ความรุนแรงหรือการล่วงละเมิดทางเพศในแวดวงนักกิจกรรมและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม สร้างข้อถกเถียงอยู่เสมอมาแต่มีความร้อนแรงอย่างมากในยุคโซเชียลมีเดีย ด้านมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เสนอว่าต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ เพศสภาวะ ขณะเดียวกันเครือข่ายนักกิจกรรมต้องร่วมกันตรวจสอบพฤติกรรมของนักกิจกรรม หากมีกรณีการล่วงละเมิดเกิดขึ้นต้องสนับสนุนให้ผู้ถูกกระทำลุกขึ้นมาต้องสู้และอยู่เคียงข้าง
ท้องถิ่นสร้าง สื่อสอบสารคดีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนชุดนี้ผลิตภายใต้โครงการ สื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวและปมปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั่วไทยในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาการบริหาร การเมือง การปกครอง สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิคนพิการ คนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง การศึกษา เด็กและเยาวชน กีฬา ไปจนถึงเรื่องธุรกิจ อันเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของท้องถิ่นและชุมชน คำว่าท้องถิ่นในที่นี้ได้รับการตีความอย่างกว้าง ว่าหมายถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ชุมชนในท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้อง ไม่ได้หมายความเฉพาะรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ถึงแม้ว่าสารคดีในชุดนี้จำนวนหนึ่งจะพูดถึงประเด็นปัญหาในกรอบขององค์กรเหล่านั้นก็ตาม ธรรมาภิบาล (Good Governance) นั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่หน่วยการเมืองหรือการบริหารประเทศเท่านั้น หากหมายรวมถึงองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคมหรือชุมชนต่างๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีการตรวจสอบพฤติกรรมทางเพศของชุมชนนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง อยู่ในสารคดีชุดนี้ด้วย |
การรณรงค์ร่วมกันยุติการคุกคามทางเพศในกลุ่มนักกิจกรรมเมื่อปี 2562 (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)
ความรุนแรงหรือการล่วงละเมิดทางเพศในแวดวงนักกิจกรรมและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมีจริงไหม? มีเรื่องแบบนี้ในหมู่คนที่ได้ชื่อว่าเป็นพวกหัวก้าวหน้าที่ปรารถนาดีต่อสังคมด้วยหรือ ? คำถามนี้ได้สร้างข้อถกเถียงอยู่เสมอมาแต่มีความร้อนแรงอย่างมากในยุคโซเชียลมีเดียที่ผู้คนสามารถ "กินในที่ลับ ไขในที่แจ้ง”กันได้มากขึ้นและโต้ตอบกันไปมาได้ค่อนข้างเสรี
“ผู้หญิงสมยอมผู้ชายเอง” “พอเลิกกันแล้วก็หาเรื่องผู้ชาย” “ผู้ชายต่างหากตกเป็นเหยื่อมารยาหญิง” และอีกหลายเหตุผลที่สนับสนุนผู้ชาย มักจะเป็นคำอธิบายมาตรฐานของเรื่องนี้
เมื่อพยายามขุดคุ้ยเรื่องนี้อย่างจริงจัง ปฏิเสธไม่ได้ว่าพบ “เรื่องเล่าลือ” หรือ “เรื่องซุบซิบนินทา” อยู่มากมาย ส่วนใหญ่ไม่มีการดำเนินคดีหรือเป็นประเด็นรณรงค์สาธารณะดังเช่นประเด็นทางสังคมเรื่องอื่น ๆ เรื่องเหล่านี้ไม่ได้รับการบันทึกไว้มากนักที่น่าสนใจคือ เราสามารถพบเห็นเรื่องแบบนี้ในสื่อแบบ ผู้จัดการซึ่งแสดงตนเป็นปรปักษ์กับประชาธิปไตยมากกว่าในสื่อซึ่งเป็นที่นิยมของนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง และบ่อยครั้งที่เรื่องพวกนี้เป็นแค่ “เรื่องเล่าข่าวลือ” หรือ “เรื่องซุบซิบนินทา” ที่เก็บไว้เม้าท์มอยพอให้สนุกปากหรือว่าจริงๆแล้วไม่มีเรื่องแบบนี้เพราะวงการนักกิจกรรมจะทำเรื่องชั่วช้าเช่นนี้ได้อย่างไร
เรื่องมันมีอยู่ว่า
การล่วงละเมิดทางเพศในแวดวงนักกิจกรรม เรื่องเล่าที่ 1
สตรีรายหนึ่งโพสต์เล่าย้อนอดีตแห่งความขมขื่นที่ยาวนานตั้งแต่ปี 2543 เมื่อครั้งได้เข้าร่วมกับขบวนสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ก่อนจะถูกชายผู้ที่เธอเคยชื่นชมศรัทธาข่มขืนอย่างต่อเนื่องและขอให้ปิดเป็นความลับ ต่อมาชายรายนี้ได้เป็นถึงศิลปินแห่งชาติ เธอตัดสินใจเล่าเรื่องของเธอบ้างในเวลากว่า 2 ทศวรรษต่อมา หลังจากได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องของคนอื่นๆที่กล้าหาญพอจะนำเรื่องนี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม
ย้อนไปเมื่อช่วงปี 2562 เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมร่วมกันส่ง จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักกิจกรรมเพื่อเรียกร้องให้ร่วมกันยุติการคุกคามทางเพศในกลุ่มนักกิจกรรม โดยระบุว่าการคุกคามทางเพศและอคติทางเพศสร้างพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยในการทำงานร่วมกัน และเป็นอุปสรรคต่อศักยภาพในการเคลื่อนไหวของขบวน โดยจดหมายฉบับดังกล่าวระบุว่าการคุกคามทางเพศ คือ “การทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอึดอัดในเชิงเพศ หรืออึดอัดเกี่ยวกับความเป็นเพศของตนเอง และเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ” นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างรูปแบบการคุกคามทางเพศที่พบในกลุ่มนักกิจกรรมทางสังคม เช่น การแซวหรือวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตาและเสื้อผ้า, การตั้งคำถามเกี่ยวกับความโสดหรือสถานภาพการสมรสของผู้หญิงบ่อย ๆ, การพูดจีบอยู่เสมอแม้ได้รับการปฏิเสธ, การถูกเนื้อต้องตัว จับหัว หลัง ไหล่มากเกินไป การจองห้องพักที่ทะลุถึงกันโดยไม่มีเหตุจำเป็นหรือการพยายามขอเข้ามาในห้องพัก, การพูดล้อเล่นถึงเพศใดเพศหนึ่งเสมือนไม่มีคุณค่าหรือเป็นของเล่นทางเพศให้เพศนั้นได้ยิน แม้โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ, การพูดในเชิงต้องการมีความสัมพันธ์หรือเพศสัมพันธ์แบบล้อเล่น, พูดลอย ๆ พูดกระทบ แซว การรุกเร้าขอมีเพศสัมพันธ์ ฯลฯ
การล่วงละเมิดทางเพศในแวดวงนักกิจกรรม เรื่องเล่าที่ 2
ปี 2552 อดีตผู้ปฏิบัติงานของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ได้คุกคามทางเพศต่อผู้ใต้บังคับบัญชาผู้หญิงในระหว่างการปฏิบัติงาน จากการสอบสวน อดีตผู้ปฏิบัติงานฯ รายนี้ยอมรับว่า ได้จับมือ กอดเอว กอดคอ พยายามหอมแก้ม และใช้คำพูดที่มีลักษณะเป็นการล่วงเกินทางเพศ โดยกระทำการดังกล่าวต่อเนื่องหลายครั้ง ในขณะปฏิบัติงานในหน้าที่ภายในสำนักงานและระหว่างเดินทางไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ โดยที่ผู้เสียหายไม่ได้ยินยอม และได้ปฏิเสธมาโดยตลอด และผู้ถูกกล่าวหายอมรับว่าการกระทำของตนเป็นการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ต่อผู้เสียหาย จึงได้มีการลงโทษด้วยการพักงานเป็นเวลา 1 ปีและต่อมาเขาแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการของ ครส.
เรื่องแบบนี้มีการพูดถึงอยู่เสมอๆ วงเสวนาออนไลน์ "บทบาทรวมถึงข้อท้าทายของนักกิจกรรมทางการเมืองไทยในกลุ่ม LGBTIQ+ - ผู้หญิงในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย" เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2566 ได้มีการอภิปรายถึงความรุนแรงทางเพศในแวดวงนักกิจกรรมและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม
จอมเทียน จันสมรัก เจ้าหน้าที่องค์กรสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมที่ทำงานประเด็นความรุนแรงอันเกิดจากเหตุแห่งเพศ ระบุว่าความรุนแรงทางเพศมันเกิดขึ้นตลอด และเกิดขึ้นอยู่นานแล้วในขบวนการเคลื่อนไหวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นหลักการคลอนแคลนอย่างมาก เอาเข้าจริงแวดวงของผู้ที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมก็ไม่ได้ต่างจากฝ่ายเผด็จการที่พวกเขารังเกียจสักเท่าใด เพราะมักปกป้องพวกเดียวกันเองมากกว่าหลักการ
“เรื่องที่ผู้กระทำเป็นคนฝั่งรัฐ หรือข้างนอกวงการของเรา ก็จะช่วยกันยำอยู่แล้ว เพราะมันเป็นฝ่ายตรงข้าม แต่พอเป็นความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในขบวนแล้ว คนกระทำเป็นคนในขบวนด้วยกันเอง คนที่ถูกกระทำก็จะเจอกับข้อท้าทายเยอะมากๆ ตัวอย่างเช่นคำพูดทำนองว่า ‘อย่าไปพูดเรื่องนั้นเลย’ ‘เดี๋ยวขบวนการจะเสียรูป’ ‘อย่าไปเอาเรื่องเขาเลย เพราะเดี๋ยวเราจะเสียคนไปจากขบวน เพราะคนก็น้อยอยู่แล้ว” จอมเทียน กล่าว
ในหลายกรณีเรื่องทำนองนี้ในหมู่นักกิจกรรมชายที่กระทำต่อนักกิจกรรมหญิง มักจะเงียบไป สุดท้ายแล้วผู้หญิงก็ต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนผู้ชายก็ลอยตัว มีหน้าตา มีพื้นที่ ในวงการนักกิจกรรมต่อไป ซึ่งอาจเป็นมายาคติที่ว่า "เพราะคุณประโยชน์ที่นักกิจกรรมชายเหล่านั้นทำให้แก่วงการ เรา [ขบวนการเคลื่อนไหว] จึงไม่อยากเสียเขาไป"
การล่วงละเมิดทางเพศในแวดวงนักกิจกรรม เรื่องเล่าที่ 3
ช่วงปี 2560 มีกรณีนักศึกษาปริญญาโทชาวต่างชาติที่มาทำวิจัยที่ประเทศไทยเพื่อศึกษาเกี่ยวกับนักกิจกรรม แต่ถูกนักกิจกรรมชาวไทยข่มขืนและเรื่องราวได้รับการกล่าวถึงแบบซุบซิบนินทาที่บุคคลภายนอกไม่สามารถรับรู้ได้ว่า เกิดอะไรที่ไหนอย่างไรและทำไมต้องเกิดเรื่องแบบนี้ด้วย
[ที่มา] และจากการบอกเล่าของกลุ่มนักกิจกรรม
หนึ่งในนักกิจกรรมทางการเมืองเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2563 พร้อมกับรณรงค์เรื่องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศผู้ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อจริง ชี้ว่าปัจจุบันหากมีการคุกคามทางเพศหรือล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นในนักกิจกรรมนั้น การเรียกร้องก็มักจะใช้โซเชียลมีเดียเพื่อให้สังคมสนใจ แต่นั่นไม่ใช่ว่าไม่มีราคาที่ต้องจ่าย เพราะผู้ที่ออกมาเปิดเผยและเรียกร้องกลับต้องแบกรับแรงกดดันด้วยเช่นกัน
"เรารู้สึกหดหู่อย่างหนึ่ง พอมันมีเหตุการณ์คุกคามทางเพศ หรือล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นในนักกิจกรรม หรือในสังคม แล้วจะทำให้เกิดความยุติธรรมได้ มันมีช่องทางไม่กี่ทาง หนึ่งในนั้นคือ การใช้ การคว่ำบาตรทางสังคม ตรงนี้เป็นการฉายให้เด่นชัดก็จริง แต่ก็ทำให้เหยื่อที่ออกมาพูดก็ต้องแบกรับอะไรมากขึ้นจากสังคม แล้วก็อาจจะทำให้พังมากขึ้น พอไม่ถูกเยียวยา ก่อนจะรับรู้ความต้องการของตัวเอง เหมือนคำพูดที่ว่า “ก็เขายังทำคุณูปการให้กับขบวนการอยู่' แล้วเราก็ไม่ได้เสียงดังมาก ขบวนมันไม่ได้ออกแบบมาด้วยคุณค่าแบบสตรีนิยม แต่แรก มันมาด้วยคุณค่าแบบ ‘นักกิจกรรมชายแท้ เผาแม่งเลย ด่าๆๆๆๆ’ มีความ Toxic Masculinity (ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ) ชายแท้เยอะมาก คนแบบใดที่ยังสามารถอยู่ในขบวนแบบนั้นได้ ก็แปลว่าขบวนแบบนั้นก็สร้างมาด้วยคุณค่าแบบนั้น" เธอกล่าวไว้ในวงเสวนาเดียวกัน
การล่วงละเมิดทางเพศในแวดวงนักกิจกรรม เรื่องเล่าที่ 4
ปี 2564 นักเคลื่อนไหวหญิงรายหนึ่งโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่าตนได้เดินทางไปปราศรัยในจังหวัดหนึ่ง โดยมีการถูกชักชวนจากนักกิจกรรมซ้ายชาย แต่ในขณะที่เดินทางไป ได้มีการนอนร่วมห้องกับนักกิจกรรมซ้ายชายที่ร่วมเดินทางด้วย อ้างว่า "ไม่สนิทกับพี่อีกคน" แล้วก็บอกจะนอนสองเตียง แต่พอเข้าพักจริงมีแค่เตียงเดียว แต่ตนไม่ได้ไว้ใจ มีการโทรศัพท์ค้างสายกับคนในทีมไว้ก่อนจะหลับ ประมาณ 03.00 น. รู้สึกเหมือนมีคนมาลูบช่วงขาอ่อนช่วงบน เลยลืมตาขึ้นมาดูแล้วก็ตกใจ เพราะนักกิจกรรมชายที่นอนด้วยกำลังกึ่งนอนกึ่งนั่งลูบตัวอยู่ ในกรณีนี้ผู้ถูกกล่าวหาออกมาเปิดเผยตัวและเล่าเรื่องจากมุมของตัวเอง พร้อมทั้งขอยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้เรื่องทั้งหมดกลายเป็นแค่การโต้แย้งกันไปมาหาข้อสรุปไม่ได้
เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
อังคณา นีละไพจิตร เป็นอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ก่อตั้งมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ อธิบายเอาไว้ในบทสัมภาษณ์ในแคมเปญ Portraits of Women Human Rights Defenders ของ Amnesty International Thailand เมื่อช่วงปี 2563 ว่าปัญหาสำคัญที่สุดของผู้หญิงก็คือ ผู้หญิงมักจะถูกลดทอนความน่าเชื่อถือโดยใช้เพศ เพศสภาพกลายเป็นเครื่องมือในการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง
"เวลาเราทำงานเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในขณะเดียวกันเราก็ถูกละเมิด คุกคาม และกลั่นแกล้ง เมื่อสังเกตจะพบว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้ชายมักจะไม่โดนคุกคามในเรื่องเพศ แต่เมื่อเป็นผู้หญิงจะมีการเอาเรื่องเพศมาเหยียดหยาม สำหรับสังคมไทยที่มองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่แตะต้องไม่ได้เลยสกปรก ต่ำทรามที่สุด และจะใช้เรื่องเพศกับคนที่เราเกลียดเท่านั้น ทำให้ผู้หญิงยิ่งดูเลว ในขณะที่ประเทศไทยก้าวหน้า รัฐบาลพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศแต่กลับไม่มีกลไกในการปกป้องผู้หญิงที่โดนกระทำ" อังคณา กล่าว
การล่วงละเมิดทางเพศในแวดวงนักกิจกรรม เรื่องเล่าที่ 5
ปี 2565 มีการเปิดเผยว่านักกิจกรรมชายรายหนึ่งล่อลวงล่วงละเมิดหญิงสาว ซึ่งบางคนอ้างข้อมูลว่าเหยื่อไม่ได้มีแค่คนเดียว โดยบุคคลที่อ้างตัวเป็นแฟนเก่าของนักกิจกรรมชายรายนี้ บรรยายเรื่องราวระบุว่าฝ่ายชายโน้มน้าวกดดันให้ร่วมหลับนอนหลายครั้ง ทั้งที่ไม่สมยอม และบางครั้งมีการ “ถอดถุงยางอนามัย” พร้อมบอกให้ “กินยาคุม” แต่แทนที่อีกฝ่ายจะเข้าใจความรู้สึก กลับทอดทิ้งแล้วไปร่วมม็อบต่อ โดยช่วงเวลาที่คบหากัน ชอบใช้นิสัย “ชายเป็นใหญ่” บงการความคิด และด้อยค่าร่างกายของผู้หญิง
นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ สื่อมวลชนผู้ติดตามประเด็นการคุกคามทางเพศในแวดวงนักกิจกรรม ได้ให้ความเห็น เรื่องที่ว่าผู้ถูกล่วงละเมิด "ไม่แจ้งความ" ว่าอาจเป็นปัญหาที่กระบวนการสอบสวน การต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ ตอบคำถามละเอียดอ่อน ทำให้หลายคน ไม่ใช่แค่นักกิจกรรม แต่คนทั่วๆ ไปด้วย รู้สึกเหมือนต้องเล่าสิ่งที่เป็นบาดแผลให้คนที่อาจจะไม่รู้สึกปลอดภัยฟังได้
อีกประเด็นคือยังมีคนอีกมากที่รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องส่วนตัว และไม่ได้อยากป่าวประกาศให้ทุกคนรู้ว่าตนเองโดนอะไรมา การต้องแบกชื่อเสียงว่า “ฉันเคยโดนคุกคาม เคยโดนข่มขืนมา” กับบางคนไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจและมองตัวตนเราเหมือนเดิมได้ ไม่ระมัดระวังมากจนเว่อร์ ก็อาจจะซุบซิบแบบที่เราไม่ได้อยากให้เกิดขึ้น ถ้าคิดในมุมการเป็นนักกิจกรรม ซึ่งต้องแบกหลักการและการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนไว้ตลอดต่อหน้าสังคม ถ้าเปิดเรื่องนี้มันอาจหมายถึงเราต้องแบกเรื่องนี้ เป็นตัวแทนไปพูดบนเวที อะไรตลอดเวลา สำหรับบางคนอาจพร้อม แต่หลายคนอาจไม่
“นักกิจกรรมก็เหมือนคนทั่วไป เมื่อต้องเผชิญกับบางเรื่องที่รู้สึกว่าละเอียดอ่อนและยากจะจัดการอารมณ์ความรู้สึกได้ ก็ไม่อาจตัดสินใจได้ทันทีว่า ฉันต้องทำให้เรื่องนี้ถูกต้อง ฉันจะต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของฉัน” นัชชา กล่าว
โลกไม่ได้มีแค่มุมเดียว ในหลายกรณีเช่นกรณีเรื่องเล่าที่ 5 ฝ่ายผู้กระทำและฝ่ายถูกกระทำต่างมีชุดเรื่องเล่าของตัวเอง มีความเชื่อแบบตัวเองแบบที่บุคคลภายนอกยากที่จะรู้ว่าความจริงคืออะไรกันแน่ ถ้าใครคนหนึ่งลุกขึ้นมาเล่าในมุมตัวเอง ก็จะต้องเตรียมพร้อมแรงต้านจากอีกฝ่ายด้วยเช่นกัน
“อีกปัจจัยก็คือเรื่องอำนาจที่ไม่เท่ากันของชาย-หญิงก็อาจมีผล หากคนโดนคุกคามรู้สึกอำนาจน้อยกว่า การจะลุกขึ้นมาพูดความจริงก็ต้องใช้แรงมากขึ้น และเป็นไปได้ว่าอาจจะถูกกลบเกลื่อนทำให้ดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไป” นัชชา กล่าว
การล่วงละเมิดทางเพศในแวดวงนักกิจกรรม เรื่องเล่าที่ 6
ช่วงปี 2565 เยาวชนหญิง 4 คนสมาชิกกลุ่มคนรุ่นใหม่ ถูกสมาชิกสภากรุงเทพฯ (สก.) รายหนึ่ง ชักชวนไปรับประทานอาหารที่คอนโดมิเนียม หลังเลิกกิจกรรม มีการดื่มแอลกอฮอล์ ช่วงผู้เสียหายบางรายเข้าห้องน้ำ สก.รายนี้ อาศัยช่วงเหยื่อเผลอ กอดรัด ไซร้ซอกคอ และจับหน้าอก ต่อมาเยาวชนหญิงทั้ง 4 คน ตัดสินใจเข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีตามกฎหมาย พรรคก้าวไกลลงโทษเขาด้วยการขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรค
พิชญ์สินี ชัยทวีธรรม นักข่าวอิสระและนักเขียน ชี้ว่าสาเหตุการล่วงละเมิดทางเพศในวงการนักกิจกรรมเกิดจากการที่บรรดานักกิจกรรมทั้งหลายไม่ตระหนักเรื่องสิทธิอันเท่าเทียมกันระหว่างบุคคลที่โดยสภาพแล้วแตกต่างกันในแง่ของเพศสภาพและวัย
“ความเข้าใจที่เป็นพื้นฐานโดยปกติ คือ คนทุกคนมีความเท่าเทียมกันคนเท่ากัน มันควรจะเป็นแบบนั้น แต่บางครั้งคนบางคนความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมันไม่ได้มีระดับความเข้าใจที่เท่ากันบางคนมีแนวคิดว่าคนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน บางครั้งคนบางคนความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมันไม่ได้มีระดับความเข้าใจที่เท่ากันทำให้บางครั้งมันขาดเรื่องการขอความยินยอมหรือแม้กระทั่งเรื่องความใส่ใจในความรู้สึกของอีกฝ่าย” พิชญ์สินี กล่าว
“หลายครั้งมันมีการตีความว่าท่าทีแบบนี้คือการยินยอมหรืออาศัยว่าความเข้าใจต่อคำห้วน ๆ ว่าคนเท่ากันที่ไม่ได้เข้าใจมันจริง ๆ เนี่ยเอามาใช้และมองว่าตนเองเป็นคนที่มีความรู้สึกดังนั้นอีกคนนึงก็คงจะมีความรู้สึกมั้งไม่ได้ใส่ใจฝั่งตรงข้ามมองว่าเราก็เป็นคนอีกฝ่ายก็เป็นคนจะทำอะไรกับเขาจะทำอะไรกับอีกฝ่ายก็ทำได้กลายเป็นความคิดคนเท่ากันแบบผิด ๆ เพี้ยน ๆ” พิชญ์สินี ระบุ
“และความชายเป็นใหญ่ในสังคมของนักกิจกรรมนี่แหละที่มันทำให้นักกิจกรรมไม่สามารถออกมาพูด ออกมาแถลงว่าตัวเองได้รับผลกระทบจากการทำงานหรือจากอะไรก็ตามที่มันนำมาสู่การล่วงละเมิดทางเพศ มันจะมีคำว่า “ถ้าคิดจะมีความสัมพันธ์แบบใดก็ตามคิดให้ดี ๆ นะอย่าให้มันกระทบงาน” นอกจากความชายเป็นใหญ่ในสังคมยังมีความคิดแบบนี้อีกมันก็ยิ่งกดไม่ให้เราพูดออกมาว่าที่เราบาดเจ็บอยู่ข้างในใจที่แล้วมาเราถูกล่วงละเมิดผ่านคนที่สู้เรื่องสิทธิมนุษย์เสียชน มันเจ็บปวด”
ยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่มีการตั้งชื่อความสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ชื่อของความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆกลายมาเป็นข้ออ้างมากกว่ามาเป็นตัวจัดการความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกมากที่เราขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนแต่กลับนำเรื่องของความเป็นมนุษย์เช่นรูปแบบความสัมพันธ์ต่าง ๆ มาเป็นข้ออ้างในการล่วงละเมิดเพศตรงข้าม ” พิชญ์สินี ระบุ
วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และผู้ประสานงานด้านประชาธิปไตยกลุ่ม Non-Binary Thailand กล่าวถึงการล่วงละเมิดทางเพศในวงการนักกิจกรรมว่า ขอเริ่มต้นที่พฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์ ที่มีความปรารถนาทางเพศเป็นธรรมชาติเหมือนกัน แต่ความสามารถในการควบคุมความต้องการของตนเองมีไม่เท่ากัน นี่คือการวิเคราะห์ในเรื่องพฤติกรรมเชิงปัจเจก แต่ในเชิงสังคม มันมีบริบทที่ต้องวิเคราะห์มากกว่าเรื่องของความต้องการปรารถนาในระดับปัจเจก เพราะการที่บุคคลหนึ่งจะสามารถกระทำการล่วงละเมิดอีกบุคคลได้ ส่วนหนึ่งจะมีเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ดังที่เรามักจะได้เห็นว่าการล่วงละเมิด คุกคามทางเพศ บ่อยครั้งนอกจากเกิดกับบุคคลที่อยู่ในสถานภาพที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือกว่า นอกจากความเหนือกว่าในเรื่องทางกายภาพแล้ว ยังเหนือกว่าในเรื่องสถานภาพทางสังคม สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นในวงการนักกิจกรรม รวมถึงในพรรคการเมืองนั้น อาจวิเคราะห์ได้ไปถึงเรื่องการใช้โอกาส สถานภาพทางสังคมที่บุคคลในวงการได้รับการยอมรับเชื่อถือ อันนี้คือการวิเคราะห์จากเฉพาะสิ่งที่มองเห็นได้ ในส่วนตัวยังไม่อยากวิเคราะห์ไปถึงเรื่องที่มองไม่เห็น อย่างการเข้าถึงอำนาจ สิทธิพิเศษ หรือผลประโยชน์บางอย่าง
การล่วงละเมิดทางเพศในแวดวงนักกิจกรรม เรื่องเล่าที่ 7
ปี 2565 มีข้อกล่าวว่านักกิจกรรมชายรายหนึ่งได้หว่านล้อมล่อลวงให้บุคคลมีเพศสัมพันธ์กับตนเองโดยไม่มีการป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัย โดยในขณะนั้นมีการระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคือการ “ข่มขืน”
ต่อมาในปี 2566 นักกิจกรรมชายรายนี้ได้เล่าเรื่องของเขาบ้างว่า เขาได้รับขอโทษเป็นการส่วนตัวจากคู่กรณี ซึ่งบอกกับเขาว่าที่เอาเรื่องนี้มาสาดโคลนและปั่นแท็กในทวิตเตอร์เพียงเพราะต้องการที่จะกลับไปอยู่ในความสัมพันธ์กันแบบเดิม แต่นั่นก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงคำตัดสินที่สังคมและมหาวิทยาลัยได้ลงทัณฑ์แก่เขาไปแล้ว เขาจึงได้แต่เพียงระบายความรู้สึกใน โซเชียลมีเดีย เพื่อเยียวยาจิตใจตนเอง
"สิ่งที่อยากให้ทำความเข้าใจกันก่อนคือ นักกิจกรรมทางสังคม นักสิทธิมนุษยชนไม่ใช่พระอรหันต์ ในบทหนึ่งเขาอาจเป็นผู้ปกป้องสิทธิของผู้อื่นในเรื่องหนึ่ง แต่ในอีกบทหนึ่งเขาอาจเป็นผู้กระทำละเมิดสิทธิเสียเอง โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับทางเพศด้วย เราต้องเข้าใจว่า เราอยู่ในสังคมมนุษย์ที่มีดี มีเลว มีกิเลส นี่คือวิถีที่แท้จริงของมนุษย์ แม้แต่สมณะ นักบวชในศาสนาต่างๆ ยังพร้อมที่จะกลายเป็นผู้กระทำผิดธรรมวินัย ข้อบัญญัติที่ตนถือได้ หรืออาจมีแม้กระทั่งผู้ที่มาบวชเพื่อหาประโยชน์จากสถานภาพการเป็นสมณะได้ฉันท์ใด นักกิจกรรมที่เป็นปถุชนก็เป็นเช่นเดียวกัน และอาจจะหนักยิ่งกว่าด้วย" วรภัทร ระบุ "ฉะนั้นหากเกิดเหตุที่นักกิจกรรมเป็นผู้กระทำล่วงละเมิดเสียเอง ก็เป็นเรื่องที่ต้องว่ากันตามเนื้อผ้า ตามความจริง ความผิดของบุคคลนั้น โดยที่ไม่อ้างความดีที่เคยกระทำ มาปกป้องความผิด หรือเป็นข้ออ้างเพื่อพ้นผิดลอยนวล ขณะเดียวกัน ก็ไม่มองเอาความผิดของบุคคลหนึ่งมาเหมารวม โดยหมายว่าความผิดของคนหนึ่งคน จะต้องเป็นความเลวร้ายของคนทั้งขบวนการ"
วรภัทร ระบุต่อไปว่าหากมองวิเคราะห์กันตั้งแต่บริบทสถานภาพทางเพศในสังคมไทย ที่ยังเป็นสังคม "ปิตาธิปไตย" หรือสังคมชายเป็นใหญ่ ยังฝังรากลึกแน่นหนาในสังคมไทยอยู่มาก แม้แต่บุคคลระดับนักกิจกรรม ระดับปัญญาชนที่เรามักคาดหวังว่าเขาจะต้องมีจิตสำนึกเรื่อง Gender-Based Violence (พฤติกรรมความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ หรือ GBV) สูงกว่ามวลชน หรือคนธรรมดาทั่วไป แต่เอาเข้าจริงก็ยังหาเป็นเช่นนั้นไม่ บางครั้ง Bad Joke (มุขตลกรสนิยมแย่) เรื่องเพศอย่าง "เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ" ยังออกมาจากปากคนเป็นนักกิจกรรม นักจัดตั้งมวลชน ปัญญาชนประเภทปิตาธิปไตยด้วยซ้ำ
ภาวะปิตาธิปไตยเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้กรณีการล่วงละเมิดทางเพศจำนวนมากถูกปกปิดเงียบ อย่างเมื่อปีที่แล้ว ผมในฐานะกรรมการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ได้แถลงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2565 ก็ได้นำเอารายงานวิจัยฉบับหนึ่งเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศต่อสตรีพิการที่ทางมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม (มสส.) มาประกอบการรายงานสถานการณ์ด้านความรุนแรงทางเพศ ซึ่งน่าตกใจมาก เมื่ออ่านรายงานแล้ว พอจะสรุปได้เบื้องต้นว่า ราวๆ70% ของกรณีล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว มักเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม คือเข้าไม่ถึงชั้นของการแจ้งความ รับเป็นคดีเลยด้วยซ้ำ ขณะเดียวกัน กรณีที่ถูกรับมาเป็นคดีความ 70% จากจำนวนคดีทั้งหมดนั้น คดีไม่มีความคืบหน้า ไม่นำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิด
การล่วงละเมิดทางเพศในแวดวงนักกิจกรรม เรื่องเล่าที่ 8
ปี 2566 มีการเปิดเผยว่า อดีตผู้สมัคร สส.พรรคการเมืองหนึ่ง ได้ล่วงละเมิดทางเพศโฆษกพรรคการเมืองอีกพรรคหนึ่ง ซึ่งทั้งคู่อยู่ในแวดวงนักกิจกรรม
ยิ่งเป็นบุคคลที่มีความแตกต่างทางเพศสภาพ/เพศวิถี (LGBTQINs+) เรื่องก็ยิ่งยาก บ่อยครั้งคนเหล่านี้มักตกเป็นเป้าหมายของการล่วงละเมิดทางเพศอย่างจงใจ ด้วยเหตุที่มายาคติในสังคมเรายังพร้อมที่จะปิดกั้น กดทับประชากรกลุ่มนี้ได้อยู่ แม้คนเป็นนักกิจกรรม คนที่หวังจะก้าวมาสู่การเมืองจำนวนหนึ่ง ยังคิดว่า "หญิงข้ามเพศ" (Trans Women) มีเพศกำเนิดเป็นชาย แล้วจะไปทำยังไงกับเขาก็ได้ หรือการคิดว่าจะยังไงก็ได้คนที่ไม่ดำรงเพศวิถี (Gender Identity) แบบชาย ไปล่วงละเมิดเขาด้วยวาจา ด้วยการสัมผัสกายแบบไม่เหมาะสม ก็ยังมีอยู่ ดังนั้น กลุ่มผู้มีเพศสภาพ เพศวิถีที่แตกต่าง จึงอาจยิ่งตกเป็นเป้าของการคุกคามทางเพศได้ ด้วยเพราะชุดความคิดแบบนี้
ทั้งนี้ ภาวะการกล่าวโทษเหยื่อ (Victim Blaming) ก็เป็นอีกสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยสำหรับการวิเคราะห์ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญมากๆที่ทำให้เสียงของผู้ถูกกระทำนั้นเบาลงหรือเสมือนถูกปิดปากไปโดยปริยาย เรื่องจึงยิ่งต้องอยู่ในความเงียบ ยิ่งสังคมไทยที่มักวิเคราะห์อะไรกันเพียงผิวเผิน ยิ่งเป็นเช่นนั้น อย่างเช่นการมาตั้งคำถามกลับกับเหยื่อทำนองว่า "แล้วไปกับเขาทำไม?" "ไปให้ท่าเขาเองหรือเปล่า?" "ก็แต่งตัวโป๊เองช่วยไม่ได้?" ซึ่งที่จริงวันนี้เราควรยกระดับบรรทัดฐานกันได้แล้วว่า แม้ต่อให้บุคคลยินดีมีเพศสัมพันธ์กันโดยสมัครใจ ก็ยังต้องเคารพขอบเขตซึ่งกันและกันว่า ยอมมีกันได้ในระดับไหนด้วยซ้ำ ถ้าล้ำเส้น เกินขอบเขตที่อีกฝ่ายยอมรับ จนนำไปสู่การบังคับข่มขืนใจ ก็ควรต้องนับเป็นการล่วงละเมิดทางเพศได้
ผู้ประสานงานด้านประชาธิปไตยกลุ่ม Non-Binary Thailand วิเคราะห์ปัญหาการคุกคามทางเพศสังคมนักกิจกรรมว่า หลายครั้งกลายเป็นเรื่องซุบซิบนินทาไม่ได้เกิดในที่แจ้ง โดยเฉพาะนักกิจกรรมที่มีชื่อเสียงที่จะทำได้อย่างแนบเนียนเลือกที่จะกระทำต่อบุคคลที่ตนค่อนข้างมั่นใจว่าตนเองมีอำนาจเหนือกว่าผู้ถูกกระทำ ควบคุมได้ ปิดปากได้ หรือบิดเบือนปากคำผู้ถูกกระทำได้ รวมถึงสถานะนายจ้าง-ลูกจ้าง ซึ่งมีพลังอำนาจมากพอที่เมื่อถูกเปิดโปงขึ้นมาก็จะมีคนที่พร้อมจะไม่เชื่อว่าตนกระทำผิดจริง มีพวกพร้อมที่จะปกป้องและตอบโต้แทน ทำให้สามารถอ้างได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้ง ดิสเครดิตโดยเหยื่อได้ แล้วยิ่งเมื่อเหตุการณ์ไม่ได้เกิดในที่แจ้ง การหาหลักฐานมาผูกมัดก็เป็นเรื่องยาก
"นอกจากนี้ทั้งยังมีคนในวงการด้วยกัน พร้อมที่จะออกมาปกป้องกันแบบผิดๆ ช่วยกันหาข้อโต้แย้งที่มาทำให้น้ำหนักข้อกล่าวหานั้นอ่อนลงไป อย่างกรณีการล่วงละเมิดทางเพศโดย สก. คนหนึ่ง แล้วมีคนในพรรค(ก้าวไกล) บางคนหาสารพัดข้ออ้างมาปกป้อง โต้แย้งข้อกล่าวหา ภาวะเช่นนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด เพิ่งมีในยุคนี้ มันเคยมีกรณีคล้าย ๆ กันเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อราวๆ เกือบสามสิบ สี่สิบปีก่อนในขบวนการนักพัฒนา ก็เคยมีเรื่องที่ปัญญาชนอาวุโสปฏิบัติไม่เหมาะสมกับผู้หญิงที่วัยวุฒิน้อย จนเรื่องถูกเอานำมาเข้าที่ประชุมวงใหญ่ สุดท้ายจบลงด้วยไกล่เกลี่ยให้ยอมๆกันไป ด้วยถือว่าเรื่องมันไม่ได้ถึงขนาดการคุกคาม ใช้อำนาจหรือขัดขืนใจเพื่อได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนา จนเอ็นจีโอผู้หญิงจำนวนหนึ่งก็ไม่พอใจ เกิดเป็นหมางใจกันในขวนการอยู่หลายปีก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว"
วรภัทร ยังระบุต่อไปว่าสิ่งที่ค่อนข้างผิดหวังมากคือ แม้คุณจะหาข้อโต้แย้งเรื่องลักษณะการล่วงละเมิดมาปกป้องผู้กระทำได้ หลักฐานความผิดยังมีน้ำหนักน้อยก็จริง แต่สิ่งที่มันเด่นชัดคือ การกระทำของ สก. รายหนึ่งที่โดนกล่าวหาเรื่องนี้ กลับเข้าข่ายการ "ฟ้องปิดปาก" (Strategic Lawsuit Against Public Participation—SLAPP) ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหว ช่วยเหยื่อสู้คดี อันนี้เป็นสิ่งที่ผิดแบบเห็นๆ ไม่ได้อยู่ในที่ลับด้วย กระนั้นอย่าว่าแต่คนในพรรคเลย คนในขบวนการสิทธิมนุษยชนบางคนเองยังไม่เข้าใจเลยว่านี่คือการ SLAPP แค่ว่าไม่ได้กระทำในนามของอำนาจรัฐ แล้วไปมองว่าเป็นเรื่องทางการเมืองเสียได้ เป็นสิ่งที่ผมค่อนข้างรู้สึกเจ็บใจอยู่มาก แล้วมันก็กลายเป็นเหตุให้พรรคฝ่ายตรงข้ามกันเอามาเป็นข้อโจมตีได้
ไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก (ต้องทำอย่างไร?)
สำหรับแนวทางการป้องกันปัญหานี้ วรภัทร มองว่าสิ่งที่ควรทำคือ ต้องทำให้เกิดการยอมรับผิดอย่างจริงจัง มีการขอโทษ แสดงความรับผิดชอบอย่างจริงใจ คนในขบวนการนักกิจกรรมด้วยกันต้องสร้างสังคมในแวดวงของตนให้เป็นเช่นนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ผมเองก็เคยมีนักกิจกรรมรุ่นพี่ที่เคารพนับถือ เคยผิดพลาดในกรณีแบบนี้มา พี่เขาก็แสดงสปิริตด้วยการลาออกจากองค์กรเอ็นจีโอที่ตนรับเงินเดือนอยู่ ลาออกจากตำแหน่งในองค์กรต่างๆ แล้วใช้เวลาเพื่อพิสูจน์การสำนึกต่อความผิดของตน ก็อาจจะน่าเสียดายอยู่หน่อย ที่หากไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น รุ่นพี่ผมคนนี้กำลังอยู่ในช่วงที่รุ่งเรือง เจริญก้าวหน้าอย่างถึงที่สุด แต่เมื่อเขาทำผิดแล้ว เขาก็ต้องพร้อมรับผิดชอบสิ่งที่ตนเองทำ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะกลับเข้ามาในวงการนักกิจกรรมไม่ได้อีกเลย ถึงจุดหนึ่งเขาก็กลับมาได้ พวกผมก็ยินดีต้อนรับด้วย
"เราต้องขจัดสภาวะการพ้นผิดลอยนวล การกล่าวโทษเหยื่อให้หมดไป เราให้โอกาสคนทำผิดเริ่มต้นใหม่ได้ แต่เราต้องไม่กลบเกลื่อนสิ่งที่เขาทำผิด เราต้องให้เขารับผิดชอบอย่างจริงจัง ขอโทษอย่างจริงใจให้ได้ก่อน มิเช่นนั้นแวดวงพวกเราจะยิ่งดูแย่ ไม่น่าเชื่อถือในสายตาคนภายนอก ... เดี๋ยวนี้องค์กรเอ็นจีโอบางองค์กร หากคุณไปสมัครงาน นอกจากต้องเซ็นยอมรับนโยบายการไม่ล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานแล้ว เขาจะมีให้คุณเซ็นยอมรับนโยบายเรื่องการที่ต้องไม่มีพฤติกรรมการลามกอนาจารเด็ก รวมถึงเซ็นรับทราบนโยบายการป้องกันการแสวงประโยชน์และการละเมิดทางเพศ ก่อนเริ่มสถานภาพเป็นเจ้าหน้าที่องค์กรด้วยนะ เพื่อป้องกันการที่คุณอาจหาประโยชน์ทางเพศต่อประชากรกลุ่มเป้าหมายที่คุณเข้าไปทำงานพัฒนา ให้ความช่วยเหลือ เพราะสถานภาพผู้ให้การช่วยเหลือ ผู้รับการช่วยเหลือ ก็อาจเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นำมาสู่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เอื้อต่อการกระทำละเมิดได้เช่นกัน นี่คือสิ่งที่นักกิจกรรม คนจะทำงานเพื่อยกระดับสังคมต้องสร้างมาตรฐานเพื่อป้องกันการหาประโยชน์ทางเพศจากการทำงานเพื่อสังคม" วรภัทร ระบุ
จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ระบุว่าการล่วงละเมิดทางเพศในวงการนักกิจกรรมนั้น สาเหตุจากแนวคิดชายเป็นใหญ่ ด้วยสังคมไทยเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับความเป็นชาย ส่งผลให้ผู้ชายในสังคมไทยมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิงในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งนักกิจกรรมบางส่วนที่เป็นผู้ชายก็มีแนวคิดไม่ต่างจากผู้ชายในอาชีพอื่นทั่วไป แต่มีแนวคิดที่ก้าวหน้าในบ้างเรื่อง แต่เมื่อเป็นเรื่องเพศกลับไม่ได้มองถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน กลับใช้อำนาจความเป็นชายกดทับผ่านการล่วงละเมิดทางเพศ เช่น การคุกคาม การข่มขืน เป็นต้น
“ในส่วนที่ไม่มีการดำเนินการใด ๆ ด้วยระบบคิดชายเป็นใหญ่ร่วมกับระบบอุปถัมภ์ ที่ลักษณะแบบพักพวก เพื่อนพ้อง พี่น้อง ส่งผลให้มีการช่วยเหลือกันเอง และมองว่าการล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องเล็ก ด้วยการที่ระบบคิดชายเป็นใหญ่จะไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ มองเป็นเรื่องของความรัก เป็นเรื่องปกติ เรื่องเล็ก ปัญหาการล่วงละเมิด ไม่ควรจะมาพูด จะทำให้ขบวนพัง ผู้ถูกกระทำบางส่วนก็จะมีความคิดที่กล่าวโทษตัวเองหากตัวเองกลายเป็นตัวปัญหา หรือบางส่วนลุกขึ้นมาเรียกร้อง ก็จะถูกขบวนมองว่าทำให้ขบวนเสียและมีการปกป้องช่วยเหลือกันเองให้หมู่นักกิจกรรม” จะเด็จ ระบุ
ในด้านแนวทางป้องกันเรื่องนี้ จะเด็จไล่เรียงไว้ว่า
- กลุ่มจะต้องมีการเช็คแนวคิดของผู้ที่เข้ามาร่วมขบวนว่ามีมุมมองเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอย่างไร ซึ่งควรให้ความสำคัญกับสิ่งนี้เป็นอย่างแรก เพราะหากแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมนั้นไม่ได้ ก็จะทำให้ส่งผลต่อปัญหาในขบวนการและเครือข่ายได้
- ต้องมีการฝึกอบรมในประเด็นเพศสภาวะ (Gender) พัฒนาแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมอย่างต่อเนื่อง ด้วยสังคมที่เป็นพลวัต การอัพเดตแนวคิดใหม่ ๆ เข้ามา และทำความเข้าใจถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น เช่น ความยินยอม (Consent) เป็นต้น
- เครือข่ายนักกิจกรรมต้องร่วมกันตรวจสอบพฤติกรรมของนักกิจกรรม วิจารณ์และตักเตือนกัน หากมีกรณีการล่วงละเมิดเกิดขึ้นต้องสนับสนุนให้ผู้ถูกกระทำลุกขึ้นมาต้องสู้ และยืนเคียงข้าง
“มองว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นที่นักกิจกรรมต้องไม่ละเมิดและคุกคามทางเพศ เพราะแนวคิดนี้ถือเป็นพื้นฐานของนักกิจกรรมทุกคน ซึ่งหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น นักกิจกรรมต้องร่วมกันต่อต้าน และปฏิเสธพฤติกรรมดังกล่าว โดยต้องไม่มี "ขุนแผน" (นักกิจกรรมที่ต่อสู้ในประเด็นทางสังคมต่าง ๆ แต่กลับมีพฤติกรรมเจ้าชู้ ล่วงละเมิด คุกคามทางเพศ) ในวงการนักกิจกรรม จะเด็จ ระบุทิ้งท้าย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ