สพฐ.ให้โรงเรียนอัปโหลดรูปอาหารแต่ละวันแบบเรียลไทม์ แก้ปัญหาจัดการอาหารกลางวัน

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 พ.ค. 2567 | อ่านแล้ว 4048 ครั้ง

สพฐ.ให้โรงเรียนอัปโหลดรูปอาหารแต่ละวันแบบเรียลไทม์ แก้ปัญหาจัดการอาหารกลางวัน

สพฐ.ออกมาตรการสกัดปัญหาจัดอาหารกลางวันนักเรียนปี 2567 ให้โรงเรียนอัปโหลดรูปอาหารแต่ละวันแบบเรียลไทม์ ในโปรแกรม Thai School Lunch

เมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย. 2567 เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่าว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการอาหารกลางวันปีการศึกษา 2567 ว่าในปีงบประมาณ 2568 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณโครงการอาหารกลางวัน รวมกว่า 2.5 พันล้านบาท จัดสรรให้โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรุงเทพมหานคร สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อลดภาระผู้ปกครอง และเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยจะมีนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาทุกสังกัด ได้รับอาหารกลางวัน จำนวน 575,983 คน ซึ่งขณะนี้ สพฐ.ได้จัดทำมาตรการและแนวทางในการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวัน โดยปรับปรุงคู่มือการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวัน ประจำปี 2567 ให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้โรงเรียนใช้เป็นแนวทางดำเนินการอาหารกลางวันได้อย่างถูกต้อง ลดภาระครู รวมถึงให้หน่วยตรวจสอบใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยในเดือนพฤษภาคมนี้ สพฐ.จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการผู้รับผิดชอบงานโครงการอาหารกลางวันของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมด และให้ขยายผลไปยังโรงเรียนในสังกัด เพื่อป้องกันปัญหาการดำเนินงานที่ขัดต่อระเบียบของผู้ปฏิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น

“ที่ผ่านมา สพฐ.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนในสังกัดทั้งในเมือง และในพื้นที่ห่างไกลอย่างต่อเนื่อง โดยไม่แจ้งให้โรงเรียนทราบล่วงหน้า และพบว่า เรื่องที่โรงเรียนอาจปฏิบัติไม่ถูกต้อง คือ การจัดซื้อจัดจ้าง ความสะอาดของโรงอาหาร การจัดสำรับอาหาร ปัญหาและอุปสรรคการขนส่งวัตถุดิบอาหารกลางวัน ปัญหาของเด็กเกิดภาวะทฺพโภชนาการ และนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ไม่ได้รับประทานอาหารเช้า เป็นต้น จึงได้นำปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินงานอาหารกลางวัน มาจัดทำเป็นมาตรการ แนวทาง คำแนะนำและคู่มือดังกล่าว พร้อมกันนี้ สพฐ.ได้พัฒนาโปรแกรม Thai School Lunch เพิ่มการเปลี่ยนแปลงรายการเมนูอาหารภายในวัน เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและสามารถอัปโหลดรูปภาพอาหารแต่ละวันแบบ Online real time ซึ่งจะทำให้โรงเรียนจัดอาหารกลางวันที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ คุ้มค่า เกิดความตระหนัก และใส่ใจในการดำเนินงานอาหารกลางวัน ขณะเดียวกันสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ก็สามารถใช้โปรแกรม Thai School Lunch เข้าไป กำกับ ติดตาม ตรวจสอบความถูกต้องของเมนูอาหารกลางวันของโรงเรียนในสังกัดได้” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สพฐ.ยังได้เตรียมการทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อป้องกันการทุจริตการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวัน ร่วมกับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ในการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ การดำเนินงานอาหารกลางวันทุกสังกัดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมั่นใจได้ว่าโรงเรียนจะได้รับเงินค่าอาหารกลางวันทันเปิดภาคเรียนที่ 1/2567 นี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: