญ่ เนื่องจากเศรษฐกิจพยายามฟื้นตัว

ด้วยตัวเลขดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อของข้าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงทางอาหารที่รุนแรง เพราะไม่เพียงแต่เป็นอาหารหลักของภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่คนยากจนพึ่งพาเพื่อการยังชีพอีกด้วย ทิมเมอร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าว

ศาสตราจารย์ทิมเมอร์ จากฮาร์วาร์ด กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยตัวเลขดังกล่าวการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงด้านอาหารที่ร้ายแรง เพราะไม่เพียงแต่ว่ามันเป็นอาหารหลักของภูมิภาคนี้เท่านั้น แต่มันยังเป็นที่พึ่งพาสำหรับคนยากจนในการดำรงชีวิตด้วย

“ข้าวเป็นอาหารหลักของคนจนในเอเชียและอาฟริกา การเพิ่มขึ้นของราคาข้าวจะส่งผลให้เกิดความหิวโหยอย่างแพร่หลาย แม้ว่าประชากร 10 เปอร์เซ็นต์ ของอาเซียนจะยากจน แต่เรากำลังพูดถึงปัญหาร้ายแรง ความอดอยากในระดับที่กว้างขวาง” ทิมเบอร์ ระบุทิ้งท้าย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: