Kick-off! เปิดตัวแคมเปญ "Free Ratsadon on the Road x Amnesty People" พาฝันเพื่อนในเรือนจำ 4 ภูมิภาคทั่วไทย ประเดิม จ.เชียงใหม่ ที่แรก! ดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมและปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข
4 ก.ย. 2567 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน และทัมไรท์ ได้เปิดตัวแคมเปญ "Free Ratsadon on the Road x Amnesty People" มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมให้ประชาชนทั่วประเทศยืนหยัดในการปกป้องสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ โดยการผลักดันสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน และพาฝันของเพื่อนในเรือนจำไปพบกับผู้คนทั่วประเทศไทยเพื่อไปให้ถึงวันที่ไม่มีคดีการเมือง โดยเริ่มต้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และเดินทางต่อไปที่จังหวัดขอนแก่น อุบลราชธานี และปิดท้ายที่สงขลา
เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงที่มาของการจัดกิจกรรม "FREERATSADON on the road x Amnesty People" ว่า เพื่อสร้างการรับรู้และระดมการสนับสนุนจากผู้คนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ แคมเปญนี้จะนำทุกคนไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เพียงแค่แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและการยืนหยัดเคียงข้างเพื่อนในเรือนจำเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการรวมพลังของภาคประชาชนทุกคนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และส่งเสียงไปยังผู้มีอำนาจว่าเราไม่ยอมให้มีการคุมขังผู้คนจากการใช้สิทธิมนุษยชนอีกต่อไป
เพชรรัตน์กล่าวเสริมว่า กิจกรรมนี้จะสามารถสร้างเครือข่ายและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในสังคมไทย โดยเฉพาะการเรียกร้องให้ยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข รวมถึงการผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชนเพื่อยุติการดำเนินคดีทางการเมืองต่อประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ
“ปัจจุบันพบว่ามีคนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอยู่ทั่วประเทศไทย ไม่ใช่แค่เพียงในกรุงเทพมหานครที่เดียว จึงเป็นที่มาของการเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ เพราะหัวใจสำคัญที่ไม่น้อยไปกว่าการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้บังคับใช้ได้จริงคือการทำให้เรื่องราวของนักกิจกรรมและคนที่อยู่ในเรือนจำไม่ถูกลืมเลือนไปจากสังคม ประเด็นนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่สุดไม่แพ้กัน แอมเนสตี้ยืนยันว่า การไม่หยุดเล่าเรื่องราวของนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ จะช่วยเป็นสะพานเชื่อมที่สำคัญในการผลักดันให้ข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ เกิดขึ้นได้จริง และหากเราช่วยกันเขียนจดหมายถึงเพื่อนที่อยู่ในเรือนจำจะเป็นการส่งสารถึงพวกเขาไม่ได้อยู่ลำพัง มีคนอีกมากมายที่ยืนหยัดยืนเคียงข้างพวกเขาผ่านแคมเปญนี้”
สำหรับแคมเปญ Free Ratsadon on the Road ในแต่ละจังหวัดมีหลากหลายกิจกรรม เช่น นิทรรศการ การเขียนจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำผ่านเว็บไซต์ https://freeratsadon.amnesty.or.th/ รวมทั้งเวทีเสวนาที่มีทั้งตัวแทนนักวิชาการ องค์สิทธิมนุษยชน ทนายความและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ตลอดจนการเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เพื่อทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน
ด้านพูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงตัวเลขผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องทางการเมือง รวมทั้งสิ้นอย่างน้อย 43 คน ในจำนวนนี้มี 29 คนถูกดำเนินคดีภายใต้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งถือเป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งของผู้ต้องขังทั้งหมด โดยข้อมูลของผู้ที่ถูกคุมขังในปัจจุบันแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้ 21 คน ถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดีโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว อีก 2 คน เป็นเยาวชนที่ถูกควบคุมตัวในสถานพินิจฯ ตามคำสั่งศาลให้เข้ามาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษา และอีก 20 คน เป็นผู้ถูกคุมขังในคดีที่ถึงที่สุดแล้ว และจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อครบโทษตามคำพิพากษาของศาล
พูนสุขเผยถึงสถานการณ์การคุมขังและดำเนินคดีการเมืองในประเทศไทยในช่วงระหว่างปี 2563 ถึงปัจจุบันว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีสะสมไม่น้อยกว่า 1,956 คน ใน 1,302 คดี ซึ่งมีคนถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 ถึง 273 คนในจำนวน 306 คดี สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นช่วงที่มีการดำเนินคดีตามมาตรา 112 มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
“จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าสังคมได้ส่งเสียงเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาของมาตรา 112 อย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้มีอำนาจจนปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้น เพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมืองกว่า 23 องค์กร จึงได้ร่วมมือกันเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชนเพื่อยุติการดำเนินคดีที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง ร่างกฎหมายนี้มีเป้าหมายในการนิรโทษกรรมทุกคน ครอบคลุมการกระทำตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา”
“การนิรโทษกรรมเป็นเพียง ‘จุดเริ่มต้น’ ของการคลี่คลายความขัดแย้งให้สังคมของเราสามารถเดินต่อไปได้ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่าง หากไม่รวมคดีมาตรา 112 ด้วย จะเท่ากับว่าการนิรโทษกรรมครั้งนี้ไม่ได้แก้ไขหรือคลี่คลายความขัดแย้งใดๆ เลยเราหวังอย่างยิ่งว่าการออกเดินทางครั้งนี้จะสร้างเครือข่ายและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในสังคมไทย ในการเรียกร้องให้ยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองโดยทันที ไม่มีเงื่อนไข รวมถึงการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนที่รวมคดีมาตรา 112 ด้วย”
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ