JGSEE สร้างบัญชีฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ของประเทศ

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 ม.ค. 2567 | อ่านแล้ว 7254 ครั้ง

JGSEE สร้างบัญชีฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ของประเทศ

วิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (JGSEE) สร้างบัญชีฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ของประเทศ ระบุ มาตรการปรับมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิง และหนุนการใช้รถ EV จะลดฝุ่นได้ 10%

10 ม.ค. 2567 ปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญที่ทำให้คนทั่วโลกกลับมาให้ความสนใจในช่วงหลายปีหลัง คือ เรื่องมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะมลภาวะจากฝุ่น PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ในปี 2566 มีปัญหาความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้นเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้ลดลง การมีฐานข้อมูลบัญชีการระบายมลพิษ เพื่อค้นหาต้นกำเนิดที่แท้จริงของฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนนโยบายเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหามลภาวะทางอากาศของประเทศไทย

เพื่อให้ประเทศไทยมีข้อมูลบัญชีการระบายมลพิษในการแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศที่ถูกต้อง แม่นยำ รองศาสตราจารย์ ดร.สาวิตรี การีเวทย์ และคณะ จากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงได้ดำเนินโครงการ “การจัดทำแนวทางการจัดการฝุ่น PM2.5 โดยการวิจัยการเกิดอนุภาคทุติยภูมิ จากการใช้ระบบแบบจำลองการจัดการคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและภาคกลาง” ขึ้น เพื่อศึกษาแหล่งกำเนิดและกลไกของการเกิด PM2.5 ทุติยภูมิ (Secondary Aerosol Precursors) รวมถึงจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดการคุณภาพอากาศที่สามารถแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศจาก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้ลดลงได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

รองศาสตราจารย์ ดร.สาวิตรี กล่าวว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ เป็นสาเหตุให้มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด และโรคปอดเฉียบพลันในเด็กเล็กเพิ่มสูงขึ้น การใช้ “ข้อมูลบัญชีการระบายมลพิษ” จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้

“แต่เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 มีทั้งที่เกิดจากการปล่อยโดยตรงจากแหล่งกำเนิด เช่น การเผาในที่โล่ง ฝุ่นละอองจากรถยนต์ ที่เป็น “ฝุ่นแบบปฐมภูมิ” ยังมี PM 2.5 “แบบทุติยภูมิ” ที่เป็นการรวมตัวกันของสารตั้งต้น (Precursors) เช่น ไนโตรเจนออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แอมโมเนีย และ NMVOC กับสารอื่นๆ ผ่านปฏิกิริยาเคมีในอากาศอีกด้วย ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีทั้งบัญชีการระบายทั้งของฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิและของสารตั้งต้นที่ก่อให้เกิด PM2.5 ทุติยภูมิ เพื่อนำเข้าระบบแบบจำลองการจัดการคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก่อนใช้ประกอบการตัดสินใจในการแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศจาก PM2.5 ของประเทศ ทั้งในระยะกลางและระยะยาวต่อไป”

แม้การทำโครงการวิจัยจะจำกัดอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่การทำงานจริงจำเป็นต้องเก็บข้อมูลจากพื้นที่อื่นทั่วประเทศ เพราะอากาศไม่มีอาณาเขต การเกิดมลภาวะทางอากาศของพื้นที่อื่นๆ ส่งผลต่อมลภาวะทางอากาศของภาคกลางกรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วย ซึ่งจากการวิจัยพบว่า สัดส่วนระหว่าง PM2.5 ปฐมภูมิ และ PM2.5 ทุติยภูมิอยู่ที่ 70:30 โดยในประเทศไทยแหล่งกำเนิด PM2.5 มาจากการเผาชีวมวลในที่โล่งในพื้นที่การเกษตรเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นการเผาฟืน/ถ่านไม้เพื่อหุงต้มในภาคครัวเรือน โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนขนาดเล็ก การผลิตซีเมนต์ และการจราจร ตามลำดับ

“ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แหล่งกำเนิด PM2.5 ปฐมภูมิมาจากการจราจรเป็นส่วนใหญ่ ทั้งจากรถบรรทุกขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ รถเมล์ รถยนต์ส่วนบุคคล การเผาไหม้ในอุตสาหกรรมจากจังหวัดโดยรอบ เช่น จังหวัดนครปฐม และสมุทรสาคร ขณะที่ฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิที่เกิดจากพื้นที่ภาคกลางจะมีต้นกำเนิดจากการเผาในที่โล่งในพื้นที่การเกษตร และการผลิตซีเมนต์ แต่จะสังเกตได้ว่าในช่วงที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและภาคกลางได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในรอบปี จะเป็นช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นผลมาจากทั้งการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวที่มวลอากาศมีการเคลื่อนตัวโดยความเร็วต่ำ รวมถึงเป็นช่วงที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เข้าสู่ช่วงเตรียมพื้นที่เพื่อการทำเกษตรรอบใหม่ จึงมีการเผาในที่โล่งในจำนวนมากขึ้น รวมถึงการเกิดไฟป่าในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ปริมาณมลพิษในอากาศสูงขึ้นอย่างมากและส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล”

รองศาสตราจารย์ ดร.สาวิตรี เพิ่มเติมอีกว่า “หากมองเฉพาะกรุงเทพมหานครและพื้นที่ปริมณฑลจะเห็นว่าสาเหตุหลักของ PM2.5 ปฐมภูมิจะมาจากภาคการจราจรและภาคการขนส่ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่รถมีอายุการใช้งานนาน ส่งผลต่อการปล่อยไอเสียในปริมาณมาก หากประเทศไทยสามารถดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลตั้งไว้ คือการใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ที่จะเริ่มต้นในวันที่ 1 มกราคม 2567 จะสามารถช่วยลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิได้กว่า 10% ภายในปี 2573 และเมื่อรวมปัจจัยของการใช้รถ EV ที่มีปริมาณมากขึ้นทุกปี ก็จะช่วยลดปริมาณมลพิษทางอากาศได้เพิ่มขึ้นในอนาคต ในส่วนของการเผาในที่โล่งพบว่า พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้รับผลกระทบจากพื้นที่ใกล้เคียง จึงต้องมีมาตรการควบคุมการเผาเศษวัสดุชีวมวล โดยเฉพาะในจังหวัดกาญจนบุรี ลพบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี ซึ่งมีอัตราการเผาในที่โล่งในพื้นที่นาข้าวและไร่อ้อยในปริมาณสูง”

โดยข้อมูลจากงานวิจัยได้ส่งต่อให้กับกรมควบคุมมลพิษและจังหวัดกรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปใช้ในการออกแบบนโยบาย และมาตรการในการแก้ไขปัญหามลพิษ PM2.5 ในพื้นที่ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ สามารถแก้ไขปัญหาได้ถึงจุดกำเนิดของฝุ่น PM2.5

รองศาสตราจารย์ ดร.สาวิตรี กล่าวเสริมอีกว่า “จากงานวิจัยจะเห็นได้ว่าต้นกำเนิดฝุ่นอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศ ข้อมูลของงานวิจัยนี้จะช่วยพัฒนาบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละพื้นที่ให้สามารถนำข้อมูลไปออกแบบหาวิธีการแก้ปัญหาถึงจุดกำเนิดของฝุ่น PM2.5 ได้โดยตรง โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากกรมควบคุมมลพิษเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา เพราะจากงานวิจัยทำให้รู้ถึงแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 ได้อย่างชัดเจน ซึ่งทุกภาคส่วนมีส่วนในการสร้าง PM2.5 ขึ้น ตั้งแต่ภาคประชาชนจนถึงภาคอุตสาหกรรมเพราะฉะนั้นปัญหาฝุ่นจึงไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน เพื่อลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ให้ลดลง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ปัญหาในอนาคต เพราะทุกคนมิได้มีแต่สิทธิในการสูดอากาศสะอาด แต่มีหน้าที่ทำให้อากาศมีคุณภาพที่ดีปลอดภัยต่อทุกคนอีกด้วย”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: