สี่ล้อแดงกับดราม่า ขนส่งมวลชนเชียงใหม่ไร้ทางแก้

ปฐวี กันแก้ว 3 ต.ค. 2567 | อ่านแล้ว 8436 ครั้ง

ท้องถิ่นสร้าง สื่อสอบ

สารคดีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนชุดนี้ผลิตภายใต้โครงการ สื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวและปมปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั่วไทยในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาการบริหาร การเมือง การปกครอง สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิคนพิการ คนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง การศึกษา เด็กและเยาวชน กีฬา ไปจนถึงเรื่องธุรกิจ อันเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของท้องถิ่นและชุมชน

คำว่าท้องถิ่นในที่นี้ได้รับการตีความอย่างกว้าง ว่าหมายถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ชุมชนในท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้อง ไม่ได้หมายความเฉพาะรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ถึงแม้ว่าสารคดีในชุดนี้จำนวนหนึ่งจะพูดถึงประเด็นปัญหาในกรอบขององค์กรเหล่านั้นก็ตาม

ธรรมาภิบาล (Good Governance) นั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่หน่วยการเมืองหรือการบริหารประเทศเท่านั้น หากหมายรวมถึงองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคมหรือชุมชนต่างๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีการตรวจสอบพฤติกรรมทางเพศของชุมชนนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง อยู่ในสารคดีชุดนี้ด้วย

เขตเมืองเชียงใหม่เผชิญปัญหาขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะ นับตั้งแต่ “รถเมล์เหลือง” หยุดเดินรถหลังวิกฤต 2540 “รถสี่ล้อแดง” ครองเมือง ก่อดราม่าในพื้นที่สื่อเนืองๆ เคยถูกจัดระเบียบหลังรัฐประหาร คสช. แต่ก็ล้มเหลว ขณะเดียวกันมีแผนฟื้นฟูเดินรถเมล์ทั้งจากเทศบาลนครเชียงใหม่และบริษัทเอกชน แต่ก็ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน โดยล่าสุดรถเมล์ RTC กลับมาเดินรถอีกครั้งปลายปี 2566 หลังหยุดไปช่วงโควิด-19 จุดประกายข้อถกเถียงรูปแบบขนส่งสาธารณะของเมืองอีกครั้ง 

3 ต.ค. 2567 ไม่นานมานี้สื่อมวลชนหลักหลายสำนักรายงานปัญหาของรถสองแถวแดง ซึ่งเป็นบริการขนส่งสาธารณะคู่เมืองเชียงใหม่มากว่า 50 ปี แต่กำลังเผชิญวิกฤติอย่างหนัก เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความต้องการในปัจจุบันที่เน้นความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยได้ สื่ออย่าง ไทยรัฐ พาดหัวว่า “วิจารณ์สนั่นดราม่า รถแดงเชียงใหม่ ใกล้ปิดตำนานคนขับยอมรับปรับตัวลำบาก” ขณะที่ ข่าวสด และ มติชน ต่างพาดหัวไปในทางเดียวกันว่าสองแถวแดงอาจหายไปจากถนนเชียงใหม่เพราะการบริหารที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย อีกทั้งยังถูกแอปพลิเคชันเรียกรถแย่งลูกค้า ทำให้การปรับตัวของผู้ประกอบการสองแถวแดงเป็นไปอย่างยากลำบาก

สื่อออนไลน์อย่าง Sanook.com ก็รายงานว่า ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่บ่นถึงปัญหาค่าโดยสารที่ไม่คงที่และบริการที่ไม่ตรงตามความคาดหวัง เช่น มีการเรียกราคาสูงขึ้นหลายเท่าหากเป็นนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ไม่พูดภาษาท้องถิ่น นอกจากนี้ที่ช่องแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดีย ยังมีความเห็นของผู้ใช้บริการหลายรายที่ชี้ว่าการบริการของสองแถวแดงไม่โปร่งใสและไม่สะดวก เช่น เส้นทางที่ไม่ชัดเจน และการต่อรองราคา ต้องพูดภาษาถิ่นกับคนขับรถจะต่อรองได้ค่าโดยสารถูกกว่า ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากในหมู่ผู้โดยสาร

รถแดง

โซเชียลมีเดียของ “ข่าวสด” นำเสนอข่าวเกี่ยวกับรถสี่ล้อแดง เมื่อ 13 พฤษภาคม 2567 (ที่มา: Facebook/ข่าวสด)

ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะของเชียงใหม่เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ทั้งเรื่องบริการที่ไม่เป็นระบบและราคาที่สูงเกินไป ทำให้ผู้ใช้บริการ ทั้งชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยว ต่างรู้สึกไม่พอใจ หลายคนไม่สามารถหาบริการที่ตอบสนองความต้องการได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการรถสองแถวแดงก็ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถให้บริการที่มีคุณภาพได้อย่างที่ควรจะเป็น

รายงานนี้สำรวจประวัติศาสตร์ของระบบขนส่งสาธารณะในเมืองเชียงใหม่ เพื่อนำเสนอปัญหาเชิงโครงสร้าง นโยบาย และบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาเพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในอนาคต

หลังวิกฤต 2540 รถเมล์หาย รถสี่ล้อแดงครองเมือง

รถแดง

“รถเมล์เหลือง” สาย 2 หนองหอย-ป.พัน.7 โดยรถเมล์เหลืองทั้งหมดยุติการเดินรถในเขตเมืองเชียงใหม่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 (ที่มา: Facebook/เชียงใหม่ CM108)

รถแดง

จุดจอดบริการรถสี่ล้อแดงเชียงใหม่ ที่สถานีขนส่งอาเขต ภาพเมื่อปี 2561 (ที่มา: แฟ้มภาพ/TCIJ)

ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ระบบขนส่งสาธารณะของเชียงใหม่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง บริษัทขนส่งหลายแห่งประสบปัญหาขาดทุนและต้องปิดตัวลง ทำให้บริการรถโดยสารประจำทางในเชียงใหม่หรือที่เรียกว่า “รถเมล์เหลือง” ยุติลง ส่งผลให้การขนส่งสาธารณะในเขตเมืองต้องพึ่งพารถสี่ล้อแดงและรถสามล้อเครื่อง ซึ่งกลายเป็นทางเลือกหลักสำหรับการเดินทาง

ในปี พ.ศ. 2548 เทศบาลนครเชียงใหม่เปิดตัว “รถเมล์เทศบาล” เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2548 แต่การเดินรถนี้ยังคงเลี่ยงเดินรถบนถนนสายหลักในเขตกลางเมือง นอกจากนี้ในช่วงปี พ.ศ. 2546 - 2549 รัฐบาลพยายามที่จะจัดระเบียบรถสี่ล้อแดงให้กลายเป็นรถโดยสารประจำทาง เพื่อรองรับการพัฒนาเมกะโปรเจกต์ เช่น ไนท์ซาฟารี และงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ที่จัดขึ้นปลายปี พ.ศ. 2549 แต่การดำเนินการนั้นกลับเผชิญกับปัญหาหลายประการ และไม่ประสบความสำเร็จหลังจบงานมหกรรมพืชสวนโลก

รัฐประหาร คสช. ถึงมีอำนาจก็จัดการไม่ได้

รถแดง

ในช่วงหลังรัฐประหาร คสช. หลังเดือนพฤษภาคม 2557 มีการจัดระเบียบขนส่งสาธารณะใน จ.เชียงใหม่ ริเริ่มโดย มทบ.33 โดยกำหนดให้สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 1 ช้างเผือก เป็นสถานีต้นสายของเส้นทางรถสี่ล้อแดงที่จัดระเบียบ รวมทั้งเป็นต้นสายของรถสองแถวระหว่างอำเภอ ภาพถ่ายเดือนสิงหาคม 2557 (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

รถแดง

รถเมล์สาย 12 วงกลม (วนซ้าย/ขวา) โดยเทศบาลนครเชียงใหม่ จอดที่สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2 อาเขต ภาพถ่ายเดือนกันยายน 2557 ปล่อยรถจากท่า 60 นาทีต่อเที่ยว ขณะที่ในช่วงแรกปล่อยรถ 20 นาทีต่อเที่ยว (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

รถแดง

แผนที่แสดงเส้นทางรถขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ 12 เส้นทาง ติดป้ายที่สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2 อาเขต ภาพถ่ายเดือนกันยายน 2557 (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

หลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พยายามดำเนินมาตรการเพื่อจัดการระบบขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่ โดยเฉพาะเรื่องของรถสี่ล้อแดง คสช. มอบหมายให้มณฑลทหารบกที่ 33 และสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่จัดระเบียบ โดยเชิญผู้ประกอบการรถโดยสารและประธานสหกรณ์ต่างๆ เข้าร่วมประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการจัดการรถสี่ล้อแดงในพื้นที่

ในช่วงเริ่มต้นของการจัดระเบียบครั้งนี้ มีรถสี่ล้อแดงที่สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวน 1,480 คัน จากทั้งหมดประมาณ 2,300 คัน แต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริง กลับสามารถดำเนินการได้เพียง 550 คันเท่านั้น การจัดระเบียบแบ่งสายการเดินรถสี่ล้อแดงออกเป็น 11 เส้นทาง ครอบคลุมเส้นทางในเมืองเชียงใหม่ โดยมีการกำหนดเวลาให้บริการตั้งแต่ 05.00 น. ถึง 20.00 น. โดยจะปล่อยรถออกทุก 20 นาที ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 20 บาทต่อเที่ยวตลอดสาย และสำหรับพระภิกษุ สามเณร และนักเรียนในเครื่องแบบ ค่าโดยสารลดเหลือเพียง 10 บาท นอกจากนี้ยังมีการจัดเส้นทางพิเศษอีก 12 เส้นทาง ซึ่งให้บริการโดยรถโดยสารปรับอากาศของเทศบาลนครเชียงใหม่

ข้อมูลจากรายงานประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบจราจรจังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 3/2559 ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดระเบียบรถสี่ล้อแดงเมื่อ พ.ศ. 2557 ที่ได้กำหนดเส้นทางทั้งหมด 12 เส้นทาง โดยเส้นทาง สายที่ 1 ถึง สายที่ 11 ทั้งหมดให้บริการโดยรถสี่ล้อแดง ส่วนสายที่ 12 (วนซ้ายและวนขวา) ใช้รถเมล์เทศบาลนครเชียงใหม่ ประกอบด้วย

สายที่ 1 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ – อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ – ตลาดวโรรส – สถานีขนส่งอาเขต แห่งที่ 2 ไปยังตลาดสามแยกสันทราย

สายที่ 2 ห้วยแก้ว - กาดสวนแก้ว – สถานีขนส่ง แห่งที่ 1 (ช้างเผือก) – ตลาดวโรรส - สถานีรถไฟ – สถานีขนส่งอาเขต แห่งที่ 2

สายที่ 3 สถานีขนส่ง แห่งที่ 1 (ช้างเผือก) - ประตูท่าแพ – ท่าอากาศยานเชียงใหม่

สายที่ 4 สถานีขนส่ง แห่งที่ 1 (ช้างเผือก) - นิมมานเหมินทร์ - โรงพยาบาลสวนดอก – ท่าอากาศยานเชียงใหม่

สายที่ 5 สถานีขนส่ง แห่งที่ 1 (ช้างเผือก) - เซ็นทรัลเฟสติวัล – พรอมเมนาดา – ท่าอากาศยานเชียงใหม่

สายที่ 6 สถานีขนส่ง แห่งที่ 1 (ช้างเผือก) - ตลาดวโรรส - โรงพยาบาลสวนดอก - โรบินสัน – แยกสะเมิง

สายที่ 7 สถานีขนส่ง แห่งที่ 1 (ช้างเผือก) - อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ – ตลาดวโรรส – ตลาดสามแยกสันทราย

สายที่ 8 สถานีขนส่ง แห่งที่ 1 (ช้างเผือก) – ศูนย์ราชการเชียงใหม่ – สนามกีฬาสมโภช 700 ปี – รพ.นครพิงค์

สายที่ 9 สถานีขนส่ง แห่งที่ 1 (ช้างเผือก) – ตลาดวโรรส - หนองหอย – ที่ว่าการอำเภอสารภี

สายที่ 10 สถานีขนส่ง แห่งที่ 1 (ช้างเผือก) – ตลาดวโรรส - สถานีรถไฟเชียงใหม่ – สี่แยกบวกครก

สายที่ 11 สถานีขนส่ง แห่งที่ 1 (ช้างเผือก) – ตลาดไนท์บาซาร์ – โรงเรียนมงฟอร์ตแผนกประถม – จวนผู้ว่าฯ – โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

สายที่ 12 ขนส่งอาเขต - สนามบิน (รถเมล์วนซ้าย) สถานีขนส่ง แห่งที่ 2 (อาเขต) – เซ็นทรัลเฟสติวัล – โลตัสคำเที่ยง – แยกข่วงสิงห์ – วัดเจ็ดยอด - แยกรินคำ – นิมมานเหมินทร์ – แยกกาดต้นพะยอม – ขนส่งแม่เหียะ – โรบินสัน - ท่าอากาศยานเชียงใหม่ - สถานีตำรวจภูธร ภาค 5 – โรงเรียนมงฟอร์ตมัธยม – บิ๊กซีดอนจั่น – แยกหนองประทีป – ขนส่งอาเขต

สายที่ 12 ขนส่งอาเขต – สนามบิน (รถเมล์วนขวา) สถานทีขนส่ง แห่งที่ 2 (อาเขต) – บิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า - แมคโคร - บิ๊กซีดอนจั่น – สถานีตำรวจภูธร ภาค 5 - โรบินสัน – ท่าอากาศยานเชียงใหม่ – โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ – โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม - กาดสวนแก้ว - แยกรินคำ - วัดเจ็ดยอด – แยกข่วงสิงห์ - โรงพยาบาลลานนา - เซ็นทรัลเฟสติวัลเชียงใหม่ – สถานีขนส่ง แห่งที่ 2 (อาเขต)

แม้ว่าการจัดระเบียบจะมีเป้าหมายเพื่อทำให้ระบบขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่การดำเนินการกลับไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง หนึ่งในปัญหาหลักที่ผู้ประกอบการรถสี่ล้อแดงระบุคือ “เงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพียงวันละ 100 บาทไม่เพียงพอต่อการครอบคลุมต้นทุนการวิ่งรถซึ่งอยู่ที่ประมาณ 800 ถึง 1,000 บาทต่อวัน” โดยค่าน้ำมันต่อรอบมีค่าใช้จ่ายประมาณ 150 บาท ทำให้จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเพียง 2-3 คนต่อเที่ยว การให้บริการในเส้นทางที่จัดระเบียบใหม่จึงไม่สามารถดึงดูดผู้โดยสารได้มากเพียงพอ

ระหว่างปี พ.ศ. 2558 ถึง 2560 คณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดเชียงใหม่ได้รับมอบหมายให้ทดลองการจัดระเบียบรถสี่ล้อแดงอีกครั้ง โดยอ้างอิงจากการศึกษาของ รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม หัวหน้าหน่วยวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การปรับพฤติกรรมของประชาชนในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะยังต้องใช้เวลา การปรับเส้นทาง 11 เส้นทางแรกถูกยกเลิกและลดเหลือเพียงบางเส้นทางที่มีความต้องการมากกว่า

ทดลองเส้นทางเดินรถสี่ล้อแดงอีกรอบ แต่รายรับยังไม่พอชดเชยรายได้

ในช่วงปลายปี 2557 ถึง 2558 ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม ได้ทำการศึกษาและปรับปรุงเส้นทางขนส่งสาธารณะในเมืองเชียงใหม่ โดยปรับมาจากเส้นทางจัดระเบียบรถสี่ล้อแดงสมัย คสช. จำนวน 12 เส้นทาง โดยนำรถสี่ล้อแดงมาทดลองจริง 5 เส้นทาง โดยเริ่มให้บริการครั้งแรกในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ได้แก่ สายที่ 7 สถานีขนส่งช้างเผือก – เซ็นทรัลเฟสติวัล – โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

ต่อมาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 มีการทดลองเพิ่มเติมอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ สายที่ 1 หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ – ตลาดสามแยกสันทราย, สายที่ 2 ห้วยแก้ว – ขนส่งอาเขต และ สายที่ 9 ขนส่งช้างเผือก – หนองสี่แจ่ง อ.สารภี ส่วนเส้นทางสุดท้าย สายที่ 4 สถานีขนส่งช้างเผือก – ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เริ่มให้บริการในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แต่ละเส้นทางมีรถสี่ล้อแดงเข้าร่วมทดลองเส้นทางละ 10 คัน โดยกำหนดค่าตอบแทนตามระยะทางเที่ยวละ 140 บาท และอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาทสำหรับบุคคลทั่วไป และ 10 บาทสำหรับพระภิกษุ สามเณร และนักเรียนในเครื่องแบบ นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์ในสถานที่สำคัญ เช่น สถานศึกษา และสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้บริการ โดยมีการแจกคูปองแทนค่าโดยสารเพื่อจูงใจผู้ใช้บริการ

ผลการทดลองในช่วงแรกพบว่ามีผู้ใช้บริการรวมประมาณ 1,400 คน และสร้างรายได้เฉลี่ย 19,850 บาทต่อสาย อย่างไรก็ตามระบบขนส่งยังคงประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากรายได้ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น การเบิกจ่ายงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่นยังคงล่าช้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่และสำนักงานพัฒนาพิงค์นคร (องค์การมหาชน) แต่ก็ยังไม่เพียงพอเนื่องจากความล่าช้าจากกระบวนการราชการและกฎระเบียบของกระทรวงการคลังที่ทำให้กระบวนการสนับสนุนไม่ทันเวลา

ในปี พ.ศ. 2559 ดร.ปุ่นได้รายงานผลการดำเนินงานเพิ่มเติม พบว่ามีผู้ใช้บริการในแต่ละเส้นทางเพิ่มขึ้น โดย สายที่ 7 สถานีขนส่งช้างเผือก – เซ็นทรัลเฟสติวัล – โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย มีผู้โดยสารมากที่สุด 4,294 คน สายที่ 2 ห้วยแก้ว-ขนส่งอาเขต 3,724 คน สายที่ 1 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่-ตลาดสามแยกสันทราย 3,491 คน สายที่ 9 ขนส่งช้างเผือก – หนองสี่แจ่ง อ.สารภี มีผู้ใช้บริการจำนวน 1,566 คน และสายที่ 4 สถานีขนส่งช้างเผือก – ท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีผู้โดยสารเพียง 576 คน จากการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการจำนวน 1,477 ชุด พบว่าผู้โดยสารมีความพึงพอใจต่อการพัฒนาระบบขนส่ง โดยเฉพาะการจัดทำป้ายข้อมูลเส้นทางและเวลาเดินรถที่ชัดเจน

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 สหกรณ์นครลานนาเดินรถได้ขอเพิ่มเส้นทาง Shuttle Bus หรือบริการรับ-ส่งเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานเชียงใหม่และโรงแรมต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว

ปรับเส้นทางเหลือ 9 เส้นทาง ใช้รถสี่ล้อแดง รถเมล์เทศบาล และรถตู้

ในการประชุมของคณะอนุกรรมการจัดระบบจราจรทางบกจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2559 พ.ท.ณัฐนันท์ สุขะหุต ตัวแทนผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 รายงานว่าการจัดระเบียบได้ร่วมมือกับเทศบาลนครเชียงใหม่และภาคเอกชน โดยมีการแบ่งเส้นทางรถสี่ล้อแดง 3 เส้นทางหลัก รถเมล์เทศบาล 3 เส้นทาง และรถตู้สำหรับการเดินทางจากสนามบิน 3 เส้นทาง ได้แก่ R1 สวนรุกขชาติ – เซ็นทรัลเฟสติวัล, R2 ขนส่งช้างเผือก – สนามบิน, R3 โรงพยาบาลนครพิงค์ – ตลาดวโรรส นอกจากนี้ยังมีเส้นทางรถเมล์เทศบาล 3 เส้นทาง ได้แก่ B1 ขนส่งอาเขต – สวนสัตว์เชียงใหม่, B2 ขนส่งอาเขต – สนามบิน, B3 ขนส่งอาเขต – โรงพยาบาลนครพิงค์

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางรถตู้ที่ให้บริการจากสนามบินใน 3 เส้นทางหลัก ได้แก่ A1 สนามบิน – ศูนย์ประชุม, A2 สนามบิน – ไนท์บาซาร์ และ A3 สนามบิน – สนามกีฬา 700 ปี ในเวลาเดียวกัน เทศบาลนครเชียงใหม่ได้จัดซื้อรถมินิบัสใหม่ทั้งแบบดีเซลและไฟฟ้า โดยกำหนดค่าโดยสารเฉลี่ยที่ 15-20 บาทต่อเที่ยว

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ได้มอบหมายให้ทดลองให้บริการ Airport Shuttle Bus ในเส้นทางจากสนามบินไปยังศูนย์ประชุม, ไนท์บาซาร์ และสนามกีฬา 700 ปี ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกจังหวัดเชียงใหม่ในการประชุมวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปี 2559 ได้มีการสรุปผลการดำเนินการจัดระเบียบระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีภาคเอกชนต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนในเส้นทาง R1 และ R2 ในขณะที่เส้นทาง R3 กำลังจะมีการปรับปรุงให้เป็นเส้นทางนักท่องเที่ยว โดยมีการดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยเพื่อให้รถประจำเส้นทางสามารถวิ่งต่อไปได้ ส่วนเส้นทางสายที่ 8 เส้นทางบ้านขวัญเวียง – บ้านถวายยังประสบปัญหาการขาดทุนอยู่

สี่ล้อแดงคืนเส้นทาง ขอวิ่งไม่ประจำทางเที่ยวละ 30 บาท นอกเส้นทางขอเหมา

ในปี พ.ศ. 2560 สหกรณ์นครลานนาเดินรถได้ประกาศยกเลิกเส้นทางรถโดยสารประจำทางทั้งหมด 13 เส้นทาง เนื่องจากปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง เส้นทางที่ถูกยกเลิกแบ่งเป็น 2 หมวดหลัก ได้แก่ หมวด 1 จำนวน 6 เส้นทาง และหมวด 4 จำนวน 7 เส้นทาง การตัดสินใจนี้ทำให้สหกรณ์เปลี่ยนไปให้บริการในรูปแบบรถโดยสารไม่ประจำทางแทน พร้อมคืนเส้นทางสัมปทานเดิมทั้งหมด

สำหรับเส้นทางในหมวด 1 ที่ถูกยกเลิกประกอบด้วย 6 เส้นทางหลัก ได้แก่ สาย R1 สวนรุกขชาติ – เซ็นทรัลเฟสติวัล, สาย R2 ขนส่งช้างเผือก – สนามบิน, สาย R3 โรงพยาบาลนครพิงค์ – ตลาดวโรรส ส่วนเส้นทาง A1 สนามบิน – ศูนย์ประชุม, A2 สนามบิน – ไนท์บาร์ซาร์ และ A3 สนามบิน – สนามกีฬา 700 ปี เป็นทางที่ใช้รถตู้บริการ

สำหรับเส้นทางหมวด 4 ที่ถูกยกเลิกอีก 7 เส้นทาง ก็ใช้รถสี่ล้อแดงให้บริการได้แก่ เชียงใหม่ – บ้านน้ำบ่อหลวง – วัดห้วยโท้ง, โรงพยาบาลนครพิงค์ (ด้านหลัง) – บ้านแม่ฮะ, บ้านแม้วดอยปุย – บิ๊กซี (ดอนจั่น), บ้านน้ำต้น – ท่าอากาศยานเชียงใหม่, สถานีขนส่งช้างเผือก – บ้านน้ำโท้ง, สถานีขนส่งช้างเผือก – บ้านป่าแดด และสถานีขนส่งช้างเผือก – บ้านสันทรายมหาวงศ์

หลังจากการยกเลิกเส้นทางประจำทางทั้งหมด สหกรณ์ได้กำหนดอัตราค่าโดยสารใหม่สำหรับรถสี่ล้อแดงที่ให้บริการในลักษณะไม่ประจำทาง โดยเริ่มต้นที่ 30 บาทต่อคน ส่วนการเดินทางแบบเหมา ราคาจะตกลงกันระหว่างผู้โดยสารและผู้ขับ แต่จะมีเพดานค่าโดยสารไม่เกิน 200 บาทต่อเที่ยว ซึ่งต่อมาได้ปรับเพิ่มเพดานเป็นไม่เกิน 250 บาทต่อเที่ยว อัตราค่าโดยสารใหม่นี้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการในเขตเมืองเชียงใหม่และพื้นที่ถนนวงแหวนรอบที่ 2

Uber และ Grab เจ็บแสบที่สุด

รถแดง

สื่อประชาสัมพันธ์ของ Uber เมื่อเริ่มเปิดตัวบริการขนส่งที่เชียงใหม่เมื่อปี 2559 (ที่มา: Facebook/UberThai)

ในช่วงปี พ.ศ. 2561 - 2564 ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการเข้ามาของผู้ให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน เช่น Uber และ Grab นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัด

บริษัท Uber และ Grab เข้ามามีบทบาทสำคัญในตลาดการขนส่งของเชียงใหม่ โดยให้บริการรถโดยสารแบบไม่ประจำทางผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของสหกรณ์นครลานนาเดินรถและผู้ให้บริการรถสามล้อรับจ้างในพื้นที่ บริษัท Uber เริ่มให้บริการในกรุงเทพฯ ก่อนขยายมายังเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2560 อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2561 Uber ได้ยกเลิกกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และขายกิจการให้กับ Grab ซึ่งเริ่มให้บริการในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 และขยายสู่เชียงใหม่ในปีเดียวกัน

บริการของ Uber และ Grab ที่ตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสบายในการเรียกรถและค่าโดยสารที่คงที่ ทำให้ได้รับความนิยมอย่างมากจากทั้งชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยว ซึ่งมองว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับรถสี่ล้อแดง แท็กซี่ และตุ๊กตุ๊ก ที่มีปัญหาค่าโดยสารไม่แน่นอนและไม่ได้มาตรฐาน

รถแดง

รถเมล์ RTC ที่เตรียมเดินรถใน จ.เชียงใหม่ ภาพเผยแพร่เมื่อ 16 พฤษภาคม 2561 ที่มา: แฟ้มภาพ/Facebook/รถเมล์เชียงใหม่ RTC Chiang Mai City Bus

ในช่วงปีเดียวกันนั้นเอง การพัฒนารถโดยสารประจำทางในเชียงใหม่ยังได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากบริษัท รีเจียนนอล ทรานซิสท์ คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (RTC) ซึ่งเข้ามาให้บริการในเส้นทาง R1, R2 และ R3 แทนสหกรณ์รถแดงเดิม โดยมีค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 20 บาทต่อสาย แม้ว่า RTC จะเผชิญปัญหาขาดทุนเช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ แต่ยังคงมีแผนเพิ่มจำนวนรถและขยายเส้นทางให้ดึงดูดผู้โดยสารมากขึ้น โดยในปีแรก (พ.ศ. 2561) มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 1,200 - 1,300 คน ขณะเดียวกัน รถเมล์ขาวของเทศบาลนครเชียงใหม่ซึ่งให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ก็ยังคงให้บริการ แม้จะประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง

พยายามฟื้นเส้นทางรถเมล์ หลังพิษโควิด-19

 

ทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดการเดินรถโดยสารเส้นทาง สาย 24 โดยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่บริษัท รีเจียนนอลทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด (RTC) ร่วมเปิดเดินรถและทดสอบการโดยสาร เมื่อ 29 ธันวาคม 2566 (ที่มา: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่)

ในปี พ.ศ. 2563 การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบขนส่งสาธารณะ มาตรการล็อกดาวน์และการเว้นระยะห่างทำให้ประชาชนไม่สามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้สะดวก ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งสาธารณะหยุดชะงัก เมื่อล็อกดาวน์เริ่มคลี่คลาย รถโดยสารไม่ประจำทางกลับมาให้บริการ แต่จำนวนรถลดลงมาก เนื่องจากขาดนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มผู้โดยสารหลัก รถเมล์ขาวของเทศบาลนครเชียงใหม่ยกเลิกเส้นทางเนื่องจากขาดทุนมานาน ขณะที่ RTC หยุดให้บริการชั่วคราว ทำให้เชียงใหม่ไม่มีบริการรถโดยสารประจำทางในช่วงนั้น

เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2566 ภาคเอกชนก็เริ่มฟื้นฟูระบบขนส่งสาธารณะ โดยบริษัท กรีนบัส จำกัด ได้เปิดให้บริการรถโดยสาร Chiang Mai Hop On Hop Off ในวันที่ 15 ตุลาคม โดยเน้นเส้นทางท่องเที่ยวรอบนอก 2 เส้นทาง ได้แก่ แม่ออนและแม่ริม ค่าบริการ 300 บาทต่อเที่ยว พร้อมส่วนลดต่างๆ

ในวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2566 บริษัท RTC ได้กลับมาให้บริการอีกครั้ง โดยเริ่มจากเส้นทางสายสีแดง-เหลือง จากสนามบิน-คูเมือง-กาดหลวง และวนกลับสนามบิน พร้อมแผนเปิดเส้นทางเพิ่มอีก 2 เส้นทางในเดือนกุมภาพันธ์ ค่าบริการปรับจาก 30 บาทเป็น 50 บาทสำหรับบุคคลทั่วไป และ 30 บาทสำหรับนักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และพระภิกษุสงฆ์

จากที่กล่าวมาทั้งหมด รถสี่ล้อแดงเป็นแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาในระบบใหญ่ทั้งหมดของการขนส่งสาธารณะในเมืองเชียงใหม่ คำถามสำคัญก็คือจะมองเรื่องนี้อย่างเป็นองค์รวม และแก้ปัญหาทั้งหมดอย่างไร

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: