หวั่น Influencer สร้าง Content ไม่คำนึงความถูกต้อง อาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคม

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 เม.ย. 2567 | อ่านแล้ว 5005 ครั้ง

สภาพัฒน์ระบุ 'Influencer' ในอาเซียนมีรวมกันมากถึง 13.5 ล้านคน ไทยกว่า 2 ล้านคน สร้างรายได้ได้ค่อนข้างสูง เฉลี่ยตั้งแต่ 800-700,000 บาทขึ้นไปต่อโพสต์ - หวั่นแข่งขันสร้าง Content ให้เป็นกระแสโดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมก่อนเผยแพร่ซึ่งอาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคม - ละเมิดสิทธิผู้อื่นเสนอข่าวอาชญากรรมราวกับละคร เพื่อสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ และไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เสียหาย ครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิด ใช้ภาพผู้คนหรือวิดีโอของผู้อื่นมาตัดต่อลง Content ของตน - แนะควรมีการกำกับดูแล Influencer อาจต้องทบทวนการกำหนดนิยามของสื่อออนไลน์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น

Influencer ไทย 2 ล้านคน สร้างรายได้สูงเฉลี่ยตั้งแต่ 800 - 700,000 บาทขึ้นไปต่อโพสต์

เมื่อช่วงต้นเดือน 2567 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้นำเสนอ ภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2566 และภาพรวมปี 2566 ซึ่งส่วนหนึ่งได้มีการนำเสนอประเด็น "Influencer : เมื่อทุกคนในสังคมล้วนเป็นสื่อ" โดยระบุว่าข้อมูลจาก Nielsen ในปี 2565 พบว่าประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีจำนวน Influencer รวมกันมากถึง 13.5 ล้านคน โดยประเทศไทยมีจำนวนกว่า 2 ล้านคน เป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย ซึ่งการขยายตัวของ Influencer ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นช่องทางสร้างรายได้ ทั้งจากการโฆษณาหรือรีวิวสินค้า โดยในปี 2566 สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับทั่วโลกถึง 19.01 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 140.33 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 7.4 เท่า ภายใน 7 ปี สำหรับไทย Influencer ได้รับความสนใจจากคนจำนวนมาก เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ค่อนข้างสูง เฉลี่ยตั้งแต่ 800-700,000 บาท ขึ้นไปต่อโพสต์

หวั่นสร้าง Content ไม่คำนึงถึงความถูกต้อง อาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคม

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันผลิต Content และการให้ความสำคัญกับ Engagement ของ Influencer มักมีการสร้าง Content ให้เป็นกระแสโดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมก่อนเผยแพร่ซึ่งอาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคมหลายประการ อาทิการนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ตัวอย่างเช่นการเผยแพร่ข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ จากรายงานผลการดำเนินงานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบจำนวนยอดสะสมผู้โพสต์ที่เข้าข่ายเป็นข่าวปลอม 7,394 บัญชี โดยเป็นจำนวนข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนรวมกันกว่า 5,061 เรื่อง การชักจูงหรือชวนเชื่อที่ผิดกฎหมาย อาทิ การโฆษณาเว็บพนันออนไลน์ผ่าน Influencer ข้อมูลจากผลการสำรวจพฤติกรรมการเล่นพนันออนไลน์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ในปี 2566 พบว่า คนรุ่นใหม่เล่นพนันออนไลน์ประมาณ 3 ล้านคน โดย 1 ใน 4 เป็นนักพนันฯ หน้าใหม่ หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 7.4 แสนคน โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 87.7 พบเห็นการโฆษณาหรือได้รับการชักชวนทางออนไลน์ ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 1 ล้านคน

ละเมิดสิทธิผู้อื่น-อวดความร่ำรวย

ในด้านการละเมิดสิทธิพบว่า Influencer บางรายมีการเสนอข่าวอาชญากรรมราวกับละคร เพื่อสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ และไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เสียหาย ครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังพบการท าข่าวโดยใช้ภาพผู้คนหรือวิดีโอของผู้อื่นมาตัดต่อลง Content ของตน โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาบางประเภทที่ไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย แต่อาจน าไปสู่การสร้างค่านิยมที่ผิดต่อสังคม อาทิ Content “การอวดความร่ำรวย” จากการศึกษาของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่ากลุ่ม Gen Z ร้อยละ 74.8 เป็นผู้ที่ชอบแสดงตัวตนในรูปแบบนี้มากที่สุด หรือการนำเสนอภาพบุคคลที่ได้รับการปรับแต่งให้ดูดี จนกลายเป็นมาตรฐานความงามที่ไม่แท้จริง ซึ่งอาจสร้างค่านิยมที่ผิดให้กับเด็กและเยาวชนในสังคม และอาจกระทบต่อการก่อหนี้เพื่อนำมาซื้อสินค้าและบริการ

แนะควรมีการกำกับดูแล Influencer

ตัวอย่างข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลเชิงลบของ Influencer ต่อสังคมหลายแง่มุม ซึ่งในต่างประเทศเริ่มมีการออกกฎหมายเฉพาะ Influencer อย่างชัดเจน เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ออกระเบียบห้ามเผยแพร่เนื้อหาในลักษณะอวดความร่ำรวย และการใช้ชีวิตแบบกินหรูอยู่สบายเกินจริง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กำหนดให้ Influencer ต้องจดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากสภาสื่อแห่งชาติ (NMC) เพื่อป้องกันการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย นอร์เวย์และสหราชอาณาจักร กำหนดให้ Influencer แจ้งรายละเอียดภาพบุคคลที่ใช้สำหรับการขายและโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย พร้อมแสดงเครื่องหมายกำกับ เพื่อลดปัญหาความกดดันทางสังคมต่อมาตรฐานความงามที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน

สำหรับประเทศไทย มีกฎหมายควบคุม อาทิ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และพ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 รวมทั้งอยู่ระหว่างพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ที่มีความพยายามปรับปรุงการกำกับดูแลการนำเสนอข้อมูลให้เท่าทันสื่อปัจจุบัน แต่ยังไม่มีกฎระเบียบสำหรับกลุ่ม Influencer อย่างชัดเจน นอกจากนี้ แนวทางการกำกับดูแลส่วนใหญ่เน้นไปที่การตรวจสอบ เฝ้าระวังการนำเสนอ และการตักเตือน/แก้ไข ซึ่งหากไทยจะขยายการกำกับดูแลให้ครอบคลุมกลุ่ม Influencer อาจต้องทบทวนการกำหนดนิยามของสื่อออนไลน์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงแนวทางการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับการผลิตเนื้อหาของสื่อกลุ่มต่าง ๆ โดยอาจศึกษาจากกรณีตัวอย่างของกฎหมายและมาตรการของต่างประเทศเพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทสังคมต่อไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: