เขื่อนไม่เคยหลับ... จับตาสัญญาณคืนชีพเขื่อนสาละวิน

พนม ทะโน และอภิเชษฐ์ สุขแก้ว รายงาน/ถ่ายภาพ | เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท 31 มี.ค. 2566 | อ่านแล้ว 32951 ครั้ง

คำกล่าวที่ว่าแม่น้ำสาละวิน "ยังคงเป็นแม่น้ำนานาชาติเพียงไม่กี่สายในโลกใบนี้ ที่ไหลเวียนอย่างอิสระ" กำลังถูกท้าทายอีกครั้ง เมื่อมีหลายปัจจัยบ่งชี้ว่าอาจมีการผลักดันรื้อฟื้นโครงการก่อสร้างเขื่อนบนลำน้ำสาละวินอีกระลอกหนึ่ง โดยสัญญาณเหล่านี้มาจากทั้งความเคลื่อนไหวของรัฐบาลพม่า นักลงทุน รวมทั้งนักการเมืองไทยด้วยและหากมีการเดินหน้าสร้างเขื่อนจริง ก็มีความกังวลว่าจะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ เช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

แม่น้ำสาละวินถูกใช้เป็นทางเรือเพื่อค้าขายกันระหว่างชาวบ้านริมสองฝั่งแม่น้ำ | ภาพ: อภิเชษฐ์ สุขแก้ว - ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

 

เขื่อนสาละวิน เป็นคำเรียกรวมโครงการต่าง ๆ ที่มีแผนจะก่อสร้างเขื่อนบนลำน้ำสาละวิน ซึ่งในประเทศจีนมีการวางแผนสร้างเขื่อนจำนวน 13 แห่ง  ในขณะที่แม่น้ำสาละวินตอนล่าง หรือช่วงที่ไหลผ่านประเทศพม่าและพรมแดนไทย มีการผลักดันสร้างเขื่อนจำนวน 7 แห่ง โดยแต่ละแห่งก็มีความคืบหน้าแตกต่างกันไป 

แต่ ณ ขณะนี้ ถือว่าโครงการทั้งหมดได้หยุดชะงักไปชั่วคราวเนื่องจากเหตุสู้รบระหว่างกองกำลังรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ รวมทั้งกระแสคัดค้านจากประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเหล่านี้ด้วย

ตามรายงานของเครือข่ายสาละวินวอชต์ ระบุว่าแม่น้ำสาละวินมีความยาวทั้งสิ้น 2,800 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาหิมาลัย บนที่ราบสูงทิเบต ไหลผ่านมณฑลทางใต้ของประเทศจีน เมื่อเข้าเขตพม่าได้ไหลผ่านรัฐฉาน รัฐกะเรนนี ประเทศพม่า และเส้นพรมแดนประเทศไทยกับรัฐกะเหรี่ยงบริเวณอำเภอแม่สะเรียง และอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนจะไหลกลับเข้าสู่พม่า รัฐมอญ และไหล่ลงสู่ทะเลที่อ่าวเมาะตะมะ ทะเลอันดามัน

ปัจจุบันแม่น้ำสาละวินที่ไหลคั่นระหว่างชายแดนไทยและพม่า ยังคงเป็นเส้นทางสัญจรหลักของประชาชนที่อยู่ริมน้ำทั้งสองฝั่ง โดยเฉพาะการซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ้นค้าตามจุดผ่อนปรนชั่วคราว นอกจากนี้ชาวบ้านยังพึ่งพาแม่น้ำสายนี้ในการประมงและปลูกพืชริมตลิ่ง และเป็นเส้นทางหลบลี้หนีภัยยามสงครามเพื่อข้ามมายังฝั่งไทย

ชาวบ้านจากสองฝั่งสาละวินกำลังขนสินค้าลงเรือบริเวณจุดผ่อนปรนชั่วคราวบ้านแม่สามแลบ | ภาพ: อภิเชษฐ์ สุขแก้ว - ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

สำหรับโครงการก่อสร้างเขื่อนบนลำน้ำสะละวินทั้ง 7 แห่ง ประกอบด้วย 

1) เขื่อนฮัตจี มีกำลังผลิต 1,360 เมกะวัตต์ อยู่ห่างจากชายแดนไทยเพียง 47 กิโลเมตร เป็นการร่วมทุนกันระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กระทรวงพลังงานไฟฟ้า (พม่า) บริษัทสัญชาติจีน Sinohydro และเครือบริษัทสัญญชาติพม่าชื่อ International Group of Entrepreneurs Co. 

 

ปัจจุบันเขื่อนฮัตจีได้ชะลอการก่อสร้างไปหลังจากที่ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จแล้ว แต่ยังไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เนื่องจากมีกระแสการคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ และยังเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งกันทางอาวุธ ในช่วงปี พ.ศ. 2549 – 2550 ระหว่างที่วิศวกรและพนักงานของ กฟผ. ทำการสำรวจพื้นที่หัวงาน ก็ได้เหยียบกับระเบิดเสียชีวิต รวมทั้งถูกยิงเสียชีวิตจากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ส่งผลให้ กฟผ. ต้องเรียกเจ้าหน้าที่ทั้งหมดกลับประเทศไทย 
 
2) เขื่อนดากวิน (ดา-กวิน) จะมีกำลังผลิต 729 เมกะวัตต์ เป็นโครงการที่ผลักดันโดย กฟผ. เช่นกัน แต่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ เขื่อนนี้ตั้งอยู่บนแม่น้ำสาละวิน บริเวณบ้านท่าตาฝั่ง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

3) เขื่อนเว่ยจี มีกำลังผลิต 4,540 เมกะวัตต์ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่อยู่ภายใต้ความร่วมของ กฟผ. ในนามของรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า ในปี พ.ศ. 2547 เขื่อนเว่ยจีนั้นมีขนาดค่อนข้างใหญ่ และคาดการณ์ว่าหากมีการก่อสร้างจริง จะทำให้พื้นที่เหนือเขื่อนมีน้ำท่วมสูงไปถึงแม่น้ำปาย บริเวณอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

4) เขื่อนยวาติ๊ด อยู่ห่างจากชายแดนไทยประมาณ 45 กิโลเมตร ตามรายงานของเครือข่ายสาละวินวอชต์ได้อ้างข้อมูลจากเว็บไซต์ของบริษัทต้าถัง จากจีน ว่าอาจมีกำลังผลิตสูงถึง 4,500 เมกะวัตต์ ในรายงานยังระบุอีกว่าระหว่างการสำรวจพื้นที่ได้มีการเปิดสัมปทานไม้สักรอบบริเวณเตรียมก่อสร้างเขื่อน และกองกำลังทหารพม่ามักจะใช้ความรุนแรงปราบปรามกลุ่มผู้คัดค้าน และกีดกันกลุ่มสิ่งแวดล้อมที่พยามลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ

5) เขื่อนเมืองโต๋น หรือเรียกในชื่ออื่น ๆ ว่าเขื่อนท่าซาง อยู่ห่างจากพรมแดนไทยที่บ้านอรุโณทัย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ไปประมาณ 40 กม. มีกำลังผลิต 7,110 เมกะวัตต์ เป็นโครงการที่ร่วมทุนกันระหว่าง กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทจีน และบริษัทพม่า ซึ่งบางรายเป็นทุนเจ้าเดียวกันที่ผลักดันโครงการเขื่อนฮัตจี

6) เขื่อนหนองผา มีกำลังผลิต 1,2000 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของรัฐฉาน เป็นโครงการที่จะส่งไฟฟ้าประมาณร้อยละ 90 ไปขายที่ประเทศจีน และที่น่าจับตามองคือ เป็นโครงการที่สีจิ้นผิงซึ่งขณะนั้นยังเป็นรองประธานาธิบดี ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงด้วยตนเองเมื่อครั้งเดินทางมาเยือนพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2553 โครงการนี้เป็นการร่วมทุนกันระหว่างกระทรวงพลังงานไฟฟ้า (พม่า) เอกชนพม่า และได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้โดยบริษัทจีน Hydro China 

7) เขื่อนกุ๋นโหลง มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,4000 วัตต์ ตั้งอยู่ในอำเภอกุ๋นโหลง ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ใกล้ชายแดนจีน ดำเนินการโดยกระทรวงพลังงานไฟฟ้าพม่า Asia World (water resources) และ  Hanergy Holding Group โครงการนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างอย่างลับ ๆ แต่ต้องหยุดชะงักไปเนื่องจากสถานการณ์สู้รบ ในปี พ.ศ. 2558 ประชาชนราว 10,000 คน ต้องอพยพเข้าชายแดนจีน เพื่อหนีการสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังโกก้าง

แผนที่แสดงจุดก่อสร้างเขื่อนต่าง ๆ บนแม่น้ำสาละวิน | ที่มา: Salween.info

 

จับชีพจรความเป็นไปได้ในการคืนชีพเขื่อนสาละวิน

ถึงแม้ว่าการดำเนินโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินทั้ง 7 แห่งจะหยุดชะงักไปเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และยังไม่มีความเคลื่อนไหวใหญ่ ที่เป็นข่าวต่อสาธารณะมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ว่าโครงการก่อสร้างเขื่อนทั้งหลายจะไม่ถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง 

มีข้อมูลที่บ่งชี้ได้ว่าผู้มีอำนาจทั้งฝั่งไทยและรัฐบาลทหารพม่า ยังไม่ตัดใจจากแผนการก่อสร้างเขื่อนสาละวิน แต่กำลังวางแผนใหม่ให้แยบยลขึ้น อย่างน้อย ๆ จาก 3 เหตุการณ์หลัก 

1. จากอุโมงค์ผันน้ำยวม สู่เขื่อนสาละวิน 

อุโมงค์ผันน้ำยวม หรือ ชื่อเต็มว่า “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม - อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล” ผลักดันโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร และกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  โดยล่าสุดได้เสนอเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรีไปแล้ว 

โครงการนี้ประกอบด้วยเขื่อนกั้นแม่น้ำยวมความสูง 69 เมตร ใน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 2,075 ไร่ สถานีสูบน้ำบ้านสบเงาและอาคารประกอบ อุโมงค์คอนกรีต ความยาว 61 กิโลเมตร เจาะผ่านผืนป่าต้นน้ำรอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก จุดกองดินที่ขุดขึ้นจากอุโมงค์ 6 จุด และพื้นที่ปากอุโมงค์บริเวณบ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงนับแสนล้านบาท  

พร้อมกันนี้ยังมีโครงการคู่ขนานที่ดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ชื่อว่า “โครงการโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ ลำพูน 3 - สบเมย” เป็นการดึงไฟฟ้าแรงสูง ขนาด 230 กิโลโวลต์ 2 วงจร จากสถานีไฟฟ้าแรงสูงลำพูน 3 อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน  มายังตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อไปจ่ายกระแสไฟให้กับเครื่องสูบน้ำขนาดยักษ์ของโครงการ  “อุโมงค์ผันน้ำยวม” ที่ต้องการกำลังไฟมากถึง 400 เมกะวัตต์ โดยแนวโครงข่ายสายไฟความยาว 147 กิโลเมตร จะพาดผ่านพื้นที่ทำกินของชาวบ้านและพื้นที่ป่าด้วย มีแนวโครงข่ายสายไฟกว้างโดยรวม 40 เมตร และตัวเสาไฟมีความสูงที่ 

เหตุที่คาดว่าอุโมงค์ผันน้ำยวมมีความเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างเขื่อนสาละวินนั้น มาจากคำพูดของวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ และรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นบุคคลที่พยายามผลักดันโครงการนี้มาโดยตลอด

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 สำนักข่ายชายขอบรายงานว่า วีระกรได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับความคืบหน้าในการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำยวมว่า มีทุนวิสาหกิจจีนเสนอออกทุนก่อสร้างให้เพื่อแลกกับการที่รัฐบาลไทยอนุมัติให้มีการสร้างเขื่อนในลำน้ำสะละวิน 3 แห่ง 

 

“ผมเรียนท่านนายกฯ ทราบ ทั้งสองโครงการนี้ รัฐบาลไม่ต้องลงทุนเลยนะครับ 40,000 กว่าล้านกับ 70,000กว่าล้าน เป็น 110,000 ล้าน รัฐบาลไม่ต้องลงทุนสักบาทเดียวเลย รัฐบาลจีนจะมาลงทุนทำให้ เป็นเมกะโปรเจ็ค โดยที่เขาจะขอรัฐบาลไทยทำเขื่อน ลักษณะทำกระแสไฟฟ้า 3 ตัวด้วยกันนะครับ เป็นลักษณะของ run-off river คือไม่มีการสร้างอ่างเก็บน้ำ เป็นการเอากระแสน้ำหมุนเทอร์ไบน์ ปั่นเครื่องปั่นไฟ 3 ตัว บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน แม่น้ำสาละวิน 3 จุดด้วยกัน จะขายกระแสไฟฟ้าให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า”

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564 ระหว่างที่ร่วมเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ "โปรเจคยักษ์ - ผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล ประเทศได้หรือเสีย"  ที่จัดโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมและเครือข่ายพันธมิตร วีระกรได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า โครงการอุโมงค์ผันน้ำยวมนั้นเป็นเพียงระยะแรก ระยะที่สองคือการสูบน้ำจากแม่น้ำสะวินมาเติมด้วย 

“โครงการในเฟส 1 การเอาน้ำยวมสูบข้ามมา ได้ 1,795 ล้าน ลบ.ม./ปี เฟสต่อมาเติมน้ำโดยสูบจากแม่น้ำสาละวิน ซึ่งมีปริมาณน้ำท่า 130,000 ล้านต่อปี โดยแม่น้ำสาละวินมีน้ำไหลแรงทั้งปีแม้ในหน้าแล้ง เอาไม้ไผ่ปักลงไป ไม่มีทางที่จะถึงก้นแม่น้ำ ไม้ไผ่หักเลยเพราะน้ำไหลแรงมาก เพราะมาจากภูเขาหิมะละลายที่ราบสูงทิเบต เราไม่ต้องคิดว่าเอาน้ำยวมไปเติมให้สาละวินเพื่อผลักดันน้ำเค็ม ไม่ต้องคิดขนาดนั้น เขาไม่ต้องการน้ำจากยวม สาละวินมีปริมาณน้ำเพียงพอแล้ว” วีระกร กล่าว

2. แผน PDP 2015 ของกฟผ. อีก 3 ปี เตรียมเริ่มซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน
 
แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579  (Thailand Power Development Plan – PDP 2015) เป็นแผนที่จัดทำโดยกระทรวงพลังงานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อวางแผนการผลิตและจัดหาพลังงานไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย 

แผนฯ ฉบับนี้ ได้ผ่านการพิจารณาความเห็นจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กพพ) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2558 รวมทั้งได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในปีเดียวกัน 

สำหรับแหล่งที่มาของไฟฟ้าที่ระบุไว้ในแผนฉบับนี้ มีทั้งไฟฟ้าที่มีต้นกำเนิดภายในประเทศจากโรงผลิตไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ อาทิ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ก๊าซชีวมวล พลังงานหมุนเวียน และยังมีการซื้อไฟฟ้าจากหลายเขื่อน ใน สปป.ลาว รวมทั้งซื้อจากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินหงส์สา ประเทศพม่าอีกด้วย  ทั้งหมดนี้มีการระบุชื่อแหล่งที่มา หรือผู้จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้ประเทศไทยอย่างชัดเจน

แต่ที่น่าสงสัยคือ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2569 – 2579 หรือห้วง 10 ปีสุดท้าย ประเทศไทยมีแผนจะซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศปริมาณ 700 เมกะวัตต์ทุกปี ซึ่งระบุเพียงว่าเป็นไฟฟ้าพลังน้ำแต่ไม่ได้ระบุชื่อเขื่อนหรือแหล่งที่มี จึงนำมาสู่การตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่แผนการซื้อไฟฟ้าส่วนนี้ ตั้งใจจะซื้อจากเขื่อนที่ กฟผ. ได้ร่วมทุนและผลักดันให้มีการก่อสร้างในลำนำสาละวินอยู่หลายจุด

แผน PDP2015 ระบุว่าในปี พ.ศ. 2569 ไทยเตรียมซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจำนวน 700 เมกะวัตต์จากต่างประเทศ ที่มา: PDP2015

3. ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าไม่เคยละทิ้งโครงการเขื่อนสาละวิน

อีกหนึ่งข้อบ่งชี้สำคัญนั้นมาจากทางฝั่งพม่าเอง ที่ทำให้เชื่อได้ว่าผู้นำรัฐบาลยังไม่ละทิ้งโครงการก่อสร้างเขื่อนสาละวิน คือ รายงานจากสื่อท้องถิ่นพม่าที่อ้างถึงคำพูดของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หลาย หัวหน้าคณะรัฐประหารและผู้นำรัฐบาลทหารพม่าคนปัจจุบัน โดยมีรายงานออกมาอย่างน้อย 2 ครั้ง ดังต่อไปนี้ 

สำนักข่าวชายขอบอ้างถึงเว็บไซต์ New Light of Myanmar หนังสือพิมพ์ของทางการพม่า ซึ่งรายงานข่าวเมื่อ 2 มิ.ย. 64 ว่า พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพพม่า ปัดฝุ่นโครงการเขื่อนฮัตจี บนแม่น้ำสาละวิน (Hatgyi hydropower plant to be built on Thanlwin River will contribute to Kayin State: Senior General) โดยเนื้อหาข่าวระบุว่า พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เดินทางไปยังเมืองพะอัน เมืองหลวงรัฐกะเหรี่ยง เพื่อประชุมร่วมกับสภาบริหารรัฐกะเหรี่ยง และหารือกับประธานสภาฯ ซอมินอู เรื่องกิจการต่าง ๆ ในพื้นที่ อาทิ สาธารณสุขและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาตรการการค้าชายแดน โดย พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย มีข้อหารือเรื่องการขยายถนน และกรณีคะแนนเสียงเลือกตั้งในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งพบว่ามีคะแนนเสียง 239,000 คะแนน มาจากผู้ที่ไม่มีบัตรตรวจสอบสัญชาติ

รายงานข่าวของทางการพม่าระบุด้วยว่า ในด้านการผลิตไฟฟ้านั้น รัฐกะเหรี่ยงมีศักยภาพในการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าในพื้นที่ โดยมีแผนก่อสร้างโครงการเขื่อนฮัตจี บนแม่น้ำสาละวิน

ส่วนอีกครั้งหนึ่งเป็นรายงานจากเว็บไซต์ Salween.info เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2564 ว่า เพจข่าวพม่าซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มนักข่าวในพม่าหลังการรัฐประหาร Burma Associated Press เผยแพร่ข้อมูลว่า ผู้นำรัฐประหารพม่า วอนใช้แม่น้ำสาละวินและถ่านหินผลิตไฟฟ้า โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า พล.อ.มิน ออง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า กล่าวระหว่างการเยือนเมืองตองยี รัฐฉาน ว่าประเทศพม่ามีทรัพยากรธรรมชาติมากมายในรัฐฉานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งพลังน้ำและถ่านหิน

นักสร้างเขื่อนเขาคงไม่ยอมหยุดง่าย ๆ เพียงแต่ว่าตอนนี้สถานการณ์ในฝั่งประเทศพม่ายังไม่ดีขึ้น ยังมีการสู้รบกันระหว่างกองกำลังต่าง ๆ ก็เลยยังเดินหน้าไม่ได้ ทำให้ดูเหมือนว่าโครงการก่อสร้างเขื่อนเงียบไป เมื่อทำตรงนี้ยังไม่ได้ ก็เลยมีการไปทำในพื้นที่อื่นก่อน เช่นอุโมงค์ผันน้ำยวม - พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ | ภาพ: อภิเชษฐ์ สุขแก้ว - ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน อดีตนักกิจกรรมผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของเขื่อนสาละวินอย่างต่อเนื่อง มองว่าโอกาสในการสร้างเขื่อนนั้นยังมีความเป็นไปได้หากสถานการณ์เอื้ออำนวย ตัวแปรสำคัญคือการกุมอำนาจควบคุมพื้นที่สร้างเขื่อนแต่ละแห่ง ที่ไม่ได้อยู่ในกำมือของรัฐบาลทหารพม่าอย่างเบ็ดเสร็จ แต่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมของกองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่าง ๆ จึงมีการสู้รบอยู่เรื่อยมา

ตอนนี้สถานการณ์ในฝั่งรัฐกะเหรี่ยง หรือตลอดแนวชายแดนยังมีการสู้รบกันอย่างต่อเนื่อง และทวีความรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในประเทศพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 บางครั้งชาวบ้านต้องหนีข้ามลำน้ำสาละวินเพื่อขอลี้ภัยชั่วคราวในฝั่งไทยนับหมื่นคน 

อย่างไรก็ตาม พงษ์พิพัฒน์ประเมินว่าการสร้างเขื่อนอาจได้ไม่คุ้มเสีย โดยเฉพาะการเข้าไปร่วมลงทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพราะต้องแลกมาด้วยผู้ลี้ภัยจำนวนมาก และอาจถือว่าเป็นการส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“ถ้าสร้างเขื่อนชาวบ้านไม่มีที่อยู่ ต้องหนีข้ามมายังฝั่งไทยแน่นอน เป็นไปไม่ได้ที่จะหนีเข้าในในประเทศพม่า  เพราะพื้นที่เต็มไปด้วยกับระเบิดและการสู้รบ แม้แต่กลุ่มที่เคยพยพมาอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเมื่อหลายสิบปีก่อน ทุกวันนี้ยังไม่สามารถเดินทางกลับได้เลย” พงษ์พิพัฒน์ กล่าวในที่สุด

ความทุกข์ของคนริมแม่น้ำสาละวินคือสิ่งที่เชื่อมโยงถึงกัน อย่างที่เน้นย้ำ “เขื่อนสาละวิน” จะนำพามาซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนระลอกใหม่ที่อาจขยายปัญหาให้กว้างใหญ่มากกว่าเดิม และนี่คือสิ่งที่ผู้คนในอนุภูมิภาคต้องร่วมกันจับตา

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: