'เซนส์ซีรีส์' การเดินทางของประสบการณ์ 'ผสมชา' กับ 'คนพิการทางสายตา'

กองบรรณาธิการ TCIJ 5 มิ.ย. 2566 | อ่านแล้ว 42132 ครั้ง


จากโครงการ “พัฒนาทักษะอาชีพนักชิมอาหารปรุงสำเร็จคนพิการทางการเห็นเพื่อสร้างรายได้เสริม” สู่ “เซนส์ซีรีส์ (Sense series) การเดินทางของประสบการณ์ผสมชากับคนพิการทางสายตา” หวังสร้างอาชีพอิสระและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการทางสายตา

เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า จากการ “พัฒนาทักษะอาชีพนักชิมอาหารปรุงสำเร็จคนพิการทางการเห็นเพื่อสร้างรายได้เสริม” สู่ “เซนส์ซีรีส์ (Sense series) การเดินทางของประสบการณ์ผสมชากับคนพิการทางสายตา”ภายใต้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปีงบประมาณ 2566 โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) มีเป้าหมายเพื่อสร้างอาชีพอิสระและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการทางสายตา

ผศ. ดร.ธิติมา วงษ์ชีรี นักวิจัยสังกัดศูนย์วิจัยและบริการเพื่อชุมชนและสังคม สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า จากการพัฒนาทักษะอาชีพนักชิมอาหารให้กับคนพิการทางสายตา ล่าสุด ทีมวิจัยได้จัดทำโครงการเซนส์ซีรีส์ การเดินทางของประสบการณ์ผสมชากับคนพิการทางสายตาขึ้น ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการครั้งนี้จะเป็นกลุ่ม SIG หรือ Sensory Intelligence Group จำนวน 15 คน ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตา ที่ผ่านหลักสูตรการทดสอบทางประสาทสัมผัส มีประสบการณ์การชิมชาและผสมชา ออกสูตรชาผสมสมุนไพรและทดสอบตลาดมาแล้ว ผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ Sense series ซึ่งได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ ด้านการทดสอบประสาทสัมผัสจาก หน่วยวิจัยทางประสาทสัมผัสและผู้บริโภคแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Kasetsart University Sensory and Consumer Research Center: KUSCR) โดย ผศ. ดร.อุศมา สุนทรนฤรังษี ผู้ร่วมโครงการ โครงการนี้ มีเป้าหมายเพื่อสร้างทักษะความสามารถและความเข้มแข็งของกลุ่มฯ ในการประกอบอาชีพอิสระ ด้วยการออกแบบสูตรผลิตภัณฑ์ชาเบลนด์ และเชื่อมโยงตลาด ผ่านการอบรมและดูงาน ณ สถานบันชาและกาแฟ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นสถานประกอบการชาที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ รวมทั้งสร้างทักษะผู้ประกอบการและสร้างประสบการณ์และบริการใหม่ที่สามารถเพิ่มรายได้ ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการจากการการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการชา

“การเบลนด์ชา หรือการออกแบบสูตรชา ต้องอาศัยความสามารถทางด้านการใช้ประสาทสัมผัส การดมกลิ่นและการชิมเป็นหลัก ‘นักผสมชา’ จึงถือเป็นอาชีพเฉพาะที่ใช้ความรู้ทางด้านประสาทสัมผัส ร่วมกับการฝึกฝนและความสามารถเฉพาะตัว ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะของคนพิการทางสายตา”

สำหรับการดำเนินงานจะแบ่งเป็น 3 กิจกรรมหลัก คือ 1.อบรมและดูงาน เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะด้านการผลิต การออกแบบสูตรชาและการเบลนด์ชา รวมทั้งการพัฒนาช่องทางการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า 2. อบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และทักษะการให้บริการ สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า และ 3. สาธิตการผสมชาและสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้าในการเบลนด์ชาและชิมชา ในร้านอาหารและเครื่องดื่มภายในที่ตั้งของศูนย์ฝึกอาชีพคนตาบอด โดยมีระยะเวลาในการดำเนินงานโครงการ 12 เดือน ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 - ก.ย. 2566

“กิจกรรมแรกที่จัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าร่วมโครงการฯ โดยได้เชิญผู้ประกอบการชามาแชร์ประสบการณ์ในการทำธุรกิจชา การทำตลาด การเข้าใจตลาด และทำความเข้าใจเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภค พร้อมพัฒนาศักยภาพไปสู่นักธุรกิจชา เพื่อให้การออกแบบผลิตภัณฑ์ชามีความชัดเจนมากขึ้น ที่ไม่ใช่ชาที่ผู้บริโภคซื้อเพราะสงสาร แต่เป็นชาพิเศษที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากกว่า” หัวหน้าโครงการฯ กล่าว

ด้าน ผศ. ดร.ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล อาจารย์ประจำสำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร สำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร และหัวหน้าสถาบันชาและกาแฟ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ปัจจุบันความนิยมในการดื่มชาเบลนด์มีแนวโน้มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในต่างประเทศจะเห็นว่านิยมชาที่มีสรรพคุณเฉพาะต่อสุขภาพกันมาก เป็นการนำสมุนไพร ผลไม้ หรือดอกไม้อบแห้งตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปผสมลงไปในขั้นตอนการชงชา ซึ่งวัตถุดิบที่นิยมใช้นำมาเป็นผสมส่วนใหญ่มาจากไทย ขณะที่ตลาดชาในประเทศไทยเองยังเน้นชาที่ผลิตสำหรับตลาดกลุ่มใหญ่

โครงการฯ นี้ ทางสถาบันชาและกาแฟ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้เข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับชา ความรู้เรื่องข้อกำหนดและมาตรฐานชา ให้กับผู้ร่วมโครงการฯ โดยคนพิการยังได้ฝึกปฏิบัติการใช้ประสาทสัมผัสผ่านทางการดม การชิม การสัมผัส วัตถุดิบชาจากพืชมากกว่า 50 ชนิด เพราะชาแต่ละตัว ลักษณะกลิ่น และรส จะมีความแตกต่างกัน เพราะบางตัวเข้ากันได้ดี บางตัวก็ตรงข้ามกัน ปริมาณการผสมจึงต้องเหมาะสมและเป็นไปตามข้อกำหนดตามมาตรฐานของ อย. นอกจากนี้กิจกรรมการจัดการองค์ความรู้เรื่องชาแก่ผู้บกพร่องทางสายตา ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทำให้คนพิการทางสายตาที่เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาดูงานแหล่งเรียนรู้ในการเพาะปลูกและแปรรูปชาจากพืช ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ กับเจ้าของไร่ชาและผู้ประกอบการโรงงานผลิตชา อาทิ โรงงานอบดอกไม้แห้งของโครงการหลวงสะโง๊ะ อำเภอเชียงแสน สถานที่ปลูกและผลิตวัตถุดิบสำหรับชาจากพืช บริษัทเวิลด์โกลด์ (World grow) อำเภอแม่สาย และศึกษาเรียนรู้กระบวนการผลิตชาประเภทต่างๆ โรงงานชาและเข้าเยี่ยมชมไร่ชาวังพุดตาล อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ จะเป็นการเปิดประสบการณ์การทดสอบชิมชาและผสมชาให้คนพิการได้เรียนรู้ เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้สัมผัส ลิ้มรส และนำวัตถุดิบ ไปพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ชาของกลุ่มฯ ต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: