สช. พร้อมภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดเวที “HIA Forum ครั้งที่ 7” ภายในงานสร้างสุขภาคใต้ มุ่งขยายความร่วมมือเครือข่ายสถาบันวิชาการทั้ง 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ สู่การใช้กลไก “การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ” สร้างสมดุลยภาพของการพัฒนา เผชิญหน้าความท้าทายภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลง รับมือแนวโน้มผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม-สุขภาพที่รุนแรงมากขึ้นของโลก
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Forum) พ.ศ. 2566 หัวข้อ “การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเพื่อสุขภาวะแห่งอนาคตอย่างยั่งยืน: โอกาส และความท้าทาย” ภายในงานสร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ 13 “ภาคใต้แห่งความสุขเพื่อสุขภาวะแห่งอนาคต สุข สู่ สุขภาวะ” ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า กระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ Health Impact Assessment (HIA) ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่มีเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกที่ใช้ในการคาดการณ์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบาย แผนงานและโครงการ ที่มีต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งทางลบ ทางบวก และความเป็นธรรมจากการได้รับผลกระทบจากนโยบายสาธารณะดังกล่าว
สำหรับเวที HIA Forum เป็นกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือเพื่อประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในประเด็นต่างๆ ที่หลากหลาย ทันสมัย และเกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ รวมทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจ ยกย่องเชิดชูเกียรติผลงานที่เข้าร่วม ตลอดจนเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์กับผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการ ทั้งภาครัฐและเอกชน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สช. ได้สนับสนุนภาคีเครือข่ายในการจัดประชุม HIA Forum มาแล้วรวม 6 ครั้ง โดยในครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 7 ได้วางเป้าหมายที่จะยกระดับการพัฒนาศักยภาพ และขยายความร่วมมือเครือข่ายทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้ง 6 ภูมิภาค เพื่อร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่ พัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมที่สำคัญของประเทศ โดยใช้ HIA ร่วมกับกระบวนการและเครื่องมืออื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เจาะจง มุ่งเป้า และสร้างการมีส่วนร่วมในการอภิบาลระบบนโยบายที่คำนึงถึงหลักการทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (HiAP)
“สังคมที่ดีและน่าอยู่ ย่อมต้องมีนโยบายสาธารณะที่ดีด้วย ซึ่งนโยบายสาธารณะที่ดีต้องมาจากการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ อย่างหลากหลายและกว้างขวาง ที่จะนำไปสู่การมีพันธกิจและเป้าหมายร่วมของผู้คนในสังคม เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การพัฒนาที่มีประสิทธิผลสูงสุด นั่นคือสุขภาวะของพี่น้องประชาชนและสังคมโดยรวม ซึ่ง HIA จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เราสามารถไปสู่เป้าหมายนั้น” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
ขณะเดียวกันภายในงานยังได้มีการเสวนา “ความท้าทายในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ กล่าวว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นมีความสำคัญกับพื้นที่ภาคใต้ ด้วยความเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่งดงาม อุดมสมบูรณ์ หาได้ยากของโลก ทว่าโครงการพัฒนาที่เข้ามาในพื้นที่กลับมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งกลายเป็นความเสี่ยง แต่ด้วยกระบวนการ HIA จากความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างภาควิชาการ และภาคประชาชน ก็ช่วยให้สามารถสร้างดุลยภาพของการพัฒนาในพื้นที่ได้พอสมควร
นพ.ชูชัย กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดจากการที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ออกคำเตือนว่าขณะนี้สิ้นสุดยุคโลกร้อน แต่กำลังเข้าสู่ยุคโลกเดือดนั้น เป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของการพัฒนาที่ขาดดุลยภาพและไม่ยั่งยืน ทำให้ภาพรวมเทรนด์ของโลกขณะนี้ จึงกำลังเดินหน้าไปสู่ 3 ประเด็นสำคัญนั่นคือ 1. ธุรกิจกับความรับผิดชอบทางสังคม 2. การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 3. การสร้างพลังการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนของสังคม ที่จะต้องร่วมกันรักษาดุลยภาพของการพัฒนาให้เป็นไปอย่างยั่งยืน
“บทเรียนตัวอย่างจากหลายพื้นที่ที่ผ่านมา ได้ทำให้เราเห็นว่าหากท้องถิ่นมีการผนึกร่วมกับพลเมืองและภาควิชาการอย่างแนบแน่น พร้อมขับเคลื่อนกระบวนการ HIA ที่มีความเข้มแข็ง จะช่วยให้เกิดการพัฒนาที่มีดุลยภาพได้ เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระแสของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ตลอดจนพลังของพลเมืองที่มีความตื่นตัวขึ้นมาก จะช่วยกันทำให้เราสามารถปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพของแผ่นดินไทยได้อย่างยั่งยืน” นพ.ชูชัย กล่าว
ขณะที่ น.ส.นัยนา ใช้เทียมวงศ์ ผู้อํานวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า บทบาทของกรมอนามัยกับกระบวนการ HIA มีตั้งแต่การพัฒนาในระดับนโยบาย ไปสู่การสนับสนุนการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ โดยมีรูปธรรมที่เกิดขึ้นมากมาย เช่น สร้างความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ผลักดันกระบวนการ HIA เข้าสู่ระบบรับรองคุณภาพอนามัยสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือ EHA 8000 ตลอดจนพัฒนาต้นแบบ HIA ระดับท้องถิ่น และขยายผลสู่การขับเคลื่อนมาตรการทางกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ เป็นต้น
“ด้วยสถานการณ์วิกฤตจากความเปลี่ยนแปลงในระดับโลก ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงเป็นความท้าทายที่เราต้องเร่งลดปัจจัยเสี่ยง เพิ่มปัจจัยที่เอื้อต่อสุขภาพมากขึ้น โดยใช้กระบวนการ HIA เป็นหัวใจของการพัฒนา สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนใช้ HIA ในกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ พร้อมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในสังคม” น.ส.นัยนา กล่าว
ด้าน นางพจนารถ แก้วเพชร ผู้อำนวยการกลุ่มงานบริการสาธารณะท้องถิ่นและประสานงานท้องถิ่นอำเภอ สถ. กล่าวว่า มิติทางสุขภาพนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เมื่อผู้บริหารท้องถิ่นกำหนดนโยบายหรือขับเคลื่อนงานใด ก็ต้องดำเนินให้เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้นทาง สถ. จึงได้นำ HIA รวมเข้าไปอยู่ในตัวชี้วัดหนึ่งของระบบการรับรอง EHA 8000 เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี เมืองอยู่ดี มีสุข และเป็นส่วนที่ช่วยให้เกิดการนำเครื่องมือ HIA ไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ