พบเด็กเคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 73% ได้จากครอบครัว เพื่อน ชุมชน

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 พ.ค. 2567 | อ่านแล้ว 3626 ครั้ง

พบเด็กเคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 73% ได้จากครอบครัว เพื่อน ชุมชน

วิกฤตบุหรี่ไฟฟ้าคุกคามเด็กประถม อึ้ง 15% เคยถูกคนในครอบครัวแนะนำให้ลองบุหรี่ไฟฟ้า เด็กที่เคยสูบระบุ 73% ได้บุหรี่ไฟฟ้าจากครอบครัว เพื่อน คนในชุมชน เหตุเข้าใจผิดว่าปลอดภัย สสส. เร่งสานพลัง สถาบันยุวทัศน์ ฯ จัดนิทรรศการ “บุหรี่ไฟฟ้า ฟิน จน ตาย” รณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 2567 เชิญชวนผู้ปกครอง ครู เด็ก เข้าชมฟรี เรียนรู้ผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกต้อง | ที่มาภาพ: สำนักข่าวสร้างสุข

สำนักข่าวสร้างสุข รายงานว่าเมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย. 2567 ที่ศูนย์การค้าสเปลล์ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับศูนย์การค้าสเปลล์ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดนิทรรศการตีแผ่ความรู้ เรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า ฟิน จน ตาย : ความจริงที่บุหรี่ไฟฟ้าไม่เคยบอกคุณ” คาดหวังเด็ก เยาวชน และประชาชน ร่วมศึกษาผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าและรับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยวันนี้ ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน จากผลการสำรวจของการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) ปี 2565 พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นก้าวกระโดดจาก 3.3% ในปี 2558 เพิ่มเป็น 17.6% ในปี 2565 เพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่า สอดคล้องกับผลสำรวจพฤติกรรมการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในภาคกลาง กลุ่มตัวอย่าง 152 คน ช่วงเดือนม.ค. 2567 โดยนักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พบข้อมูลที่น่าตกใจเกี่ยวกับสาเหตุของการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 4-5 โดยกลุ่มตัวอย่าง 15% เคยถูกคนในครอบครัวแนะนำหรือให้ทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า ขณะที่กลุ่มเด็กที่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 73% ระบุว่ามีแหล่งที่มาของบุหรี่ไฟฟ้ามาจากครอบครัว เพื่อน คนในชุมชน แนะนำ ให้ยืม หรือขายบุหรี่ไฟฟ้าให้ เนื่องจากเข้าใจว่าปลอดภัย เพราะรูปลักษณ์อุปกรณ์มีความเป็นมิตร

“ผลสำรวจนี้ สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า “ผู้ปกครอง” ยังขาดความรู้ และความตระหนักถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อบุตรหลานของตนเอง ดังนั้นการให้ความรู้กับกลุ่มผู้ปกครองควบคู่ไปกับการให้ความรู้กับเด็กและเยาวชนทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา สถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่ามีอันตรายเทียบเท่ากับบุหรี่ชนิดอื่น ๆ จึงเป็นที่มาของการจัดนิทรรศการบุหรี่ไฟฟ้า ฟิน จน ตาย ซึ่งอยู่บนกรอบฐานคิดทำงานเชิงรุกเพื่อจัดให้มีแหล่งความรู้ไปปรากฏอยู่ในสถานที่สำคัญของเด็ก เยาวชน และครอบครัว” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่จะมีส่วนช่วยทำให้การสูบบุหรี่ไฟฟ้าลดลงนั้น ต้องอาศัยกลไกจากครอบครัวร่วมด้วย และแม้ว่าเด็กและเยาวชนจะได้รับการสอดส่องดูแลหรือการปกป้องคุ้มครองภัยอันตรายต่าง ๆ จากบุคลากรในโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อถึงช่วงหมดเวลาเรียนหรือปิดภาคเรียน บทบาทเหล่านี้จะกลายเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองทันที ซึ่งการที่ผู้ปกครองมีความรู้หรือความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า จะมีส่วนสำคัญ ที่จะเพิ่มช่องทางการสื่อสารไปยังเด็กและเยาวชน นอกเหนือจากการสื่อสารของหน่วยงานต่าง ๆ และ จะเพิ่มโอกาสประสบผลสำเร็จโดยรวมสำหรับการลดนักสูบหน้าใหม่ลง

ด้านนายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า นิทรรศการตีแผ่ความรู้ เรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า ฟิน จน ตาย : ความจริงที่บุหรี่ไฟฟ้าไม่เคยบอกคุณ” ในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนพื้นที่จากศูนย์การค้าสเปลล์ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต และสนับสนุนข้อมูลทางกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รวมถึงสนับสนุนนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งนิทรรศการจะแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพของกลุ่มผู้ป่วยในประเทศไทย ส่วนประกอบที่อันตรายในบุหรี่ไฟฟ้า และความผิดทางกฎหมาย รวมถึงการเปิดให้แสดงความคิดเห็นต่อการจัดการปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยจัดแสดงนิทรรศการตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. – 10 พ.ค. 2567 และวันที่ 12 พ.ค. ที่ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อร่วมรณรงค์ในวันงดสูบบุหรี่โลกตรงกับวันที่ 31 พ.ค. ของทุกปี โดยคาดหวังว่าจะมีประชาชนที่สนใจเข้ารับชมนิทรรศการกว่า 3,000 คน ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีและกรุงเทพฯ ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2108 8530 หรือ www.tyithailand.or.th

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: