เผยเกณฑ์ใหม่มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา ความครอบคลุมสถานศึกษาที่ได้รับบริจาคมากขึ้น หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าและต้องบริจาคผ่านระบบ e-Donation ของสรรพกรเท่านั้น
ช่วงปลายเดือน ส.ค. 2566 สำนักข่าวไทย รายงานว่าน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษาฉบับใหม่ได้มีผลบังคับแล้ว เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 768) พ.ศ. 2566 ซึ่งได้มีการปรับปรุงเกณฑ์การบริจาคให้เกิดความครอบคลุม และลดความเหลื่อมล้ำในการได้รับบริจาคของสถานศึกษาแต่ละประเภท
ทั้งนี้ ตามมาตรการภาษีฯ กำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บุคคลธรรมดาที่บริจาคเงิน, บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ให้แก่สถานศึกษา 5 ประเภท ได้แก่ 1) สถานศึกษาของรัฐ 2) โรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบ 3) สถาบันอุดมศึกษาเอกชน
4) สถานศึกษาที่ตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และ 5) สถาบันอุดมศึกษา ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศอนุมัติ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีฯ ได้แก่ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL) และมหาวิทยาลัยอมตะ
“มาตรการภาษีฯ ฉบับใหม่ปรับปรุงจากเกณฑ์เดิม โดยได้เพิ่มสถาบันอุดมศึกษาซึ่งคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศอนุมัติ โดยความเห็นชอบของ ครม. ให้เป็นสถานศึกษาที่ได้รับบริจาค ที่ผู้บริจาคจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย ซึ่งทำให้เกิดความครอบคลุม สถานศึกษาได้รับการสนับสนุน เกิดการพัฒนาเทคโนยี นวัตกรรมตามมา และช่วยลดภาระด้านงบประมาณภาครัฐได้อีกทางหนึ่งด้วย” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ตามมาตรการภาษีฯ นี้ยังได้กำหนดว่าการบริจาคสนับสนุนการศึกษาที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะต้องเป็นการบริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากรเท่านั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนให้สถานศึกษาทุกแห่งใช้ระบบ e-Donation และเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริจาค
ทั้งนี้ มาตรการภาษีฯ นี้มีผลสำหรับการบริจาคที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2565 – 31 ธ.ค. 2567 โดยสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับนั้น กรณีบุคคลธรรมดาสามารถนำเงินมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่จะไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนอื่นๆ ส่วนกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำเงินหรือทรัพย์สินมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาคแต่จะไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา
พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 768) พ.ศ. 2566 ฉบับเต็ม : https://citly.me/8wbso
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ