3 โครงการวิจัย สวทช. ทุนล้านช้าง-แม่โขง เปิดตัวผลงานสู่สาธารณะ มุ่งงานวิจัยเห็ด มันสำปะหลัง และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระบบราง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตในประเทศกลุ่มลุ่มน้ำโขง
3 เม.ย. 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงข่าวเปิดโครงการที่ได้รับทุนจากกองทุนพิเศษความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (LMCSF Funded Project) โดยรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อประชาสัมพันธ์แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และขยายเครือข่ายต่อยอดการสร้างผลกระทบของโครงการ จำนวน 3 โครงการของ สวทช. ประกอบด้วยเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีและเพิ่มมูลค่าเห็ดบริโภค การผลิตมันสำปะหลังที่ยั่งยืน และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยมี ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. และนายหม่า มิงเกิง ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ร่วมเปิดงาน พร้อมด้วยนักวิจัยในโครงการ และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าร่วมงาน
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า ในปี 2566 สวทช. ได้รับทุนจากกองทุนความร่วมมือพิเศษล้านช้าง-แม่โขง หรือ LMCSF จำนวน 3 โครงการ โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเห็ดบริโภคได้เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเกษตรที่ยั่งยืนระหว่างประเทศในภูมิภาคแม่น้ำโขง และโครงการส่งเสริมการผลิตมันสำปะหลังที่ยั่งยืนโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภูมิภาคแม่น้ำโขง และโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมในประเทศและการจัดเตรียมร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ตามข้อกำหนดของโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยทั้ง 3 โครงการได้รับสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพิเศษล้านช้าง-แม่โขง (Lancang-Mekong Cooperation Special Fund) ประจำปี 2566 จากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 734,092 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 25,830,423 บาท) ซึ่งกองทุนพิเศษความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงนี้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อการพัฒนาแก่ประเทศลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ไทย เวียดนาม และจีน โดยจะสนับสนุนแก่โครงการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ส่งเสริมการพัฒนาในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง นอกจากนี้ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและจีนปรากฏชัดเจนในความร่วมมือเหล่านี้ โดยไทยเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังประเทศลุ่มน้ำโขง ขณะเดียวกันได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและกิจกรรมความร่วมมืออื่น ๆ จากประเทศจีนเช่นกัน
นายหม่า มิงเกิง (Mr. Ma Minggeng) ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ขอแสดงความยินดีกับ สวทช. ที่ได้รับทุนวิจัยใน 3 โครงการ ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ลงนามข้อตกลงระดับรัฐบาลว่าด้วยความร่วมมือสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งแรกในปี ค.ศ. 1978 จนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมสนับสนุนโครงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่า 1,000 โครงการ นับตั้งแต่การเปิดตัวความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาคครั้งแรก โดยมีเป้าหมายในการสร้างชุมชนที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างจีนกับประเทศในลุ่มน้ำโขง ซึ่งประเทศเหล่านี้ทั้งหมดอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในการเร่งการพัฒนาและตระหนักถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่การปลูกฝังการพัฒนากำลังการผลิตใหม่ ๆ ระดับภูมิภาค เพื่อส่งเสริมความได้เปรียบทางการแข่งขันของอุตสาหกรรม กว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยให้ความสำคัญกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ถือเป็นพลังขับเคลื่อนหลักของประเทศ เห็นได้ชัดเจนจากแผนพัฒนาประเทศไทย 4.0 โมเดล BCG และเป้าหมายการหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยการพึ่งพานวัตกรรมทางเทคโนโลยี
ด้านนักวิจัยในโครงการ ในโครงการแรก ดร.อัมพวา ปินเรือน หัวหน้าโครงการและนักวิจัยทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า โครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเห็ดบริโภคได้เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเกษตรที่ยั่งยืนระหว่างประเทศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (Technology transfer and knowledge exchange on edible mushrooms for economic and agriculture sustainable development among countries in the Mekong region) จำนวน 258,059 ดอลลาร์สหรัฐ (9,072,323 บาท โดยประมาณ) เป็นระยะเวลา 3 ปี (2567 - 2570)
โครงการมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขี้นให้แก่ประชาชนไทยและประชาชนในกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านทรัพยากรเห็ด รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และส่งเสริมความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง กิจกรรมภายใต้โครงการประกอบด้วย การศึกษา พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรเห็ดป่าและคอร์ไดเซบ (กลุ่มถั่งเช่า) ที่ใช้บริโภคได้ในแต่ละพื้นที่ การค้นหาหรือพัฒนาสายพันธุ์เห็ดเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่จะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์นำเข้า รวมทั้งเปิดโอกาสทางการตลาด ส่งเสริมการบริหารจัดการและควบคุมกระบวนการเพาะเห็ดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยการใช้น้ำและพลังงานการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งลดหรือจัดการของเสียจากกระบวนการผลิตเห็ด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มจากเห็ดและคอร์ไดเซบ รวมถึงการเพาะเห็ดร่วมกับไม้ป่าซึ่งจะเป็นการเพิ่มผลผลิตของเห็ดป่าในธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในชนบท สร้างโอกาสการอยู่ร่วมกับป่าได้โดยไม่ทำลายป่าและลดความเสี่ยงต่อการเก็บเห็ดพิษมาบริโภค ซึ่งการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้นี้จะช่วยเพิ่มความสามารถและความเข้มแข็งในอุตสาหกรรมการผลิตเห็ดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเห็ดและคอร์ไดเซบ ควบคู่กับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง
ดร.แสงสูรย์ เจริญวิไลศิริ หัวหน้าโครงการและนักวิจัยทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า โครงการการส่งเสริมการผลิตมันสำปะหลังที่ยั่งยืนโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภูมิภาคแม่น้ำโขง (Promotion of Sustainable Cassava Production in the Mekong Region through Dissemination of Cassava Mosaic Disease Diagnostic and Clean Cassava Seed Production Technologies) จำนวน 288,846 ดอลลาร์สหรัฐ (10,161,603 บาท โดยประมาณ) เป็นระยะเวลา 3 ปี (2567 - 2570)
มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งถือเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมากที่สุดในโลก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังต้องเผชิญวิกฤตโรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดการระบาดอย่างหนัก ส่งผลให้ผลผลิตลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมถึงการขาดแคลนท่อนพันธุ์สะอาดเพื่อนำมาปลูกต่อไป เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคและการขาดแคลนท่อนพันธุ์สะอาด ไบโอเทคได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตท่อนพันธุ์สะอาดที่มีคุณภาพ ทำให้สามารถผลิตต้นพันธุ์ได้ปริมาณมากภายในเวลารวดเร็ว ได้แก่ เทคนิค tissue culture และเทคนิค mini stem cutting นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง สำหรับใช้ตรวจคัดกรองโรคในกระบวนการผลิตต้นพันธุ์สะอาดและการติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคในแปลงปลูก ได้แก่ เทคนิค ELISA และเทคนิค immunochromatographic strip test โดยไบโอเทคได้เริ่มมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวข้างต้น ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยแล้ว ภายใต้โครงการนี้ทีมวิจัยจะนำเทคโนโลยีการผลิตต้นพันธุ์สะอาดและการตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง ไปขยายผลให้เกิดการใช้ประโยชน์ในวงกว้างในกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง
และโครงการที่ 3 ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า โครงการการเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมในประเทศและการจัดเตรียมร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ตามข้อกำหนดของโครงการรถไฟความเร็วสูง (Technological Capability Enhancement of Local Industries and Product Standardization Initiative in Accordance with High-speed Railway Project Requirements) ได้รับทุนวิจัยจำนวน 187,187 ดอลลาร์สหรัฐ (6,596,497 ล้านบาท โดยประมาณ) เป็นระยะเวลา 2 ปี (2567 - 2569)
ปัจจุบันพบว่า บุคลากรในภาคการศึกษา วิจัยและพัฒนา และภาคอุตสาหกรรม ของกลุ่มประเทศล้านช้าง-แม่โขงยังคงขาดทักษะความรู้และความเข้าใจด้านเทคโนโลยีสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาตรฐานสูงสำหรับใช้ในโครงสร้างพื้นฐานของโครงการรถไฟความเร็วสูง รวมถึงอุตสาหกรรมในประเทศที่ยังขาดโอกาสการเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานของโครงการรถไฟความเร็วสูง เนื่องจากมีประสบการณ์ไม่เพียงพอในการผลิตผลิตภัณฑ์มาตรฐานสูงป้อนเข้าสู่การใช้งานในโครงการรถไฟความเร็วสูง ทีมวิจัยจึงเล็งเห็นจุดควรปรับปรุงที่จะนำไปใช้การริเริ่มสร้างกรอบการทำงานที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยเริ่มจากการยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่กำลังดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยสร้างความยั่งยืนเชิงเศรษฐกิจ และสังคมระยะยาวให้กับประเทศในกลุ่มล้านช้าง-แม่โขง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการจัดทำร่างมาตรฐานของสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตในประเทศก่อนเสนอต่อหน่วยงานมาตรฐานระดับประเทศเพื่อใช้อ้างอิงในการประกาศรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับนำไปใช้ในโครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย และจะขยายผลโดยการส่งต่อองค์ความรู้ไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่จะมีโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีประสบการณ์ดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง รวมถึงการสร้างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถไฟความเร็วสูงอย่างเป็นระบบตลอดช่วงระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ