ภาคเหนือรับมือ PM2.5: หน้ากาก Masqura X และนวัตกรรมป้องกันอากาศพิษ

วิชชากร นวลฝั้น 3 ส.ค. 2567 | อ่านแล้ว 8086 ครั้ง

ท้องถิ่นสร้าง สื่อสอบ

สารคดีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนชุดนี้ผลิตภายใต้โครงการ สื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวและปมปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั่วไทยในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาการบริหาร การเมือง การปกครอง สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิคนพิการ คนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง การศึกษา เด็กและเยาวชน กีฬา ไปจนถึงเรื่องธุรกิจ อันเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของท้องถิ่นและชุมชน

คำว่าท้องถิ่นในที่นี้ได้รับการตีความอย่างกว้าง ว่าหมายถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ชุมชนในท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้อง ไม่ได้หมายความเฉพาะรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ถึงแม้ว่าสารคดีในชุดนี้จำนวนหนึ่งจะพูดถึงประเด็นปัญหาในกรอบขององค์กรเหล่านั้นก็ตาม

ธรรมาภิบาล (Good Governance) นั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่หน่วยการเมืองหรือการบริหารประเทศเท่านั้น หากหมายรวมถึงองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคมหรือชุมชนต่างๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีการตรวจสอบพฤติกรรมทางเพศของชุมชนนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง อยู่ในสารคดีชุดนี้ด้วย

ในห้วงที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีค่าดัชนีคุณภาพอากาศเข้าขั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รายงานข่าวภายใต้โครงการ #ท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ” ชวนอ่านบทสนทนากับผู้คนจากเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน เรื่องการรับมือมลพิษทางอากาศ และมุมมองต่อการแก้ไขปัญหา

โดยตอนแรกพูดคุยกับ ‘ว่าน วิริยา’ ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้คิดค้น MasquaraX หน้ากากความดันบวกที่กรองอากาศบริสุทธิ์และดันอากาศพิษออกทำให้ผู้สวมใส่หายใจสะดวก โดยมีเป้าหมายกระจายหน้ากากให้กับอาสาสมัครดับไฟป่า ซึ่งเป็นผู้มีความเสี่ยงจากเหตุสำลักควันไฟหรือถูกไฟคลอกเสียชีวิตขณะดับไฟป่า

สถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 หลายปีที่ผ่านมาอยู่ในขั้นเลวร้ายและกระจายไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ที่ฤดูแล้งทุกปีวัดค่าคุณภาพอากาศเข้าขั้นมลพิษสูงติดอันดับโลก ที่ผ่านมามีการเรียกร้องรัฐบาลให้มีมาตรการป้องกัน และดูแลประชาชนให้มากยิ่งขึ้น อย่างที่จังหวัดเชียงใหม่มีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิที่จะมีอากาศที่สะอาดหายใจติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี อีกทั้งยังมีภาคประชาสังคมที่ออกมาทำบางอย่างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

โดยรายงานข่าวภายใต้โครงการ “ท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ” ชวนอ่านบทสนทนากับภาคประชาสังคม เอกชน และส่วนราชการในเชียงใหม่และจังหวัดภาคเหนือตอนบน เรื่องการรับมือปัญหามลพิษทางอากาศ รวมไปถึงมุมมองต่อการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะแบ่งนำเสนอทั้งหมด 5 ตอน

ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ที่มา: วิชชากร นวลฝั้น)

ต้นแบบหน้ากาก MasquraX (ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ต้นแบบหน้ากาก MasquraX (ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนใจศึกษาเรื่องมลพิษทางอากาศตั้งแต่เป็นนักศึกษาจนต่อมาภายหลังได้มาเป็นอาจารย์ภาควิชาเคมีของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังทำงานอย่างต่อเนื่องด้วยความมุ่งหวังจะมีส่วนช่วยในการควบคุมหมอกควันอันเกิดจากไฟป่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและที่สำคัญที่สุดคือ ปลอดภัยสำหรับคนทำงานด้วย 

หลายปีก่อนมีการแจกหน้ากากให้แก่ชาวบ้านที่อาสาเข้าไปดับไฟป่านับแสนชิ้น แต่ปรากฏว่าหน้ากากเหล่านั้นไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร คือคนใส่จะรู้สึกอึดอัดเกินไปทำให้ทำงานไม่สะดวก บางครั้งเช่นในปี 2563 หนักหนาถึงขั้นที่ว่า ผู้ปฏิบัติงานสำลักควันหรือถูกไฟคลอกเสียชีวิตไปก็มี จึงเกิดความคิดว่าน่าจะมีวิธีป้องกันยังไงให้อาสาสมัครเหล่านั้นทำงานอย่างปลอดภัยและสะดวกสบาย และสุดท้ายคำตอบคือเป็นการประดิษฐ์หน้ากากขึ้นมา

หน้ากากนี้เรียกว่า “หน้ากากความดันบวก” (positive  pressure mask) หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า MasquraX คือมีการกรองอากาศก่อนถึงพ่นอากาศที่บริสุทธิ์เข้าไปในหน้ากาก อากาศที่เป็นมลพิษจะถูกดันออกตลอดเวลาที่เปิดเครื่อง ดังนั้นจึงทำให้ผู้ที่สวมใส่หายใจสะดวกยิ่งขึ้น

หลายปีที่ผ่านมามีการพัฒนาหน้ากากความดันบวกให้มีประสิทธิภาพและน้ำหนักเบายิ่งขึ้น ให้เหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้น อีกทั้งมีการทดลองให้ตัวหน้ากากสามารถกรองฝุ่นละออง pm 2.5 ผลปรากฎว่าสามารถลดได้ 95-99 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว 

ปัจจุบันได้มีการมอบให้อาสาดับไฟป่าและเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ของอุทยานแห่งชาติศรีลานนา อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ใช้งาน จำนวน 60 ท่าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานดับไฟป่า

นอกจากนี้ทางศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ยังมีการทำห้องปลอดฝุ่นที่ได้ทำร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจากช่วงที่เกิดวิกฤตฝุ่น PM2.5 ประชาชนไม่มีที่หลบภัยจากมลพิษ โดยเฉพาะ 4 กลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ที่ตั้งครรภ์ จึงได้จัดทำห้องปลอดฝุ่นในราคาประหยัดให้กับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง พอภายหลังเริ่มมีกระบวนการในการสร้างให้โรงพยาบาลส่วนตำบล โรงเรียน สถานอนุบาลต่างๆ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนที่อยากทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมในการช่วยเหลือพื้นที่ต่างๆในภาคเหนือตอนบน

ส่วนทางภาครัฐหรือทางจังหวัดนั้นเป็นผู้ที่มารับความรู้ จึงได้มีจัดการอบรมวิธีการทำห้องปลอดฝุ่นให้ เพื่อให้ทางรัฐคำนวณและตั้งงบประมาณในปีถัดไปในการจัดทำห้องปลอดฝุ่น ส่วนจะทำหรือไม่ทำก็ขึ้นอยู่กับทางรัฐหรือทางจังหวัดอีกที เนื่องจากความคุ้มค่าของห้องปลอดฝุ่นขึ้นอยู่กับจำนวณผู้ที่ใช้งาน จึงต้องมีการคำนวณว่าทำแล้วมีความคุ้มค่าและมีการตอบรับจากประชาชนมากน้อยเพียงใด

ว่าน บอกว่า โครงการถัดไปคือจะทำฟิลเตอร์ที่สามารถล้างตัวเองได้ เนื่องจากฟิลเตอร์ปกติที่ใส่ตามเครื่องฟอกอากาศ หรือที่ใช้ในห้องปลอดฝุ่นใช้แล้วต้องทิ้งเลยไม่สามารถชะล้างเองได้ ฟิลเตอร์ตัวใหม่นี้ยังสามารถกรองฝุ่นได้ในระดับนาโน และสามารถล้างเองได้โดยการนำไปผึ่งแดด ฝุ่นก็จะสลายไปเอง แล้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึงกำลังอยู่ในช่วงการทดลองและปรับปรุง

สุดท้ายมีความคาดหวังต่อสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จะได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น แม้ว่าอาจจะไม่ได้หมดไปเสียทีเดียว แต่ทุกฝ่ายต้องมีแบบแผนหรือมาตรการที่มารองรับมากขึ้น ประชาชนให้ความสนใจตื่นตัวกับปัญหานี้มากขึ้น และการช่วยเหลือจากภาคเอกชนและภาครัฐที่มากเพิ่มขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: