สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผนึกล้ง หนุนเกษตรกรใช้ถุงห่อทุเรียน Magik Growth ลดสารเคมี สร้างมาตรฐานการส่งออก ตอบโจทย์ BCG
ช่วงปลายเดือน มี.ค. 2567 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รายงานว่าที่สวนทุเรียนคุณต่าย อ.บ่อไร่ จ.ตราด และล้งส่งออกทุเรียน จันทบุรี (ล้งเอ-ต่าย) อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.ณัฐภพ สุวรรณเมฆ นักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ชมการสาธิตการใช้ถุงห่อทุเรียน Magik Growth เพื่อลดสารเคมีและเพิ่มคุณภาพทุเรียนให้กับสวนทุเรียนใน อ.บ่อไร่ จ.ตราด ซึ่งเป็นสวนต้นทางที่ล้งส่งออกทุเรียนจันทบุรี (ล้งเอ-ต่าย) รับซื้อผลผลิตปีละหลายตัน เพื่อส่งทุเรียนไปยังเกาหลี
โดยมี คุณชาญชัย ศรีสุด เจ้าของสวนทุเรียนคุณต่าย และคุณวราภรณ์ ศรีสุด บริษัท ออล ฟรุ๊ท แอนด์ ฟู้ด ร่วมให้ข้อมูลการควบคุมกระบวนการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐานส่งออก พร้อมรับฟังการถ่ายทอดความรู้และศึกษาการใช้นวัตกรรมถุงห่อทุเรียน Magik Growth จากทีมวิจัย เอ็มเทค สวทช. โดยมีเกษตรกรร่วมใช้ถุงห่อทุเรียนกว่า 2,000 ใบ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสารเคมี ก่อนจะทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการส่งออกทุเรียนไปยังตลาดเกาหลีต่อไป
ดร.ณัฐภพ สุวรรณเมฆ นักวิจัย เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีถุงห่อทุเรียน Magik Growth ในการยกระดับมาตรฐานการผลิตทุเรียนคุณภาพเกรดพรีเมียมเพื่อการส่งออกนั้น ปัญหาของชาวสวนทุเรียนยังประสบปัญหาทั้งเรื่องโรคแมลงศัตรูพืชและสัตว์กัดแทะที่ทำลายทุเรียนในระยะพัฒนาผลจนเกิดความเสียหาย ถึงแม้จะใช้ถุงตาข่ายทางการเกษตรห่อทุเรียนเพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืชซึ่งป้องกันหนอนรังได้ แต่ก็ยังประสบปัญหาว่าไม่สามารถป้องกันเพลี้ยแป้งกับราดำได้ ทำให้ผิวทุเรียนไม่สวย และเกิดความเสียหาย เกษตรกรส่วนใหญ่จึงแก้ปัญหาโดยใช้ยาฆ่าแมลงในการฉีดพ่น ซึ่งนอกจากจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ยังเกิดปัญหาสุขภาพตามมา
สวทช. ได้พัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีต่าง ๆ นำมาขยายผลพื้นที่สาธิตเทคโนโลยีเพื่อการทดสอบประสิทธิภาพและเพิ่มมูลค่าทุเรียน โดยมอบหมายทีมวิจัยสิ่งทอ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมมือกับคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำองค์ความรู้เรื่องวัสดุศาสตร์พัฒนาสูตรผสมเม็ดพลาสติก (polymer compound) ร่วมกับเทคโนโลยีการขึ้นรูปนอนวูฟเวน เพื่อให้วัสดุนอนวูฟเวนมีคุณสมบัติให้น้ำและอากาศผ่านเข้าออกได้โดยง่าย รวมถึงมีคุณสมบัติการคัดเลือกช่วงแสงที่เหมาะสมกับเซลล์รับแสงที่ผิวผลไม้ จนได้เป็นนวัตกรรมวิจัยต้นแบบที่มีชื่อทางการค้าว่า Magik Growth หรือ นวัตกรรมถุงห่อผลไม้นอนวูฟเวน ช่วยให้ทุเรียนที่ห่อด้วยถุงห่อ Magik Growth สามารถสร้างสารสำคัญในผลไม้ทั้งแป้ง น้ำตาล สารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ
โดยได้ทดลองทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและระดับภาคสนามในพื้นที่สวนทุเรียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน มีการจัดเก็บข้อมูลผลวิจัยอย่างเป็นระบบ พบว่าถุงห่อทุเรียน Magik Growth ช่วยเกษตรกรประหยัดต้นทุนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากการลดใช้ยาฆ่าแมลงศัตรูพืช สามารถเพิ่มน้ำหนักและคุณภาพผิวผลทุเรียนให้กลายเป็นทุเรียนเกรดพรีเมี่ยมได้ และยังสามารถใช้ถุงห่อทุเรียนใช้ซ้ำได้ถึง 2 ฤดูกาลผลิตทั้งประหยัดต้นทุนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
คุณชาญชัย ศรีสุด เจ้าของสวนทุเรียนคุณต่าย อ.บ่อไร่ จ.ตราด กล่าวถึง การควบคุมกระบวนการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐานส่งออก ว่า ปัญหาสำคัญของการส่งออกทุเรียน คือ ตลาดสาธารณรัฐเกาหลี โดยเฉพาะย้อนหลังไป 2 ฤดูการผลิต (ปี2564-2565) เกษตรกรชาวสวนทุเรียนได้รับผลกระทบจากปัญหาฝนตกมากในประเทศไทย ทำให้เกิดการระบาดของโรคแมลงและเชื้อรากระทบต่อผลผลิตทุเรียน เกษตรกรจึงฉีดยาป้องกันราและแมลงทั้งที่ลำต้นและใบทุเรียนเพื่อป้องกันผลผลิต ส่งผลให้ลูกทุเรียนได้รับผลกระทบจากการฉีดสารเคมีและอาจมีการสะสมที่เปลือกทุเรียน ซึ่งเกษตรกรต้องป้องกันผลผลิตแต่ละฤดูกาลเนื่องจากผลผลิตมีต้นทุนในการดูแลสูง
ดังนั้นสิ่งที่ เอ็มเทค สวทช. คิดค้นและทำนวัตกรรมถุงห่อทุเรียน Magik Growth จึงเป็นสิ่งที่เกษตรกรและล้งส่งออกทุเรียนเห็นด้วยในการป้องกันและบรรเทาสารเคมีได้ อีกทั้งสีของถุงห่อทุเรียนที่มีสีแดงยิ่งทำให้มีความเหมาะสมกับผลผลิตทุเรียน ทั้งการเจริญเติบโตได้ดีและสีแดงยังเป็นสีที่แมลงศัตรูพืชในสวนทุเรียนไม่ชอบเข้าใกล้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การลงทุนใช้ถุงห่อทุเรียนครั้งแรกในฤดูการผลิตนี้คาดหวังว่านวัตกรรมถุงห่อทุเรียน Magik Growth จะช่วยป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการดูแลทุเรียนของเกษตรกรชาวสวนในระยะ 2 เดือนก่อนเก็บเกี่ยวได้ ทั้งเปลือกทุเรียนสะอาดจากการไม่มีเชื้อราดำจากโรคแมลง และเปลือกของผลของทุเรียนแต่ละลูกจะสวยสะอาด ที่สำคัญจะช่วยลดสารเคมีจากการที่เกษตรกรห่อลูกทุเรียนด้วยนวัตกรรมถุงห่อทุเรียนของ เอ็มเทค สวทช.
“การห่อทุเรียนด้วยถุงห่อทุเรียนครั้งนี้เกิดจากการลงทุนของล้ง ซึ่งแม้จะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิต แต่จะเป็นความคุ้มค่าในการช่วยลดผลกระทบจากใช้สารเคมีในการผลิตทุเรียนส่งออก และเพื่อให้ยังคงรักษาตลาดสร้างความเชื่อมั่นของผลไม้ไทยที่ส่งออกไปยังเกาหลี ถึงแม้เกษตรกรจะเสียเวลาเพิ่มในการใช้ถุงห่อทุเรียน แต่ได้ราคาที่ดีขึ้นจากการรับซื้อของล้ง และล้งส่งออกทุเรียนยังได้เริ่มการสร้างมาตรฐานให้ธุรกิจทุเรียนส่งออกให้ทุเรียนมีความยั่งยืน” คุณชาญชัย กล่าวทิ้งท้าย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ