ม.มหิดล ชี้กลยุทธ์โลกยั่งยืนด้วยนมแม่

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 เม.ย. 2567 | อ่านแล้ว 9766 ครั้ง

ม.มหิดล ชี้กลยุทธ์โลกยั่งยืนด้วยนมแม่

ม.มหิดล ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ที่จะช่วยส่งเสริมสังคมและเศรษฐกิจชาติ สู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ SDG1 ที่ว่าด้วยการขจัดความยากจน (No Poverty) SDG2 การขจัดความหิวโหย (No Hunger) และ SDG3 เพื่อสุขภาวะที่ดี (Good Health & Well - Being) ได้ต่อไปในอนาคต

ในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับ องค์การยูนิเซฟ ยังพบทารกไทยได้กินนมแม่อย่างต่อเนื่อง 6 เดือนเพียงร้อยละ 29

รองศาสตราจารย์กรรณิการ์ วิจิตรสุคนธ์ ศิษย์เก่าดีเด่นจากภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เข้ารับรางวัล “มหิดลทยากร“ จากสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. 2564 ในฐานะผู้วางรากฐานส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้งการผลิตตำรา และหลักสูตรแรกของประเทศไทย ณ ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนโดย องค์การยูนิเซฟ และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

โดยได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ที่จะช่วยส่งเสริมสังคมและเศรษฐกิจชาติ สู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ SDG1 ที่ว่าด้วยการขจัดความยากจน (No Poverty) SDG2 การขจัดความหิวโหย (No Hunger) และ SDG3 เพื่อสุขภาวะที่ดี (Good Health & Well - Being) ได้ต่อไปในอนาคต

จากการให้ทารกได้กินนมจากอกแม่ที่ให้ทั้งความอบอุ่น และปลอดภัย อีกทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่ต้องสูญเสียไปกับกระบวนการผลิต “นมผง” ซึ่งใช้ได้เฉพาะในทารกแรกเกิดที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ นอกจากนี้การกินนมจากอกแม่ทำให้ไม่ต้องลงทุนไปกับการซื้อหา “ขวดนม” ที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จากการทำความสะอาดที่ไม่ถูกสุขลักษณะ

ในขณะที่การให้ทารกกินนมจากแม่มั่นใจได้ในความปลอดภัย แม้ในภาวะวิกฤติโรคติดต่อแพร่ระบาดยังสามารถทำได้ เนื่องจากในน้ำนมแม่มีสารธรรมชาติช่วยกระตุ้นให้ร่างกายทารกสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเองได้ ทั้งในกรณีแม่ปลอดเชื้อ หรือแม่อยู่ระหว่างการกักโรค โดยหากแม่ปลอดเชื้อสามารถให้นมได้เอง โดยจะต้องผ่านการทำความสะอาดเต้านมและมือทั้งสองข้างก่อนให้ทารกกินนมจากอกแม่ และหากอยู่ระหว่างการกักโรค สามารถบีบออกใส่ถ้วย หรือช้อน เพื่อให้ผู้ดูแลป้อนทารก

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาจากที่ได้มีการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID - 19 จนเกิดภูมิคุ้มกันในประชากรทั่วโลก แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีรายงานที่แน่ชัด แต่ก็ยังเชื่อกันว่าจะส่งผลพลอยได้ถึงทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาให้ได้รับภูมิคุ้มจากแม่สู่ลูกตามไปด้วยโดยปริยาย

เคล็ดลับการทำให้ทารกสามารถกินนมจากอกแม่ได้อย่างต่อเนื่องในช่วงวิกฤติ หรือเร่งรีบ อยู่ที่การพยายามป้องกันไม่ให้น้ำนมเหือดแห้งไปจากอกแม่ ด้วยการหมั่นบีบน้ำนมออกทุก 2 - 3 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างและหลั่งน้ำนมอยู่ตลอดเวลา โดยควรบีบใส่ถ้วยหรือช้อนเพื่อให้ผู้ดูแลป้อนทารก ไม่ควรป้อนจากขวด เนื่องจากอาจทำให้ทารกไม่กลับไปกินนมจากอกแม่อีก

ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงและเร่งรีบ ในฐานะนายกสมาคมพยาบาลนมแม่ประเทศไทย และเลขาธิการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมในพระอุปถัมภ์ฯ รองศาสตราจารย์กรรณิการ์ วิจิตรสุคนธ์ ยืนยันว่าการให้นมจากอกแม่ เป็นการมอบสิ่งที่ดีที่สุดจากแม่สู่ลูก

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: