จับตา: เปิดร่าง พ.ร.ฎ. พื้นที่ทดลองปลูก 'ฝิ่น-เห็ดขี้ควาย' เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 ส.ค. 2566 | อ่านแล้ว 29474 ครั้ง


เปิดร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากฝิ่น และกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควาย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย พ.ศ. ....

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2566 คณะรัฐมนมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากฝิ่น และกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควายเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากฝิ่นและเห็ดขี้ควาย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมและตรวจสอบการเพาะปลูกและสารสำคัญจากพืชดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 55 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งบัญญัติให้ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. เห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด และการป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด จะกำหนดพื้นที่เพื่อดำเนินการศึกษาทดลองเพาะปลูกพืชที่เป็นยาเสพติด ผลิตและทดสอบเกี่ยวกับยาเสพติดได้ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยกำหนดพื้นที่วิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ส. ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นและเพาะเห็ดขี้ควาย เพื่อดำเนินการศึกษาวิจัย พื้นที่องค์การเภสัชกรรม 2 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และปทุมธานี เป็นพื้นที่ทดลองสกัดมอร์ฟีนจากพืชฝิ่นเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ และเพิ่มเติมพื้นที่ทดลองเพาะเห็ดขี้ควายเพื่อการศึกษาวิจัยให้ครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาคในพื้นที่ของสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อม ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยการนำพืชฝิ่น หรือเห็ดขี้ควาย ไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ที่เป็นยาเพื่อใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ยาต้านการซึมเศร้า หรือผู้ป่วยที่จำเป็นอื่น ภายใต้มาตรการควบคุม และลดการนำเข้ายาประเภทมอร์ฟีนจากต่างประเทศในอนาคต

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

กำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากฝิ่นและเห็ดขี้ควายเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมและตรวจสอบการเพาะปลูก และสารสำคัญจากพืชดังกล่าว

เรื่อง

สาระสำคัญ

1. การกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสารสำคัญที่ได้จากฝิ่น

การกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากฝิ่น

            - กำหนดให้พื้นที่บางส่วนของวิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ส. ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ทดลองเพาะปลูกพืชฝิ่น เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย

กำหนดให้พื้นที่ขององค์การเภสัชกรรม ดังต่อไปนี้ เป็นพื้นที่ทดลองสกัดสารสำคัญจากพืชฝิ่น เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย

            (1) อาคารสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม เลขที่ 75/1 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร

            (2) อาคารฝ่ายสมุนไพรและเภสัชเคมีภัณฑ์ องค์การเภสัชกรรม (สาขาธัญบุรี) เลขที่ 138 หมู่ที่ 4 ถนนรังสิต - นครนายก ตำบลบึงสนั่น อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

2. การกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควาย

การกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควาย

            - กำหนดให้พื้นที่บางส่วนของวิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ส. ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ทดลองเพาะปลูกพืชฝิ่น เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย

กำหนดให้พื้นที่ของมหาวิทยาลัย ดังต่อไปนี้ เป็นพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควาย

            (1) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

                        (ก) อาคารทวี ญาณสุคนธ์ (SCL) คณะวิทยาศาสตร์

                        (ข) อาคารปฏิบัติการวิจัยกลางและอาคารอุตสาหกรรมเกษตร 3 สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

                        (ค) อาคารภาควิชาจุลชีววิทยา - ภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์

                        (ง) อาคารภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์

            (2) มหาวิทยาลัยขอนแก่น

                        (ก) หมวดพืชผัก สาขาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์

                        (ข) อาคาร AG07 ชั้น 4 สาขาวิชาโรคพืชและกีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์

                        (ค) อาคารศูนย์สัตว์ทดลองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะแพทยศาสตร์

                        (ง) อาคารสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมการผลิต คณะเภสัชวิทยา

                        (จ) อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

            (3) มหาวิทยาลัยนเรศวร

                        (ก) โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะแพทยศาสตร์

                        (ข) ห้อง MD 346 ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์

                        (ค) อาคาร 4 คณะเภสัชศาสตร์

                        (ง) อาคารสถานสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร

            (4) มหาวิทยาลัยพายัพ

                        ในพื้นที่อาคารวิวรณ์ สำนักบริการวิชาการและวิจัย

            (5) มหาวิทยาลัยแม่โจ้

                        (ก) อาคาร 60 ปี แม่โจ้ (ศูนย์บริการวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) คณะวิทยาศาสตร์

                        (ข) อาคาร Pilot plat คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร

                        (ค) อาคารจุฬาภรณ์ (ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางพืช) คณะวิทยาศาสตร์

                        (ง) อาคารโรงเรือน คณะฟาร์มมหาวิทยาลัย

                        (จ) อาคารวิศวกรรม ห้อง 400 คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร

                        (ฉ) อาคารศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางการเกษตรสำหรับบัณฑิตผู้ประกอบการคณะวิทยาศาสตร์

                        (ช) อาคารศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ คณะฟาร์มมหาวิทยาลัย

                        (ซ) อาคารสาขาพืชผัก คณะผลิตกรรมการเกษตร

            (6) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

                        (ก) อาคารพรีคลินิก ห้องเตรียมชิ้นเนื้อ / ห้องวิจัย 2 (PR116) คณะวิทยาศาสตร์

                        (ข) อาคารพรีคลินิก ห้องปฏิบัติการทางเภสัชวิทยา 1 (PR126) คณะวิทยาศาสตร์

                        (ค) อาคารพรีคลินิก ห้องปฏิบัติการทางเภสัชวิทยา 4 (PR230) คณะวิทยาศาสตร์

                        (ง) อาคารโรงเพาะปลูก คณะวิทยาศาสตร์

                        (จ) อาคารสถานสัตว์ทดลองภาคใต้ คณะวิทยาศาสตร์

            (7) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

                        ในพื้นที่อาคารคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

3. การกำหนดมาตรการควบคุมการเพาะปลูกฝิ่น

 กำหนดให้เลขาธิการ ป.ป.ส. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้รับผิดชอบและควบคุมการดำเนินการทดลองเพาะปลูกฝิ่นเพื่อส่งต่อให้องค์การเภสัชกรรมสกัดสารสำคัญ เพื่อประโยชน์ทางการวิจัยในเขตพื้นที่ที่กำหนด โดยต้องมีมาตรการควบคุม ดังต่อไปนี้

            (1) ที่มาของพืชฝิ่นที่จะเพาะปลูก ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายยาเสพติด หรือรับอนุญาตให้นำไปใช้ประโยชน์ ตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ว่าด้วยการตรวจรับการตรวจพิสูจน์ การเก็บรักษา การทำลาย การนำไปใช้ประโยชน์ และการรายงานยาเสพติด พ.ศ. 2565

            (2) สถานที่เพาะปลูก

                        (ก) จัดให้มีป้ายแสดงไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย

                        (ข) จัดทำแนวเขตพื้นที่เพาะปลูกที่มีความมั่นคงแข็งแรงและเห็นได้ซัด

                        (ค) แสดงแเบบแปลนของตัวอาคาร ชั้นโรงเรียน หรือแปลงเพาะปลูกกลางแจ้ง

                        (ง) การเข้าออกพื้นที่ต้องสามารถป้องกันการเข้าถึงจากบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องได้

            (3) การรักษาความปลอดภัย

                        - ต้องมีการติดกล้อง CCTV และจัดเก็บข้อมูลเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน

                        - การควบคุมการเข้าถึงของบุคคลภายนอก กำหนดสิทธิบุคคลผู้มีสิทธิเข้าออก กรณีฝิ่นถูกโจรกรรม สูญหาย หรือถูกทำลาย ต้องแจ้งให้สถานีตำรวจในพื้นที่ทราบโดยเร็ว

            (4) สถานที่เก็บฝิ่น

                        - ต้องแยกเป็นสัดส่วน และจัดเก็บในที่ซึ่งมั่นคงแข็งแรง และมีกุญแจใส่ไว้ หรือเครื่องหมายป้องกันอย่างอื่นที่มีสภาพเท่าเทียมกัน

            (5) การขนส่ง

                        (ก) แจ้งกำหนดการขนส่งพืชฝิ่น ไปยังพื้นที่สกัด โดยทำเป็นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดต้นทางและปลายทางไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนการขนส่ง

                        (ข) จัดให้มียานพาหนะที่มีระบบป้องกันการสูญหาย การเข้าถึง และการมองเห็นจากบุคคลภายนอก

                        (ค) จัดให้มีภาชนะบรรจุพืชฝิ่นที่มีการปิดผนึกหรือระบบนิรภัยป้องกันมิให้มีการเข้าถึงพืชฝิ่นในระหว่างการขนส่งได้โดยง่ายจนกระทั่งขนส่งไปถึงผู้รับ

                        (ง) จัดให้มีผู้รับผิดชอบควบคุมการขนส่งและรักษาความปลอดภัยอย่างน้อยสองคน

4. การกำหนดมาตรการควบคุมการเพาะปลูกพืชเห็ดขี้ควาย

กำหนดให้เลขาธิการ ป.ป.ส. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้รับผิดชอบและควบคุมการดำเนินการทดลองเพาะพืชเห็ดขี้ควายเพื่อส่งต่อให้สถาบันการศึกษาสกัดสารสำคัญ เพื่อประโชน์ทางการวิจัยในเขตพื้นที่ที่กำหนด

            - กำหนดให้นำมาตรการควบคุมการเพาะปลูกพืชฝิ่น มาใช้บังคับกับการควบคุมการเพาะปลูกพืชเห็ดขี้ควายด้วยโดยอนุโลม

5. การกำหนดมาตรการควบคุมการสกัดสารสำคัญจากฝิ่น

กำหนดให้ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมหรือผู้ได้รับมอบหมาย

เป็นผู้รับผิดชอบ และควบคุมการดำเนินการสกัดสารสำคัญจากพืชฝิ่นเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย

            - กำหนดมาตรการควบคุมการสกัดสารสำคัญจากพืชฝิ่นในเรื่องต่างๆ เช่น สถานที่สกัดต้องจัดทำป้ายระบุว่าเป็นสถานที่สกัดพืชฝุ่นตามพระราชกฤษฎีกานี้ แสดงแบบแปลนอาคาร จัดให้มีประตูเข้าออกที่มีความมั่นคงแข็งแรง การรักษาความปลอดภัย ต้องมีการติดตั้งกล้อง CCTV และจัดเก็บข้อมูลไว้ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน เป็นต้น

6. มาตรการควบคุมการเพาะปลูกและสารสกัดสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควายของสถาบันการศึกษา

            - กำหนดให้อธิการบดีหรือผู้ได้รับมอบหมาย เป็นผู้รับผิดชอบ

และควบคุมการดำเนินการทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจาก

พืชเห็ดขี้ควาย ของสถาบันการศึกษาเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย

            - กำหนดให้นำมาตรการควบคุมการเพาะปลูกพืชฝิ่น และมาตรการควบคุมการดำเนินการสกัดสารสำคัญ มาใช้บังคับกับการควบคุมการเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควายด้วยโดยอนุโลม

            - กำหนดให้สถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ พึงระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงมิให้นิสิตหรือนักศึกษาที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการศึกษาวิจัยดังกล่าว เว้นแต่มีเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยสถาบันการศึกษาจะต้องแจ้งและขอความยินยอมจากผู้ปกครองของนิสิตหรือนักศึกษาด้วย

            - ให้สถาบันการศึกษารายงานความคืบหน้าผลการศึกษาวิจัยการทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควายให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทราบทุก 6 เดือน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: