เมื่อพิการ, ทำอย่างไรบ้านจึงจะน่าอยู่

อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ รายงาน | คชรักษ์ แก้วสุราช ถ่ายภาพ 3 เม.ย. 2567 | อ่านแล้ว 5132 ครั้ง

 สารคดีภายใต้โครงการ 'ท้องถิ่นสร้าง สื่อสอบ' ชุดนี้จะพาไปยังพื้นที่จังหวัดสุรินทร์เพื่อดูว่าคุณภาพชีวิตของคนพิการที่ไม่ได้อยู่ในตัวเมืองกับการเข้าถึงสิทธิการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยจาก “สวัสดิการของรัฐ” หลังละ 40,000 บาท ตามสิทธิคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่พึ่งได้ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 2550 ในพื้นที่อำเภอรัตนบุรีและอำเภอกาบเชิง ว่าพวกเขาเหล่านั้นสามารถเข้าถึงสิทธินี้ได้หรือไม่? และคุณภาพชีวิตนั้นเป็นอย่างไร? 

ท้องถิ่นสร้าง สื่อสอบ

สารคดีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนชุดนี้ผลิตภายใต้โครงการ สื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวและปมปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั่วไทยในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาการบริหาร การเมือง การปกครอง สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิคนพิการ คนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง การศึกษา เด็กและเยาวชน กีฬา ไปจนถึงเรื่องธุรกิจ อันเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของท้องถิ่นและชุมชน

คำว่าท้องถิ่นในที่นี้ได้รับการตีความอย่างกว้าง ว่าหมายถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ชุมชนในท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้อง ไม่ได้หมายความเฉพาะรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ถึงแม้ว่าสารคดีในชุดนี้จำนวนหนึ่งจะพูดถึงประเด็นปัญหาในกรอบขององค์กรเหล่านั้นก็ตาม

ธรรมาภิบาล (Good Governance) นั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่หน่วยการเมืองหรือการบริหารประเทศเท่านั้น หากหมายรวมถึงองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคมหรือชุมชนต่างๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีการตรวจสอบพฤติกรรมทางเพศของชุมชนนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง อยู่ในสารคดีชุดนี้ด้วย

บ้านหรือที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่มักจะได้รับการออกแบบและก่อสร้างให้บุคคลที่มีสภาพร่างกายปกติ แต่เมื่อผู้อยู่อาศัยมีสภาพร่างกายเปลี่ยนแปลงไป จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ย่อมไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายในบ้านหลังเดิมอีกต่อไป ย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงมันให้สอดคล้องกับสภาพของผู้อยู่อาศัยให้สามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงบุคคลรอบข้างมากนักหรือแม้แต่สามารถอยู่ได้โดยลำพัง แต่ถ้าเจ้าบ้านหรือผู้อยู่อาศัยมีฐานะดีพอจะลงทุนปรับปรุงบ้านหรือหาสิ่งอำนวยความสะดวกคงจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ความเป็นจริงของสังคมไทยในปัจจุบันคือ ผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ขาดรายได้ในชีวิตประจำวัน อย่าว่าแต่จะลงทุนปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับตัวเองเลย

สารคดีชุดนี้จะพาไปยังพื้นที่จังหวัดสุรินทร์เพื่อดูว่าคุณภาพชีวิตของคนพิการที่ไม่ได้อยู่ในตัวเมืองกับการเข้าถึงสิทธิการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยจาก “สวัสดิการของรัฐ” หลังละ 40,000 บาท ตามสิทธิคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการที่พึ่งได้ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ในพื้นที่อำเภอรัตนบุรีและอำเภอกาบเชิง ว่าพวกเขาเหล่านั้นสามารถเข้าถึงสิทธินี้ได้หรือไม่? และคุณภาพชีวิตนั้นเป็นอย่างไร?

ชีวิตยากแค้นแสนสาหัส

บ้านของบุญจง ยินดี และครอบครัว

บ้านหลังแรกเป็นบ้านของคนพิการในอำเภอรัตนบุรี ซึ่งห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ราว 60 กิโลเมตร โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่เนินสูงสลับกับพื้นที่ป่า ระหว่างการเดินทางสังเกตว่าไม่พบเห็นมีรถโดยสารสาธารณะวิ่งผ่านเลยระหว่างการไปมาจากต่างอำเภอเพื่อเข้าตัวเมือง เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาทีจนไปถึงหน้าบ้านของบุญจง ยินดี

บุญจง อายุ 50 ปี เล่าให้ฟังว่าก่อนมีความพิการอาชีพหลักเป็นช่างถนัดทำงานโครงหลังคาเป็นหัวแรงหลักที่ต้องดูแลครอบครัวมีอยู่ 5 คน มีลูกสาวสองคน ลูกชาย 1 คน ลูกสาวคนรองมีความพิการด้านสมองสั่งการช้า ตัวเขาได้รับความพิการจากอุบัติเหตุทางถนนในปี 2565 ทำให้กระดูกไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ แขนและขาอ่อนแรงแต่มือยังพอหยิบของและลุกยืนเองได้บ้าง พอมีแรงที่จะก้าวขาได้บ้างแต่ต้องใช้เกาะรถวีลแชร์ไป ขับถ่ายต้องใช้ยาช่วยและต้องคาสายสวนปัสสาวะเอาไว้

บุญจง ยินดี

“ชีวิตตอนนี้ทำอะไรไม่ได้เลยก็มีแต่แฟนเป็นเสาหลักทุกอย่างต้องทำ ลูกสาวคนรองก็ค่อยช่วยเทฉี่ให้ เวลาถ่ายไม่มีแรงทำเองไม่ได้ ไม่ได้เข้าห้องน้ำ เข็นรถเข็นไม่ได้เคยลองแล้วล้อจมเพราะพื้นที่ในบ้านเป็นดินทราย เวลาอาบน้ำต้องนั่งวีลแชร์แฟนเข็นออกไปอาบข้างบ้าน เวลาอาบก็ใช้ไม้วอกเกอร์ยันตัวเองขึ้นมาแล้วย้ายไปนั่งเก้าอี้แล้วค่อยอาบ เวลากลับขึ้นเตียงเส้นมันหยึดมันจะสั่นงึกๆ ต้องพักเพราะมันเหนื่อยใช้แรงเยอะ”

ปัทมา เภาสะอาด

ปัทมา เภาสะอาด ภรรยา เล่าว่า เธอเป็นคนทำงานหาเลี้ยงครอบครัวคนเดียว เป็นพนักงานเติมน้ำมันมีรายได้วันละ 315 บาท แต่รับเป็นงวดๆ 15 วันครั้ง บางทีกว่าเงินจะออกก็ต้องไปยืมเขามากิน ถ้าวันไหนหยุดก็ไม่ได้ค่าแรงเป็นแบบรายวัน ความจริงต่อให้ขยันทำทุกวันก็ไม่พอกินไม่พอกินอยู่ดี ไหนจะค่าน้ำค่าไฟ ผ้าอ้อมสำเร็จรูป กระดาษชำระ ไหนจะลูกต้องไปโรงเรียน “ปกติทำงานช่วงบ่ายถ้าวันไหนที่อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแพรมเพิรม (ผ้าอ้อมสำเร็จรูป) หนูก็ต้องขอที่ทำงานกลับมาแล้วก็ต้องออกไปทำงานต่อ” เธอเล่า

“เมื่อปีที่แล้วเราวิ่งไปขอความช่วยเหลือหลายหน่วยงาน แต่ไม่มีเลย หนูไปบอกว่าหนูเดือดร้อนนะช่วยหนูหน่อย (เสียงสั่น ร้องไห้) แฟนก็ป่วย แม่ก็ป่วยมันอัดอั้นขออนุญาตนะคะ บางทีอึดอัดมากไม่รู้จะทำยังไง ก็วิ่งเข้าป่าไปร้องตะโกนระบายมันออกมา” ปัทมาสะท้อนชีวิตที่แสนลำเค็ญให้ฟัง

บริเวณที่นอนของบุญจง

ครอบครัวนี้เข้าไม่ถึงบริการของรัฐไม่ว่าจะส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่น พวกเขาเคยลองขอไปทางท้องถิ่นแต่ไม่ได้เพราะบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน “ที่นี่มีบ้านเลขที่ย้ายกันมาอยู่ตรงนี้เมื่อสามปีที่แล้ว ที่อยู่ตรงนี้เขาบอกมาว่าเข้าอยู่อาศัยได้แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ อยู่ในเขตของที่ดินพระราชดำริและทับซ้อนกับพื้นที่ป่า ตอนมาสำรวจของป่าพระราชดำริชก็มาสำรวจกับเขา ที่นี้พอไปประชุมที่ป่าสงวน ป่าไม้รัตนบุรีเขาก็ว่าที่ตรงนี้ก็ของเขา พอดูไปดูมาเป็นทับซ้อนกันให้อยู่อาศัยได้ทำกินได้แต่ห้ามขาย” บุญจง เล่า

พวกเขาอยากจะมีงบประมาณสักก้อนหนึ่งเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยพอที่จะทำให้ บุญจงใช้ชีวิตเองได้บ้าง “ถ้าได้ทำก็โอเคเพราะผมจะได้เข้าห้องน้ำ ไม่ต้องขับถ่ายอยู่ในผ้าอ้อมสำเร็จรูปตลอด ถ้าผมไปเองได้เข็นเองก็สะดวกตัวเอง ไม่ต้องลำบากแฟนมากจะได้ช่วยตัวเองไปด้วย เราก็ได้รู้สึกดีไม่ต้องให้เขาลำบากมาช่วยให้เขาได้ไปทำอย่างอื่นบ้างเขาก็ต้องรับผิดชอบทุกอย่าง ถ้าได้พื้นดีๆคิดว่าคงจะลองทำกับข้าวลองพยายามทำเองให้ได้ ถ้าเป็นแบบนั้นได้จะช่วยแฟนได้เบาขึ้นมาก ตอนนี้กับข้าวแฟนต้องหาให้ทุกอย่าง เวลาจะกินข้าวก็ต้องตักมาให้ แต่ตักกินเองได้ อย่างน้ำแฟนก็ต้องตักมาไว้ให้” บุญจงว่า “ที่ตรงนี้ถ้าจะทำอยู่ถาวรไม่ได้ ถ้าทำให้อยู่อาศัยได้ อยากให้เขาเบิกงบให้มาทำบ้านได้ เทพื้นก่ออิฐ ในฐานะที่ผมเป็นประชาชนคนหนึ่งที่ต้องการเข้าถึงสิทธิ์ ทำให้เรามีกำลังใจสู้ต่อไม่อยากให้ทอดทิ้ง”

ด้านหน้าบ้านของครอบครัวธนชิด สายโฮ้

อีกรายหนึ่ง ธนชิด สายโฮ้ เกิดอุบัติเหตุจมน้ำ ทำให้สมองส่วนควบคุมร่างกายเสียหาย ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองหรือสื่อสารได้ ต้องอยู่ในความดูแลของ สายรุ่ง สายโฮ้ ผู้เป็นพ่อและ กนกกร สอนเลิศ ผู้เป็นแม่ซึ่งมีความบกพร่องทางการมองเห็นอีกด้วย กลายเป็นว่าในครอบครัวที่มีกันทั้งหมด 4 คนมีความพิการเสีย 2 คนได้รับความช่วยเหลือจากทางการในรูปแบบของเบี้ยผู้พิการรวมทั้งสิ้น 1,600 บาทต่อเดือน ครอบครัวนี้ต้องการทำลานหน้าบ้านให้ลูกชายออกไปนั่งเล่นข้างนอกบ้านเพื่อผ่อนคลายบ้างบางเวลา ส่วนผู้แม่อยากได้ห้องน้ำแบบที่มีชักโครก เพราะแบบนั่งยองไม่สะดวก เนื่องจากไม่สามารถลาดน้ำล้างเองได้เพราะตามองไม่เห็น ต้องมีคนคอยช่วยจัดการให้

กนกกร สอนเลิศ และ สายรุ่ง สายโฮ้

กนกกร เล่าว่า “ตอนนี้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิมเพราะขาหักต้องนั่งรถเข็นก็ลำบากยิ่งกว่าเก่าไปอีก และแถมตอนนี้ก็ต้องไปหาหมอไปฟอกไต ก็ต้องยืมรถเขามีตาค่อยช่วยออกทางด้านหลังบ้าน ตาจะเอารถมอเตอร์ไซค์มาจอดหลังบ้าน เราก็ขึ้นท้ายซ้อนรถเขาออกไปหาหมอ”

ที่ซ้ำร้ายคือ พวกเขาไม่รู้เลยว่า มีสิทธิจะได้รับความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง สายรุ่ง บอกว่า เขาทำงานคนเดียวรับจ้างละแวกนั้นได้ค่าแรงรายวันๆละ 350 บาท ถ้ามีงานไกลหน่อยก็รับไม่ได้ เพราะไม่มีใครดูแลคนพิการในครอบครัว  “ไม่รู้เลยว่ามีขั้นตอนขอใช้สิทธิ์อย่างไรบ้าง ไม่รู้เลย เราไม่มีโทรศัพท์ไม่มีอะไรดู ส่วนมากก็ได้ดูแต่ในโทรทัศน์ ไม่ค่อยได้ดูเกี่ยวกับข่าวพวกนี้เท่าไหร่”

ถึงแม้ครอบครัวของธนชิด มาทราบภายหลังว่าตามสิทธิของคนพิการสามารถทำเรื่องขอรับงบปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยได้ แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์นี้ได้เพราะต้องพบกับอุปสรรคเช่นเดียวกันกับกรณีของบ้านบุญจงที่ไม่เอกสารสิทธิ์ที่ดิน

ธนชิด สายโฮ้ และ น้องสาว
 

สิทธิที่เข้าถึงยาก

ทศวรรษ ชิ้นแก้ว นักพัฒนาชุมชน

ทศวรรษ ชิ้นแก้ว นักพัฒนาชุมชนชำนาญการ อธิบายว่า ต่อให้คนพิการรู้ถึงสิทธิ์และมีสิทธิ์ แต่ก็ใช่ว่าจะได้กันง่าย “ขั้นตอนไม่น้อย คนหนึ่งกว่าจะขอได้ อย่างน้อยต้องใช้เวลา 3 เดือน แต่ขึ้นอยู่กับการประเมินการและแบบ ช่างจะมีภาระงานมากน้อยแค่ไหน ถึงแม้เอกสารส่วนอื่นๆเตรียมพร้อมหมดแล้ว แต่ถ้าหากยังขาดแบบและประมาณการก็ยังส่งไปไม่ได้ แต่ถ้าอย่างเร็วประมาณ 2 เดือน”

“แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ท้องถิ่นฝ่ายเดียว แต่ต้องดูด้วยว่าทางเจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงระดับจังหวัด (พมจ.) จะลงมาดูตอนไหนบางครั้งบางหลังรอระยะเวลาที่ยาว อาจเป็นกระบวนการที่มีระยะเวลานานตามระเบียบเขา แต่ถ้าลดได้ก็จะเร็วขึ้น แบบเร็วสุดประมาณหนึ่งสัปดาห์นานสุดก็เป็นเดือน แต่เข้าใจว่ามีภาระหลายที่ แต่อาจจะนานสำหรับคนพิการ” 

ทศวรรษ ทำงานในพื้นที่ อบต.ไผ่ อำเภอรัตนบุรี มา 7 ปี สะท้อนให้ฟังว่ากระบวนการขั้นตอนการเข้าถึงสิทธิการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของคนพิการในพื้นที่ โดยในแต่ละปีเฉลี่ยได้ 2 หลังต่อปี เพราะติดขัดด้านงบประมาณที่ไม่เพียงพอ อีกทั้งกระบวนการนานมีขั้นตอนและใช้ระยะเวลาทำให้เกิดข้อจำกัด ไม่ตอบสนองต่อความต้องของคนพิการในพื้นที่

“เริ่มจากคนพิการต้องบอกความต้องการไปที่ผู้นำชุมชนแล้วเขาลงไปสำรวจ แล้วส่งข้อมูลมาทางนักพัฒนาชุมชน จากนั้นนักพัฒนาชุมชนต้องลงมาตรวจสอบข้อมูลด้วยตัวเองอีกครั้ง รวบรวมเอกสาร ภาพ ข้อมูลส่วนบุคคลและส่งเรื่องไปให้ทาง พมจ. จากนั้นทาง พมจ. ต้องลงมาตรวจในพื้นที่ก่อนทำการอนุมัติ เมื่อข้อมูลตรงกัน จะทำการอนุมัติและมอบหมายให้ช่างของ อบต. เข้ามาทำการออกแบบ เขียนแบบ ประเมินราคา ทำตามความต้องการของคนพิการ และดูว่างบประมาณ 40,000 บาทที่ได้รับสามารถทำอะไรได้ โดยรายการนั้นสามารถแยกเป็นราคาแรงงานก่อสร้างได้ แต่งบซื้อวัสดุจะลดลงเพราะแบ่งจ่ายให้ค่าแรงงานด้วย จากนั้นส่งเรื่องทั้งหมดกลับไปที่ พมจ. อีกครั้งทำการอนุมัติและจึงได้รับโอนงบประมาณกลับมาที่ อบต. และทางท้องถิ่นถึงจะดำเนินเบิกงบและสั่งวัสดุ และหาทีมช่างเข้าไปทำ” ทศวรรษ เล่าขั้นตอนที่ฟังดูแล้วชวนเหนื่อยหน่ายท้อแท้

 

แต่เรื่องนี้พอมีทางออกอยู่บ้าง ทศวรรษ ขยายความว่า เมื่องบประมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนพิการในพื้นที่ ที่มีมากกว่าจำนวนงบที่ได้รับเฉลี่ยปีละ 2 หลัง ชุมชนต้องร่วมกันช่วยตัดสินใจ “ชุมชนเขาสำรวจแล้วเขาก็จัดลำดับ ผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมกันว่าคนไหนลำบากสุด จัดลำดับก่อนหลังว่าหลังไหนควรได้รับ เช่น ที่อยู่อาศัยมีความชำรุดเยอะกว่า ก็ควรได้รับการปรับปรุงก่อน หรืออยู่คนเดียวไม่มีลูกไม่มีหลาน แบบนี้เป็นเกณฑ์ของชุมชน โดยทางชุมชนจะร่วมกันตัดสินใจแล้วงบ 40,000 บาท น้อยไป ถ้าอย่างน้อยควรจะเท่าของงบกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) คือ 70,000 บาท จะเป็นค่าแรงด้วยก็ได้”

 

ชีวิตที่เข้าถึงสิทธิได้ จะเป็นอย่างไร?

ในเขตพื้นที่ตำบลตะเคียน อำเภอกาบเชิง ระยะทางห่างจากตัวเมืองราว 64 กิโลเมตร เป็นเขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่า ห้วยทับทัน ห้วยสำราญ อาชีพส่วนใหญ่ ทำนา ทำไร่ ไร่มันสำปะหลัง และยังมีเขตพื้นที่ติดกับเขตแดนของประเทศกัมพูชา 

ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์น้อย และ สมบัติ จารัตน์ ที่บ้านของพวกเขา

ที่นี่มีความสำเร็จ น้อยและสมบัติ จารัตน์ สองสามีภรรยา อายุ 64 ปีทั้งคู่ น้อยได้จดทะเบียนคนพิการเมื่อ 4 ปีที่แล้ว มีความพิการทางการเคลื่อนไหวจากเจ็บป่วยบวกกับความสูงอายุอาการปวดจากสะโพกร้าวลงขา เวลาเดินจะมึนและชาเป็นมาได้ 7 ปีแล้ว ส่วนสมบัติผู้เป็นสามี มีอาการเจ็บปวดหัวเข่า และไปผ่าสมองเวลานั่งยอง ๆ จะมีอาการปวดและลุกยืนไม่ไหวคล้ายกันกับน้อย และอยู่บ้านกันเพียงสองคน

บ้านของพวกเขา ได้รับการปรับสภาพแวดล้อมที่อาศัยไปเมื่อปี 2564 โดยได้รับการปรับสภาพด้านล่างต่อเติมจากเดิม ซึ่งบ้านเดิมก่อนปรับเป็นบ้านชั้นเดียวยกพื้นสูงมีใต้ถุนบ้านโล่งๆไม่มีผนัง ปัจจุบันได้ปรับด้านล่างทำการก่อผนังอิฐฉาบปูน กั้นห้องนอนข้างล่าง โดยสภาพด้านบนยังคงเป็นวัสดุเก่าจากอดีต

ชีวิตแตกต่างจากเดิม ปัจจุบันไม่ได้ขึ้นข้างบนกันแล้วขึ้นไม่ไหวกันทั้งคู่ ไม่ต้องทรมานตะเกียกตะกาย ขึ้นข้างบนก็นอนอยู่ข้างล่าง ทีนี้ไม่ต้องคลานขึ้นไปแล้วนอนห้องข้างล่าง เวลาจะลงจากข้างบนทุกทีกลัวตกลงมาเพราะขาไม่ดี ชาและเจ็บมาก พอได้อยู่ข้างล่างแบบนี้ ก็รู้สึกดีขึ้น

 

น้อย จารัตน์ และ สมบัติ จารัตน์

พวกเขามีวันนี้ได้ เพราะทางผู้ใหญ่บ้านกับทาง อบต. เข้ามาสอบถามความเป็นอยู่ เห็นว่าขึ้นข้างบนลำบากจึงไปทำเรื่องของบจาก พมจ. มาให้ จากนั้น พจม. ก็ลงมาสอบถามแล้วก็ถ่ายรูปไป แล้วเขาก็เอางบประมาณให้สี่หมื่นบาทรองบประมาณสามสี่เดือน  ผู้ใหญ่ก็ให้สมาชิกลูกบ้าน ขอแรงเขามาช่วยสร้างบ้านให้ทำอยู่ประมาณ 10 วันเสร็จ
กระจายอำนาจช่วยได้?

แม้ว่าคนพิการทุกประเภทความพิการสามารถขอรับสิทธินี้ได้ แต่ด้วยงบประมาณจำกัดท้องถิ่นต้องมีเกณฑ์คัดเลือกให้งบประมาณก่อนหลังผ่านการประชาคมของชุมชนแต่ตามระเบียบของ พมจ. ที่กำหนดไว้ว่า คนที่ขอต้องมีฐานะยากจนลำบากควรได้รับสิทธิ์นี้ก่อน ทว่าด้วยข้อจำกัดที่แตกต่างกันบ้านคนพิการในพื้นที่ ซึ่งมีบางส่วนที่โครงสร้างบ้านต้องทำใหม่เพราะโครงสร้างเดิมหมดสภาพ ถ้าหากใช้งบส่วนนี้ปรับห้องน้ำหรือเทพื้นทำแบบนั้นอย่างเดียวคงอยู่ได้ไม่นานโครงสร้างคงพังก่อน  และยังมีอีกส่วนติดอุปสรรคด้านเอกสารสิทธิ์ที่ดินก็ไม่สามารถเข้าถึงสิทธินี้ได้ ซึ่งในขณะที่แต่ละปีได้รับการการสนับสนุนด้านงบประมาณที่จำกัด ทำให้ท้องถิ่นพบอุปสรรคต้องหาทางแก้ไข จากการขอรับบริจาคร่วมถึงต้องหาช่องทางอื่นๆในการปรับปรุงบ้านให้แล้วเสร็จ

ประยูร สร้อยจิตร รองนายก อบต.ตะเคียน, พิชัย เผยศิริ นายก อบต.ตะเคียน และ จีราภัค จินดาศรี นักพัฒนาชุมชนปฏิบัติ อบต.ตะเคียน

จีราภัค จินดาศรี นักพัฒนาชุมชนปฏิบัติ

จีราภัค จินดาศรี นักพัฒนาชุมชนปฏิบัติ กล่าวว่า งบประมาณสี่หมื่นอย่างในปัจจุบันนี้ อาจจะได้ไม่ตรงตามที่ประมาณการไป เรื่องแรงงานก็เป็นปัญหาหนัก บางทีทำให้การสร้างบ้านปรับสภาพบ้านทำให้ไม่เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด บางทีตั้งไว้สองเดือนอาจจะเลยออกไปอีก บางครั้งใช้ช่างที่เป็นจิตอาสา ก็อาจจะมาจากกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน บางคนติดภารกิจทำงานได้ไม่เต็มที่ เช่นว่าได้งบประมาณมาในช่วงที่กำลังลงไร่ลงนา ช่างเขาก็ต้องแบ่งเวลาลงไปทำงานของตัวเองด้วย ทำให้ไม่มีช่างมาทำบ้านก็ตกเป็นภาระของผู้นำ

พิชัย เผยศิริ นายก อบต. ตะเคียน กล่าวในทำนองเดียวกัน “บางครั้งค่าเหล็กมันแพงขึ้น ไม่สามารถซื้อเหล็กได้ตามสเปคได้ตามแบบแปลนที่เราขอไป ก็ต้องขอสนับสนุนจากเพื่อนบ้านภายในหมู่บ้านช่วยกันเพื่อให้เสร็จถือว่าเป็นความเข้มแข็งของชุมชน และเป็นความร่วมมือของคนในท้องถิ่น หรือบางทีขอความอนุเคราะห์จากหลวงพ่อช่วยปูนสิบกระสอบ อบต. ช่วยอิฐบล็อกร้อยก้อน กิ่งกาชาติช่วยเพื่อให้แล้วเสร็จได้เข้าอยู่อาศัย ทุกหลังที่ได้งบประมาณมาทำงบจาก พมจ.”

ประยูร สร้อยจิตร รองนายก อบต.

ประยูร สร้อยจิต รองนายก อบต. ตะเคียน กล่าวว่า คนพิการที่มีฐานยากจนในพื้นที่มีจำนวนมากและติดปัญหาตรงที่คนพิการไปอยู่ในบ้านของพี่น้องของเครือญาติ และไม่มีเอกสารสิทธิ์เลย กลายเป็นเรื่องติดขัดกฎระเบียบและเกณฑ์ตามที่กำหนด ต้องมีการแก้ไขการติดขัดปัญหาตรงนี้ก่อน ควรยกเว้นระเบียบเรื่องเอกสารสิทธิ์พอให้เราสามารถไปทำให้เขาได้ “พอคนพิการไม่มีเอกสิทธิ์เอกสารก็ขาดโอกาสที่จะได้รับ แบบนี้เขาต้องแบกทุกข์ทรมานอย่างนั้น เราก็ได้ช่วยเหลือแบบเฉพาะหน้ารายวันไป เพื่อให้เขาสามารถดำรงชีวิตได้เรื่องค่ากินค่าครองชีพ” ประยูร กล่าว

พิชัย เผยศิริ นายก อบต.

พิชัย เผยศิริ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ตะเคียน กล่าวว่า หากมีการกระจายอำนาจเพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่นสามารถอนุมัติจ่ายงบได้ ไม่ต้องทำเรื่องส่งกลับไปยัง พจม. ขั้นตอนการอนุมัติมีผลดีกับประชาชนได้ตรงกลับความต้องการ โดยเกณฑ์คัดเลือกให้งบประมาณก่อนหลัง ผ่านการประชาคมของชุมชนแต่ตามระเบียบของ พมจ. ที่กำหนดไว้ว่าคนที่ขอต้องมีฐานะยากจนลำบากควรได้รับสิทธิ์นี้ก่อนแบบนี้จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวขึ้น

“ในส่วนตัวผมที่อยากได้มากคือการกระจายอำนาจ ทั้งอำนาจหน้าที่ตัดสินใจทั้งงบประมาณ ให้ท้องถิ่นได้จัดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้มากขึ้นกว่านี้ งบประมาณตอนนี้อยู่ที่ท้องถิ่น 25 หรือ 35 % ที่อยู่กับท้องถิ่นนิดเดียว แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ที่จังหวัดหรือที่กรมที่กระทรวง อย่างน้อยกระจายลงมา 50/50 ก็ยังดี เช่น เรื่องการปรับสภาพแวดล้อมถ้าติดปัญหาเรื่องที่ดินท้องถิ่นควรออกเป็นพระราชบัญญัติ แก้ไขปัญหาแก้ไขระเบียบ กฎหมายที่สลับสับซ้อนมีเยอะแยะไปหมดเลย ถ้าทำเองได้ทำให้พี่น้องคนพิการเข้าถึงสิทธิ์ แต่ตอนนี้ต้องรอส่งเรื่องไปแก้ไขที่ พมจ. ซึ่งถ้าเป็นไปตามนี้ท้องถิ่นเลือกไม่ทำจะดีกว่า อยู่สบายๆดีกว่าจะไปเสี่ยงหาเรื่องติดคุกทำไม” พิชัย กล่าว

“ถ้าได้รับอำนาจในท้องถิ่น บางทีคนอาจมองทำให้กลายเป็นผู้มีอำนาจในพื้นที่เป็นมาเฟีย แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้น แต่เราจะได้ดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิดและมีงบประมาณ ในการจัดการช่วยในด้านต่างๆได้ อย่างผมมาต้องไม่เกินสองวาระ อยู่แบบไม่ติดต่อกันไม่เกินสองวาระ ซึ่งก็มีกฎระเบียบบังคับอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปแบบนั้นไม่ได้อยู่แล้ว อีกอย่างถ้าบริหารงานไม่ดีสุดท้ายประชาชนเขาก็ไม่เลือกให้ทำงานต่ออยู่ดี” พิชัย เผยศิริ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: