ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาเปิดตัวหนังสือ "ฟุตบอลแฟนตาซี: การพนันอุบัติใหม่ในสังคมไทย?" เพื่อถกประเด็นการเติบโตของ "ฟุตบอลแฟนตาซี" ในสังคมไทยและความเสี่ยงที่อาจพัฒนาไปสู่การพนัน ชี้ FPL สร้างชุมชน-พัฒนาวงการบอล แต่เสี่ยงถูกธุรกิจพนันฉวยใช้ ควรกำหนดขอบเขตและป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากบริษัทพนัน
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2567 ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาเปิดตัวหนังสือ "ฟุตบอลแฟนตาซี: การพนันอุบัติใหม่ในสังคมไทย?" เพื่อถกประเด็นการเติบโตของฟุตบอลแฟนตาซีในสังคมไทยและความเสี่ยงที่อาจพัฒนาไปสู่การพนัน โดยมีวิทยากรคือ ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดร.คุณวุฒิ บุญฤกษ์ นักวิชาการอิสระ, จารุวัฒน์ พริบไหว สื่อมวลชนด้านกีฬา และพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน โดยมีธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เป็นผู้ดำเนินรายการ
Fantasy Sport: จากเกมกระดาษสู่ปรากฏการณ์ดิจิทัล
ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในคณะนักเขียนและผู้วิจัย ได้เล่าถึงวิวัฒนาการอันน่าสนใจของ Fantasy Sport ว่ามามีจุดเริ่มต้นจากเกมที่คิดค้นขึ้นเพื่อเล่นกันเองในหมู่เพื่อนฝูงในอเมริกา ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 ที่เริ่มต้นจากกีฬาเบสบอล ยกระดับสู่เกมระดับโลกจากการเกิดขึ้นของ Fantasy Premier League (FPL) ในอังกฤษช่วงปี 2002
ยุคแรกเริ่มของ Fantasy Sport ยังคงใช้กระดาษและปากกาในการบันทึกคะแนน แต่การมาถึงของอินเทอร์เน็ตได้พลิกโฉมวงการ โดยเฉพาะในอเมริกาที่มีจุดเปลี่ยนสำคัญจากกฎหมายปราบปรามการพนันออนไลน์ที่เขียนยกเว้นให้ Fantasy Sport ไม่เข้าข่ายการพนัน นำไปสู่การพัฒนาเป็น Daily Fantasy Sport ที่เปลี่ยนจากเล่นเป็นฤดูกาลมาเป็นเกมระยะสั้น และต้องใช้เงินจริง
ในอังกฤษ FPL ได้รับความนิยมอย่างสูง มีทั้งรายการโทรทัศน์และโรงเรียนสอนเล่น FPL เกิดขึ้นมากมาย ระบบ "ลีกย่อย" ที่ให้ผู้เล่นแข่งขันกับเพื่อนฝูงยิ่งเพิ่มความสนุก แม้บางกลุ่มจะมีการวางเดิมพันเล็กน้อยที่อาจเข้าข่ายการพนันเชิงสังคม (Social Gambling)
สำหรับประเทศไทย สยามสปอร์ตถือเป็นผู้บุกเบิกเกมนี้ด้วยสิงห์ซูเปอร์เมเนเจอร์ลีก ซึ่งอิงกับฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ก่อนเลิกทำไป เมื่ออินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาท แม้จะมีผู้ให้บริการรายใหม่หมุนเวียนเข้ามาในตลาดอยู่เป็นระยะ โดยมีบางรายเริ่มเปิดตลาดบอลไทย อย่าง Fantopy แต่ก็ไม่มีครั้งไหนที่เป็นกระแสเท่า GG Live ที่โดดเด่นด้วยการแจกเงินรางวัล และรองรับภาษาไทย แม้ปัจจุบัน GG Live จะปิดตัวลงแล้ว แต่ก็เริ่มมีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ พยายามเข้ามาแทนที่
อย่างไรก็ตาม Fantasy Sport ในไทยยังเผชิญความท้าทายจากประเด็นความสัมพันธ์ที่ขยับเข้าใกล้การพนัน ซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียง โดยเฉพาะคำถามที่ว่ามันจะกลายเป็น "การพนันอุบัติใหม่" หรือไม่ รวมถึงประเด็นจริยธรรมในวงการกีฬา (Sport Integrity) ที่เกี่ยวข้องกับ Fantasy Sport ที่เริ่มถูกพูดถึงในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ
FPL เกมแห่งทักษะที่สร้างชุมชนแฟนบอลไทย
ดร.คุณวุฒิ บุญฤกษ์ นักวิชาการอิสระ หนึ่งในคณะนักเขียนและผู้วิจัย ได้เปิดมุมมองน่าสนใจเกี่ยวกับ FPL ในฐานะเกมที่สร้างปรากฏการณ์ทางสังคมในประเทศไทย
จุดเด่นของ FPL อยู่ที่การเป็นเกมที่ต้องใช้ทักษะและความรู้ในการวิเคราะห์ วางแผน และคาดการณ์ผลการแข่งขัน ผสานกับพลังของชุมชนที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้เล่น
ฐานผู้เล่น FPL ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นแฟนบอลพรีเมียร์ลีก โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง น่าสนใจว่าเงินรางวัลไม่ใช่แรงจูงใจหลักในการเล่น แต่เป็นความสนุกจากการได้ใช้ความรู้และทักษะในการแข่งขัน
ชุมชน FPL ในไทยมีความเข้มแข็ง มีเพจและกลุ่ม Facebook มากมาย โดย Content Creator ส่วนใหญ่เน้นการให้ความรู้และไม่สนับสนุนการพนัน แม้จะมีการจัดการแข่งขันในกลุ่มเพื่อนที่มีเงินรางวัลเล็กน้อย
FPL ได้พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นมากกว่าเกม ด้วยการเป็นกิจกรรมที่ช่วยคลายเครียดจากงานประจำ สร้างคุณค่าในชีวิต และที่สำคัญคือสร้างมิตรภาพและเครือข่ายทางสังคม มีผู้เล่นบางรายถึงกับเลิกเล่นการพนันได้เพราะหันมาสนใจ FPL แทน อาจจะมองได้ว่าจุดแข็งของกลุ่มผู้เล่น FPL คือพลังของชุมชนที่ทำให้กลายเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่มีคุณค่าทางสังคม
อย่างไรก็ตาม ดร.คุณวุฒิ ทิ้งท้ายไว้ว่าในงานวิจัยพบว่าการเล่นฟุตบอลแฟนตาซีอาจส่งผลกระทบด้านลบด้วยเช่นกัน เช่น การใช้เวลามากเกินไป ภาวะหมกมุ่น และปัญหาสุขภาพจิต เป็นต้น
FPL เครื่องมือพัฒนาวงการฟุตบอล
ด้าน จารุวัฒน์ พริบไหว สื่อมวลชนด้านกีฬาและผู้เล่น FPL ได้แบ่งปันมุมมองน่าสนใจเกี่ยวกับผลสะเทือนของ FPL ต่อวงการฟุตบอล โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับชมของแฟนบอล FPL ได้สร้างมิติใหม่ให้กับการดูฟุตบอล ด้วยระบบที่จำกัดงบประมาณในการเลือกนักเตะ ทำให้ผู้เล่นต้องพิจารณานักเตะจากทีมรองด้วย ส่งผลให้ทีมเล็ก ๆ ที่เคยอยู่นอกสายตาแฟนบอลได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ FPL ยังกระตุ้นให้แฟนบอลติดตามข่าวสารอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ทั้งสภาพร่างกายนักเตะ โอกาสลงสนาม และข่าวการฝึกซ้อม เพื่อวิเคราะห์และคาดการณ์ผลงานให้ได้แม่นยำ ทำให้การรับชมฟุตบอลมีมิติที่ลึกซึ้งขึ้น
สำหรับวงการฟุตบอลไทย จารุวัฒน์มองว่า Fantasy มีศักยภาพในการพัฒนาวงการ เป็นอีกทางเลือกที่ดี เพราะไม่มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การล้มบอลเหมือน Sport Betting หากมีแฟนตาซีของบอลลีกไทยจะช่วยส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลนักเตะไทย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งแฟนบอล สื่อมวลชน และสโมสร
จารุวัฒน์ ย้ำว่าอย่างไรก็ตาม การพัฒนาฟุตบอลแฟนตาซีในประเทศไทยยังเผชิญอุปสรรคสำคัญจากความไม่ชัดเจนของกฎหมาย ทำให้นักลงทุนไม่กล้าเข้ามาลงทุนในตลาดนี้อย่างเต็มที่ ทั้งที่มีศักยภาพในการพัฒนาวงการฟุตบอลไทยทั้งในแง่การเพิ่มฐานผู้ชม ยกระดับคุณภาพการรับชม และส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร
FPL สายน้ำที่นำพาคนออกจากการพนันกีฬา
พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน หนึ่งในนักการเมืองไทยที่เล่น FPL ได้แบ่งปันมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับ FPL จากประสบการณ์ตรงที่เริ่มต้นตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมอยู่ที่อังกฤษ ด้วยการใช้การ์ดสะสมนักฟุตบอลมาจัดทีมและคำนวณคะแนนเอง ก่อนจะพัฒนามาสู่การเล่น FPL ผ่านอินเทอร์เน็ต
เขามองว่า FPL เป็นส่วนขยายของความหลงใหลในฟุตบอลที่ช่วยเพิ่มอรรถรสในการรับชม เปิดโอกาสให้ใช้จินตนาการในการเลือกนักเตะ และทดสอบฝีมือการวิเคราะห์กับเพื่อน ๆ โดยแรงจูงใจหลักอยู่ที่ความสนุก ความท้าทาย และการ "ขิง" กับเพื่อนมากกว่า
ในประเด็นความสัมพันธ์กับการพนัน พริษฐ์ได้เสนอ 5 เกณฑ์สำหรับพิจารณา ได้แก่ 1. การจ่ายเงินเพื่อเล่น 2. สัดส่วนระหว่างทักษะกับโชค 3. รูปแบบรางวัล 4. ความถี่ในการให้รางวัล และ 5. เจตนาของผู้เล่น โดยเฉพาะในกรณีของ Daily Fantasy ที่มีการจ่ายเงินเพื่อเล่นและมีเงินรางวัล ทั้งนี้ ข้อกังวลสำคัญคือการที่บริษัทพนันออนไลน์อาจใช้ FPL เป็นเครื่องมือเข้าถึงกลุ่มลูกค้า
อย่างไรก็ตาม พริษฐ์มอง FPL เหมือนสายน้ำที่ช่วยเอาคนออกจากการพนันได้ เขาเสนอให้ส่งเสริมการเล่น FPL เพื่อดึงผู้ติดการพนันฟุตบอลออกจากวงจรปัญหา แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้สายน้ำไหลย้อน หรือเอาคนกลับเข้าสู่การพนัน และที่สำคัญคือต้องมีกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อกำหนดขอบเขตและป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากบริษัทพนัน
สรุปงานวิจัย "ฟุตบอลแฟนตาซี: ฤาการพนันอุบัติใหม่ในสังคมไทย? " งานวิจัยฉบับนี้มุ่งศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับกีฬาแฟนตาซี โดยเฉพาะฟุตบอลแฟนตาซีในประเทศไทย ครอบคลุมตั้งแต่ประวัติความเป็นมา การบริหารจัดการ พฤติกรรมของผู้เล่น ตลอดจนประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับความเป็นการพนัน กีฬาแฟนตาซีในประเทศไทยมีประวัติย้อนหลังกว่า 20 ปี เริ่มต้นจากสิงห์ซูเปอร์เมเนเจอร์ลีกในปี 2542 ซึ่งใช้สื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลัก ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตแพร่หลาย แฟนตาซีพรีเมียร์ลีก (FPL) ของอังกฤษก็เข้ามาได้รับความนิยมอย่างสูง มีผู้เล่นชาวไทยมากกว่า 80,000 ทีม ปี 2560 แฟนโทปีเกิดขึ้นเป็นแพลตฟอร์มแรกที่ใช้ไทยลีกเป็นฐาน ตามมาด้วยไทยลีกแฟนตาซีเอ็นเอฟที ที่ผสานเทคโนโลยีสินทรัพย์ดิจิทัล จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อจีจีไลฟ์เข้าสู่ตลาดในช่วงปลายฤดูกาล 2020-2021 นำเสนอรูปแบบการแข่งขันรายวันพร้อมเงินรางวัล ซึ่งนำมาสู่การถกเถียงว่าอาจเข้าข่ายการพนัน ในบริบทของการศึกษาชิ้นนี้ พบว่า แพลตฟอร์มที่ครองใจผู้เล่นชาวไทยคือ FPL และ GG LIVE โดยผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นเพศชายวัยทำงาน การศึกษาดี รายได้ปานกลางถึงสูง แรงจูงใจในการเล่นมีหลากหลาย ทั้งความชื่นชอบฟุตบอล เงินรางวัล มิตรภาพ และอิทธิพลจากโซเชียลมีเดีย ด้านพฤติกรรมการเล่นพบว่า ผู้เล่นใช้เวลาเตรียมตัวตั้งแต่ 1-2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ไปจนถึงกว่า 80% ของเวลาในชีวิตประจำวัน ประเด็นถกเถียงเรื่องความเป็นการพนันของกีฬาแฟนตาซีเกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะรูปแบบ Daily Fantasy Sports (DFS) ที่มีการจ่ายเงินรางวัล ในสหรัฐอเมริกา DFS ถือเป็นเกมทักษะ ไม่จัดเป็นการพนันในหลายรัฐ เนื่องจากผู้เล่นต้องใช้ความรู้วิเคราะห์ข้อมูลในการจัดทีม สำหรับประเทศไทย กฎหมายการพนันยังไม่ครอบคลุมถึงกีฬาแฟนตาซี ทำให้สถานะทางกฎหมายยังคลุมเครือ งานวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะให้พัฒนากฎหมายควบคุมกีฬาแฟนตาซีอย่างชัดเจน อาจรวมไว้ในกฎหมายการพนันหรือออกกฎหมายเฉพาะสำหรับเกมออนไลน์ ควรมีมาตรการคุ้มครองผู้เล่น เช่น กำหนดอายุขั้นต่ำ ควบคุมการโฆษณา ส่งเสริมการเล่นอย่างรับผิดชอบ และป้องกันปัญหาการพนัน นอกจากนี้ ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบในมิติต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมและแรงจูงใจของผู้เล่น โดยสรุป กีฬาแฟนตาซีเป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในประเทศไทย งานวิจัยนี้ได้ฉายภาพให้เห็นพัฒนาการ พฤติกรรมผู้เล่น และประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมเสนอแนะแนวทางพัฒนากฎหมายและมาตรการต่างๆ เพื่อให้กิจกรรมนี้ดำเนินไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงการคุ้มครองทั้งผู้เล่นและสังคมโดยรวม |
อนึ่งสำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือและงานวิจัยตัวเต็ม สามารถดาวน์โหลดที่เว็บไซต์ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน
- หนังสือฟุตบอลแฟนตาซี: ฤๅการพนันอุบัติใหม่ในสังคมไทย?
- งานวิจัยฟุตบอลแฟนตาซี: ฤาการพนันอุบัติใหม่ในสังคมไทย?
ที่มาภาพจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ