สช.จัดเวทีถกแถลงเพื่อพัฒนานโยบาย “ลด NCDs” มุ่งแก้ปัญหาภาพใหญ่ผ่านการสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคม หรือ “ระบบนิเวศ” ที่เอื้อต่อพฤติกรรมสุขภาพที่ดี-ลดโรคไม่ติดต่อ หลังไทยเผชิญวิกฤตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละ 1.6 ล้านล้านบาท ย้ำต้องสานพลังทุกหน่วยงานร่วมมีบทบาท ไม่เฉพาะเพียงภาคสาธารณสุข
เมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมปรึกษาหารือ (ถกแถลง) เพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ โดยมี นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ เป็นประธานการประชุม
นายชาญเชาวน์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs มาเป็นเวลานาน โดยมีคนไทยที่เสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ฯลฯ ประมาณ 4 แสนรายต่อปี หรือคิดเป็นถึง 81% ของการเสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งปัญหานี้ส่งผลกระทบทั้งด้านระบบสุขภาพ รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างมหาศาล
นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า แม้ที่ผ่านจะมีความพยายามในการดำเนินงานของภาครัฐเพื่อลดโรค NCDs แต่ส่วนใหญ่ก็ยังมีบทบาทหลักอยู่เฉพาะในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขณะที่การดำเนินงานของส่วนต่างๆ เช่น ภาคประชาสังคม หน่วยงานท้องถิ่น ก็มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย แต่อย่างไรก็ตาม หนทางแก้ของปัญหานี้จำเป็นที่จะต้องใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงาน ในการที่จะบูรณาการ สานพลังเข้ามาแก้ไขร่วมกัน
“ขณะนี้เราจึงกำลังนำทุกเครือข่ายหน่วยงานที่ทำงานในเรื่องนี้ เข้ามาร่วมพูดถึงสถานการณ์ มาตรการต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายกำลังทำอยู่ พร้อมวิเคราะห์หาช่องว่างที่ควรพัฒนาผ่านกลไกนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่าเป็นระบบนิเวศ (Ecosystem) ในการลดโรค NCDs ให้เกิดขึ้นจริงได้ ด้วยกลไกของสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ที่จะส่งผ่านนโยบายไปถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในฐานะกลไกสูงสุดของฝ่ายบริหาร ที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการปฏิบัติได้จริงต่อไป” นายชาญเชาวน์ กล่าว
นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า วิกฤตความรุนแรงของโรค NCDs ถือเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก จนเมื่อปี 2562 ที่ประชุมระดับสูงแห่งสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศความมุ่งมั่นในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ โดยมุ่งเน้นจัดการ 5 โรคหลักที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตและภาระโรคสูง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง และสุขภาพจิต กับอีก 5 ปัจจัยเสี่ยงหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม และภาวะมลพิษทางอากาศ
นพ.กฤษฎา กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยการเสียชีวิตจากโรค NCDs มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากคิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจจะมีมูลค่าสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 9.7% ของจีดีพี โดยสัดส่วนราว 90% มาจากการขาดงาน การทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของแรงงาน ขณะที่ราว 10% มาจากค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาโรค
“จากข้อมูลประชากรล่าสุดยังพบว่าคนไทยมีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้น อันเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่นเดียวกับจำนวนนักดื่มที่มีเพิ่มมากขึ้นด้วย ส่วนการสูบบุหรี่แม้จะมีสัดส่วนลดลง แต่กลับเผชิญภัยคุกคามใหม่คือบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมไปถึงภาวะกิจกรรมทางกาย การกินผักผลไม้ของคนไทยที่ยังไม่เพียงพอ ตลอดจนการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม ที่ยังอยู่ในสัดส่วนที่สูงด้วยเช่นกัน” นพ.กฤษฎา กล่าว
นพ.กฤษฎา กล่าวอีกว่า พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพเหล่านี้ ถือเป็นสิ่งที่เราช่วยกันป้องกันและควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นในการสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้น และที่สำคัญคือการเข้าไปแทรกแซงปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพและสังคม หรือ Ecosystem ให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน ลดความเสี่ยงต่อโรค NCDs แต่การดำเนินงานเหล่านี้ สธ. ไม่อาจทำได้เพียงผู้เดียว แต่จะต้องขอความร่วมมือภาคส่วนต่างๆ ที่จะเข้ามาร่วมกันดูแลในแต่ละด้านเพื่อจัดการให้เกิดระบบนิเวศที่ช่วยลดโรค NCDs ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ขณะที่ ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า สำหรับ Ecosystem ของโรค NCDs จะเกี่ยวข้องตั้งแต่ระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และการเมือง โดยมีการมองไว้ใน 5 มาตรการหลัก คือ การจัดการในฝั่งอุปสงค์ (Supply) ได้แก่ 1. จัดระเบียบและลดการเข้าถึงสินค้าทำลายสุขภาพ 2. ส่งเสริมการผลิต กระจาย พัฒนามาตรฐานเพื่อเพิ่มการเข้าถึงสินค้าและบริการที่ดีต่อสุขภาพ 3. สร้างสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ และพื้นที่สุขภาวะ
ขณะที่การจัดการในฝั่งอุปทาน (Demand) คือ 4. สร้างความรอบรู้ สื่อสารข้อมูลข่าวสาร ส่งเสริมสุขภาพที่ถูกต้อง จำกัดสื่อโฆษณา 5. สร้างโอกาส ประสบการณ์ กิจกรรม ส่งเสริมการมีวิถีชีวิตสุขภาพดี พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้นผู้ที่จะมีความเกี่ยวข้องจึงหลากหลายตั้งแต่ในส่วนของหน่วยงานรัฐ หน่วยงานท้องถิ่น ผู้ผลิตและกระจายสินค้า ภาควิชาการ องค์กรวิชาชีพ ตลอดจนองค์กรสื่อ ภาคประชาสังคม นักการเมือง เป็นต้น
ดร.ภญ.อรทัย กล่าวว่า เป้าหมายปลายทางสุดท้าย คือการสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่ทำให้ประชาชนในระดับบุคคลมีวิถีชีวิตที่สุขภาพดี (Healthy Lifestyle) ลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรค NCDs ก่อนวัยอันควร รวมถึงการที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อสูงอายุและไม่จน นั่นคือมีกำลังในการประกอบอาชีพ โดยที่ไม่ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายไปกับอาการเจ็บป่วยต่างๆ
ด้าน นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหา NCDs นั้นมีความพยายามในการดำเนินงานมานาน ด้วยบทบาทของหลากหลายภาคส่วน อย่างไรก็ตามอาจพบว่ามีช่องว่าง หรือ Pain Point ที่ยังเป็นอุปสรรคในการขยับขั้นไปสู่ระดับที่เหนือกว่า ซึ่งการใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพ ถือเป็นเครื่องมือในการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ที่จะช่วยให้เกิดการทำงานแบบข้ามภาคส่วน และเดินหน้าไปได้อย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง บนการยอมรับของแต่ละฝ่าย
“ทาง คสช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อขึ้น โดยมีอดีตปลัด สธ. และอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม มาร่วมกันทำงาน เพื่อระดมเอาภาคีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันระดมหามาตรการ และบูรณาการด้วยกันในการทำงาน ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นแนวทางใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป” นายสุทธิพงษ์ ระบุ
สำหรับประเด็นที่มีการถกแถลงบนเวทีประชุมในครั้งนี้ พบว่าทุกฝ่ายล้วนเห็นตรงกันถึงปัญหาของโรค NCDs ที่จำเป็นจะต้องมีการสร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างสภาวะแวดล้อมที่ทำให้ประชาชนมีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดี ผ่านนโยบายใหญ่ในระดับส่วนกลาง เพื่อที่จะให้มีผลไปถึงนโยบายและการปฏิบัติในระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ พร้อมมีการหารือถึงประเด็นต่างๆ เช่น มาตรการทางภาษี การตลาดและการโฆษณา เพื่อจำกัดอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การส่งเสริมความปลอดภัยในอาหารจากปัญหาสารเคมีการเกษตร รวมไปถึงการทำงานเชิงวิชาการเพื่อให้เกิดข้อมูลสนับสนุนต่อมาตรการและนโยบายต่างๆ ที่จะออกมา เป็นต้น
ในส่วนของกระบวนการหลังจากนี้ ทางคณะกรรมการฯ จะมีการนำประเด็นต่างๆ ที่ได้จากการหารือไปพัฒนาเป็นเอกสารข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่จะมีการนำไปรับฟังความคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหน่วยงานต่างๆ อีกครั้ง ในช่วงเดือน พ.ค. - ก.ค. ก่อนที่จะมีการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ ในช่วงเดือน ส.ค. เพื่อให้ฉันทมติต่อข้อเสนอนี้ร่วมกัน จากนั้นจึงนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม คสช. และเสนอมติต่อที่ประชุม ครม. เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติต่อไป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ