ภาพลักษณ์ของสตรีในภาคเหนือเป็นอะไรได้มากกว่ากิริยาอ่อนหวาน หรือภาพลักษณ์ที่กำหนดโดยชนชั้นนำทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่เพศสตรีภาคเหนือยังมีบทบาททางการเมืองและสังคมได้เสมอหน้าเพศบุรุษเช่นกัน และผลเลือกตั้งหลายจังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะกรณีเชียงใหม่ ที่นักการเมืองสตรีตบเท้าเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกำลังสะท้อนอะไร?
ท้องถิ่นสร้าง สื่อสอบสารคดีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนชุดนี้ผลิตภายใต้โครงการ สื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวและปมปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั่วไทยในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาการบริหาร การเมือง การปกครอง สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิคนพิการ คนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง การศึกษา เด็กและเยาวชน กีฬา ไปจนถึงเรื่องธุรกิจ อันเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของท้องถิ่นและชุมชน คำว่าท้องถิ่นในที่นี้ได้รับการตีความอย่างกว้าง ว่าหมายถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ชุมชนในท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้อง ไม่ได้หมายความเฉพาะรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ถึงแม้ว่าสารคดีในชุดนี้จำนวนหนึ่งจะพูดถึงประเด็นปัญหาในกรอบขององค์กรเหล่านั้นก็ตาม ธรรมาภิบาล (Good Governance) นั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่หน่วยการเมืองหรือการบริหารประเทศเท่านั้น หากหมายรวมถึงองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคมหรือชุมชนต่างๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีการตรวจสอบพฤติกรรมทางเพศของชุมชนนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง อยู่ในสารคดีชุดนี้ด้วย |
ภาพจำของคนไทยต่อผู้หญิงในภาคเหนือหรือ “สาวเหนือ” นั่นคือ เป็นผู้หญิงที่มีกิริยาอ่อนหวาน นิ่มนวล และสวยงาม [ที่มา: ภาพจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา]
"ผู้ชายที่ชอบสาวเหนือชอบเพราะอะไรกันคะ"
"ทำไมสาวเหนือถึงสวยและน่ารักดึงดูดใจกว่าสาวภาคอื่นๆครับ"
"ผมสงสัยครับ เค้าว่ากันว่า สาวเหนือเนี่ย หลายใจ ใจง่าย ชอบหลอก"
"การค้าประเวณีภาคเหนือสมัยก่อน"
"ตำนานดอกคำใต้" การค้าประเวณีที่ก่อค่านิยมเป็น "โสเภณี"
"ค้ากามแม่ฮ่องสอน ย้อนวลี 'ตกเขียว' ส่งเด็กบำเรอนาย ไม่หายจาก ..."
"โตไปก็ขายตัว เรียนไปก็เท่านั้น คำพูดคำดูถูกที่ได้ยินมาตั้งแต่เด็ก #ประภาสาวไทใหญ่ #ชีวิตต้องสู้ #สาวเหนือ"
"สาวเหนือขายX จะสวย น่ารัก ซี้ดซ้าด แค่ไหนมาดูกัน !!"
"[ผู้หญิงขายตัว] สาวเหนือ นมใหญ่แท้แม่ให้มา อัธยาศัยดี กทม นะคะ"
"คลิปโป๊สาวเหนือ XXX คน จีน"
"สาวเหนือขายบริการที่ท่าขี้เหล็ก เอาสดแตกใน ใส่ปากได้ - หนังXXX"
"สาวเหนืออยากเหลือใช้เข้ากรุงมาขายบริการให้ฝรั่งซื้อไปซั่ม"
หนังโป๊ไทย XXX สาวเหนือไกลบ้านขาย X ที่พัทยา
"xxxxซั่ม X สาวเหนือเชียงใหม่ ขายตัวนวดกะปู๋ขอน้องถ่ายไว้ว่าว หลุด ..."
"Clipสาวเหนือ18+ ไม่เคยโดน XXX มาขายตัวครั้งแรก แหกขาไม่เป็น ก็ ..."
นี่คือตัวอย่างข้อความที่ผุดขึ้นมาจากการค้นหาเมื่อลองใช้คำค้นที่มีคำว่า "สาวเหนือ" ประกอบการสืบค้น (สืบค้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566) ส่วนหนึ่งได้สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่มาพร้อมกับภาพจำของเกี่ยวกับความสวยงามของสาวเหนือคือแง่มุม “ในเชิงเพศสัมพันธ์” มากกว่าผู้หญิงภูมิภาคอื่น เมื่อเทียบคีย์เวิร์ดในการค้นหาคำว่า “สาวใต้” “หรือ“สาวอีสาน” ที่มักจะได้แค่ชื่อเพลง และยิ่งไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลยเมื่อใช้คำว่า “สาวภาคกลาง” หรือ “สาวกรุงเทพ”
แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรภาพลักษณ์ในอดีตของสาวเหนือที่ว่ากิริยาอ่อนหวาน นิ่มนวล สวยงาม แม่บ้านแม่เรือน ที่ปรากฏในวรรณกรรมหรือเพลงนั้นตรงตามลักษณะที่ชนชั้นที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองสร้างเอาไว้ เพื่อการท่องเที่ยวหรือพูดให้ตรงกว่านั้นสาวเหนือเป็นวัตถุดิบชั้นดีของธุรกิจบริการทางเพศซึ่งความจริงแล้วเป็นเครื่องยนต์แรงสูงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั่นเอง
ในความเป็นจริงผู้หญิงในภาคเหนือเป็นอะไรได้มากกว่านี้ สามารถมีบทบาททางการเมืองและสังคมได้เสมอหน้าบุรุษเพศเช่นกัน แต่คำถามแห่งยุคสมัยปัจจุบันคือ มายาคติที่มีมาแต่ปางอดีตเป็นอุปสรรคหรือไม่ อย่างไร และเมื่อไหร่จะหลุดพ้นกันไปได้เสียที
นิยายแฟนตาซีของแม่หญิงเหนือ
ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์ นักวิจัยสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผู้ศึกษาและมีงานวิชาการเกี่ยวกับประเด็นเพศสภาวะ
ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์ นักวิจัยสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) อธิบายว่ามายาคติต่อผู้หญิงเหนือในฐานะแฟนตาซีหรือความ exotic ทางเพศของผู้ชาย (กรุงเทพเป็นส่วนใหญ่)เกิดขึ้นเมื่อกรุงเทพขยายอิทธิพลและเข้าไปปกครองหัวเมืองล้านนาในสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้หญิงล้านนาถูกมองว่าไม่รักนวลสงวนตัว ขี้เกียจ ไม่เป็นแม่บ้านแม่เรือนผิดไปจากมาตรฐานของชาวเมืองหลวง ดังปรากฎในเรื่องราวของ “สร้อยฟ้า” ตัวละครในเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่แม้ว่าจะเป็นถึงธิดาของกษัตริย์เชียงใหม่ แต่ก็ถูกสร้างภาพให้เจ้าแง่แสนงอน ไม่มีความเป็นกุลสตรี ไม่เป็นแม่บ้านแม่เรือน
ในชีวิตจริงนั้นแม้แต่ เจ้าดารารัศมี พระธิดาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ที่ลงไปประทับในราชสำนักกรุงเทพในฐานะพระราชชายารัชกาลที่ 5 ก็ยังถูกกระแหนะกระแหนจากสาวชาววังกรุงเทพว่าเป็น “ลาว” เช่นกัน แต่นั่นดูเหมือนไม่ได้เป็นแรงขับดันสำคัญที่ทำให้ เจ้าดารารัศมียืนหยัดต่อสู้แต่อย่างใด ตรงกันข้ามเธอกลับใช้อิทธิพลของราชสำนักกรุงเทพฯเปลี่ยนแปลงให้ภาพลักษณ์ผู้หญิงชาวเหนือกลายเป็นแฟนตาซีทางเพศเด่นชัดมากขึ้น เมื่อพวกเธอถูกฝึกหัดให้ฟ้อนรำในชุดแต่งกายพื้นเมืองที่งดงาม ทัดดอกเอื้อง ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองจนภาพเหล่านั้นกลายเป็นส่วนสำคัญของโปสเตอร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวมาจนถึงปัจจุบัน
“การสร้างภาพนี้ทำโดยกลุ่มนายทุนที่พยายามส่งเสริมและขายวัฒนธรรม ประเพณี ความสวยงามของจังหวัดทางภาคเหนือ หากจำกันได้ไม่กี่สิบปีมานี้ก็จะมียุคที่เด็กสาวจากทางจังหวัดภาคเหนือเข้าสู่การค้าประเวณี เป็นยุคตกเขียว เหล่านี้ล้วนแล้วมีที่มาจากมายาคติทางเพศเกี่ยวกับผู้หญิงเหนือว่าสวยงาม ผิวขาว อ่อนโยน น่ารักทั้งสิ้น ซึ่งมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นช่วงนี้ไหลเวียนอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน แม้จะลดความเข้มข้นไปมากในระยะหลังและเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายังคงมีอยู่บ้าง” ภัทรัตน์ กล่าว
การศึกษาเรื่อง "จากสาวเครือฟ้า สู่กาสะลอง ซ้องปีบ และส้มป่อย: การสร้างภาพผู้หญิงล้านนาภายใต้แนวคิดเรื่องเพศทวิลักษณ์และปิตาธิปไตยแบบตะวันตก" โดย กิตติยา มูลสาร ให้คำอธิบายคล้ายๆกันว่า เมื่อสยามได้รับอิทธิพลแนวคิดเรื่องเพศจากตะวันตกและนำเอาแนวคิดนั้นเข้ามาใช้ในการปกครองล้านนาด้วย ก็ทำให้มุมมองเรื่องเพศกลายเป็นลักษณะของการแบ่งขั้วเชิงอำนาจระหว่างเพศไปด้วย โดยที่ผู้ชายมีอำนาจมากกว่าผู้หญิงตามแนวทางของปิตาธิปไตย
รวมความแล้วผู้หญิงชาวเหนือถูกกดทับด้วยวัฒนธรรมเชิงช้อนหลายชั้น ตั้งแต่ความอ่อนด้อยตามลักษณะทางกายภาพและเพศสภาพ ความแตกต่างทางอัตลักษณ์จากชาวเมืองหลวงไปจนถึงอำนาจทางการเมือง
นอกจากนี้ “สื่อบันเทิง” สมัยใหม่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วย “ทำซ้ำ” มายาคติเกี่ยวกับผู้หญิงภาคเหนือตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยภาพของผู้หญิงภาคเหนือที่ปรากฏในสื่อบันเทิงโดยเฉพาะ “ภาพยนตร์” และ “ละคร” มักจะถูกนำเสนอเป็นวัตถุทางเพศ ถูกนำเสนอให้มีลักษณะอ่อนแอ จะสามารถเป็นผู้หญิงที่ดีได้ต่อเมื่อมีความสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามเท่านั้น
มีตัวอย่างการวิเคราะห์ ชี้ว่าละครและภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับภาคเหนือหรือดินแดนล้านนา ได้นำเสนอผ่านมุมมองแบบอาณานิคมภายใน สร้างภาพจำเกี่ยวกับภาคเหนือทั้งในแง่มุมแบบถิ่นไทยงาม ศิลปวัฒนธรรมและภาพลักษณ์ของผู้หญิงภาคเหนือที่ใสซื่อบริสุทธิ์ ย้อนไปในอดีตตั้งแต่ บทละครร้อง "สาวเครือฟ้า" ที่รับความนิยมอย่างมาก และมีการนำไปผลิตซ้ำเป็นภาพยนตร์อีกในเวลาต่อมา ถัดจากนั้น ก็ "วังบัวบาน" ที่ถูกผลิตซ้ำเป็นภาพยนตร์เช่นกัน รูปแบบเช่นนี้ยังปรากฏในละครยุคต่อมาอย่าง "ดอกรักบานที่สันกำแพง" "แหวนทองเหลือง" "แม่อายสะอื้น" ฯลฯ
แม่ญิงอยู่แถวหน้า (ไม่ได้หรือ?)
ปัจจุบันมีกระแสที่ผู้หญิงทั่วโลกได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ ผ่านกิจกรรมทางสังคมมากมายทั้งเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม หรือการเมือง ไม่น้อยหน้ากว่าผู้ชาย แต่ก็ยังมีอุปสรรคและปัญหาในการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมผู้หญิงทั่วโลกอยู่ด้วยเช่นกัน ภาคเหนือของประเทศไทยเอง ก็มีปัญหาด้านต่าง ๆ มาอย่างช้านาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม หรือสิทธิมนุษยชน ขบวนการทางสังคมในภาคเหนือก็มีประวัติมาอย่างยาวนาน และผู้หญิงก็เป็นเรี่ยวแรงสำคัญของขบวนการ
ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียนและนักแปลอิสระผู้ติดตามขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมาอย่างต่อเนื่อง
ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียนและนักแปลอิสระ มองว่าถ้ามองในแง่ของสภาพแวดล้อมภายนอกของประเทศไทย (ซึ่งรวมถึงภาคเหนือด้วย) ว่าแม้จะเราโชคดีกว่าในหลายประเทศตรงที่ผู้หญิงใช้ชีวิตอิสระได้พอสมควร แต่นักกิจกรรมไทยมักมีข้อจำกัดใหญ่คือครอบครัว ครอบครัวส่วนใหญ่ไม่ส่งเสริมการเป็นนักเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรม รวมทั้งห้ามปราม ไปจนถึงกดดันบังคับไม่ให้เข้าร่วมการทำกิจกรรมด้วย ถ้ามองเงื่อนไขจำกัดของสภาพแวดล้อมภายในแล้ว ภัควดีบอกว่านักกิจกรรมหญิงยังพบอุปสรรคหลายอย่างทั้งมีผู้นำหญิงน้อย กรอบคิดชายเป็นใหญ่ และปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ
“ถึงแม้ผู้หญิงจะมีจำนวนสัดส่วนเป็นนักกิจกรรมสูงมาก แต่มักมีสัดส่วนที่เป็นผู้นำน้อยกว่า องค์กรนักกิจกรรมจำนวนมากยังมีแนวคิดผู้ชายเป็นใหญ่ นักกิจกรรมหญิงยังมักประสบปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศจากนักกิจกรรมชาย ยังต้องมีการแก้ไขเรื่องทัศนคติและความเข้าใจอีกมาก” ภัควดี กล่าว
กนกพร จันทร์พลอย ประสานงานโครงการฯ มูลนิธิสื่อประชาธรรม (ที่มา: Teerapong Seetaso)
กนกพร จันทร์พลอย ผู้ประสานงานโครงการฯ มูลนิธิสื่อประชาธรรม ระบุว่าผู้หญิงนั้นมีความสามารถในการทำกิจกรรมทางสังคมเช่นเดียวกับผู้ชาย ซึ่งผู้หญิงชาวภาคเหนือก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน แต่บางครั้งผู้หญิงชาวเหนือชอบที่จะทำอะไรอยู่เบื้องหลังมากกว่า ส่วนตัวของเธอนั้นชอบทำงานอยู่ข้างหลังและสนับสนุนคนอื่นมากกว่าเช่นกัน
"เราเป็นคนเชียงใหม่ตั้งแต่เกิด เอาจริง ๆ เรามองว่าการเป็นผู้หญิงมันไม่ใช่ปัญหาขนาดนั้น แต่ถ้ามองมิติการมีส่วนร่วมในทางสังคม ฐานะสื่อมวลชนที่เราเริ่มทำมาแค่ 1 ปีเศษ ๆ ก็เห็นว่างานอีเว้นท์ในเชียงใหม่มันจะไม่ได้มีสถานการณ์ที่กดดันขนาดนั้น แต่ในเชิงการทำงานร่วมกับทีม เราเป็นคนที่ชอบที่จะสนับสนุนด้านหลังมากกว่า" กนกพร กล่าว
กนกพร ยังมองว่าอุปสรรคในการทำงานของผู้หญิงโดยเฉพาะคนที่ต้องดูแลครอบครัวก็มีเหมือนกัน เช่นภาระทางบ้านของครอบครัวหญิงล้วนเช่นเธอ
"ยังรู้สึกมีห่วงถึงครอบครัว เรื่องที่บ้าน เพราะบ้านเราตอนนี้มีแต่ผู้หญิง และเรามีภาระที่บ้านที่ต้องถูกกดดันว่าให้เป็นผู้นำ ยิ่งต้องทำให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัยไว้ก่อนเสมอ เพราะหากตัวเรายังไม่ปลอดภัย เราจะดูแลคนที่บ้านได้ยังไง อันนั้นคือคำถามที่เกิดขึ้นในหัวเสมอเวลาจะทำอะไรที่เสี่ยง" กนกพร กล่าว
ระบบรวมศูนย์ที่ปิดกั้น
ณัฐมน สะเภาคำ ผู้ร่วมก่อตั้ง Sapphic Pride และนักวิจัยสายสตรีนิยม [ที่มา: ภาพจาก Young Pride Club]
ณัฐมน สะเภาคำ ผู้ร่วมก่อตั้ง Sapphic Pride และนักวิจัยสายสตรีนิยม ได้ให้ภาพผู้หญิงภาคเหนือกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมว่าจากมุมมองของตัวเองในฐานะที่เป็นเด็กผู้หญิงคนนึงที่เติบโตในสังคมภาคเหนือ จะเห็นว่าในอดีตนั้นบทบาทของผู้หญิงค่อนข้างที่จะเข้มข้น ตัวอย่างเช่นเราจะมีแม่หลวงบ้าน (ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นผู้หญิง) เยอะมาก เพราะว่าผู้หญิงความเป็นธรรมชาติเข้าถึงคนได้ทุกครัวเรือนทุกเพศทุกวัย และผู้หญิงก็ผูกพันร่วมกันผ่านกิจกรรมทางสังคมในมิติทางวัฒนธรรม
“เราจะเห็นว่าผู้หญิงหรือบทบาทสูงมากในการจัดเตรียมและทำพิธีกรรมเช่น ในช่วงสงกรานต์ก็จะมีการฟ้อนผีมด การเข้าทรง เป็นต้น ดังนั้น ภาพของการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของผู้หญิงภาคเหนือในอดีตก่อนทุนนิยมเข้มข้นเข้ามาค่อนข้างที่มีอำนาจผูกโยงกับเรื่องราวทางจิตวิญญาณและความเป็นเพศในรูปแบบของกิจกรรมเพื่อสังคมที่ดำเนินอยู่กับประเพณีดั้งเดิม” ณัฐมน ระบุ
หลังจากที่แผนการพัฒนาทางเศรษฐกิจของรัฐไทยกระจายเข้ามาสู่สังคมชนบท ส่งผลให้ผู้หญิงสามารถเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของการทำงานนอกบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงในภาคเหนือก็จะไปอยู่ในส่วนที่ภาษาสตรีนิยมจะเรียกว่า emotional labor หรือคนทำงานบริการที่ต้องใช้ความเป็นผู้หญิงหรือลักษณะนิสัยที่นอบน้อมบางอย่างในการปรับอารมณ์ของผู้คนแลกกับเงินเพื่อเอามาดูแลครอบครัว
นอกจากนี้การที่รัฐรวมศูนย์อำนาจเข้ามามีบทบาทในการจัดการชนบทผ่านการคัดเลือกแต่งตั้งผู้นำชุมชนหลายระดับเพื่อนำนโยบายที่มีอคติมางเพศเข้ามาปรับใช้ เช่น การประกวดหญิงงามประจำตำบลหรือเทศกาลก็เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมกรอบเพศวิถีเพื่อชี้นำให้ผู้หญิงเป็นกุลสตรีและต้องแม่และเมียที่ดีเพื่อส่งเสริมผู้นำครอบครัวที่เป็นเพศชาย
“การสมาทานแนวคิดหรือวิธีดำเนินการ จากรัฐรวมศูนย์ที่มันเป็นวิทยาศาสตร์เป็นแนวความรู้ที่มาจากโลกสมัยใหม่ที่ถูกนำมาใช้จึงขัดแย้งกับบทบาทผู้หญิงในการทำกิจกรรมทางสังคมในอดีตที่เน้นการรวมกลุ่มเน้นการใช้จิตวิญญาณและให้ทุกทุกคนมีส่วนร่วมได้คุณค่านี้ถูกลดทอนลงไป และส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน มันเป็นความเว้าแหว่ง ขาดตอน ในการที่เรามีผู้นำเป็นผู้หญิงซึ่งใช้วิธีการที่แตกต่างไปจากแนวทางของรัฐสมัยใหม่ การที่เราไม่มีตัวอย่างที่ผู้หญิงทำกิจกรรมเพื่อสังคม และมีการจัดการรวบรวมความรู้อย่าง เป็นระบบและ ต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ ล้วนหยั่งลึกลงไปทางความคิด ความรู้สึกทำให้ผู้หญิงไม่สามารถที่เข้ามาอยู่ในวงการกิจกรรมเพื่อสังคมได้แบบที่ผู้ชายทำ” ณัฐมน ระบุ
ณัฐมน ชี้ว่าปัจจุบันผู้หญิงสามารถที่จะมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมได้มากขึ้นเนื่องจากแนวโน้มของเทรนโลกตะวันตกเริ่มที่จะส่งเสริมความหลากหลายของอัตลักษณ์ ให้ดำเนินไปพร้อมกับ การพัฒนาในลักษณะที่ยึดโยงกับพื้นที่เพื่อให้เกิดความยั่งยืน เราจะเห็นได้จากการเข้ามาของแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal—SDG) ที่หลายประเทศรวมทั้งไทยบรรจุลงไปในแผนพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่ผู้หญิงในปัจจุบันทำได้คือการสั่งสมความรู้และแนวทางในการเคลื่อนไหวร่วมกัน ผู้หญิงต้องพยายามรวมกลุ่มของตัวเอง ให้มีความเข้มแข็งและมีความต่อเนื่อง ผู้หญิงควรทำงานร่วมกันผ่านเครือข่ายต่างๆเพื่อที่เราจะได้ตรวจสอบแนวคิดและหาแนวทางการเดินต่อไปข้างหน้าร่วมกัน โดยการกลับมารื้อฟื้น ความรู้ดั้งเดิมมาเป็นเครื่องมือในการต่อต้านหรือต่อรองกับอำนาจรัฐที่พยายามบีบคั้น เบียดขับผู้หญิงออกไปจากพื้นที่ทางสังคม
“ส่วนตัวมองว่ามีความเป็นไปได้สูง ที่ในอนาคตผู้หญิงจะมีบทบาททางสังคมมากขึ้นเพราะผู้หญิงในประเทศไทยปัจจุบันมีการศึกษาที่สูงขึ้นและก็มีทุนสำรองจากการทำงานที่หลากหลายแต่สิ่งที่ยังขาดไปคือตัวอย่างหรือแนวทางในการที่ผู้หญิงจะรวมกลุ่มและทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยไม่ต้องยึดโยงกับแนวทางของรัฐรวมศูนย์ที่ยังมีอคติทางเพศ โดยเฉพาะในสังคมชนบท เรามองว่าในส่วนที่มีอยู่แล้วเช่น การตั้งศูนย์สตรีกลุ่มแม่บ้าน สถานเลี้ยงเด็ก หรืออะไรต่างๆ ที่ผู้หญิงรวมตัวกันควรที่จะมีการยกระดับองค์ความรู้ ให้เกิดการเสริมสร้างพลังภายใน เสริมความมั่นใจให้ผู้หญิงและคนชายขอบทั้งหมดให้สามารถนำปัญหาของตัวเองออกมาพูดหรือทำกิจกรรมเพื่อชุมชนและมันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างจากเดิม” ณัฐมน ระบุ
พื้นที่ทางการเมืองของผู้หญิงในภาคเหนือ
ผู้หญิงเคยถูกมองว่าเป็นไม้ประดับในการเลือกตั้งระดับชาติในภาคเหนือมาทุกยุคทุกสมัย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการลงสมัครรับเลือกตั้งในเกือบทุกระดับ ผู้หญิงมีสัดส่วนน้อยกว่าผู้ชายเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่นในงานศึกษา “การเปรียบเทียบพฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรีบริเวณจังหวัดภาคเหนือตอนบนในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” โดย วารุณี เฮงทรัพย์ ได้ทำการเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงในภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ และพะเยา) จากการเลือกตั้งในปี 2554 และปี 2562 พบว่าการเลือกตั้งปี 2554 ผู้สมัครรับการเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขตทั้ง 8 จังหวัด มีผู้หญิงรวมทั้งสิ้น 44 คน คิดเป็นร้อยละ 21.67 ส่วนการเลือกตั้งปี 2562 พบว่าผู้หญิงมีส่วนร่วมทางการเมืองเพิ่มขึ้น โดยมีผู้หญิงลงสมัครแบบแบ่งสส.แบบแบ่งเขต 228 คน คิดเป็นร้อยละ 23.58 ซึ่งเพิ่มจากปี 2554 ถึง 184 คน ในส่วนของผู้หญิงที่ได้รับเลือกเป็น สส. แบบแบ่งเขตนั้น การเลือกตั้งในปี 2554 ผู้หญิงได้รับเลือก 7 คน แต่ในการเลือกตั้งปี 2562 ผู้หญิงใน 8 จังหวัดภาคเหนือได้รับเลือกเพียง 3 คนเท่านั้น
แต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2566 หลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบน ประชาชนได้เลือก สส.หญิง หลายคนเข้าไปทำงานในสภา โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่ได้ สส.หญิงถึง 5 คนจากทั้งหมด 10 เขต ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วน สส.หญิง สูงที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2476 มาเลยทีเดียว
ตารางเปรียบเทียบเพศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบแบ่งเขตของจังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. 2476-2566)
ผู้เขียนนำข้อมูลจาก Wikipedia สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ มาเรียบเรียงเปรียบเทียบเพศชายหญิง มาเรียบเรียงเปรียบเทียบเพศชายหญิง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบแบ่งเขต จ.เชียงใหม่ (2562) แบ่งตามเพศ
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบแบ่งเขต จ.เชียงใหม่ (2566) แบ่งตามเพศ
กระนั้นเมื่อพิจารณาภาพรวมด้วยสัดส่วนจำนวนน้อยนิดเมื่อเทียบกับผู้ชาย จึงมีคำถามว่าทำไมผู้หญิงเหนือถึงไม่ค่อยมีพื้นที่ในการเมืองระดับชาติส่วนกลาง มีมายาคติหรืออุปสรรคอะไรในประเด็นนี้?
ต่อคำถามนี้ ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์ นักวิจัยสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผู้ศึกษาและมีงานวิชาการเกี่ยวกับประเด็นเพศสภาวะ ได้ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงด้านประวัติศาสตร์ของผู้หญิงในภาคเหนือกับพื้นที่ทางการเมืองในส่วนกลาง นับได้ตั้งแต่กรณีของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีคือสัญลักษณ์การเชื่อมโยงระหว่างล้านนากับกรุงเทพฯ กล่าวคือจะความเป็น “ล้านนา” และต้องเป็นแบบ “กรุงเทพ” ในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันนักการเมืองหญิงหลายท่านที่มีพื้นเพจากจังหวัดภาคเหนือก็สอดแทรกความเป็น “ล้านนา” หรือ “คนเมือง” ของตัวเองเช่นกัน เช่น ยิ่งลักษณ ชินวัตร หรือ ศรีนวล บุญลือ ที่แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองเข้าประชุมสภา หรือเสนอชื่อคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการพูดคำเมืองเมื่อ พ.ศ. 2562 เป็นต้น
“แม้ว่าส่วนหนึ่งที่คุณยิ่งลักษณ์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งได้จากคะแนนความนิยมในตัวคุณทักษิณ ชินวัตรผู้เป็นพี่ชาย การนำเสนอภาพตัวเองของคุณยิ่งลักษณ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีก็ยังน่าสนใจมาก ทั้งการแต่งตัว เสื้อผ้าหน้าผม เป็นการประกาศความเป็นหญิงในพื้นที่ของผู้ชายได้เก๋มาก กล่าวคือ ก่อนหน้ายุคคุณยิ่งลักษณ์ ผู้หญิงในพื้นที่การเมืองไม่ใช่ลักษณะนี้ จะเป็นลักษณะที่พยายามกลมกลืนกับผู้ชาย แต่คุณยิ่งลักษณ์ไม่ใช่ จะบอกว่าเป็นการปฏิวัติวงการการเมืองไทยและนำสปอร์ตไลท์มาให้ผู้หญิงก็ว่าได้” ภัทรัตน์ ระบุ
ถึงอย่างนั้น จะเห็นว่ามายาคติของ “ผู้หญิงเหนือ” มันซ้อนทับอยู่ในนั้นและมักถูกนำมาโจมตีคุณยิ่งลักษณ์ มีคนพยายามเอาคำพูดของคุณยิ่งลักษณ์ที่พูดผิดพูดถูกมาล้อเลียน เอาภาพหลุดที่สีหน้าท่าทางตลกหรือไม่สำรวมของคุณยิ่งลักษณ์มาโจมตี และที่ร้ายแรงคือนำเรื่องเพศขึ้นมา กรณี “ว.5 โฟร์ซีซั่นส์” ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ส่อนัยเรื่องเพศ หรือถ้าจะกล่าวอย่างเจาะจงลงไปอีกคือมันมีมิติที่เหยียดผู้หญิงเหนืออยู่ด้วยที่มันไปทางเดียวกับมายาคติผู้หญิงเหนือ คือเห็นว่าคุณยิ่งลักษณ์สวย แต่มักทำตัวไม่เหมาะสม ขี้เกียจไม่ทำงาน วัน ๆ ห่วงแต่แต่งตัวแต่งหน้า และไม่มีความสำรวมในพฤติกรรมทางเพศ
ความจริงไม่ได้มีเพียงกรณีของคุณยิ่งลักษณ์เท่านั้น หากไปย้อนดูข่าวจะพบว่ามีนักการเมืองหญิงอีกหลายท่านที่ถูกโจมตีเรื่องเพศหรือเรื่องยิบย่อยที่โยงกับความเป็นหญิง มากกว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเนื้อหาของการทำงาน หรือในบางครั้งอคติทางเพศไม่ได้อยู่ในรูปแบบด้านลบ อคติด้านบวกก็เกิดขึ้นได้ เช่น มองว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ ไม่มีความสามารถด้านการทำงานทางการเมืองเท่ากับผู้ชาย จึงไม่ได้ตัดสินคุณภาพการทำงาน แต่เน้นเรื่องหน้าตาและการเป็นไม้ประดับในวงการการเมืองแทน ซึ่งนี่ก็ไม่ควรเกิดขึ้นเช่นกัน
“อยากจะตั้งข้อสังเกตไว้ตรงนี้ด้วยว่า ถ้าลองเปรียบเทียบอย่างจริงจังเกี่ยวกับเนื้อหาข่าวและภาพของนักการเมืองหญิงที่ปรากฎในหน้าสื่อระหว่างนักการเมืองหญิงที่มีพื้นเพมาจากภาคเหนือ และนักการเมืองหญิงที่มีพื้นเพในเขตกรุงเทพฯ มีข้อสังเกตุว่าภาพลักษณ์ของนักการเมืองหญิงที่มาจากกรุงเทพค่อนข้างดีกว่ามาก ถูกจัดวางในฐานะผู้มีการศึกษา สาวสังคม ไม่ค่อยปรากฏข่าวฉาวทางเพศ แต่ส่วนตัวคิดว่ามายาคติทางเพศที่มีต่อผู้หญิงเหนือมีส่วนในระดับหนึ่งต่อความเห็นและมุมมองของสื่อและประชาชน …
...ถ้าจะให้ทันปัจจุบันมาก ๆ การเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา รู้สึกว่าความเป็น ‘ผู้หญิงเหนือ’ ไม่ถูกนำมาพูดมากนัก ซึ่งก็ดูเป็นทิศทางที่ดี เพราะอาจหมายความว่าสังคมเริ่มมองที่ความคิด นโยบาย หรือสิ่งที่ผู้สมัครและผู้ได้รับเลือกให้เป็น สส. มากกว่าหน้าตา หรือพื้นเพภูมิหลัง แต่ก็อาจจะเร็วเกินไปที่จะบอก หลายกรณีที่ผ่านมาของสังคมไทยต้องรอให้เกิดความขัดแย้งหรือความไม่พอใจ เมื่อนั้นอคติและมายาคติด้านลบจะปรากฏขึ้น ก็ต้องรอดูต่อไปว่า มายาคติเกี่ยวกับผู้หญิงเหนือจะยังมีอิทธิพลหรือหลงเหลือมากน้อยเพียงใดในพื้นที่การเมืองของไทย” ภัทรัตน์ ระบุ
ภัทรัตน์ เสนอว่าสังคมไทยต้องเปิดใจให้กว้างกับการมีอยู่ของผู้หญิงในพื้นที่การเมืองมากกว่านี้และเน้นไปที่การมองเรื่องความสามารถของผู้หญิงเป็นหลัก มองถึงสิ่งที่ผู้หญิงสามารถนำเสนอความคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือทำสิ่งที่ดีกว่าให้กับการเมืองและการพัฒนาท้องถิ่นหรือระดับประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือ ไม่นำเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องเพศและการเอ่ยถึงลักษณะความเป็นหญิง เอามาเหยียดหยามหรือกดทับ หรือใช้คำพูดเชิงหยามเหยียดทางเพศเป็นสิ่งที่ไม่ควรยอมรับเลยไม่ว่าจะเป็นเพราะอะไรทั้งสิ้น หากผู้หญิงเข้ามาทำงานการเมืองก็ควรให้ความสนใจที่ผลงาน ไม่ใช่หน้าตา เรื่องเพศ เรื่องความสัมพันธ์ หรือนำเอารูปร่างหน้าตามาพูดถึงส่อนัยถึงเรื่องเพศ ที่สำคัญคือ ต้องตระหนักถึงอคติหรือมายาคติที่อาจส่งผลต่อการวิพากษ์วิจารณ์ผู้หญิงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะด้วย ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีอคติต่อผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง แต่ละเว้นกลุ่มหนึ่ง เป็นต้น สิ่งที่ควรจะเป็นคือ ไม่มีอคติทางเพศต่อผู้หญิงทั้งหมด
เวทีเสวนา ‘ส่ง สส.พลังหญิง เดินหน้าเข้าสภา’ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2566 ณ Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ (ที่มา: ภาพจากเว็บไซต์ Book Re:public)
พุธิตา ชัยอนันต์ สส.จังหวัดเชียงใหม่เขต 4 จากพรรคก้าวไกล ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 พุธิตา เป็น สส.เขตที่ได้คะแนนมากที่สุดของพรรคก้าวไกล และยังเป็น สส.หญิงที่ได้คะแนนมากที่สุดในหมู่ สส.หญิงด้วยกันทุกพรรคทั่วประเทศ เธอได้ระบุไว้ใน เวทีเสวนา ‘ส่ง สส.พลังหญิง เดินหน้าเข้าสภา’ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2566 ณ Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ ว่าความท้าทายของการเป็นผู้หญิงที่เข้าทำงานการเมืองนั้น สส.หญิงต้องการลบล้างอคติทางเพศที่เกิดขึ้นภายในสภา ทำให้เนื้อหาประเด็นต่างๆ ที่ สส.หญิงเสนอในสภานั้นมีน้ำหนักมากกว่าเรือนร่างภายนอก นอกจากนี้ในฐานะผู้เป็นแม่ อีกหนึ่งความท้าทายคือการพิสูจน์ให้เห็นว่าแม้จะเป็น Working Women แต่การเป็น สส.ก็สามารถเป็นแม่ที่ดีควบคู่ไปด้วย สามารถเลี้ยงดูบุตรได้อย่างมีคุณภาพ
ซึ่งการที่มี สส.หญิงเข้าสภามากขึ้นจะทำให้ ‘ความเป็นแม่’ ได้รับความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งมาพร้อมทั้งความเสี่ยงในการคลอดบุตร ความคาดหวังของสังคมต่อความเป็นแม่ รวมถึงสิทธิของเด็กเมื่อผู้เป็นแม่ตั้งครรภ์ พุธิตายังชี้ว่าการมีโควต้า สส.หญิงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการผลักดันนโยบายในประเด็นความหลากหลายทางเพศ.
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ