ตรวจค้น 30 จุด ทลายองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เงินหมุนเวียน 1 พันล้าน

กองบรรณาธิการ TCIJ 31 ส.ค. 2566 | อ่านแล้ว 5136 ครั้ง

ตรวจค้น 30 จุด ทลายองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เงินหมุนเวียน 1 พันล้าน

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ทลายองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ Shut down one billion Hybrid Scam เงินหมุนเวียนกว่า 1,000 ล้านบาท
 
31 ส.ค. 2566 สถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ​ รายงานว่ากองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท., พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ, พ.ต.อ.ประดิษฐ์ เปการี, พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย, พ.ต.อ.วิระชาญ ขุนไชยแก้ว รอง ผบก.ปอท. และ พ.ต.อ.วัชรพันธ์ ศิริพากย์ ผกก.1 บก.ปอท.

เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.ภัททสักก์ ธนสุกาญจน์, พ.ต.ท.ภานุภัทร กิตติพันธ์ รอง ผกก.1 บก.ปอท., พ.ต.ท.ปิยเดช แก้วแฝก, พ.ต.ท.อารัติ พายทอง, พ.ต.ท.เอกคณิต เนตรทอง, พ.ต.ต.พรเสกข์ เชาวสันต์ และ พ.ต.ต.หญิง หทัยชนก อินทรวิจิตร สว.กก.1 บก.ปอท. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ป., บก.ปอศ., ชุดปฏิบัติการพิเศษหนุมานกองปราบ, เจ้าหน้าที่อัยการจากสำนักงานอัยการสูงสุด และ เจ้าหน้าที่ ปปง. จำนวนรวมกว่า 270 นาย เข้าตรวจค้นเป้าหมาย 30 จุด ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี และอุดรธานี

ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหา กลุ่มองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเครือข่ายหลอกลงทุนออนไลน์ ไฮบริดสแกม (Hybrid Scam) ตั้งแต่ระดับหัวหน้าเครือข่ายที่มีหน้าที่ควบคุมสั่งการศูนย์ปฏิบัติการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ลงไปจนถึงคนรวบรวมบัญชีม้า คนรับจ้างเปิดบัญชีม้า และคนที่ดูแลเรื่องฟอกเงิน รวมจำนวนผู้ต้องหาทั้งสิ้น 9 ราย ดังนี้

  1. น.ส.เบียน หรือ MISS BIAN อายุ 40 ปี (สัญชาติจีน) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 2756/2566 ลง 28 ส.ค.66 ทำหน้าที่กลุ่มบริหาร เปิดบริษัทในประเทศไทย เพื่อฟอกเงิน โดยจับกุมได้ที่ ถนนร่มเกล้า แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ
  2. น.ส.ไช่ หรือ MISS PENGFEI อายุ 32 ปี (สัญชาติจีน) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 2753/2566 ลง 28 ส.ค.66 ทำหน้าที่เปิดบัญชีม้า และกระเป๋าวอลเล็ตม้า โดยดำเนินอายัดตัว
  3. น.ส.อัจฉราฯ อายุ 28 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 2745/2566 ลง 28 ส.ค.66 ทำหน้าที่เป็นกลุ่มบริหาร รวบรวมบัญชีม้า, กระเป๋าวอลเล็ตม้า, ขายเหรียญคริปโต และนำเงินสดไปส่งมอบให้หัวหน้าเครือข่าย โดยจับกุมได้ที่ ถ.รามอินทรา แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ
  4. น.ส.จักรีณาฯ อายุ 28 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 2743/2566 ลง 28 ส.ค.66 ทำหน้าที่ขายเหรียญคริปโต และนำเงินสดไปส่งมอบให้หัวหน้าเครือข่าย โดยจับกุมได้ที่ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ
  5. น.ส.ภัสราฯ อายุ 26 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 2749/2566 ลง 28 ส.ค.66 ทำหน้าที่ เปิดบัญชีม้า และกระเป๋าวอลเล็ตม้า โดยจับกุมได้ที่ ซ.เจริญพัฒนา 7 แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ
  6. นายณัฐฐินันท์ฯ อายุ 30 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 2747/2566 ลง 28 ส.ค.66 ทำหน้าที่เปิดบัญชีม้า และกระเป๋าวอลเล็ตม้า โดยจับกุมได้ที่ ซ.นวมินทร์ 157 แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ
  7. น.ส.สุภาวินีฯ อายุ 32 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 2746/2566 ลง 28 ส.ค.66 ทำหน้าที่เปิดบัญชีม้า และกระเป๋าวอลเล็ตม้า โดยจับกุมได้ที่ ถนนนวมินทร์ กรุงเทพฯ
  8. น.ส.สุมาลีฯ อายุ 34 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 2751/2566 ลง 28 ส.ค.66 ทำหน้าที่ เปิดบัญชีม้า และกระเป๋าวอลเล็ตม้า โดยจับกุมได้ที่ ม.5 ต.หมูม่น อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี
  9. น.ส.ศิริวรรณฯ อายุ 30 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 2755/2566 ลง 28 ส.ค.66 ทำหน้าที่เปิดบัญชีม้า และกระเป๋าวอลเล็ตม้า โดยจับกุมได้ที่ ถ.ร่มเกล้า แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ

ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, สมคบกันโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน”

ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา 341 มาตรา 342 มาตรา 343 , พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (ฉบับแก้ไข พ.ศ.2560), พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 5 มาตรา 25 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (3) มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 9 มาตรา 60

พฤติการณ์ของคดี สืบเนื่องจากเมื่อประมาณปี พ.ศ.2565 ผู้เสียหายได้ถูกกลุ่มคนร้ายใช้เฟซบุ๊ก ปลอมเป็นหญิงสาวหน้าตาดี เข้ามาพูดคุยตีสนิท จนผู้เสียหายไว้เนื้อเชื่อใจ จากนั้นกลุ่มคนร้ายได้ชักชวนให้ผู้เสียหายเข้ามาร่วมลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ผ่านเว็บไซต์ชื่อ CBOEX ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่กลุ่มคนร้ายปลอมขึ้นมาทั้งหมด (แอปพลิเคชันดังกล่าวมีความคล้ายกับแอปพลิเคชันเทรดเหรียญดิจิทัลของจริงที่ใช้ชื่อว่า CBOE) ปัจจุบันเว็บไซต์ปลอมดังกล่าวได้ปิดไปแล้ว

โดยกลุ่มคนร้ายได้แนะนำให้ผู้เสียหายสมัครเปิดบัญชีกับแพลตฟอร์มเทรดเหรียญดิจิทัลของไทย เพื่อสร้างกระเป๋าเงินดิจิทัล และให้นำเงินไปซื้อเหรียญดิจิทัล สกุลเงิน USDT ผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว หลังจากนั้น กลุ่มคนร้ายได้หลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนเหรียญดิจิทัลเข้าไปยังกระเป๋าเหรียญดิจิทัลของกลุ่มคนร้าย โดยทุกครั้งที่ผู้เสียหายโอนเหรียญดิจิทัลไปให้กับกลุ่มคนร้าย ยอดเหรียญดิจิทัลจะแสดงในเว็บไซต์ สอดคล้องกับจำนวนที่ผู้เสียหายโอนเข้าไป อีกทั้งยังมียอดจำนวนของผลกำไรจากการลงทุนแสดงอยู่ในเว็บไซต์ ซึ่งภายหลังจากการตรวจสอบพบว่าเป็นการปลอมข้อมูลตัวเลขขึ้นมาทั้งหมด เพื่อหลอกให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ และโอนเหรียญดิจิทัลเข้าไปเพิ่มอีก ต่อมาเมื่อผู้เสียหายแจ้งความประสงค์ที่จะขอถอนเงินออกมา กลุ่มคนร้ายกลับแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการถอนให้ได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องภาษี และกลุ่มคนร้ายยังหลอกให้ผู้เสียหายโอนเหรียญดิจิทัลเข้าไปเพิ่มอีก โดยทางผู้เสียหายได้โอนเหรียญดิจิทัลสกุล USDT ไปยังกระเป๋าเหรียญดิจิทัลของกลุ่มคนร้าย จำนวน 15 ครั้ง รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นกว่า 13 ล้านบาท ซึ่งภายหลังเมื่อกลุ่มคนร้ายปิดเว็บไซต์และบล็อกช่องทางการติดต่อกับผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกหลอก จึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มคนร้ายในคดีนี้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ปอท. จึงได้ทำการสืบสวนเส้นทางการเงิน และเส้นทางของเหรียญดิจิทัลที่ได้จากการหลอกลวงผู้เสียหายพบว่า ภายหลังจากที่เหรียญดิจิทัลถูกโอนออกจากกระเป๋าของผู้เสียหาย ได้มีการโอนต่อไปยังกระเป๋าเหรียญดิจิทัลส่วนตัว หรือ Private wallet กว่า 20 กระเป๋า เพื่อเป็นการหลบเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากนั้นกลุ่มคนร้ายจะมีการโอนเหรียญดิจิทัลไปรวมที่กระเป๋าเหรียญดิจิทัลกลางของคนร้าย ก่อนที่จะมีการเทขายเหรียญดิจิทัลเพื่อเปลี่ยนจากเหรียญดิจิทัลให้กลายเป็นเงินบาทไทย

จากข้อมูลการสืบสวนพบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2565 กลุ่มคนร้าย มีการขายเหรียญดิจิทัลที่ได้มาจากการหลอกลวงผู้เสียหายทั้งในไทยและต่างประเทศ มีเงินหมุนเวียนกว่า 1,000 ล้านบาท โดยรูปแบบการกระทำความผิดของกลุ่มคนร้าย พบว่าเป็นการกระทำความผิดในลักษณะขบวนการ มีการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจะแบ่งเป็น (1) หัวหน้า ทำหน้าที่ สั่งการ, (2) กลุ่มคอลเซ็นเตอร์ ทำหน้าที่ ติดต่อพูดคุยและหลอกลวงเหยื่อ, (3) กลุ่มนายหน้า จัดหาบัญชีม้าและกระเป๋าวอลเล็ตม้า รวบรวมบัญชีต่างๆ นำไปมอบให้กับกลุ่มคอลเซ็นเตอร์, (4) กลุ่มบัญชีม้าและกระเป๋าวอลเล็ตม้า ทำหน้าที่รับจ้างเปิดบัญชีและกระเป๋าเงินดิจิทัล (5) กลุ่มที่ทำหน้าที่ฟอกเงิน โดยนำเงินที่ได้มาจากการฉ้อโกงไปซื้อทรัพย์สินมีค่า และอสังหาริมทรัพย์ ต่างๆ

จากการสืบสวนพบว่า กลุ่มคนร้ายมีรูปแบบการฟอกเงิน ด้วยวิธีการยักย้ายถ่ายโอนเงินที่ได้จากการกระทำความผิด หรือเงินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นบ้านหรู จำนวน 7 หลัง มูลค่ากว่า 350 ล้านบาท โดยมีการจัดตั้งบริษัทนอมินีขึ้นมาเพื่อถือครองกรรมสิทธิ์ในบ้านหรูทั้งหมด ซึ่งการจัดตั้ง บริษัทนอมินีนั้น กลุ่มคนร้ายจะใช้บริษัทรับทำบัญชี (ซึ่งเป็นบริษัทที่ น.ส.เบียนฯ เป็นหนึ่งในกรรมการ) จัดหาคนไทยมาเพื่อจัดตั้งบริษัทนอมินีในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์จะต้องเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น กลุ่มคนร้ายจึงหาช่องทางหลีกเลี่ยงโดยการใช้ชาวจีน 1 คน ถือหุ้นใน บริษัทนอมินี 49% และจัดหาคนไทยอีก 3 คน ถือหุ้นอีกคนละ 17% จึงทำให้บริษัทนอมินีกลายเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยที่มีคนไทยถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่ง และสามารถถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ได้ตามกฎหมาย

จากการขยายผลตรวจสอบข้อมูลของบริษัทนอมินี และบุคคลสัญชาติไทยที่เป็นนอมินีที่มีความเกี่ยวข้อง และเชื่อมโยงกับกลุ่มคนร้ายพบว่า มีการครอบครองบ้านหรูเพิ่มเติมอีก 10 หลัง มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท รวมบ้านหรูที่ตรวจยึดเพื่อส่ง ปปง. ตรวจสอบทั้งสิ้น 17 หลัง มูลค่ารวมกว่า 850 ล้านบาท

ทั้งนี้จากข้อมูลการสืบสวนพบว่า ขบวนการดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวและตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ในประเทศกัมพูชา, ลาว และเมียนมาร์ ซึ่งเมื่อได้เงินจากการหลอกคนไทยแล้วจะนำมาฟอกเงินด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้น โดยจะมีคนไทยร่วมขบวนการเป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุนอยู่ภายในประเทศไทย

จากข้อมูลการสืบสวนทั้งหมด ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการ โดยในวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ตำรวจสอบสวนกลาง โดย บก.ปอท., บก.ป. และ บก.ปอศ., ชุดปฏิบัติการพิเศษหนุมานกองปราบ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่อัยการจากสำนักงานอัยการสูงสุด และ เจ้าหน้าที่ ปปง. ได้สนธิกำลังจำนวนกว่า 270 นาย เข้าตรวจค้น และจับกุม ผู้ร่วมขบวนการทั้งกลุ่มชาวจีน, กลุ่มผู้จัดหาและรวบรวมบัญชีม้าและกระเป๋าวอลเล็ตม้า, กลุ่มรับจ้างเปิดบัญชีม้าและกระเป๋าวอลเล็ตม้า และผู้บริหารดูแลเรื่องฟอกเงิน โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้ทั้งสิ้นจำนวน 9 ราย ประกอบด้วยชาวจีน 2 ราย ชาวไทย 7 ราย จากนั้นจึงนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

จากการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้นจับกุม สามารถตรวจยึดทรัพย์สินเพื่อนำมาดำเนินการตรวจสอบต่อไปได้จำนวนหลายรายการ อาทิเช่น บ้านหรู จำนวน 17 หลัง, รถยนต์หรู จำนวน 12 คัน, เงินสด รวมมูลค่ากว่า 6 ล้านบาท, สร้อยคอทองคำกว่า 10 รายการ, นาฬิกาหรู, กระเป๋าแบรนด์เนม, คอมพิวเตอร์, โน๊ตบุ๊ก, โทรศัพท์มือถือ, สมุดบัญชีธนาคาร จำนวนหลายรายการ รวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ขอเตือนภัยประชาชน ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนให้ถี่ถ้วน ก่อนการลงทุนทุกครั้ง อย่ารีบตัดสินใจลงทุนหรือหลงเชื่อบุคคลอื่นที่ชักชวนโดยง่าย เพราะปัจจุบันมิจฉาชีพมักแอบอ้างข้อมูลที่ปลอมขึ้นมาเองทั้งหมดเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้อย่าตัดสินใจลงทุนเพียงเพราะเห็นว่ารูปแบบเว็บไซต์นั้นดูน่าเชื่อถือ ควรมีการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วน เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: