จับตา: ส้นเท้าแตก ทำอย่างไรดี

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 เม.ย. 2566 | อ่านแล้ว 1734 ครั้ง


สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่าส้นเท้าแตก ไม่ได้เกิดจากอากาศที่แห้งหรือหนาวเย็นเพียงอย่างเดียว แต่อาจมีสาเหตุมาจากสภาพผิวที่มีความยืดหยุ่นน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น  ภาวะผิวขาดน้ำจากการอาบน้ำหรือแช่น้ำที่ร้อนจนเกินไป หรือจากการใช้สบู่ที่ทำให้ผิวแห้ง และขาดการบำรุงผิวด้วยครีมที่ช่วยทำให้เท้ามีความชุ่มชื้น นอกจากนี้การใส่รองเท้าที่ไม่ถนอมเท้าหรือเปิดผิวเท้ารวมถึงผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ก็มีโอกาสเสี่ยงเกิดส้นเท้าแตกได้เช่นกัน

ส้นเท้าแตก หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้รอยแตกลึกขึ้นจนถึงชั้นผิวหนังแท้ มีเลือดออก เกิดความเจ็บปวดและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ซึ่งในเบื้องต้นหากสังเกตว่าเริ่มมีรอยแตกตื้น ๆ ที่เท้า เราสามารถดูแลตัวเองได้โดยการใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้นและลดการหนาตัวผิดปกติของผิวหนังชั้นนอก ดังนี้

1. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารให้ความนุ่มลื่นแก่ผิว (Emollients) เช่น เซราไมด์ น้ำมันละหุ่ง ลาโนลิน  เป็นสารที่ถือว่ามีความปลอดภัยและมีผลข้างเคียงต่ำ ช่วยให้ผิวมีความชุ่มชื้น ปกคลุมผิวชั้นนอกป้องกันการสูญเสียน้ำจากผิว อาจอยู่ในรูปแบบของขี้ผึ้ง ครีม โลชั่น เจล และสเปรย์ สาร emollients สามารถใช้เป็นทั้งสารทดแทนสบู่เพื่อทำความสะอาดผิว และใช้ทาผิวทิ้งไว้เพื่อเป็นมอยส์เจอไรเซอร์ได้ ยิ่งหากใส่ถุงเท้าร่วมด้วยจะช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวบริเวณเท้าได้ดียิ่งขึ้น

2. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารดูดซับความชุ่มชื้นให้ผิว (Humectant) เช่น ยูเรีย กรดแลคติก และกลีเซอรีนจะช่วยเสริมการรักษาความชุ่มชื้นผิว สำหรับยูเรียที่มีความเข้มข้นตั้งแต่ 10% ขึ้นไปจัดเป็นผลิตภัณฑ์ยาใช้ภายนอก การใช้ยาควรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์ หรือปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง

แม้เราจะใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพื่อผลด้านสุขภาพผิวเท่านั้น แต่ก็ควรจะคํานึงถึงความปลอดภัยในการใช้ ด้วยการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้ดีก่อน สังเกตส่วนประกอบบนฉลากบรรจุภัณฑ์ก่อนเลือกซื้อ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ emollients ผสมกับยูเรียความเข้มข้นสูง อาจทำให้เกิดการแสบผิวหรือไม่สบายผิว ซึ่งสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณความเข้มข้นของยูเรียลดลง หากไม่แน่ใจควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความรุนแรงของโรค

เราสามารถป้องกันส้นเท้าแตกได้แต่เนิ่น ๆ ดังนี้

  1. เลือกใช้สบู่ที่ถนอมผิว ไม่ใช้สบู่ที่มีสารเคมีเข้มข้นหรือที่มีส่วนผสมทำให้ผิวแห้ง ระคายเคืองผิว
  2. ผู้ที่มีภาวะผิวแห้งง่ายควรเลือกครีมที่มีส่วนผสมของน้ำมัน ใช้ทาหลังอาบน้ำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว และป้องกันผิวแห้งแตก
  3. ควบคุมน้ำหนักในผู้ที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักตัวมาก และในผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อป้องกันผิวบริเวณเท้าไม่ให้รองรับน้ำหนักมากเกินไป
  4. หลีกเลี่ยงการอาบน้ำหรือแช่น้ำที่อุณหภูมิร้อนจัด
  5. ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะผิวขาดน้ำ

หากมีอาการบวมแดงและเจ็บปวดบริเวณส้นเท้าที่แตกมากมีหนองหรืออาการไม่บรรเทาโดยการรักษาด้วยตนเองควรไปพบแพทย์หรือแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจหาการติดเชื้อและรักษาได้อย่างทันท่วงที

 

 

ข้อมูลอ้างอิง : 

ส้นเท้าแตก การดูแลและป้องกัน | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล (mahidol.ac.th)

http://skinhospital.co.th/article/info/5/184

https://worldcongressacg2017.org/archives/1189

https://www.fda.moph.go.th/sites/Cosmetic/Shared%20Documents/PostMarketing/label%20cosmetic%202563.pdf

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: