ข้อมูลจาก กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (กก.ดส.) ระบุว่าหากโดนขู่ว่าจะเอาภาพหรือคลิปส่วนตัว ที่เคยถ่ายไปปล่อยบนโซเชียล โดยเรียกเงินเพื่อแลกกับการที่จะไม่ทำตามคำขู่จะนำไปประจาน ไม่ต้องกลัว เข้าแจ้งความดำเนินคดีได้เลย ทำตามขั้นตอนง่ายๆ
1. เก็บหลักฐานที่มีคนโพสหรือแชร์
ให้ผู้เสียหายรวบรวมหลักฐาน ไม่ว่าเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ใดก็ตาม ว่าใครเป็นคนโพสต์เผยแพร่ให้ชัดเจน ส่วนใครที่นำไปแชร์ต่อ ให้เก็บหลักฐานไว้เช่นกัน เนื่องจากมีความผิดทั้งคนโพสต์และคนแชร์
2.เก็บหลักฐานการข่มขู่
ในกรณีที่มีการแบล็กเมล์ ข่มขู่ เรียกร้องทรัพย์สินกับผู้เสียหายผ่านทางโทรศัพท์ ให้บันทึกเสียงไว้ตอนพูดข่มขู่ แต่หากพูดกันตัวต่อตัวต้องหาพยาน
กรณีนี้ มีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 338 ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหาย จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท
และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2560 มาตรา 14 (4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ส่วนคนที่แชร์ต่อ จะมีความผิดตามมาตรา 14 (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
3.แจ้งความ ณ สถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ
เมื่อรวบรวมหลักฐานได้แล้วนั้น ทราบเหตุที่ใดสามารถแจ้งความท้องที่ที่เกิดเหตุได้เลย เนื่องจากสถานีตำรวจในท้องที่มีหน้าที่โดยตรงที่จะรับแจ้งความ หรือเดินทางมาร้องทุกข์กล่าวโทษด้วยตนเองที่ บก.ปอท.
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ