เมื่อแตกสลาย จะกลับสู่สภาพเดิมและเยียวยาได้หรือ? คำถาม - ความหวัง จาก...ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย

กองบรรณาธิการ TCIJ 31 ส.ค. 2566 | อ่านแล้ว 1514 ครั้ง

สรุปจากเวทีเสวนางาน “เมื่อแตกสลาย…จะกลับสู่สภาพเดิมได้หรือ” ที่จัดขึ้นในงานแสดงนิทรรศการ “กลับสู่วันวาน...กลับมากินข้าวด้วยกันนะ” เมนู ‘อาหารจานโปรดของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย’ เมื่อวันที่ 27 – 30 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา

ตึกแถว 4 ชั้น ใกล้ริมน้ำเจ้าพระยา ย่านชานเมืองแถวบางพลัด-ปิ่นเกล้า กรุงเทพฯ ถูกเปลี่ยนโฉมให้มีหน้าตาคล้ายร้านอาหาร ในแนวคิด ‘กลับมากินข้าวด้วยกันนะ’ เพื่อให้คนที่ผ่านไปมาย่านนั้น สัมผัสพลังความรู้สึกที่หลากหลาย จากตัวอักษรที่ส่งเสียงอยู่หน้าร้าน ให้ช่วยดึงดูดคนที่ผ่านไป-มา ตัดสินใจก้าวเท้าเข้าไปดูและลิ้มรสสิ่งที่ซ่อนอยู่ด้านใน

เมื่อทอดสายตาผ่านกระจกและประตูไม้บานเล็ก อาจทำให้เข้าใจว่าที่นี่คือร้านของสาย Cafe Hopping หรือคนที่ชอบไปร้านกาแฟหลายที่ในวันเดียวกันเป็นประจำ แต่ความเป็นจริง สถานที่แห่งนี้ไม่ใช่ร้านอาหาร ไม่ใช่ผับบาร์ ไม่ใช่คาเฟ่ชิคๆ แต่เป็นอาร์ตแกลเลอรี่ที่ถูกสร้างสรรค์ ให้เป็นพื้นที่ถ่ายถอดเรื่องราวงานศิลปะ ที่ให้ผู้คนเข้าร่วมได้อย่างมีอิสระ

‘กลับสู่วันวาน กลับมากินข้าวด้วยกันนะ’ คำง่ายๆ สบายๆ เต็มไปด้วยความอบอุ่น ถูกใช้เป็นชื่องานนิทรรศการในตึกแถว 4 ชั้น ชื่อว่า KinJai CONTEMPORARY เหตุผลที่ผู้จัดงานใช้สถานที่แห่งนี้ เพราะมีความหมายเชื่อมโยงกับแนวคิดของงาน คำว่า Kin หมายถึง ญาติ ส่วนคำว่า Jai หมายถึง หัวใจ จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เกิดนิทรรศการจัดแสดง ‘อาหารจานโปรดของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย’ เมื่อวันที่ 27 – 30 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

4 วัน บนตึกแถว 4 ชั้น ใน KINJAI CONTEMPORARY อวบอวลด้วยความทรงจำ ชั้นจัดแสดงอาจดูธรรมดา ไม่ได้พิเศษมากมาย แต่พื้นที่ทุกตารางเมตร ล้วนมีคุณค่าทางใจสำหรับกลุ่มญาติผู้ถูกบังคับให้สูญหาย  ทุกตารางเมตรแต่ละชั้น ออกแบบขึ้นมาให้ผู้เข้าชมสัมผัสและเห็นคุณค่าของรูป รส กลิ่น เสียง หากตั้งใจฟังและดู

เริ่มจาก… ‘ชั้นลอย’ …ฉายสารคดีพฤษภาทมิฬ 2535 บันทึกสีดำ เหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงอำนาจเผด็จการ โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ให้ทุกคนสัมผัสและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ทำให้มีผู้ถูกทรมานและถูกบังคับให้สูญหาย

ชั้น 2 – 3 ชั้นแห่งความทรงจำ มีเสียงของญาติผู้ถูกบังคับให้สูญหาย 8 คน เล่าเรื่อง 8 อาหารจานโปรดของผู้ผู้ถูกบังคับให้สูญหายที่เคยกินด้วยกัน อันได้แก่ แกงเลียง ของสุรชัย แซ่ด่าน , แกงส้มใต้หมู่ยาง ของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ, ผัดพริกแกงถั่วหมูสามชั้น ของสยาม ธีรวุฒิ, ปลาดุกผัดเผ็ด ของแวอับดุลวาเหะ บาเน็ง, แกงหน่อไม้ใส่ปลาหมึกแห้ง ของชัชชาญ บุปผาวรรณ, น้ำพริกมะเขือ ของจะฟะ จะแฮ, ป่นบักเขือ ของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และหลามในกระบอกไม้ไผ่ ของจะหวะ จะโล ส่วน…ชั้น 4 บอกเล่าชีวิตของผู้ถูกบังคับให้สูญหายและให้คนดูเขียนให้กำลังใจกลุ่มญาติผู้ถูกบังคับให้สูญหาย

ไฮไลท์อยู่ที่งานวันที่ 27 สิงหาคม…ชั้น 4 บนดาดฟ้า ถูกใช้เป็นพื้นที่ส่งเสียงเรียกร้องของกลุ่มญาติผู้ถูกบังคัญสูญหาย เพื่อให้เรื่องราวของเขาไม่ถูกลืมเลือนไปจากสังคม เมื่อแตกสลาย…จะกลับสู่สภาพเดิมได้หรือ คือชื่องานเสวนา ความหวังของผู้จัดคือการเปิดโอกาสให้กลุ่มญาติผู้ถูกบังคับสูญหายได้เล่าเรื่องราวอาหารในความทรงจำ และเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากภาครัฐในการทำให้รู้ชะตากรรมหรือทำให้ผู้ถูกบังคับสูญหายกลับสู่สภาพเดิม การจัดงานครั้งนี้เพื่อตอกย้ำวันครบรอบ 75 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษย์ เพื่อให้ภาครัฐไม่ลืมเลือนเรื่องนี้

สำหรับประเทศไทย รายงานประจำปี 2565 ของคณะทำงานการบังคับสูญหายขององค์การสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearance) ระบุจำนวนผู้ถูกบังคับสูญหายทั้งสิ้น 76 กรณีซึ่งสูงเป็นลำดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน ต่อจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

รายงานของภาคประชาสังคมระบุว่า มีการบังคับสูญหายของประชาชนระหว่างช่วงการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย การบังคับบุคคลให้สูญหายช่วงสงครามยาเสพติด การปราบปรามการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การบังคับสูญหายนักปกป้องสิทธิ กรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง เช่นเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 รวมถึงการบังคับสูญหายของผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน

ชีวิตที่ยังเจ็บปวดของญาติผู้ถูกบังคับให้สูญหาย

“รัฐควรบอกเราว่าพลเมืองของรัฐหายไปได้อย่างไร คนๆ หนึ่งจะหายไปได้อย่างไรจนไม่เหลืออะไร ช่วงต้นครอบครัวคนหาย เงินช่วยเหลือมีความสำคัญมาก เพราะการเป็นหัวหน้าครอบครัวหน้า มันมีภาระที่ผู้หญิงต้องแบกรับ ต่อมาก็คือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความยุติธรรมที่รัฐต้องทำให้กับเหยื่อ”

อังคณา นีละไพจิตร เล่าว่า ทุกวันนี้ต้องมีชีวิตอยู่กับการถูกคุกคามและรู้สึกไม่ปลอดภัย วันผู้สูญหายสากล คือการระลึกถึงเหยื่อที่ถูกบังคับให้สูญหาย เป็นเหมือนวันรวมญาติ หลายปีที่ผ่านมาทั่วโลกพบผู้ถูกบังคับสูญหายกว่า 6 หมื่นคน มีคดีคลี่คลายไปแล้วเพียง 104 คดี บางคนพบอยู่ในเรือนจำ บางคนถูกนำตัวไปไว้ตามรัฐต่างๆ ในต่างประเทศ ขณะที่บางคนมีข้อมูลว่าเสียชีวิตแล้ว

‘การเยียวยา’ ที่ดีที่สุดคือการรู้ชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหาย สิ่งนี้คือ ‘มนุษยธรรม’ ที่กลุ่มผู้ถูกบังคับให้สูญหายต้องการมากที่สุดจากหน่วยงานรัฐ การพบ 104 คดีที่คลี่คลายทั่วโลก เมื่อเปรียบเทียบกับเหยื่อที่มีอยู่ทั้งหมด ถือว่าเป็นความสำเร็จที่น้อยมาก จากสิ่งที่คาดหวังเอาไว้ อังคณา เล่าว่า ปัจจุบันหลายประเทศพยายามทาบทามให้เหยื่อถอนเรื่องร้องเรียนจากคณะทำงาน ซึ่งในประเทศไทยก็มีความพยายามลักษณะนี้เช่นกัน

“เราแตกสลายไม่ต่างจากคนอื่น แต่สิ่งที่เยียวยาใจเราได้คือการทำเพื่อคนอื่นมากขึ้น ก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ ในระดับไหนก็ได้ที่เราทำงานได้มากขึ้น เราดีใจที่ได้ทำงานระดับชาติและระหว่างประเทศได้มากขึ้น มันเยียวยาใจเราได้ เราอาจตายไปกับการไม่รู้ความจริง แต่อย่างน้อยเราช่วยคนอื่นให้เปิดปาก ส่งเสียง ขอความเป็นธรรม ตัวเราเองก็ต้องเยียวยาใจตัวเองตลอด เราไม่ได้เข้มแข็งอะไรมากมาย ไม่มีใครก้าวผ่าน เพราะถ้าหากว่าเราไม่รู้ชะตากรรม คนก็ไม่มี หลุมศพก็ไม่มี ตายก็ไม่ตาย ศพก็ไม่อยู่”

ส่งเสียงให้คนที่ทำการทรมานคนทรมาน-อุ้มหาย ออกมารับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น

สีละ จะแฮ นายกสมาคมลาหู่เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต พูดถึงการถูกบังคับให้สูญหายในกลุ่มชาติพันธุ์ชาวลาหู่ว่า สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีการประกาศสงครามกับยาเสพติด ในตอนนั้นมีทหารเข้าไปในหมู่บ้านของชาวลาหู่ที่บ้านโป่งไฮ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่จำนวนมาก สิ่งที่น่ากลัวและหดหู่ คือการที่ชาวลาหู่จำนวนมากถูกควบคุมตัวไปโดยไม่มีหมายจับ เจ้าหน้าที่อ้างว่าทำตามกฎอัยการศึก ภาพที่เห็นคือ เด็ก-ผู้ใหญ่ถูกทรมาน ถูกยึดทรัพย์สินที่มีในบ้านไปหมด หลายคนสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ ยิ่งทำให้ยากต่อการเจรจา เหตุการณ์ในตอนนั้นทำให้ชาวลาหู่จำนวนมากจากบ้านไปแล้วไม่ได้กลับมาอีกเลย  

“ผมมีวันนี้ได้เพราะมีอดีตที่โหดร้าย ทุกข์ทรมาน และมีปัจจุบันเพื่อแก้ไขอนาคต เรื่องราวเหตุการณ์ในอดีต สงครามปราบปรามยาเสพติดไม่ใช่เราไม่เห็นด้วย แต่อยากให้รัฐบาลใช้กฎหมายตามหลักนิติธรรมและนิติรัฐ”

‘หลุมดิน’ ที่ยังฝังอยู่ในความทรงจำ สีละเป็นอีกคนที่เคยถูกจับไปอยู่ในนั้น เขาอ้างว่าถ้าเจ้าหน้าที่ตั้งใจหาพยานหลักฐาน เพื่อสืบค้นหาคนทำผิดที่บังคับให้ชาวลาหู่สูญหายก็สามารถทำได้ เพราะพี่น้องหลายคนถูกจับไปต่อหน้าต่อหน้า แต่การที่ชาวลาหู่ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีสัญชาติ ทำให้เรื่องราวเหล่านี้ถูกฝังไว้ให้ถูกลืม  20 ปีที่ผ่านมา สีละ เล่าว่า เรื่องราวการถูกบังคับให้สูญหายทั้งหมดของชาวลาหู่สมัยสงครามยาเสพติดชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้แจ้งความ จึงไม่มีคดีความเกิดขึ้น แต่เขาหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ในวันที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกลับมาเมืองไทย จะสานต่อเและเยียวยาญาติของผู้ถูกบังคับให้สูญหายทุกคน

“บางคนไม่สารภาพก็หายตัวไป การหายตัวไปไม่ได้หายครั้งละคนสองคน แต่เกิดสามสี่คน ไม่กลับมาอีกเลย พ่อแม่ครอบครัวไม่กล้าติดตามเพราะกลัวอำนาจ กลัวว่าถ้าติดตามจะมีความผิดไปด้วย ทำให้เรื่องราวของ คนถูกบังคับสูญหายเจือจาง ไม่ใช่ไม่อยากตามหาข้อเท็จจริง”

ลูกชายหายไป 9 ปี แต่…คดีไม่มีความคืบหน้า

“คิดถึงมาก ลูกใคร ใครก็รัก ไม่น่าสูญเสียหรือจากกันด้วยวิธีการนี้ ไม่เข้าใจว่าไทยทำอะไรอยู่ ทำมาหากิน ไล่ฆ่า จับคนที่คิดไม่ตรงกับตัวเอง”

กัญญา ธีรวุฒิ  แม่ของสยาม ธีรวุฒิ ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย เปิดใจในงานเสวนาว่า ชีวิตทุกวันนี้เหมือนชื่องาน คือ แตกสลายและไม่รู้จะกลับสู่สภาพเดิมได้หรือไม่ เพราะ 9 ปีที่ผ่านมาหลังจากลูกชายถูกบังคับให้สูญหาย ไม่พบความเคลื่อนไหวหรือความคืบหน้าจากรัฐบาลเลย สิ่งที่ต้องการที่สุดคือการทราบชะตากรรมของสยาม ธีรวุฒิ รวมถึงการเยียวยาด้านจิตใจและการเงิน เพราะต้องสูญเสียเสาหลักของบ้านไป ทำให้ต้องทำมาหากินมาใช้จ่ายในครอบครัว และใช้หนี้สินแทนลูกชายที่ถูกบังคับให้สูญหาย 

การลี้ภัยของสยาม ธีรวุฒิ ทำให้ครอบครัวของเขาตกที่นั่งลำบาก เพราะในตอนนั้นเขาสามารถเป็นหัวหน้าครอบครัวแทนพ่อได้แล้ว การที่สยามถูกบังคับให้สูญหาย ทำให้กัญญา ผู้เป็นแม่มีความทรงจำที่เลวร้ายและมีชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม

“อยากขอร้องรัฐบาลชุดใหม่ ทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้น ช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวของ สยาม ธีรวุฒิ ที่ถูกบังคับให้หายตัวไป สืบข้อเท็จจริงให้ปรากฎขึ้นในสังคม เพื่อครอบครัวจะได้ไม่ทุกข์ทรมาน เพราะคิดถึงเรื่องนี้ที่ไรน้ำตาไหลทุกที”

ความหวังที่ไม่สามารถคาดหวังได้ สำหรับครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหาย

“ต้องบอกว่าการที่คนๆ หนึ่งถูกบังคับให้สูญหายไป มันมีความหวังที่ไม่สามารถคาดหวังได้ เพราะเป็นคดีที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ”

ชาลิสา สุขประเสริฐภักดี ภรรยาชัชชาญ บุปผาวรรณ หรือสหายภูชนะ นักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกพบเป็นศพที่แม่น้ำโขงเล่าว่า การที่คนในครอบครัวต้องเสียชีวิต เพราะไปใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเห็นต่างจากรัฐ ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปตลอดกาล เนื่องในวันผู้สูญหายสากล แม้เธอจะไม่ได้มีคนสูญหายในบ้าน แต่เข้าใจความรู้สึกของคนที่รอคอยอย่างไม่มีสิ้นสุด เพราะว่าตอนที่ตามหาความจริงเกี่ยวกับสหายภูชนะ ก็ทุกข์ทรมานมากเช่นกัน ทำให้ตัดสินใจทำอาหารอีสาน มาเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษ์ถึงรัฐบาล ให้ช่วยทำให้เรื่องผู้ถูกบังคับให้สูญหายคืบหน้า ไม่ถูกลืม และทำความจริงให้ปรากฏ

“สิ่งที่อยากให้เหมือนเดิมคือความปกติสุขของครอบครัว แม้จะรู้ดีว่าการกลับมาเหมือนเดิม คิดได้แต่…เป็นไปไม่ได้ เพราะ…เขาตายไปแล้ว พอเห็นคนอื่นเดือดร้อนจากการถูกบังคับให้สูญหายหลายคน จึงหวังว่า…สักวันหนึ่งฟ้ามีตา เจ้าหน้าที่จะสืบเรื่อง จับคนผิด มาดำเนินคดีได้”

การเห็นต่างทางการเมือง ต้องไม่มีการถูกบังคับให้สูญหาย

ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาสุรชัย แซ่ด่าน เล่าความรู้สึกว่า เวลาใช้ชีวิตแล้วเห็นอาหารที่สามีชอบกิน ยิ่งทำให้สะท้อนใจและตั้งคำถามว่า การที่คนๆ หนึ่งเห็นต่างทางการเมือง ทำไมต้องถูกจองล้าง จองผลาญ ถึงขั้นเอาชีวิตคนๆ หนึ่งไปจากครอบครัว วันผู้สูญหายปีนี้เธออยากให้รัฐบาลชุดใหม่ ไม่เพิกเฉยกับกฎหมายทรมาน-อุ้มหาย เธอย้ำว่าจะต้องทำให้ทุกครอบครัวได้รับความยุติธรรม เพราะบางคนต้องเจอพิษเศรษฐกิจ มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงอยากให้รัฐสนใจเรื่องการเยียวยา ควบคู่กับการตามหาความจริงด้วยการทำให้ญาติรู้ชะตากรรม

“เรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่ มีความจริงใจ กระตือรือร้น สืบสาวราวเรื่อง รื้อฟื้นคดี ตามหาความยุติรรมให้ญาติผู้ถูกบังคับให้สูญหายที่ได้รับผลกระทบทุกคน เพราะคนที่หายไปส่วนใหญ่ เป็นกำลังและเสาหลักของครอบครัว ทุกคนจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ เพื่อให้รู้ชะตากรรม และได้รับสิ่งอื่นๆ ที่สูญเสียไป”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมกลุ่มญาติที่ถูกบังคับสูญหายทุกคน มีความหวังว่ารัฐบาลชุดนี้และชุดต่อๆไป จะเปิดเผยความจริงให้กับญาติผู้ถูกบังคับสูญหายทั้งหมด และทำทุกกรณีเป็นมาตรฐานเดียวกันในการตามหาความจริง ทำให้ทุกครอบครัวทราบชะตากรรม และกลับสู่สภาพเดิม ด้วยการเป็นรัฐบาลที่มีความกล้าหาญ ไม่เช่นนั้นจะมีคนจะถูกคลุมถุงดำ เข้าค่ายทหาร เมื่อกฎหมายออกมาแล้ว ต้องไม่ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นเพิ่มอีก ร่วมสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ที่ https://bit.ly/3q9fQOQ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: