2 ปีหลังรัฐประหาร แอมเนสตี้เรียกร้องยุติการโจมตีสิทธิมนุษยชนโดยกองทัพเมียนมา

กองบรรณาธิการ TCIJ 31 ม.ค. 2566 | อ่านแล้ว 23195 ครั้ง

2 ปีหลังรัฐประหาร แอมเนสตี้เรียกร้องยุติการโจมตีสิทธิมนุษยชนโดยกองทัพเมียนมา

2 ปีหลังรัฐประหาร แอมเนสตี้เรียกร้องให้มีปฏิบัติการระดับโลก เพื่อยุติการโจมตีสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศของกองทัพเมียนมา

31 ม.ค. 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า สองปีหลังการทำรัฐประหาร กองทัพเมียนมายังคงจับกุมโดยพลการ มีการทรมาน และสังหารพลเรือนโดยไม่ต้องรับผิด  พร้อมเรียกร้องให้มีปฏิบัติการระดับโลกและการยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวเมียนมา ก่อนครบวาระของการทำรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 

นับแต่การทำรัฐประหาร ประชาชนเกือบ 3,000 คนถูกสังหาร 1.5 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐานในประเทศ กว่า 13,000 คนยังคงถูกควบคุมตัวในสภาพที่ไร้มนุษยธรรม มีรายงานการประหารชีวิตประชาชน 4 คน และมีผู้ต้องโทษประหารชีวิตอย่างน้อย 100 คน นอกจากนั้น เด็กอีกกว่า 7.8 ล้านคน ที่ต้องออกจากโรงเรียน  

การโจมตีของกองทัพต่อพลเรือนที่ถูกมองว่าต่อต้านระบอบของตนเองนั้น ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวออกไปอย่างกว้างขวาง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรง รวมทั้งการโจมตีทั้งทางอากาศและทางบกต่อพลเรือน 

มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาค ฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่าไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ที่กองทัพสามารถโจมตีสิทธิมนุษยชนทั่วทั้งประเทศได้เช่นนี้เป็นเพราะทั่วโลกยังไม่ดำเนินการอย่างเพียงพอเพื่อแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งกำลังกลายเป็นความเสี่ยงที่ถูกลืมไป

 “เราไม่สามารถปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้อีกต่อไป  ในโอกาสครบรอบสองรัฐประหารในครั้งนี้ ต้องเน้นให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีปฏิบัติการระดับโลกจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก และจากอาเซียน เพื่อคุ้มครองประชาชนในเมียนมา ซึ่งยังคงอยู่ใต้การกดขี่ของกองทัพในทุกวัน”

ท่ามกลางอันตรายและการประหัตประหารอย่างร้ายแรง ยังมีผู้คนที่กล้าหาญในเมียนมาที่ยืนหยัดชุมนุมประท้วงโดยสงบต่อไป ก่อนจะถึงโอกาสครบรอบเหตุการณ์ดังกล่าว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลร่วมชุมนุมประท้วง โดยการจัดงานรำลึกและกิจกรรมอื่นๆ ในหลายเมืองทั่วโลก รวมทั้งที่กรุงเทพมหานคร และกรุงโซล เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับประชาชนในเมียนมา

“การออกมาพูดเพื่อประชาชนในเมียนมา ที่เสี่ยงต่อการถูกจำคุกอย่างยาวนาน  การตกเป็นเหยื่อของการทรมาน และการสังหารระหว่างการควบคุมตัว เพื่อเเสดงการต่อต้านโดยสงบ ไม่ใช่การกระทำที่เป็นแค่เรื่องเล็กน้อย แต่เป็นการแสดงพลังยืนหยัดเคียงข้างกับพวกเขา ซึ่งนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในตอนนี้ เพราะทำให้พวกเขามีกำลังใจมากขึ้น ช่วยให้พวกเขาเห็นว่าไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาอันมืดมนเพียงลำพัง”

แต่องค์การสหประชาชาติและรัฐบาลทั่วโลก ต้องดำเนินงานมากกว่าแค่การส่งข้อความให้กำลังใจ 

แม้มติเมื่อเร็วๆ นี้ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับเมียนมาซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี แต่รัฐบาลทั่วโลกต้องเพิ่มการดำเนินงาน โดยต้องกดดันกองทัพมากขึ้นเพื่อให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังโดยพลการ เพียงเพราะพวกเขาใช้สิทธิมนุษยชนของตนโดยสงบ

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ต้องเสนอกรณีสถานการณ์ในเมียนมา เข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ ต้องบังคับใช้ข้อตกลงระดับโลกห้ามการซื้อขายอาวุธกับเมียนมา ซึ่งครอบคลุมอาวุธ ยุทธภัณฑ์ เทคโนโลยีที่มีประโยชน์ทั้งทางทหารและพลเรือน และอุปกรณ์ด้านการทหารและความมั่นคงอย่างอื่น การอบรม และความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ  

รัฐและบริษัทต่างๆ ต้องระงับการจัดหา ขาย และส่งมอบทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งการเป็นประเทศทางผ่าน การขนถ่ายสินค้าระหว่างอยู่ในทะเล และการเป็นนายหน้า เพื่อจัดหาเชื้อเพลิงอากาศยานให้กับเมียนมา จนกว่าจะมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อประกันว่า จะไม่มีการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานเพื่อสนับสนุนการละเมิดร้ายแรงต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หรือกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ   

“สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาเป็นเรื่องที่เกินจะยอมรับได้ ประชาชนในเมียนมาต้องทนทุกข์ทรมานทุกวัน และไม่มีเวลาเหลืออีกต่อไปแล้ว ในขณะที่รัฐบาลหลายประเทศรับฟังข้อเสนอให้มีปฏิบัติการ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะยุติการละเมิดที่ร้ายแรงของกองทัพได้ ประชาคมโลกต้องไม่รีรออีกต่อไป ไม่ว่าจะสองปีหรือแม้แต่วันเดียว ในการดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพิ่มเติม เพื่อยุติการกระทำที่โหดร้ายของกองทัพเมียนมา” 

 

ข้อมูลพื้นฐาน 

นับแต่การทำรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้บันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งอาชญากรรมสงคราม และอาจรวมถึงอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากการปราบปรามของกองทัพต่อฝ่ายต่อต้านทั่วประเทศ 

ในเดือนพฤศจิกายน 2565 แอมเนสตี้เริ่มการรณรงค์เรียกร้องให้ระงับการจัดส่งเชื้อเพลิงอากาศยาน เพื่อป้องกันไม่ให้กองทัพเมียนมาโจมตีทางอากาศอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในการสอบสวนครั้งนั้น เรายังได้ระบุบริษัทที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานของน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว 

ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลจากงานวิจัย สื่อ และแถลงการณ์ทุกฉบับของเรา จากเพจเกี่ยวกับเมียนมาในเว็บไซต์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: