CFNT เปิดงานวิจัย เสนอ 6 โมเดลทางเลือกของระบบ Crowdfunding เพื่อเอื้อให้เกิดการติดตั้งโซลาร์ภาคครัวเรือนในประเทศไทย พร้อมเสนอภาครัฐเพิ่มการแข่งขันในตลาดไฟฟ้า ชี้การผลิตไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องรวมศูนย์อีกต่อไป เพราะโซลาร์ทำให้ทุกคนสามารถผลิตไฟฟ้าเองได้
เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. 2567 ในงานแถลงผลการวิจัยของเครือข่ายการเงินเพื่อรับมือกับภาวะโลกรวน (Climate Finance Network Thailand: CFNT) ที่โรงแรมแมริออท กรุงเทพฯ สุขุมวิท รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ หัวหน้าทีมวิจัย CFNT แถลงผลงานวิจัย หัวข้อ “ใช้พลังมวลชน: เพิ่มการเข้าถึงเงินทุนเพื่อติดตั้งโซลาร์ครัวเรือนด้วยโมเดลคราวน์ฟันดิงในไทย” โดยกล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์แต่ปัจจุบันกลับมีสัดส่วนเพียง 1-2% เท่านั้น ซึ่งปัญหาของการเข้าถึงการติดตั้งโซลาร์ในภาคครัวเรือน คือ ราคา การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและความยุ่งยากในการขออนุญาต
ในประเด็นเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน CFNT ได้สำรวจระบบ Crowdfunding ในต่างประเทศที่ใช้กับโครงการโซลาร์โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป คือ Lumo จากฝรั่งเศส, Trine จากสวีเดน, Zonhub จากเนเธอร์แลนด์ และ Ethex จากสหราชอาณาจักร พบว่าจุดร่วมของแพลตฟอร์มเหล่านี้คือ การให้แรงจูงใจทางการเงินจากรัฐบาลที่ต่อเนื่องยาวนาน โดยภาครัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนส่วนเพิ่มเพื่อให้ภาคพลังงานหมุนเวียนเติบโตอย่างก้าวกระโดดและเป็นสัญญาระยะยาว สอง คือความโปร่งใสกับ Due Diligence แพลตฟอร์มเหล่านี้มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการอย่างละเอียด เพื่อให้นักลงทุนตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ สาม ผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีความหลากหลาย และสี่ ทั้งสี่แพลตฟอร์มระบุเลยว่า การลงทุนนี้จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลง
ในส่วนของการนำเสนอทางเลือกระบบ Crowdfunding เพื่อการติดตั้งโซลาร์ครัวเรือนในประเทศไทย งานวิจัยชิ้นนี้ นำเสนอทางเลือกที่น่าสนใจไว้ 6 ทางเลือกด้วยกันคือ
1. ผ่อนจ่ายตามเงินที่ประหยัดได้ (Pay-As-You-Save) คือการเปิดโอกาสให้ครัวเรือนติดตั้งแผงโซลาร์โดยไม่ต้องจ่ายเงินลงทุนตั้งต้น และผ่อนชำระค่าแผงโซลาร์ตามค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ในแต่ละเดือน
2. พอร์ตฟอร์ลิโอแผงโซลาร์บนหลังคา คือการรวบรวมแผงโซลาร์ที่ติดตั้งอยู่บนหลายหลังคาเรือนเป็นเสมือนพอร์ตฟอร์ลิโอที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ โดยจะทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับตัวแทนผู้จัดจำหน่ายไฟฟ้าหรือภาคธุรกิจที่มีการใช้ไฟฟ้าเพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน
3. ร่วมมือกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คือการที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดมเงินทุนผ่านคราวด์ฟันดิงเพื่อนำเงินไปลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์ในโครงการบ้านจัดสรรแห่งใหม่
4. ผ่อนชำระผ่านใบเรียกเก็บค่าสาธารณูปโภค (On-bill financing) คือการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคผ่อนชำระค่าแผงโซลาร์ผ่านใบเรียกเก็บค่าสาธารณูปโภค นับเป็นการอำนวยความสะดวกในการผ่อนชำระและลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้
5. ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่ไม่เชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าโดยจ่ายชำระเท่าที่ใช้งาน (Off-grid Pay-As-You-Go) คือหนึ่งในทางเลือกสำหรับชุมชนที่อยู่นอกกโครงข่ายไฟฟ้าให้สามารถเข้าถึงการจ่ายเงินซื้อไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง และยังเป็นการเพิ่มการเข้าถึงไฟฟ้าในพื้นที่ชนบทอีกด้วย
6. แผงโซลาร์บนหลังคาอาคารหน่วยงานภาครัฐ คือโครงสร้างทางการเงินที่ใช้อาคารหน่วยงานภาครัฐเพื่อติดตั้งแผงโซลาร์ โครงสร้างดังกล่าวจะอยู่ในรูปแบบไม่แสวงหากำไรโดยแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้กลับคืนให้หน่วยงาน
ในขณะเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้โซลาร์เติบโตอย่างก้าวกระโดด รพีพัฒน์ นำเสนอข้อเสนอต่อภาครัฐ ดังนี้
1. ควรจะเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน โดยการเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ เพิ่ม Feed-in tariff ทำให้อายุการสัญญารับซื้อไฟสอดคล้องกับอายุของโซลาร์ ปัจจุบันอายุสัญญารับซื้อไฟเพียงแค่ 10 ปี แต่แผงโซลาร์นั้นมีอายุการใช้งาน 20 - 25 ปี การเพิ่มอายุสัญญารับซื้อไฟจะเป็นการการันตีว่า โซลาร์จะสร้างรายได้ในระยาว นอกจากนี้ยังต้องมีนโยบายจูงใจ เช่น Net Metering เพื่อให้คนที่ไม่อยู่บ้านตอนกลางวันสามารถขายไฟคืนระบบได้ในราคาที่สมเหตุสมผล และต้องไม่ใช่ระบบโควตาในแบบปัจจุบันที่รัฐบาลรับซื้อไฟฟ้าจากภาคครัวเรือนเพียง 90 เมกะวัตต์ และในตอนนี้โควตาก็เต็มแล้ว
2. สนับสนุนทางด้านการเงิน ต้องมีมาตรการลดความเสี่ยง เช่น การรับประกันโดยภาครัฐบางส่วน มีการให้เครดิตการันตี มีการปล่อย Soft Loan แม้ปัจจุบันจะพอมีอยู่บ้าง แต่อาจจะต้องยกระดับหรือทำเงื่อนไขให้คล่องตัวกว่านี้ในอนาคต
3. มีแพลตฟอร์มแบบ One Stop Service ควรมีแพลตฟอร์มที่ทำให้ประชาชนมาที่เดียวแล้วจบเลย ทั้งการเข้าไปหาความรู้เรื่องการติดตั้งโซลาร์ ข้อดีข้อเสีย ตลอดจนผลตอบแทน และถ้าประชาชนสนใจก็สามารถยื่นแบบฟอร์มเพื่อขอติดตั้งได้เลยโดยที่แพลตฟอร์มจะเป็น One stop service คือมีบริษัทรับติดตั้งโซลาร์ให้เราเลือก ทำสัญญาขายไฟคืนกับภาครัฐ การขอใบอนุญาตทุกอย่าง รวมไปถึงการขอสินเชื่อ ทุกอย่างจบในแพลตฟอร์มเดียว
4. เพิ่มการแข่งขันในตลาดไฟฟ้า เสนอให้มีระบบ Third Party Access เปิดให้ผู้อื่นเข้ามาใช้โครงข่ายไฟฟ้าได้ด้วย โดยภาครัฐก็จะสามารถเก็บค่าใช้โครงข่ายได้ รวมไปถึงการเปิดให้ผู้ที่สามารถผลิตไฟฟ้าเองได้ซื้อขายไฟฟ้ากันเองได้เพื่อให้เกิดการแข่งขัน เพราะโครงสร้างในตอนนี้เราต้องซื้อไฟจากการไฟฟ้าเพียงรายเดียว
“โลกในปัจจุบัน การผลิตไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องรวมศูนย์อีกต่อไป เพราะโซลาร์ทำให้ทุกคนสามารถผลิตไฟฟ้าเองได้ การผลิตไฟฟ้าควรกระจายให้ทุกคนมีส่วนร่วม Crowdfunding เครื่องมือระดมทุนจากมวลชนจะทำให้คนเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาติดโซลาร์ได้ ระบบนี้ยังสามารถใช้ระดมทุนได้คล่องตัวมากขึ้นกว่าการไปขอสินเชื่อธนาคาร ถ้าเราปิดช่องว่างตรงนี้ได้ บวกกับมีนโยบายมาสนับสนุน เราก็จะสามารถปลดล็อกศักยภาพของโซลาร์ในประเทศไทยได้” รพีพัฒน์กล่าวทิ้งท้าย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ