เปิดตัวเลขต้นทุนทางสังคม PM 2.5 ทำ กทม. เสียหายกว่าปีละ 4 แสนล้าน

กองบรรณาธิการ TCIJ 2 ธ.ค. 2567 | อ่านแล้ว 5906 ครั้ง


วงเสวนาสมัชชาสุขภาพฯ ตีแผ่ข้อมูลความสูญเสียต้นทุนทางสังคมจาก PM 2.5 นักเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรฯ ระบุ กทม. หนักที่สุด สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์จากฝุ่นพิษ กว่า 4 แสนล้าน ขณะที่ นายก อบต.แม่ทาเหนือ จ.เชียงใหม่ ยืนยัน ท้องถิ่นแก้ปัญหาได้ ถ้าได้รับงบประมาณ-อำนาจ ขณะที่รองเลขาธิการ ส.อ.ท. นำเสนอ ‘หอฟอกอากาศ’ นวัตกรรมช่วยกรองฝุ่นให้คนกรุง

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายยุทธศาสตร์ จัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 27-28 พ.ย. 2567 ภายใต้ประเด็นหลัก “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” โดยมีผู้เข้าร่วมงานทางระบบ online และ on-site กว่า 3,000 คน โดยภายในงานมีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง “เศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการจัดการอากาศสะอาด” เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นจากภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคท้องถิ่น ตลอดจนนำเสนอสถานการณ์ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจแนวใหม่ เพื่อการจัดการอากาศสะอาด โดยมีผู้สนใจร่วมฟังกว่า 100 คน

เปิดตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจจาก PM2.5 กว่า 4 แสนล้านต่อปีในกรุงเทพฯ

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ เปิดเผยว่า โจทย์ใหญ่ของการพูดคุยในวันนี้คือการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่มีการนำโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาแบบองค์รวมครอบคลุมทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ซึ่งมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากรชีวภาพ เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าหรือยาวนานที่สุด และสุดท้ายคือเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

รศ.ดร.วิษณุ กล่าวว่า การเกิดขึ้นของปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา นำมาซึ่งต้นทุนทางสังคม (social cost) หรือผลกระทบเชิงลบต่างๆ อาทิเช่น การที่ทางธนาคารโลก (World Bank) ได้ทำการประเมินความเสียหายทางสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ จาก 180 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยติดอันดับที่ 20 มีมูลค่าความเสียหายมากถึง 45,334 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (USD) โดยคิดเป็น 3.89% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ซึ่งสูงเป็นลำดับที่ 2 ในอาเซียน รองจากประเทศอินโดนีเซีย

มากไปกว่านั้น ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจและได้ค้นพบจากการทำงานวิจัยเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศ คือปริมาณ ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในรอบ 1 ปี มีปริมาณสูงเกินกว่าค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ยาวนานถึง 6 – 7 เดือน มิใช่เพียงแค่ 2 – 3 เดือน อย่างที่เคยเข้าใจ

“ข้อมูลจากการวิจัยที่เราศึกษาพบว่ามูลค่าความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์จาก ฝุ่น PM 2.5 ต่อครัวเรือนไทย ในปี 2562 อยู่ที่ 2.173 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเจาะลงมาดูรายจังหวัด ก็จะพบว่า กทม. คือพื้นที่อันดับ 1 เกิดความเสียหายกว่า 4 แสนล้าน/ปี เพราะ กทม. มีครัวเรือนโดยประมาณ 3 ล้านครัวเรือน จำนวนครัวเรือนในภาคเหนือรวมกัน 9 จังหวัด ยังไม่เท่า กทม. ส่วนอันดับที่รองลงมา คือชลบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่ และขอนแก่น ตามลำดับ” รศ.ดร.วิษณุ ระบุ

รศ.ดร.วิษณุ กล่าวต่อไปว่า ต้นทุนทางสังคมที่สูญเสียไปจากปัญหามลพิษทางอากาศ หรือ ฝุ่น PM2.5 ยังมีมิติอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่น PM2.5 เกิดจากระบบการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร ที่มีการเผาไหม้จนก่อให้เกิดเป็นมลพิษ จึงขอเสนอแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้กรอบแนวคิด BCG เพื่อการจัดการอากาศสะอาด อาทิเช่น การนำศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มาปรับใช้ รวมไปถึงการส่งเสริมการทำคาร์บอนเครดิตให้กับภาคประชาชน การส่งเสริมการทำเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยลดการเผาวัสดุเหลือใช้ แล้วนำไปสร้างประโยชน์ต่อให้เกิดรายได้ การส่งเสริมให้เกิด “ตลาดให้เช่าบริการเครื่องจักรกลสมัยใหม่” ให้เกษตรกรทั่วไป สามารถเข้าถึงในราคาที่จับต้องได้ เพื่อลดการเผา ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ทำให้หนี้สินครัวเรือนลดลง ฯลฯ

ต้นแบบการจัดการไฟป่าโดยชุมชน: กรณีศึกษา อบต.แม่ทาเหนือ

นายนิกร เต๋จ๊ะแยง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทาเหนือ (อบต.แม่ทาเหนือ) อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ชุมชนแม่ทาเหนือ มีต้นเหตุแห่งปัญหาเรื่องทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ป่าขุนแม่ทา ซึ่งถูกทำลายจากผู้รับสัมปทานการตัดไม้ตั้งแต่ในอดีตเป็นระยะเวลายาวนานถึง 90 ปี จาก ปี พ.ศ. 2444 – 2534 ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทั้งหมด 5 หมู่บ้าน 11 ชุมชน ประสบกับปัญหาความแห้งแล้ง ไม่มีน้ำประปาภูเขาใช้ในการอุปโภค บริโภค สิ่งเหล่านี้นำมาสู่การเกิดขึ้นของข้อบัญญัติท้องถิ่น อบต.แม่ทาเหนือ ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมจากประชาชน เพื่อบังคับใช้ให้เกิดการควบคุมและดูแลทรัพยากรแบบครบวงจรทั้ง ดิน น้ำ ป่า คน ของชุมชน
มากไปกว่านั้น อบต.แม่ทาเหนือ ได้มีการนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) มากำหนดขอบเขตพื้นที่ให้แน่ชัดระหว่างพื้นที่ป่ากับพื้นที่ทำกินของเกษตรกรในชุมชน จากนั้นจึงดำเนินการสร้างข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่มีการบุกรุก ถางป่าเพื่อสร้างพื้นที่ทำกินอีกต่อไป โดย อบต.แม่ทาเหนือ จะทำหนังสือรับรองสิทธิชุมชนว่าด้วยการจัดการที่ดิน (ที่ทำกินเดิม) ให้กับเกษตรกรแบบรายแปลง และมีการจัดตั้งกองทุนที่ดินขึ้น เพื่อทำให้เกษตรกรสามารถนำเอกสารการรับรองดังกล่าว มาเป็นหลักทรัพย์การค้ำประกันในการขอกู้สินเชื่อ

นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้กับประชาชน ผ่านวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ที่มีการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนำวัสดุเหลือทิ้งจากในป่ามาก่อให้เกิดประโยชน์ อย่างเช่น วิสาหกิจชุมชนใบไม้มีคุณค่าจากกลุ่มสตรีฮักทาเหนือที่มีการนำวัสดุที่ก่อให้เกิดเชื้อไฟจากป่า อย่างเช่นใบไม้มาแปรรูป เป็น จาน หรือกระทง ที่นอกจากจะสร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการลดโอกาสการเกิดไฟป่า ได้อีกด้วย

นายนิกร กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมา อบต.แม่ทาเหนือ ได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในการป้องกันไฟป่า โดยได้เข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ที่ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดูแลป่า ไร่ละ 300 บาท ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 5 หมู่บ้าน โดยในปี 2567 ได้รับงบประมาณสนับสนุนอยู่ที่ 3 – 7 ล้านบาท ส่งผลให้ในวันนี้ อบต.แม่ทาเหนือ มีจำนวนจุดความร้อนที่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับ 2566

“ชัดเจนว่า หากมีงบประมาณ พร้อมอำนาจในการจัดการ ท้องถิ่นก็จะสามารถแก้ไขปัญหาการเกิดไฟป่าได้ด้วยตนเอง เพราะการมีงบประมาณทำให้ชุมชนมีทรัพยากรเพียงพอในการตรวจตราและเฝ้าระวังการเกิดเหตุได้ตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือควรให้เงิน ให้อำนาจในการจัดการ แก่ อปท. ไม่ใช่การให้งานมาทำ แต่ไม่มีเครื่องมืออะไรสนับสนุนเลยอย่างที่เป็นอยู่” นายกอบต.แม่ทาเหนือ ให้ภาพ

นวัตกรรม 'ฟ้าใส' หอฟอกอากาศทางออกสำหรับคนเมือง

นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากข้อมูลงานวิจัยของ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ที่ได้เปิดเผยไปข้างต้นว่า คนกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องแบกรับต้นทุนทางสังคม ในด้านค่าใช้จ่ายสำหรับการปกป้องตัวเองจากมลพิษทางอากาศเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ ส่วนตัวคิดว่า มีนวัตกรรมชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจในการที่จะนำมาแก้ไขปัญหาเบื้องต้นให้กับคนเมือง คือ หอฟอกอากาศระดับเมืองอัตโนมัติแบบไฮบริด หรือ เรียกอย่างง่ายว่า “ฟ้าใส (Fahsai)”

ทั้งนี้ หอฟอกอากาศฯ ฟ้าใส มีประสิทธิภาพในการฟอกอากาศได้มากถึง 6 หมื่น ลูกบาศก์เมตร ต่อชั่วโมง ครอบคลุมพื้นที่ครึ่งสนามฟุตบอล โดยสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ทั้งในน้ำและในอากาศ ทั้งยังมีความสะดวกในการติดตั้ง วางได้ทุกสถานที่ มีระบบล้อเคลื่อนได้ในระยะใกล้ๆ ราคาของเครื่องอยู่ที่ 3 – 5 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ไม่แพง เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนทางสังคม ที่คน กทม.ต้องเสียไป ตามที่ระบุในงานวิจัย ส่วนตัวเชื่อว่า หากมีการนำหอฟอกอากาศฯ ฟ้าใส มาใช้ในพื้นที่ กทม.สัก 1 หมื่นเครื่อง ก็จะทำให้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ดีขึ้น ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ ที่เปรียบเสมือนถังรับมลภาวะ อย่าง กทม.

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: