เคยสงสัยไหมว่า ทำไมบิลค่าไฟฟ้าครัวเรือนในหน้าร้อนถึงแพงขึ้น ทั้งที่ภาครัฐโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังตรึงอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือค่า Ft ไว้ที่ 39.72 สตางค์ มาตั้งแต่ต้นปี ถึงเดือนสิงหาคม 2567
ทั้งนี้พบว่า สาเหตุมาจากเหตุผลหลัก 2 ปัจจัย ปัจจัยแรก คือ สภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ
ถึงแม้จะเปิดในจำนวนชั่วโมงที่เท่ากัน แต่ด้วยอุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างภายในบ้านกับภายนอกบ้านที่มากขึ้น ทำให้เครื่องปรับอากาศกินไฟมากขึ้นด้วย
ข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ระบุว่า อุณหภูมิภายในบ้านและนอกบ้านที่แตกต่างกัน 1 องศาเซลเซียส จะทำให้เครื่องปรับอากาศกินไฟมากขึ้น 3%
ยกตัวอย่างเช่น หากตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศในห้องไว้ที่ 26 องศาเซลเซียส จะพบว่าในหน้าร้อน เครื่องปรับอากาศจะทำงานหนักมากขึ้นกว่าเดิมมาก เพื่อปรับลดอุณหภูมิจาก 40 องศาเซลเซียส ให้ถึงอุณหภูมิ 26 องศาเซลเซียส ตามที่ตั้งค่าไว้ ซึ่งอุณหภูมิที่ต่างกันถึง 14 องศา จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นตามไปด้วย
ไม่นับรวมพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเล็กๆ น้อยๆในช่วงฤดูร้อน ที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่หากทำสะสมบ่อยๆ อาจส่งผลต่อการใช้หน่วยไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นได้เช่นกัน เช่น การเปิด-ปิดตู้เย็นบ่อยครั้ง การเปิดแอร์คลายร้อนทั้งวันทั้งคืน เป็นต้น
ปัจจัยที่สอง ที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นในฤดูร้อน มาจากโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่จัดเก็บประเภทบ้านที่อยู่อาศัย โดยคิด “อัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได” คือ ยิ่งจำนวนหน่วยการใช้มากขึ้น ก็จะถูกเก็บค่าไฟฟ้าในอัตราที่แพงขึ้น เช่นเดียวกับการคิดภาษี
ดังนั้น ช่วงฤดูร้อนที่จำนวนหน่วยการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น เพราะเครื่องปรับอากาศกินไฟมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงขึ้น แม้ว่าอัตราค่า Ft จะเท่าเดิม ในงวดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ที่รัฐตรึงราคาเอาไว้
อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจก่อนว่า การคิดค่าไฟฟ้าประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ค่าไฟฟ้าฐาน ค่า Ft ค่าบริการรายเดือน และภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งแต่ละส่วนจะมีวิธีคิดที่แตกต่างกัน มีที่มาแตกต่างกัน
แต่ส่วนประกอบหลักที่มีผลต่อค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน คือ ค่าไฟฟ้าฐาน (ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ไฟฟ้า) และ ค่า Ft (ขึ้นอยู่กับราคาเชื้อเพลิง)
โดยค่าไฟฟ้าฐานในประเทศไทย ไม่ค่อยปรับกันบ่อยๆ ปัจจุบันยังเป็นอัตราเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2558 และเป็นอัตราเดียวเท่ากันตลอดทั้งปี
ส่วนค่า Ft จะปรับทุกๆ 4 เดือน หรือ 3 ครั้งต่อปี ซึ่งล่าสุด กกพ. มีมติตรึงค่า Ft ประจำเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567 ไว้ที่หน่วยละ 0.3972 บาท หรือ 39.72 สตางค์
การคิดค่าไฟฟ้าในอัตราเริ่มต้นและปรับอัตราเพิ่มเป็นขั้นบันไดประเภทบ้านที่อยู่อาศัย ที่ยังไม่รวมค่า Ft และภาษีมูลค่าเพิ่ม
จะเริ่มต้นตั้งแต่ 1-150 หน่วย อยู่ที่ 3.2484 บาทต่อหน่วย, 151-400 หน่วย อยู่ที่ 4.2218 บาทต่อหน่วย, เกิน 400 หน่วย อยู่ที่ 4.4217 บาทต่อหน่วย
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเดือนเมษายนนี้ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วย X หน่วยละ 3.2484 บาท จะเท่ากับ 487.26 บาท
แต่ถ้าใช้ไฟ 250 หน่วย วิธีคิดค่าไฟก็จะแบ่งเป็น 150 หน่วยแรก (หน่วยที่ 1-150) X 3.2484 บาท เท่ากับ 487.26 บาท
100 หน่วยต่อมา (หน่วยที่ 151–250) X 4.2218 บาท เท่ากับ 422.18 บาท รวมเป็นค่าไฟฟ้าฐานที่ต้องจ่าย 487.26+422.18 เท่ากับ 909.44 บาท เป็นต้น
เพราะฉะนั้น บิลค่าไฟฟ้าที่มาถึงมือเรา คือบิลที่นำค่าไฟฟ้าฐาน มาบวกกับค่า Ft แล้วไปคูณกับจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้
หลังจากนั้น ก็นำไปบวกกับค่าบริการรายเดือน แล้วค่อยนำมาคิดคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็จะเท่ากับค่าไฟฟ้าสุทธิที่เราต้องจ่ายในแต่ละเดือน
อย่างไรก็ดี มีแนวทางที่จะช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าลดค่าไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนได้ โดยมีข้อแนะนำดีๆ จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ยึดหลัก 5 ป. ดังนี้
1. ปิด คือ ปิดไฟทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน
2. ปรับ คือ ปรับอุณหภูมิแอร์ที่ 25-26 องศาเซลเซียส เพราะการปรับอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสจะช่วยลดค่าไฟฟ้าลงได้ประมาณ 10%
3. ปลด คือ ปลดปลั๊กทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน เพราะการเสียบปลั๊กทิ้งไว้แม้ปิดสวิตซ์ ก็ยังคงมีกระแสไฟฟ้าไหลเวียนอยู่ และทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสื่อมคุณภาพเร็ว เสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร
4. เปลี่ยน คือ เปลี่ยนมาใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 แบบ 5 ดาว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และประหยัดไฟยิ่งกว่าเดิม เมื่อเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีฉลากเบอร์ 5
5. ปลูก คือ ปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อช่วยสร้างร่มเงา ลดความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน และลดการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้า
เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ Energy News Center
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ