'เฮ็ดดิ คราฟท์' สร้างอาชีพคนพิการด้วยทุนพื้นถิ่น

กองบรรณาธิการ TCIJ 2 ม.ค. 2567 | อ่านแล้ว 25592 ครั้ง

'เฮ็ดดิ คราฟท์' สร้างอาชีพคนพิการด้วยทุนพื้นถิ่น

“เฮ็ดดิ คราฟท์” แบรนด์สินค้าหัตถกรรมฝีมือคนพิการจากตำบลเต่างอย จังหวัดสกลนคร พร้อมยกระดับสู่ผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprise) เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่แตกต่าง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้ “หลักสูตรการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น” ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ มจธ.

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยเมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2566 ว่า รศ. ดร. สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า ที่มาของหลักสูตรนี้ มาจากคณะทำงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ มจธ.ที่ได้ดำเนินโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมให้คนพิการเข้าสู่การทำงานในสถานประกอบการ ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน (โดยใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ มาตรา 35 ในการขับเคลื่อน) โดยหลักสูตรการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น เป็นหนึ่งในสามหลักสูตรที่จัดขึ้นภายใต้โครงการฯ ในรุ่นที่ 8 เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2564 เพื่อเพิ่มศักยภาพคนพิการที่ต้องการทำงานอาชีพอิสระและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เนื่องจากข้อมูลการวิจัยพบว่า แม้ว่ามีคนพิการที่ได้รับการจ้างงานมากกว่าร้อยละ 50 ของผู้เข้าร่วมโครงการฯ แต่มีคนพิการส่วนหนึ่งมีความต้องการประกอบอาชีพอิสระ และมีข้อจำกัดต่อการทำงานในสถานประกอบการ เช่น การเดินทางไปทำงาน ไม่มีวุฒิการศึกษา หรืออายุที่มากเกินไป ฯลฯ รวมถึงสถานประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในเมือง คนพิการที่อาศัยอยู่นอกเขตเมืองไม่สามารถเดินทางหรือย้ายถิ่นฐานไปทำงานได้

“จึงเป็นที่มาของหลักสูตรการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่นโดยฝีมือคนพิการขึ้น ณ ศูนย์การเรียนรู้บ้านนางอย-โพนปลาโหล จ.สกลนคร ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่อยู่ในการกำกับดูแลของ มจธ. และถือเป็นหลักสูตรนำร่องที่จัดอบรมขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัด และยังเป็นการทำงานร่วมกับชุมชนผ่านเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน หลักสูตรนี้จัดขึ้นเพื่อให้คนพิการที่ช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งที่มีทักษะการทำงานหัตถกรรมอยู่แล้ว และผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะเพิ่มเติม ได้รวมกลุ่มกันฝึกฝนและทำงานที่บ้านได้ สามารถสร้างคุณค่าทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สร้างรายได้ สร้างคุณค่าทางจิตใจและสังคมวัฒนธรรม ด้วยทุนที่มีอยู่ในพื้นที่ และให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเองได้”

สำหรับการดำเนินงานของหลักสูตรฯ กลุ่มคนพิการจะได้รับการบ่มเพาะทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือ 600 ชั่วโมง โดยคนพิการจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และได้รับเบี้ยเลี้ยง อาหารกลางวัน และค่าเดินทางตลอดระยะเวลาในการฝึกอบรม ซึ่งคนพิการที่เรียนในหลักสูตรนี้ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับพื้นฐานความรู้ที่จำเป็น เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์เบื้องต้น การออกแบบชิ้นงาน การใช้สี การถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ การสื่อสารกับลูกค้า การใช้สื่อสังคมออนไลน์ การทำตลาด การทำบัญชี การคำนวณต้นทุน การตั้งราคา การบริหารจัดการธุรกิจ ฯลฯ นอกจากนี้กลุ่มคนพิการรุ่นที่ 3 ของหลักสูตร ยังได้โอกาสเรียนรู้ การต่อยอดด้านความคิดสร้างสรรค์จากกลุ่มศิลปิน อินฟลูเอนเซอร์ และผู้ประกอบธุรกิจด้านงานคราฟท์ ที่ได้นำความรู้มาแบ่งปันและถ่ายทอดให้กับคนพิการในหลักสูตร ทำให้ได้ผลงานที่มีความสวยงามและแปลกใหม่ แตกต่างจาก 2 รุ่นที่ผ่านมา ยกระดับจากผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาพื้นถิ่น ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และตรงใจผู้บริโภคในวงกว้างยิ่งขึ้น และจากความสำเร็จนี้ มจธ.จึงเตรียมต่อยอดขยายผลนำ“เฮ็ดดิโมเดล” ออกไปสู่ชุมชนอื่นๆ ที่สนใจต่อไป

ผศ.วรนุช ชื่นฤดีมล อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. และหัวหน้าหลักสูตรฯ กล่าวว่า จากระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564 - 2566 มีคนพิการที่เข้ารับการอบรมในหลักสูตรนี้ทั้งสิ้น 43 คน ส่วนใหญ่เป็นคนพิการด้านการเคลื่อนไหว แขนขาอ่อนแรง สายตาเลือนรางและพิการทางการได้ยิน แบ่งเป็น รุ่นที่ 1 จำนวน 19 คน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รุ่นที่ 2 จำนวน 12 คน และรุ่นที่ 3 จำนวน 12 คน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ มาตรา 35 ซึ่งการดำเนินงานของหลักสูตรมีกำหนดรูปแบบไว้ในแต่ละปี โดยปีที่ 1 จะเป็นการฝึกพื้นฐานความรู้ที่จำเป็นทุกอย่าง ปรับ mind set การสร้างความมั่นใจในตนเอง การสื่อสาร และการเข้าสังคม รวมถึงสอนการออกแบบ การถักทอและการย้อมคราม

ปีที่ 2 เป็นการสอนทักษะงานฝีมือและเปลี่ยนจากครามเป็นการใช้สีธรรมชาติที่ได้จากท้องถิ่น เช่น ดอกฝักคูน ดาวเรือง ฝาง และพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นรูปต่างๆ ตามจินตนาการ เพื่อสร้างจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมากขึ้น อาทิ เห็ดนำโชค ไม้เท้า สายรุ้ง หรือเต่า เป็นของประดับตกแต่ง ที่สำคัญเริ่มให้ความรู้การเป็นผู้ประกอบการ จึงเน้นสอนเรื่องของการตลาดมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เขารู้ว่าตัวเองชอบหรือถนัดอะไร เพราะต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนอยากเป็นผู้ประกอบการ บางคนชอบทำงานคนเดียว ไม่ชอบทำงานกลุ่ม หรือบางคนอยากเป็นแค่ผู้ผลิต ซึ่งก็สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากหลักสูตรไปประกอบอาชีพเองที่บ้านได้ ซึ่งเขาสามารถเลือกได้

ในส่วนปีที่ 3 นี้ นอกจากจะได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่เหมือนใครในพื้นที่แล้ว ยังถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มที่สำคัญในการก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการด้วยทุนและการบริหารจัดการด้วยตนเอง โดยการคัดเลือกคนที่พร้อมมีทักษะสามารถจะเป็นผู้ประกอบการได้ด้วยตัวเองและสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้สามารถทำงานระบบออฟฟิศได้ จากการพัฒนาต่อยอดใน 2 รุ่นที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดทางกลุ่มได้รวมตัวกันเป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ หรือ Local Enterprise ด้วยทุนของสมาชิกเองทั้งหมด เพื่อบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นในพื้นที่ทั้ง ผงสีธรรมชาติจากพืช สีเทียน เทียนหอม เชือกถัก เสื้อ กระเป๋าผ้าย้อมสีธรรมชาติหรือแม้แต่ผ้าย้อมคราม ภายใต้แบรนด์“เฮ็ดดิ คราฟท์”

สำหรับผลิตภัณฑ์จากฝีมือคนพิการตำบลเต่างอย ล่าสุด ที่ได้ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่นสู่ “ผงสีธรรมชาติจากพืช” เป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์แปลกใหม่ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบในท้องถิ่น โดยนำวัสดุเหลือทิ้งจากธรรมชาติมาผลิต ภายใต้แนวคิด Zero Waste ที่ไม่เหลือขยะทิ้งไว้ ซึ่งผงสีจากพืชธรรมชาติที่ผลิตได้ ประกอบด้วย คราม ฝาง สาบเสือ หูกวาง หางนกยูง ดาวเรือง ฝักคูน เปลือกประดู่ มะม่วง เพกา และเมล็ดคำแสด สามารถนำไปเป็นส่วนผสมทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้หลากหลาย อาทิ เทียนหอม ธูปหอม โดยเฉพาะสีเทียน เป็นสูตรที่ทางกลุ่มคนพิการได้ทำวิจัย คิดค้นและพัฒนาขึ้นเอง ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มเฮ็ดดิ ที่มีลักษณะเป็นก้อนแตกต่างจากสีเทียนแบบเดิม

“ความน่าสนใจของหลักสูตรฯ นี้ คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านกับองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ การออกแบบผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม ของ มจธ. พัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มขึ้น ถือเป็นการผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีกับภูมิปัญญาชาวบ้านจนเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ขึ้นให้กับชุมชน และแม้จะเป็นกลุ่มเปราะบางที่เป็นคนพิการ แต่จุดเริ่มต้นความสำเร็จของคนกลุ่มนี้ คือ อยากทำ อยากฝึกและมีความตั้งใจ ดังนั้น รูปแบบการสอนของเราจะใช้วิธีการถ่ายทอดความรู้ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่เป็นวิชาการมากนัก มีการใช้สัญลักษณ์เข้ามาเพื่อช่วยให้จำได้ง่ายขึ้น เช่น เราบอกกับคนพิการว่าการทำผงสี เปรียบเสมือนกับการทำกับข้าว น้ำที่ย้อมเหมือนการต้มน้ำแกง ใส่เกลือ ใส่สารส้ม เคี่ยวเสร็จแล้วนำมากรอง เอากากออก น้ำที่ได้เทใส่กะละมัง จากนั้นโรยดินสอพองลงไป และตีจนขึ้นฟู พอฟองฟูเต็มที่แสดงว่าสีจับกับดินสอพองเรียบร้อย ก็ถือว่าเสร็จ ตั้งทิ้งไว้หนึ่งคืนปล่อยให้ตกตะกอน เช้าขึ้นมาก็เทน้ำข้างบนออก ตักเอาแต่ส่วนที่ตกตะกอน นำไปตากแดด จากนั้นจึงนำมาบดให้ละเอียด ซึ่งกระบวนการทำผงสีนี้ เรายังได้ถอดบทเรียนออกมาเป็นองค์ความรู้ มีด้วยกัน 7 ขั้นตอน เพื่อใช้ถ่ายทอดให้กับนักศึกษา NAFA (Nanyang Academy of Fine Arts) จากประเทศสิงคโปร์ ที่มาร่วมทำ workshop กับกลุ่มคนพิการเฮ็ดดิ ในครั้งนี้ด้วย” ผศ.วรนุช กล่าว

ด้าน ผศ. ดร.บุษเกตน์ อินทรปาสาน อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. กล่าวว่า “การที่สมาชิกตกลงร่วมกันเป็นผู้ประกอบการ Local Enterprise แม้จะยังไม่ได้เป็น Social Enterprise ถือเป็น startup ในเชิงการสร้างอาชีพให้คนพิการ ที่ทุกคนเลือกเป็นผู้ถือหุ้นกันเอง 100% ต่อไปมหาวิทยาลัยจะเป็นเพียงพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษา ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องผลกำไรกับทางกลุ่ม ซึ่งถือเป็นความสำเร็จหนึ่งของ Sustainable Development Goals (SDGs) ในการมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน การสร้างอาชีพและสร้างรายได้ ส่วนสิ่งที่มหาวิทยาลัยได้รับจากการจัดทำหลักสูตรนี้ คือ สามารถตอบโจทย์ของมหาวิทยาลัยที่มุ่งพัฒนามหาวิทยาลัยเป็น The Sustainable Entrepreneurial University รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนกับมหาวิทยาลัย”

สำหรับก้าวต่อไปของเฮ็ดดิคราฟท์ ผศ. ดร.บุษเกตน์ กล่าวว่า “คือการหาตลาดใหม่ๆ นอกจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นสถาบันการศึกษา ในปีหน้ามีโอกาสจะพาไปพบผู้ซื้อ ให้เขาได้รู้จักลูกค้าได้เรียนรู้ประสบการณ์มากขึ้น เพราะการตลาดนั้นจะต้องหาลูกค้าให้ได้ก่อนว่าลูกค้าของเราเป็นใคร พอเราได้ตลาดแล้วค่อยมาทำผลิตภัณฑ์ที่จะตอบโจทย์ลูกค้าได้ และเรื่องของมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพด้านการทำผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือของที่ระลึก ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเปรียบเทียบหลักสูตรกับประสบการณ์วิชาชีพ รวมถึงการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานของชุมชนที่ต่างจากกลุ่มอื่นในพื้นที่ จากประสบการณ์การเป็นเทรนด์เดอะเทรนด์เนอร์ให้กับนักศึกษาต่างชาติจากมหาวิทยาลัย NAFA ที่หลังจากได้รับการถ่ายทอดจากกลุ่มเฮ็ดดิแล้วจะนำความรู้ที่ได้รับไปจัดนิทรรศการที่สิงคโปร์ จะเป็นเครดิตของคนพิการเฮ็ดดิ ที่พูดถึงกันจากการได้มาลงพื้นที่ในเชิงมหาวิทยาลัยกับชุมชน และได้ผลงานกลับไปจัดแสดง ซึ่งอาจมีการนำไปต่อยอดเกิดการออกแบบนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้น ถือเป็นผลงานที่โดดเด่นของกลุ่มคนพิการเฮ็ดดิอีกด้วย”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: