เวทีสภาผู้บริโภคอาเซียน+3 ประกาศความสำเร็จลงนามเอ็มโอยูร่วมมือปราบภัยไซเบอร์ข้ามชาติ ที่ประชุมสภาผู้บริโภคอาเซียนบวกสาม เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในเศรษฐกิจดิจิทัลและเอไอ เผยองค์กรของผู้บริโภคในอาเซียนกังวลอย่างหนักถึงภัยไซเบอร์ที่สร้างความเสียหายลุกลามอย่างก้าวกระโดด ขณะที่การให้ความรู้กับผู้บริโภคและกฎหมายที่มีอยู่ก้าวตามไม่ทันมิจฉาชีพจนเป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจและชีวิตของประชาชนอย่างร้ายแรง เผยข้อมูลเวียดนามเจ็บหนัก ปี 66 เสียหายสูง 3.6% ของจีดีพี ผู้บริโภคฮ่องกง สูญเงินไม่น้อยกว่า 25 ล้านเหรียญ ส่วนคนไทยไม่น้อยหน้าเงินหายจากกระเป๋าหรือบัญชีธนาคารวันละ 78 ล้านบาท พร้อมประกาศจับมือทำเอ็มโอยูรวมพลังเข้มแข็งเดินหน้าสู้ศึกภัยออนไลน์ปกป้องสิทธิผู้บริโภคระดับภูมิภาค
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2457 นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค หรือสภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า เวทีการประชุม “สานพลังอาเซียนบวกสาม เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในเศรษฐกิจดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในอาเซียน ภายใต้ความร่วมมือของ สภาผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิผู้บริโภคแห่งอินโดนีเซีย (YLKI) และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมาเลเซีย (FOMCA) รวมทั้งองค์กรของผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียน +3 ระหว่างวันที่ 29-30 สิงหาคม 2567 ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะนอกจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้การป้องกันและจัดการการละเมิดสิทธิผู้บริโภคทางไซเบอร์แล้ว ยังมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกัน เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างองค์กรผู้บริโภคอาเซียน ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ที่ทำให้สมาชิกทุกประเทศได้รับผลประโยชน์อย่างความเท่าเทียม เพื่อพัฒนาการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ และเสริมสร้างศักยภาพในระดับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้บริโภคไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมาก จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ในช่วง 3 ปี (1 มี.ค. 2565 – 31 ก.ค. 2567) มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับภัยออนไลน์สูงถึง 612,603 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 69,186 ล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละกว่า 78 ล้านบาท
ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางในการควบคุมและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาอย่างเร่งด่วนต่อแนวทางในการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ โดยการออกกฎหมายปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเด็นที่ให้ความสนใจเช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ของเทคโนโลยีเอไอ รวมทั้งเทคโนโลยีเกิดใหม่และที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
นางสาวอลิซ แพม (Ms. Alice Pham) ผู้อำนวยการสำนักงานเอพีวิจัยประเทศเวียดนาม กล่าวถึง ภัยการหลอกลวงและการฉ้อโกงออนไลน์โดยใช้เอไอ ส่งผลต่อมูลค่าความสูญเสียของผู้บริโภคเวียดนามในปี 2566 กว่า 16,230 ล้านเหรียสหรัฐหรือเทียบเท่า 3.6% ของ GDP ในปีเดียวกันกระทรวงความมั่นคงสาธารณะได้ดำเนินคดีด้านนี้สูงถึง 1,500 คดี สูญเสียเงินรวม 318-398 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่กระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารรายงานการร้องเรียนจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 17,400 กรณี มูลค่ากว่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยพบรูปแบบการหลอกลวงมากถึง 24 ประเภท รวมถึงการแอบอ้างชื่อตราสินค้า การแฮ็กบัญชี ซึ่งเกิดจากซิมการ์ดโทรศัพท์ที่ไม่เปิดเผยตัวตน บัญชีธนาคารที่ไม่ได้รับอนุญาต การรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว รวมถึงการเติบโตของเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Al DeepFake เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามมีความพยายามแก้ไขปัญหาหลอกลวงและการฉ้อโกงออนไลน์ ผ่านเครื่องมือที่ผสมผสาน ทั้งการบังคับใช้กฎหมายความคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคหลายฉบับ รวมทั้งร่างกฎหมายว่าด้วยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งการให้การศึกษาและการสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภค ตลอดจนการดำเนินคดีและการแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นต้น
นายอัง จง ซิน วิลเฟรด (Mr. Ang Zhong Xin Wilfred) รองหัวหน้าฝ่ายผู้บริโภคสัมพันธ์ สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์ กล่าวว่า สิงคโปร์มีความกังวลอย่างยิ่งในการเผชิญปัญหาการใช้เอไอที่มีความทันสมัยและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการหลอกหลวงผู้บริโภคในสิงคโปร์ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของกรณีการปลอมแปลงเสียงพูดเพื่อนำไปสู่การหลอกลวง รวมทั้งการทุจริตโดยใช้ระบบแชทบอท ซึ่งได้สร้างปัญหาใหญ่ให้กับธนาคารและตำรวจ เนื่องจากสิงคโปร์ยังมีข้อมูลด้านนี้ไม่เพียงพอและไม่มีกฎหมายที่ทันสมัยต่อการควบคุมอย่างเข้มข้น โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 พบข้อร้องเรียนเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ 2,611 กรณี ซึ่งเกินครึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเวลาตลอดทั้งปี 2566 ที่มีข้อร้องเรียน 3,711 กรณี ปัญหา 5 อันดับแรก คือปัญหาการปฏิเสธจากผู้ให้บริการ 922 กรณี รองลงคือความล่าช้าในการคืนเงิน 363 กรณี บริการที่ไม่น่าพึ่งพอใจ 332 กรณี การชดเชย 278 กรณี และสินค้าค้ามีตำหนิหรือไม่เป็นไปตามข้อกำหนด 242 กรณี โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิง 559 กรณี อาหารและเครื่องดื่ม 266 กรณี ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 183 กรณี โทรคมนาคม 139 กรณี และสายการบิน 125 กรณี ในขณะที่การแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสิงคโปรได้ร่วมมือกับผู้ค้าในเว็บไซต์และแอพลิเคชันอีมาร์เก็ตสำคัญ เช่น ลาซาด้า และช้อปปี้ ในการระงับข้อพิพาท และแสวงหาความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างประเทศทั้งในและนอกภูมิภาค เนื่องจากภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากนอกประเทศ
นางสาวกิลลี วอฟัง-ฮาน (Ms. Gilly Wong Fung-han) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสภาผู้บริโภคฮ่องกง เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า ฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก และผู้นำนวัตกรรมดิจิทัล กำลังดำเนินกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลกว่า 100 โครงการ ซึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2567 ที่ผ่านมา ได้จัดตั้งสำนักนโยบายดิจิทัลเพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคต่อภัยทางด้านเทคโนโลยีเอไอที่เข้มเข็งและทันต่อสถานการณ์ โดยในปี 2566 พบว่า การหลอกหลวงการซื้อขายออนไลน์เป็นปัญหาใหญ่อันดับหนึ่งของผู้บริโภคฮ่องกงในสัดส่วนสูงถึง 32.28% ขณะที่ล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2567 พบการปลอมแปลงคลิปวิดีโอออนไลน์โดยการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือคนดังสูงถึง 21 คลิป และคนฮ่องกงถูกหลอกให้จ่ายเงินถึง 25 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังถูกหลอกให้หลงเชื่อว่า ได้วิดีโอคอลกับรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของบริษัทข้ามชาติในอังกฤษ
ในส่วนของการป้องกัน ได้ใช้การผสมผสานมาตรการที่หลากหลาย เช่น การใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “สแกมเตอร์ (Scameter)” เพื่อค้นหาการหลอกลวงแบบครบวงจรในระบบออนไลน์ การส่งเสริมความรู้แก่ผู้บริโภค การเฝ้าระวังตลาดออนไลน์และออฟไลน์ เช่น การจัดทำเว็บไซต์ Online Price Watch และ Oil Price Watch เพื่อตรวจสอบราคาสินค้าและน้ำมันเพิ่มความโปร่งใส่ต่อการกำหนดราคา และการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นต้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ